ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ (Harphakhunthatu Tradition)
 
Back    01/05/2018, 15:30    71,507  

หมวดหมู่

วัฒนธรรม


ประวัติความเป็นมา

ภาพค้นจาก :  http://www.sator4u.com/paper/812

       นครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า ๑,๘๐๐  ปี  มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนา มาอย่างยาวนาน นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีพื้นที่เหมาะกับการติดต่อค้าขาย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนครศรีธรรมราชจึงรุ่งโรจน์ด้วยอารยธรรมและวัฒนธรรมที่สืบทอดกับมานับพัน ๆ ปี นครศรีธรรมราชมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ มีพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุคือพระทันตธาตุ(พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย)ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่าและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นศูนย์รวมจิตใจ  นครศรีธรรมราชเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่เมืองหนึ่งของไทยในอดีตนครศรีธรรมราชมีเมืองบริวารมากถึง ๑๒ เมือง เรียกกันว่า “เมือง ๑๒ นักษัตร” และยังเป็นเมืองศูนย์กลางของพุทธศาสนา  การแห่ผ้าขึ้นธาตุของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประเพณีหนึ่งในประเพณีที่สำคัญ ที่มีการสืบสานและอนุรักษ์กันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานในสมัยก่อนเรียกันว่า "แห่พระบฏขึ้นธาตุ" ประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประเพณีที่มีคติความเชื่อมแต่ครั้งโบราณที่ว่า ....“หากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริง ๆ จะต้องปฏิบัติหน้าพระพักตร์หรือใกล้ชิดพระพุทธองค์ให้มากที่สุด แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว การได้ทำบุญกราบไหว้พระพุทธรูป พระเจดีย์ ยิ่งเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ก็เสมือนว่าได้ทำบุญหรือกราบไหว้บูชาอย่างใกล้ชิดกับพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน”... งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นงานบุญใหญ่ ที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งถือว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธพึงได้กระทำบำเพ็ญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและถือเป็นการบูชาสักการะ ต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด การแห่ผ้าขึ้นธาตุเนื่องในเทศกาลมาฆบูชานี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการดำเนินวิถีเชิงพุทธที่จะน้อมนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือโอวาทปาฏิโมกข์แห่งมาฆมาส ละชั่วใฝ่ดี ทำจิตใจให้ขาวใส่บริสุทธิ์ การแห่ผ้าขึ้นธาตุ หมายถึงการนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือพระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งมีสาระหรือแก่นแท้อยู่ที่การได้บูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุกล่าวว่าในสมัยที่กษัตริย์ ๓ พี่น้องคือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์อยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายภาพเขียนเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ที่เรียกว่าพระบฎ หรือพระบต ขึ้นมาเกยที่ชายหาดปากพนัง ชาวเมืองจึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายภาพเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุคือพระเขี้ยวแก้วที่ประเทศศรีลังกา แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนคร มีผู้รอดชีวิต  ๑๐ คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งหาดปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ และต่อจากนั้นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ก็ได้จัดให้มีสมโภชและแห่แหนผ้าเพื่อโอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นทุกปี จนกลายเป็นประเพณีแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเมืองนครสืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นจะนัดหมายโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกขึ้นผู้คนที่ศรัทธาก็มาจากหลายทิศทาง ต่างคนต่างคณะต่างจึงเตรียมผ้ามาห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ใครจะตั้งขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็สุดแต่ความสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีตลอดทั้งวันโดยไม่ขาดสาย เดิมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุทุกขบวนนิยมใช้ดนตรีพื้นบ้านนำหน้าขบวน ได้แก่ดนตรีหนังตะลุง ดนตรีโนรา แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกลองยาวบรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเดินเป็นแถวเรียงเป็นริ้วยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนชู (เทิน) ผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าจึงควรถือไว้ในระดับสูงกว่าศีรษะ การถวายผ้าพระบฏเมื่อแห่ถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแล้วจะทำพิธีถวายผ้าพระบฏ โดยมีหัวหน้าคณะกล่าวนำด้วยภาษาบาลีแล้วตามด้วยคำแปลซึ่งมีใจความว่า “ข้าแต่พระผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าห่มพระธาตุนี้แก่พระพุทธเจ้า เพื่อเป็นพุทธบูชา ข้าพเจ้าทั้งหลายขอกราบไหว้ซึ่งเจดีย์ทั้งหลายในสถานที่นี้ ขออานิสงส์แห่งบุญกุศลของข้าพเจ้าทั้งหลายจงมีแก่ข้าพเจ้าและญาติมิตรทั้งหลาย เพื่อความสุขความเจริญตลอดกาลนานเทอญ การนำผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ หลังจากกล่าวคำถวายผ้าพระบฏเรียบร้อยแล้ว จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำผ้าสู่วิหารพระทรงม้า เมื่อถึงตอนนี้ผู้ที่ร่วมในขบวนแห่จะส่งผู้แทนเพียง ๓ หรือ ๔ คน สมทบกับเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าพระบฏขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์ ไม่สามารถขึ้นไปรอบกำแพงแก้วได้หมดทั้งขบวน เพราะลานภายในกำแพงแก้วคับแคบและเป็นเขตหวงห้ามและเชื่อว่าที่ฐานพระบรมเจดีย์ มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ หากเดินบนลานกำแพงแก้วเป็นการไม่เคารพพระพุทธองค์

       มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นเอกลักษณ์ของชาวนครศรีธรรมราช จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันมาฆบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) และวิสาขบูชา ((ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) ของทุกปี ปัจจุบันไม่เพียงแต่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศที่มีความศรัทธาต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์  เดินทางเข้าร่วมแห่ผ้าพระบฎในโอกาสมาฆบูชาที่ถือกันว่าเป็นโอกาสอันเป็นมงคลและมหากุศลยิ่งโดยเฉพาะชาวมาเลเซียที่นับถือพุทธ นอกจากนี้ยังมีพิธีกวนข้าวมธุปยาสยาคู (ข้าวทิพย์) หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของงานมาฆบูชา ซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปยาสแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้วทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งเชื่อว่าใครได้ทานข้าวมธุปยาสยาคู (ข้าวทิพย์ แล้วจะมีอายุยืนยาว พลานามัยสมบูรณ์  ผิวพรรณผ่องใส และเป็นยาขนานเอกที่สามารถขจัดโรคร้ายได้ทุกชนิด บุญประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนที่จะได้แสดงออกถึงความศรัทธาเลื่อมใส่ต่อพระพุทธศาสนา ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะศรัทธาต่าง ๆ ที่มาร่วมในพิธี ซึ่งจะทำให้เกิดความรักความผูกพัน ความเสียสละ ความสามัคคี ตลอดถึงกระตุ้นและเสริมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เป็นอย่างดี ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุถือว่าเป็นประเพณีที่มีดีงามและมีคุณค่าอีกประเพณีหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติต่อไป เพราะก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่ชน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วม และที่สำคัญเป็นสัญลักษณ์ของชาวเมืองนคร สมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้รักษาสืบสานให้ยั่งยืนสืบต่อไป

ภาพสืบค้นจาก : http://m.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1455802655

ภาพสืบค้นจาก : http://www.hilightdd.com/news/1208

http://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=3


ความสำคัญ

       คำว่า “แห่ผ้า” คือการนำผ้าที่เย็บเป็นผืนยาวติดต่อกันมาแห่แหน ส่วน “ขึ้นธาตุ” คือการนำผ้านั้นไปโอบรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่วัดพระบรมธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ปีละ ๒ ครั้ง คือวันมาฆบูชา (วันเพ็ญเดือน ๓) และวันวิสาขบูชา (วันเพ็ญเดือน ๖) ผ้าที่นำมาขึ้นธาตุแต่เดิมเรียกว่า “พระบฎ” หรือ “พระบท” (บ้างเรียกพระบฐ หรือพระบต) ซึ่งก็คือรูปพระพุทธเจ้าที่เขียนหรือพิมพ์บนแผ่นผ้า จิตรกรไทยโบราณมักเขียนภาพพระพุทธเจ้าขึ้นไว้บูชาแทนรูปปฏิมากรรม ภาพพระบฎโบราณมักเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนบนแท่นดอกบัว มีพระอัครสาวกยืนประนมมือสองข้างพระบฎรุ่นหลังอาจเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังเดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นเมื่อเขียนหรือวาดแถบผ้าเป็นพระบฎแล้ว ก็นิมนต์พระภิกษุไปสวดพระพุทธมนต์ทำพิธีฉลองสมโภชหนึ่งวัน รุ่งขึ้นพอได้เวลากำหนดซึ่งจะต้องเป็นเวลาก่อนเพล ก็จะตั้งขบวนแห่แหนไปพระบรมธาตุ มีเครื่องประโคมแห่แหนเคลื่อนขบวนเป็นทักษิณาวรรตองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ ก่อนแล้วจึงนำขึ้นไปโอบพันพร้อม ๆ กับพระภิกษุสงฆ์ซึ่งนิมนต์ไปรออยู่ ณ พระวิหารตีนพระธาตุ พระสงฆ์จะสวดอภยปริตรและชยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมูคณะผู้ศรัทธา จากนั้นถวายภัตตาหารเพล ปัจจัยและบริขารอื่น ๆ แด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยวิธีสลากภัต ปัจจุบันด้วยภาวะเศรษฐกิจ กอรปกับการหาช่างเขียนพระบฎที่มีฝีมือดีและเขียนด้วยความศรัทธานั้นหายาก พุทธศาสนิกชนจึงตัดพิธีกรรมบางอย่างออกไป ดังนั้นทุกวันนี้การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงไม่มีสำรับกับข้าวคาวหวาน ไม่มีกระจาดสลากภัตร่วมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ ผ้าที่ใช้ก็เป็นผ้าสี่เหลี่ยม เช่น สีขาว สีแดง สีเหลือง นำไปแห่แหนกระทำทักษิณาวรรตองค์เจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำเข้าสู่พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์ หรือวิหารพระทรงม้า ทางขึ้นลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ อยู่ในวิหารนี้ เจ้าหน้าที่ของวัดจะยอมให้ผู้อาวุโสในขบวนเพียง ๒-๓ คน เท่านั้นสมทบกับคนงานนำผ้าไปพันโอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อว่าการทำบุญและการกราบไหว้บูชาที่ให้ได้กุศลจริงจะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้วก็ยังมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูป การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นการกราบไหว้บูชาต่อพระพักตร์ของพระพุทธองค์เช่นเดียวกันการที่ชาวนครศรีธรรมราช นำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ย่อมถือว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนพระพุทธเจ้าเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระ พุทธองค์

พิธีกรรม

       ๑. การเตรียมผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่นำขึ้นห่มพระธาตุมักจะนิยมใช้สีขาว เหลือง และแดง พุทธศาสนิกชนคนใดต้องการห่มผ้าพระธาตุ จะเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความต้องการของตน แต่ส่วนมากจะนำผ้ามาเย็บต่อกัน ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถห่มพระธาตุรอบองค์ได้ หากใครต้องการทำบุญร่วมด้วยก็จะบริจาคเงินสมทบ การตกแต่งผ้าห่มพระธาตุ บางคนประดิษฐ์ตกแต่งชายขอบผ้าประดับด้วยริบบิ้น พู่ห้อย แพรพรรณ ลวดลายดอกไม้สวยงาม แต่ผ้าห่มพระธาตุผืนพิเศษ จะเขียนภาพพุทธประวัติทั้งผืนยาว โดยช่างผู้ชำนาญเขียนภาพ แสดงให้เห็นความถึงความตั้งใจ ความมานะ พยายาม ในการทำผ้าพระบฏขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่ในปัจจุบันผ้าห่มพระธาตุส่วนใหญ่เป็นผ้าผืนยาวเรียบ ๆ ธรรมดา

       ๒. การจัดขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุและการถวายผ้า ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุมาจากหลายทิศหลายทาง แต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเอง ใครจะแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใด ก็ได้ตามสะดวกตลอดทั้งวันจึงมีขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุโดยมิได้ขาด และมักจะมีดนตรีนำหน้าขบวนเครื่องดนตรีมีเพียงน้อยชิ้น ส่วนมากแทบทุกคณะจะมีคณะกลองยาวเป็นดนตรีนำขบวน ซึ่งบรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เดินสะดวกขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะยืนแถวเรียงเป็นริ้วขบวนยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนทูนชูผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าจึงควรแก่การบูชาจะถือไว้ในระดับต่ำกว่าศีรษะไม่ได้โดยเด็ดขาดวิธีการถวายผ้าพระบฏ เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุถึงวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารแล้ว จะทำพิธีถวายผ้าพระบฏเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยมีหัวหน้าคณะกล่าวนำผู้ร่วมขบวนว่าตามพร้อมกัน

       ๓. การนำผ้าขึ้นห่มพระธาตุ หลังจากทุกคนกล่าวคำถวายผ้าพระบฏเรียบร้อยแล้วจะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ แล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารพระทรงม้า (พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์) ซึ่งมีบันไดขึ้นสู่ลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ ตอนนี้ผู้ที่ร่วมในขบวนแห่จะส่งผู้แทนเพียง ๓-๔ คน สมทบกับเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าพระบฏขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ไม่สามารถขึ้นไปบนกำแพงแก้วได้หมดทั้งขบวนเพราะทางวัดได้กำหนดให้ลานภายในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม ยกเว้นการนำผ้าพระบฏขึ้นบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าใต้ลานกำแพงแก้วในฐานพระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสาริกธาตุประดิษฐานอยู่หาก ขึ้นไปเดินบนลานจะไม่เป็นการสมควร

สาระแก่นแท้ของประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

       ความศรัทธาในพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนิกชนมีจิตใจแน่วแน่ที่จะบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ปีหนึ่งจะต้องมาห่มผ้าพระบรมธาตุเจดีย์ครั้งหนึ่งไม่ให้ขาด ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้

       ๑. แสดงให้เห็นลักษณะของชาวนครศรีธรรมราช ที่ยึดมั่นอยู่ในพุทธศาสนา การทำบุญเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเพราะมีความประสงค์จะอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า

       ๒. แสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ จึงประสงค์มาห่มผ้าพระธาตุอย่างพร้อมเพรียงกัน  

   

ภาพสืบค้นจาก : http://m.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1455802655

ภาพสืบค้นจาก : https://pantip.com/topic/30103298

https://pantip.com/topic/30103298


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ (Harphakhunthatu Tradition)
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช
ละติจูด
8.4110038
ลองจิจูด
99.963948



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของเมืองนคร...มาฆบูชา...แห่ผ้าขึ้นธาตุ...ที่เมืองนคร. (2560). สืบค้นวันที่ 13 ส.ค.61, จาก http://www.hilightdd.com/news/1208

ใต้ หรอย มีลุย : บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. (2547).  กรุงเทพฯ :  อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ประทุม  ชุ่มเพ็งพันธุ์. (2548). ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้.  กรุงเทพฯ : สิวีริยาศาส์น.  

มาฆบูชา-แห่ผ้าขึ้นธาตุประเพณีชาวเมืองคอน. (2559). สืบค้นวันที่ 13 ส.ค.61, จาก http://m.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1455802655

วิกิพิเดียสารานุกรม. (2558.) ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ. สืบค้นวันที่ ล13 ส.ค.61, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2528). ประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : กรุงสยาม.

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. (2544). มรดกของชาติ เล่ม 10. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.

สุดใจ สุขคง. (2556). อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้. นครศรีธรรมราช : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.

แห่ผ้าขึ้นธาตุ. (2561). สืบค้นวันที่ 13 ส.ค.61, จาก http://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=33

แห่ผ้าขึ้นธาตุ. (2551). สืบค้นวันที่ 13 ส.ค.61, จาก http://www.openbase.in.th/node/8583


ข้อมูลเพิ่มเติม


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025