26 April 2024
ภูมิประเทศของภาคใต้มีชายฝั่งประกบเทือกเขาสูง ที่อยู่ตรงกลางภูมิประเทศเป็นหลักจึงเป็นเทือกเขาและชายฝั่งเป็นที่ราบจะมีอยู่เป็นแนวแคบ ๆ แถบชายฝั่งทะเล และสองฝั่งลำน้ำ การตั้งถิ่นฐานจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ทั้งด้านฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้

      ภูมิประเทศของภาคใต้มีชายฝั่งประกบเทือกเขาสูง ที่อยู่ตรงกลางภูมิประเทศเป็นหลักจึงเป็นเทือกเขาและชายฝั่งเป็นที่ราบจะมีอยู่เป็นแนวแคบ ๆ แถบชายฝั่งทะเล และสองฝั่งลำน้ำ การตั้งถิ่นฐานจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ทั้งด้านฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ ทำให้มีคนที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมอย่างหลากหลายเดินทางเข้ามาภาคใต้ มีทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม ต่างเชื้อชาติกัน เช่น คนไทย คนจีน และผู้ที่มีเชื้อสายมาเลย์ แต่อยู่ร่วมกันโดยสงบสุขโดยอาศัยวัฒธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ดังนั้นภาคใต้จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจเพราะมีภูมิศาสตร์ที่งดงาม มีชายฝั้งทะเลและมีวัฒนธรรมหรือการดำรงชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์
       อาหารพื้นบ้านภาคใต้มีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะสืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีน และชวาในอดีต ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับใน การใช้เครื่องเทศและสมุนไพรในการปรุงอาหาร ได้เข้ามามีอิทธิพลต่ออาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป และมีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้ อาทิ น้ำบูดู ซึ่งได้จากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดทะเลทั้งสองฝั่ง ทำให้มีอาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ กอรปกับภาพอากาศของภาคใต้ค่อนข้างร้อนชื้น และฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้ม จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นป้องกันการเจ็บป่วยได้ลักษณะเด่นของการรับประทานอาหารของชาวภาคใต้คือมีผักต่าง ๆ ชนิดมาเป็นผักจิ้มหรือผักแกล้มในการรับประทานทุกมื้อ ซึ่งภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ผักเหนาะ” ความนิยมในการรับประทานผักแกล้มอาหารของชาวใต้เป็นผลมาจากการที่ภาคใต้มีพืชผักชนิดสารพัดชนิดต่าง ๆ มากมาย ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมการกินของชาวปักษ์ใต้ จะนิยมรับประทานอาหารเผ็ด จึงต้องมีผักแกล้ม เพื่อช่วยบรรเทาความเผ็ดและเพื่อชูรสอาหาร อาหารท้องถิ่นภาคใต้ ยังนิยมใส่ขมิ้นในอาหารจะเรียกว่าทุกประเภทก็ว่าได้ไม่ว่าจะเป็นแกงเหลือง คั่วกลิ้งหรืออื่น ๆ อาหารปักษ์ใต้แม้จะเป็นอาหารที่อร่อยและน่าลิ้มลอง แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจผู้คนคือความเผ็ดร้อนของรสชาติอาหารผู้คนในภาคใต้นิยม รสอาหารที่เผ็ดจัด เค็ม เปรี้ยว แต่ไม่นิยมรสหวาน รสเผ็ดของอาหารปักษ์ใต้มาจากพริกขี้ หนูสด พริกขี้หนูแห้งและพริกไทย ส่วนรสเค็มได้จากกะปิ เกลือ ส่วนรสเปรี้ยวได้จากส้มแขก น้ำส้มลูกโหนด ตะลิงปลิง ระกำ มะนาว มะขามเปียก และมะขามสด เป็นต้น      

วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการกินของชาวใต้     
        วัฒนธรรมการกินของชาวภาคใต้ มีทั้งส่วนที่พ้องกันทั่วทั้งภาคและส่วนที่แตกต่างกันไปแต่ละถิ่นย่อย ทั้งนี้บางอย่างเกิดจากทรัพยากรในท้องถิ่นที่สืบเนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์ บางอย่างเกิดจากคติทางศาสนาบางอย่างเกิดจากอิทธิพลของการสัมพันธ์กับคนต่างชาติและมีหลายอย่างที่เกิดจากเทคนิควิธีอาศัยความสามารถเฉพาะของบุคคลในแต่ละท้องถิ่น คิดค้นและปรับปรุงต่อๆกันมา จนเกิดเป็นนิสัยการกินของท้องถิ่นนั้น ๆ ชาวภาคใต้รับประทานข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ส่วนข้าวเหนียวนิยมใช้ประกอบเป็นของหวานรับประทานกันเป็นบางมื้อบางคราว ด้วยเหตุนี้ชาวนาภาคใต้จึงใช้เนื้อที่นาทั้งหมดปลูกข้าวเจ้าจะเจียดเนื้อที่เพียงบางส่วนปลูกข้าวเหนียวโดยถือคติว่า “อย่างน้อยให้พอมีข้าวเหนียวทำบุญได้ตลอดปี” ด้วยเหตุนี้ราคาข้าวเจ้า (ข้าวพื้นเมือง) จึงถูกกว่าข้าวเหนียว ชาวบ้านส่วนมากรับประทานข้าวเป็นอาหารหนักเพียงวันละ ๒ มื้อ คือมื้อเช้าและเย็น เว้นแต่ฤดูกาลทำไร่ทำนาหรือผู้ที่ทำงานหนักตลอดวันที่จะขาดมื้อเที่ยงไม่ได้ มื้อเช้านิยมรับประทานหลังจากพระบิณฑบาตไปแล้ว เว้นแต่ผู้ที่จะทำงานแต่เช้ามืด แต่จะต้องตักข้าวถ้วยแรกไว้สำหรับตักบาตรเสียก่อน (เรียกข้าวใส่บาตรนี้ว่า “ข้าวทานะ”) หรือมิฉะนั้นจะต้องกินข้าวเย็น(ข้าวที่เหลือจากมื้อก่อน) สำหรับมื้อเย็นนิยมรอรับประทานพร้อมกันทั้งครอบครัว มื้อมีกับข้าวถึง ๓ อย่าง ถือว่าค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ แต่ในกรณีที่มีแขกเหรื่อมาพักอาศัยอยู่นิยมจัดหากับข้าวให้ได้ไม่น้อยกว่า ๒ อย่าง ถ้ามีถึง ๓ อย่าง หรือมากกว่านั้น ย่อมแสดงออกถึงความพึงใจต้อนรับเต็มที ถ้ามีเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมาประจวบเหมาะกับเวลาที่รับประทานอาหารกันอยู่ ขอรับประทานอาหารด้วยหรือเพียงเอ่ยปากชวนก็ร่วมวงด้วยทันทีเจ้าของบ้านถือว่าเป็นการให้เกียรติและให้ความเป็นกันเองอย่างยิ่งเสมอด้วยญาติที่ใกล้ชิด แต่กรณีเช่นนี้ จะมีแต่เฉพาะมื้อเที่ยงกับมื้อเย็นเท่านั้น ในทางตรงข้าม ถ้าใครไปอาศัยบ้านอื่น รับประทานอาหารในมื้อเช้ามักจะถูกตำหนิ เว้นแต่แขกเหรื่อที่มาจากถิ่นไกลหรือญาติที่ใกล้ชิด ชาวใต้ส่วนใหญ่ชอบอาหารรสจัด คือเปรี้ยวจัดหรือเผ็ดจัด ถ้าเป็นแกงก็ต้องมีรสกะปิเข้มและมักมีสีเหลืองจัดรสฉุนของขมิ้นค่อนข้างแรงวัฒนธรรมการใช้ขมิ้นผสมเครื่องแกงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อใช้ฆ่ากลิ่นคาว นอกจากนี้ชาวภาคใต้ในสมัยก่อนยังมีความเชื่อว่าขมิ้นเป็น “ยาแก้ยา” หรือ “พญายา” คือทำให้บรรดาเวทมนต์คาถาหรือคุณไสยต่างๆ ที่ผู้อื่นกระทำหรือปองร้ายให้เสื่อมสูญ ทั้งยังเป็นสมุนไพรแก้โรคได้หลายชนิด ชาวใต้ไม่นิยมใช้กระชายผสมในเครื่องแกง ส่วนมากไม่รับประทานผักชีและยี่หร่ากับข้าวในแต่ละมื้อส่วนมากจะไม่ขาดประเภทรสเผ็ดและประเภทที่มีน้ำแกง ถ้ากับข้าวชนิดใดมีครบทั้งสองรสนี้ก็จะเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ถึงแม้กับข้าวมื้อนั้นจะมีกับข้าวเพียงอย่างเดียว ก็อาจเจริญอาหารมากกว่ามีหลายอย่างแต่ไม่ครบทั้งสองรส จึงเป็นอาหารที่แต่ละบ้าน หมุนเวียนเป็นประจำ ถ้าวันใดไม่มีแกงเหล่านี้จะมีน้ำพริกมาแทน การมี “น้ำแกง” เป็นสิ่งจำเป็นจนเกิดสำนวนพูดว่า “ถ้ามีลูกมีหลานเป็นหญิงพลอยได้กินน้ำแกงมันมั่ง” มีนัมีนัยความหมายว่าลูกผู้หญิงมักเอาใจใส่ปรนนิบัติพ่อแม่ไม่ให้อดอยากขาดแคน                
         ชาวภาคใต้ในสมัยก่อนนิยมใช้ดินเผาเป็นเครื่องหุงต้มอาหาร เพราะนอกจากจะหาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพงแล้ว ยังสอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินในสมัยนั้นหลายประการ เช่น ช่วยเก็บความร้อนได้ดี ใช้ต้มตุ๋นได้ในตัวและด้วยเหตุที่เมื่อต้มแกงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวใต้นิยมเก็บไว้ในหม้อต้มแกงจนกว่าจะตักแบ่งรับประทานหมด ในกรณีนี้การใช้หม้อดินเผาจะให้คุณประโยชน์ยิ่งขึ้น เพราะช่วยระบายความอับชื้นได้ดีอาหารไม่บูดเสียเร็ว เมื่อรับประทานมื้อต่อไปก็ยกขึ้นตั้งไฟอุ่นได้สะดวก และด้วยเหตุที่ต้องเก็บค้างหม้อไว้เช่นนี้แต่ละครอบครัวจึงมักมีหม้อแกงหลายใบ แต่ละใบต่างรูปต่างขนาดกันเพื่อเลือกใช้ตามความเหมาะสม
ภาชนะที่ใช้ทอด เจียวหรือผัดที่ต้องการให้ร้อนเร็วหรือร้อนจัด นิยมใช้กระทะเหล็กเพราะสื่อความร้อนได้ดี ครั้นสมัยต่อมาชาวภาคใต้หันมานิยมใช้หม้อข้าวแกงประเภททองเหลือง โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นยุคที่เครื่องทองเหลืองเฟื่องฟูในภาคใต้ มีหม้อชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันอยู่ เรียกว่า “หม้อแหล็งแฉ็ง” เป็นหม้อแกงขนาดใหญ่หล่อด้วยเหล็ก ลักษณะคล้ายบาตรแต่มีหูหิ้ว ครั้นถึงยุคนี้เปลี่ยนมาทำด้วยทองเหลืองจนเป็นเหตุให้มีเกิดการเรียก สมัยที่เครื่องทองเหลืองในภาคใต้รุ่งเรืองว่า “ยุคหม้อแหล็งแฉ็ง” ครั้นถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่๒ หม้อทองเหลืองค่อยเสื่อมความนิยมลงมาเป็นลำดับ จนปัจจุบันเครื่องหุงต้มก็เป็นไปตามสมัยนิยมเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ        เนื่องจากภาคใต้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผักนานาชนิด ผักสดจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารทุกมื้อที่จะขาดเสียมิได้ ทำนองเดียวกับชาวภาคกลางที่ต้องมีพริกกับน้ำปลาไว้ปรุงรส ผักสดแต่ละมื้อจะมีหลายชนิดและสดจริงๆ (ไม่นิยมผักลวก) เช่น กระถิน กระเฉด ผักบุ้ง แตงกวา ถั่วฝักยาว ลูกเนียง ลูกตอ เพื่อรับประทานคู่กับแกง ยำ (ไม่ว่าจะมีน้ำพริกหรือไม่) จึงเรียกผักนี้ว่า “ผักแกล้ม” หรือ “ผักเหนาะ” วัฒนธรรมอันนี้จะพบได้แม้แต่ตามร้านที่ขายอาหารพื้นเมือง จะจัดผักไว้ให้ลูกค้าเลือกรับประทานได้โดยไม่คิดเงิน สำหรับผู้ที่ชอบเผ็ดจัด ก็จะมีพริกขี้หนูสดที่ยังไม่หั่นวางไว้ให้มากพอจะหยิบขบเคี้ยวมากน้อยแล้วแต่ชอบ           ชาวภาคใต้ได้ใช้วัฒนธรรมการกินฝึกนิสัยให้ลูกหลาน มีคุณธรรมหลาย ๆประการโดยการอ้างว่าถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้จะเป็นการ “ขวัญข้าว” จะทำให้อับโชคในการทำมาหากิน เช่น ในขณะที่รับประทานอาหารนั้น ทุกคนต้องสำรวม แต่ไม่เคร่งเครียด ไม่ขบเคี้ยวให้มีเสียงดังจั๊บๆ ไม่กินมูมมาม ไม่ซดน้ำแกงเสียงดัง ไม่พูดมากเกินควร ห้ามนำเรื่องเศร้าหรือเรื่องอัปมงคลมาพูด ห้ามพูดเรื่องที่ชวนสะอิดสะเอียนหรือเกิดอาการพะอืดพะอม

     เมื่อปรุงอาหารเลร็จแล้วซึ่งชาวใต้จะเรียกว่า “กับข้าว” และเมื่อจะรับประทาน (กิน) แม่ครัวก็จะตักใส่ถ้วยแล้วจะใส่ภาชนะเป็นชุด เรียกว่า “จัดเท่” (จัดที่) หรือ “ดับที่” ภาชนะสำหรับจัดวางกับข้าวเป็นชุดนั้นมีหลายอย่าง เลือกใช้ต่างกันตามความพอใจและฐานะของผู้ใช้ที่ทำด้วยไม้เป็นรูปคล้ายถาดมีฝาครอบ หรือทำเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมแบ่งเป็นช่อง ๆ มีฝาครอบก็มี่ ทั้งสองอย่างนี้เรียกว่า “พอก” ครั้นถึงยุคนิยมเครื่องทองเหลืองก็ใช้ถาดหรือพานมีเชิงที่ทำด้วยทองเหลือง ครอบครัวที่ฐานะดีมักสั่งทำหรือหาซื้อแบบที่มีลวดลายพิเศษ ที่ฉลุรอบขอบก็มีหรือสลักทั้งใบก็มี การรับประทานอาหารของสมาชิกในครอบครัวแม้ว่าจะมีกับข้าวเพียงอย่างเดียว หรือรับประทานเพียงลำพังก็นิยมให้ตักแกงใส่ถ้วยแยกต่างหาก ไม่ให้ราดแกงลงในชามข้าวของตน เพราะถือเป็นการ “ขวัญข้าว” (ลบหลู่แม่โพสพ) และส่อนิสัยเกียจคร้านหรือมักง่าย ทั้งยังต้องรับประทานเฉพาะในห้องครัว ห้ามไม่ให้เร่กินนอกห้องครัวมิฉะนั้นก็จะ “ขวัญข้าว” ในส่วนของการนั่งรับประทานแบบร่วมวง มีวัฒนธรรมที่ว่าผู้ชายนิยมให้นั่งแพนงเชิงเรียกว่า “นั่งแพงเชิง” ส่วนผู้หญิงนิยมให้นั่งพับเพียบ ส่วนผู้ที่มียศศักดิ์และมีข้าทาสบริวาร หรือมีฐานะดีมักมีห้องรับประทานอาหารพิเศษก็จะแยกจากห้องครัวเมื่อจะรับประทานอาหารจะมีคนคอยปรนนิบัติให้จะว่า “ยกเท่” (ยกอาหารที่จัดเป็นชุดตามท้องถิ่นเรียกว่า “ยกหมรับ”) มาให้และคอยดูแลไม่ให้ขาดตกบกพร่อง จึงเกิดเป็นสำนวนพูดยกย่องผู้มีบุญวาสนาเช่นนั้นว่า “ได้กินเท่” หรือ “นั่งกินเท่” หรือ “นั่งกินเท่ราวกับสมภาร” อนึ่งสำนวนนี้ถ้าใช้เป็นเชิงประชดก็หมายถึง ผู้ที่ไม่ทำมาหากินแต่ใคร่จะได้เสวยสุขเช่นผู้มีบุญวาสนา การยกเท่ออกไปให้รับประทานนอกห้องครัว นิยมใช้ในโอกาสที่เลี้ยงรับรองแขกหรือถ้าจัดอาหารเป็นชุดใส่ถาดหรือพานไปถวายพระก็เรียกว่า “ยกเท่” แต่ถ้าจัดอาหารใส่ปิ่นโตแล้วนำไปถวายพระที่วัดเรียกว่า “ยกชั้น” 
       ชาวภาคใต้สมัยก่อนนิยมเปิบข้าวด้วยมือและทุกคนถูกฝึกให้เปิบข้าวด้วยมือขวา ถ้าใครเปิบข้าวด้วยมือซ้ายถือว่าเป็นที่น่ารังเกียจ เพราะต่างก็ใช้มือข้างซ้ายล้างอุจจาระ ทุกคนหยิบอาหารแห้งหรือเนื้อแกงด้วยมือ (ใช้เฉพาะมือขวา) ถ้าเป็นประเภทน้ำแกงจะใช้วิธียกถ้วยซด หรือเทน้ำแกงลงในชามข้าวของตน ครั้นเมื่อมีวัฒนธรรมการใช้ช้อนกลางเกิดขึ้นคนเฒ่าคนแก่บางคนยังคงเคยชินกับการยกถ้วยซดอยู่ มักบอกว่ารู้สึกเอร็ดอร่อยและออกรสชาติกว่า ส่วนการใช้ช้อนส้อมนั้น เริ่มใช้กันในครอบครัวที่มีฐานะดีก่อนจึงเกิดเป็นสำนวนพูดเป็นเชิงสบประมาทแก่ผู้ที่เกียจคร้านทำมาหากินว่า “ขี้คร้านพรรค์นี้ สิ้นบุญพ่อแม่แล้วคงได้กินกันสองมือ” หมายถึงว่าเมื่อเกียจคร้านทำงานทำการเช่นนี้ ครั้นสิ้นใบบุญของพ่อแม่แล้วอย่าหวังว่าจะได้อยู่กินดีเยี่ยงผู้มีอันจะกินทั้งหลาย และเนื่องจากภาคใต้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชนานาชนิด ผักสดจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารทุกมื้อที่จะขาดเสียมิได้ทำนองเดียวกับที่ชาวภาคกลาต้องมีน้ำพริกกับน้ำปลาไว้ปรุงรส ผักสดแต่มื้อมีหลายชนิดและสดจริงๆ เช่น กระถิน กระเฉด ผักบุ้ง แตงกวา ถั่วฝักยาว ลูกเนียง ลูกตอ เพื่อรับประทานคู่กับแกง ยำ จึงเรียกผักนี้ว่า “ผักแกล้ม” หรือ “ผักเหนาะ” ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองหมายความว่าผักจิ้ม ผักแกล้ม เวลารับประทานอาหาร เช่น เวลากินข้าว กินขนมจีน เป็นต้น ผักเหนาะมีมากมายหลายสิบอย่างให้เลือก สาเหตุที่ชาวภาคใต้นิยมรับประทานผักเหนาะก็เพราะว่า ชาวพื้นเมืองชอบอาหารรสเผ็ดร้อนอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยชูรสอาหารอย่างหนึ่ง พืชผักผลไม้มีมากหาได้ง่ายอย่างหนึ่ง ความจริงถ้าพิจารณาถึงต้นเหตุของผักเหนาะ ก็อาจมาจากความจำเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมบังคับนั่นเอง เช่นเดียวกับชาวภาคอีสานนิยมกินแมลงกินสัตว์ตลอดจนพืชผักต่าง ๆ สารพัดนั้น ก็มาจากอิทธิพลทางธรรมชาติ สำหรับชาวภาคใต้อาจจะมีข้อพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ได้ติดต่อรับวัฒนธรรมโดยตรงจากอินเดีย จึงอาจจะได้รับแบบอย่างจากชาวอินเดียบ้างก็ได้
      ผักเหนาะหมายถึงพืชผักสด ผักลวกกะทิหรื ผักดอง ที่ใช้รับประทานควบคู่กับอาหารเผ็ด เช่น น้ำพริก (ชาวใต้บางถิ่นเรียกน้ำชุบ) แกงไตปลา (ชาวใต้ส่วนมากเรียก แกงพุงปลา) หรือแกงเผ็ดอื่น ๆ ผักเหนาะอาจเป็นพืชผักที่มีอยู่ทั่วไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ หรือมีมากเฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้ก็ได้ และอาจเป็นพืชผักสวนครัวที่นิยมใช้ประกอบอาหารทั่วไปหรือเป็นพืชผักที่นิยมใช้เป็นผักเหนาะโดยเฉพาะก็ได้ เช่น ผักกาด ผักบุ้ง กะหล่ำปลี แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วงอก มะเขือ ลูกเนียง สะตอ หยวกกล้วย ปลีกล้วย ผักกระถิน ยอดกระถิน ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดแมงลัก ลูกจากอ่อน เป็นต้น ชาวภาคใต้นิยมใช้พืชผักกินผสมกับอาหารต่างๆ เพื่อให้ต่างรสและมีคุณค่าทางโภชนาการและยาเพิ่มขึ้นและเพื่อแก้เอียนคาว จึงต้องเอาผัก ผลไม้ต่าง ๆ ทั้งสดๆมาเคี้ยวกลืนสลับหรือควบเข้าไปเพื่อเป็นเครื่องผ่อนคลายหรือลดรสจัดบางลักษณะลง จึงได้เกิดการกินผักที่เรียกว่าผักเหนาะขึ้น บางถิ่นเรียกผักเหนาะว่าผักเกล็ด ที่เรียกว่าผักเกล็ดนั้นเพราะคำว่า “เกล็ด” ในภาษาถิ่นใต้หมายถึงการกัดกินทีละนิด ๆ การกินผักเหนาะบางชนิดจะเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “ผักจิ้ม” ก็เป็นไปตามลักษณะการกินผักเหนาะเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้ผักเหนาะกินกับน้ำพริกจะนิยมใช้ผัก “จิ้ม” ลงไปในน้ำพริก
          วัฒนธรรมการกินผักเหนาะ ที่นิยมกันมีอยู่ ๓ ลักษณะคือ

           กินในลักษณะที่เป็นพืชผักสด ๆ ผักเหนาะทุกชนิดนำมากินในลักษณะที่เป็นพืชสดๆได้ และเป็นที่นิยมกันมาก เพราะสะดวกและให้คุณค่าทางอาหาร โดยการนำเอาพืชผักทุกชนิดที่จะใช้เป็นผักเหนาะมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาจัดรวมกันไว้ในจานหรือภาชนะเดียวกันอาจจัดไว้ในลักษณะที่ยังเป็นผลหรือต้นผักก็ได้ หรือนำผักเหนาะบางชนิด เช่น แตงกวา ผักกาด มาหั่นหรือหักให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ สะดวกแก่การที่จะกินคำหนึ่ง ๆ ก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว อาจมีการนำผักเหนาะบางชนิดมาเพาะหรือที่เรียกว่า “หมาน” เสียก่อนใช้เป็นผักเหนาะก็ได้ เช่น ลูกเนียงหมาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผักเหนาะนั้นแก่ กรอบ และมีรสชาติ ยิ่งขึ้น
          นำผักเหนาะบางชนิดมาลวกกะทิ ผักเหนาะที่นิยมนำมาลวกกะทิก่อนใช้เป็นผักเหนาะ เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ถั่วฝักยาว ปลีกล้วย หยวกกล้วย หน่อไม้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีรสชาติแปลกออกไป เพราะจะมีรสมันของกะทิผสมอยู่ด้วย
          นำผักเหนาะบางชนิดมาหมักดองเสียก่อน จะใช้ทั้งสด ๆ ไม่ได้ เช่น ผักเสี้ยนดอง เป็นต้น นอกจากนั้นอาจมีการนำผักเหนาะบางชนิดที่ใช้เป็นผักเหนาะในลักษณะที่ ๑ หรือ ๒ ก็ได้ แต่ก็นิยมนำมาใช้ในลักษณะที่ ๓ ด้วย เช่น สะตอดอง หน่อไม้ดอง เป็นต้น โดยเฉพาะสะตอดองนั้น ออกจะเป็นที่นิยมกันมากทีเดียว ถึงกับมีคำกล่าวในบางท้องถิ่นว่า “ใส่ฟันทองสองเซ่ ตาเหล่หน่อย ชาวเลน้อยมาขอ ตกลูกตอดอง” ซึ่งแม้จะเป็นคำล้อแต่ก็สะท้อนเห็นถึงความนิยมเกี่ยวกับ “ลูกตอดอง” ของชาวบ้านได้ดีพอสมควร
        ความนิยมผักเหนาะในวิถีการกินของชาวใต้ในปัจจุบันนั้น ผักเหนาะยังคงเป็นอาหารที่สำคัญของชาวภาคใต้ นิยมกันทั่วไปทั้งชาวเมืองและชนบทโดยทั่วไปแล้วชาวใต้นิยมอาหารที่มีรสจัด ในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อจึงมักมีอาหารเผ็ดเป็นกับข้าวด้วยอย่างหนึ่งเสมอ และมักมีผักเหนาะใส่จานวางไว้เคียงคู่กับอาหารเผ็ดนั้นด้วย ชาวใต้จะรู้สึกว่าการรับประทานอาหารมื้อนั้นจะขาดรสชาติไปทันที ถ้าไม่มีผักเหนาะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอาหารมื้อนั้นมีน้ำพริกหรือแกงไตปลา ชาวใต้บางคนติดผักเหนาะขนาดที่ว่า ในการรับประทานอาหารทุกมื้อจะต้องมีผักเหนาะอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่ามีกับข้าวที่เป็นอาหารเผ็ดในมื้อนั้นหรือไม่ก็ตาม

น้ำบูดู

เอกสารอ้างอิง
วัฒนธรรมอาหารภาคใต้. 2542. สืบค้นวันที่ 2 ก.ย. 62, จาก www.dusittrang.com/food/?page_id=8
สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ (ฉบับเพิ่มเติม). 2554. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรม
ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ