มัสยิดกรือเซะ (Krue Se Mosque)
 
Back    09/03/2018, 09:19    29,372  

หมวดหมู่

จังหวัด


ประวัติความเป็นมา

                   มัสยิด (Masjid) เป็นคำมาจากภาษาอาหรับมีความหมายเดียวกับสุเหร่า ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีละหมาดในวันศุกร์ สำหรับชุมชนที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นมัสยิดจึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่กว่าสุเหร่า ปัจจุบันการก่อสร้างใช้โดรงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและก่ออิฐฉาบปูน รูปแบบของมัสยิดได้รับอิทธิพลภายนอกจากตะวันออกกลาง อินเดีย และเปอร์เซีย จึงมีการนำหลังคารูปโคมและหออะซานมาใช้ในการก่อสร้าง อย่างมัสยิดกรือเซะ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ริมทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส เป็นมัสยิดที่สร้างด้วยอิฐเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดปัตตานี มีลักษณะเป็นอาคารร้างก่อสร้างไม่เสร็จ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างสมัยสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ และสุลต่านก็อฟฟาร์ ชาห์ ช่วงปี พ.ศ. ๒๐๔๓-๒๑๐๗ เป็นมัสยิคสำคัญคู่บ้านคู่เมืองปิตตานีในยุคสมัยที่เมืองปัตตานีตั้งอยู่บริเวณกรือเซะ จากการศึกษาของอับดุลลอฮฺ ละออแมน (๒๕๔๐ : ๖๓-๖๕) อ้างจากข้อเขียนของเวน บูกัส (Wayne a. Bougas อ้างใน วสันต์ ชีวะสาธน์ ๒๕๔๔ : ๗๑) ที่กล่าวถึงซีฮาน (J.J Shechan) มีใจความตอนหนึ่งว่า..โบสถ์ของชาวมุสลิมหรือที่เรียกว่ามัสยิดเป็นตึกสง่างามโอ่โถงสร้างจากอิฐแดง ซึ่งชาวจีนเป็นผู้สร้างด้านในเคลือบปิดทองกะไหล่อย่างหรูหราและประดับประดาด้วยเสาที่ทำด้วยรูปสลักที่หายาก ด้านในที่ติดกับกำแพงคือมิมบัร แกะสลักและเคลือบปิดทองกะไหล่ทั่วทั้งหมด บรรดาอุละมาอ์เท่านั้นที่อนุญาตให้ขึ้นไป (เทศนา) ซึ่งมีบันได ๔ ขั้น.... จากข้อความนี้อับดุลลอฮฺละออแมนมีความเห็นว่ามัสยิดที่ว่านั้นคือมัสยิดกรือเซะ ทั้งนี้เพราะ

๑. ฝรั่งคนดังกล่าวนั้นระบุว่าสร้างจากอิฐแดง แสดงว่ามัสยิดกรือเซะไม่ได้ฉาบปูนมาตั้งแต่แรก ถ้าฉาบปูนฝรั่งคนนั้นคงมองไม่เห็นว่ามัสยิดดังกล่าวสร้างด้วยอิฐแดง
๒. ผู้ที่สร้างหรือนายช่างเป็นคนจีน เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่ามัสยิดหลังนี้สร้างโดยโต๊ะเคียน ซึ่งเป็นชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในปัตตานีและเข้ารับอิสลาม

            นอกจากนั้นยังได้ระบุที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะว่าอยู่หน้าประตูวังชั้นนอกทางทิศตะวันตก ประตูวังนี้มีชื่อว่า "ประตูชัย ฮังตูละห์ (Pintu Eetbang Hang Tuah) ระหว่างประตูวังกับมัสติดมีพระลาน และข้าง ๆ พระลานเป็นตลาดไม่ห่างไกลจากมัสยิดนี้มากนักมีบ่อ ๆ หนึ่งเรียกว่าบ่อฮังตูวะห์ ยังใช้ใด้อยู่ถึงทุกวันนี้ ฮังตูวะห์เป็นชื่อวีรบุรุษหรือแม่ทัพของมะละกาในตำนาน Hikayat Hang Tuah ได้ระบุว่าฮังตูวะห์ได้เคยมาปัตตานี ขณะที่ฮังตูวะห์มาปัตตานีนั้นฮังตุวะห์ได้เห็นประตูวังปัตตานี ซึ่งมีรูปนาคหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งแสดงว่าปัตตานี ตอนนั้นได้รับอิทธิของจีนแล้ว        
                     กรือเซะ (Krue Se) หมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปทางตะวันออก ๖ กิโลเมตร อยู่ในเขตปกครองของตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยที่มีการกล่าวถึงกันมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา หมู่บ้านกรือเซะเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญคือมัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกว่า ๒๐ แห่ง เช่น คู่เมือง ป้อมปราการ ที่หล่อปืนใหญ่ บ่อน้ำโบราณ เตาเผาเครื่องถ้วยชาม จุดขนถ่ายสินค้าจุดเรือจม นาเกลือโบราณ สุสานเจ้าเมือง สุสานชาวต่างประเทศ สุสานนักรบปัตตานี ฯลฯ กรือเซะในอดีตมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักออกไปกว้างไกลในฐานะเป็นที่ตั้งของเมืองปัตตานีสมัยอยุธยา และในฐานะเมืองหลวงและมหานครของดินแดนมลายู ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้ามาฟื้นฟูบูรณะเมืองโบราณแห่งนี้ ทั้งนี้อาจจะมีเหตุผลไม่อยากไปรื้อฟื้นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มากด้วยปัญหาความขัดแย้งกับสยามหรืออยุธยาในยุคนั้น การชุมนุมเรียกร้องให้คืนสถานภาพโบราณสถานของมัสยิดกรือเซะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ การที่มีคนร้ายบุกทำร้ายทรัพย์สินและเผาอาคารในบริเวณสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ รวมทั้งปฏิกิริยาความไม่พอใจมัคคุเทศก์ต่างถิ่นที่มุ่งเน้นถ่ายทอดเรื่องราว เชิงอภินิหารมากกว่าความสำคัญของมัสยิดกรือเซะในฐานะในฐานะศาสนาสถานทุกสังคมใฝ่หาสันติภาพ แต่สันติภาพกับความขัดแย้งก็เกิดขึ้นควบคู่กันไปได้เสมอ กรือเซะในอดีตเป็นเมืองท่าที่มีชื่อเสียงของเออเชียอาคเนย์เป็นที่พักนักอาศัยของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ ชาวอาหรับ เปอร์เซีย โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน  ญี่ปุ่น  อินเดียรวมทั้งชาวสยาม จีน ชวา และมลายู กรือเซะจึงเป็นที่รวมของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนได้กลายเป็นพลเมืองของปัตตานี โดยส่วนหนึ่งได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ในเวลาต่อมาชาวมุสลิมเชื้อสายจีนที่กรือเซะยอมรับในชาติพันธุ์ของเขาด้วยความภาคภูมิใจว่ามีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนชาวกรือเซะยกย่องในเกียรติประวัติของลิ้มโต๊ะเคี่ยมและลิ้มกอเหนี่ยวรวมทั้งชาวจีนอีกนับพันชีวิตที่เดินทางมายังปัตตานีในสมัยราชวงศ์เม็ง หรือกว่า ๔๐๐ ปีที่ผ่านมาเมืองปัตตานีและในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษของพวกเขา ชาวกรือเซะศรัทธาในบุญบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ดังที่ปรากฏในประเพณีและความเชื่อในอดีต เช่น การทำบุญและการแก้บนการขอพร และขอความช่วยเหลือของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฯลฯ ต่อมาเมืองปัตตานีระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ ได้ก้าวเข้าสู้สูญความเป็นสูญกลางของการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม แต่หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมา ฐานะของเมืองปัตตานีเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองการปกครอง และสภาพเศรษฐกิจการค้า มัสยิดกรือเซะและโบราณสถานอีกหลายแห่งจึงถูกทิ้งร้างและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา จนกลายเป็นปริศนาทางประวัติศาสตร์ เมืองปัตตานีในอดีตที่ทุกคนยังสงสัย มัสยิดกรือเซะเป็นมัสยิดเก่าแก่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้น ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ร่วมสมัยอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบเสากลม รูปลักษณะแบบเสาโกธิกของยุโรป ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้ง แหลมและโค้งมน ส่วนที่สำคัญที่สุด คือหลังคาโดมซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ บริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีฮวงซุ้ย หรือสุสานที่ฝังศพของ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับการตกแต่งพูนดินใหม่ปรากฏอยู่ มีผู้คนไปกราบไหว้กันมากพร้อมด้วยสิ่ง-ก่อสร้างอื่น ๆ เช่น เก๋งจีน โอ่งน้ำสีแดง (ซึ่งจุน้ำได้ถึง ๑๒๐,๐๐๐ ลิตร) มัสยิดกรือเซะนี้เล่ากันว่าสร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งเป็นชาวจีนได้มาแต่งงานกับธิดาพระยาตานีและได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อลิ้มกอเหนี่ยว ได้ลงเรือสำเภามาตามให้พี่ชายกลับ เมืองจีนแต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้สร้างมัสยิดกรือเซะขึ้น ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้สาปแช่งขออย่าให้สร้าง มัสยิดสำเร็จ และตัวเองได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้จัดการฝังศพน้องสาวไว้ที่หน้ามัสยิดนี้ ชาวปัตตานีนำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้า ต่อมาได้มีการอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาล เมืองปัตตานี เรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ( ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เป็นที่นับถือของชาวปัตตานี และชาวจังหวัด ใกล้เคียง ในเดือน ๓ ของทุกปี ( กุมภาพันธ์-มีนาคม ) จะมีพิธีเซ่นไหว้และแห่เจ้าแม่ นับว่าเป็นพิธีที่สนุก- สนานมาก ส่วนมัสยิดกรือเซะก็เป็นไปตามคำสาป เพราะไม่สามารถสร้างเสร็จได้ เมื่อจะสร้างต่อก็ให้มีอาเพศ ฟ้าผ่าทุกครั้งไปจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครกล้าสร้างมัสยิดกรือเซะต่อคงเหลือซากทิ้งไว้ตราบเท่าทุกวันนี้ 
           มัสยิดกรือเซะหรือมัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามัสยิดปิตูกรือบัน เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิดซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง (คำว่า ปิตู แปลว่าประตู กรือบัน แปลว่าช่องประตูที่มีรูปโค้ง) ช่วงเวลาที่มัสยิดกรือเซะถูกสร้างนั้นยังเป็นที่ถกเถียงบ้างก็ว่าสร้างในรัชสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ซาร์ บ้างก็ว่าสร้างในรัชสมัยรายาบีรู ส่วนกรณีที่มัสยิดสร้างไม่สำเร็จนั้นก็มีการยึดโยงกับตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งมีสุสานอยู่ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ ที่ถูกเล่าขานต่อเติมภายหลังว่าเจ้าแม่ได้สาปให้มัสยิดนี้สร้างไม่สำเร็จจากประวัติเล่าว่าในยุคที่เมืองปัตตานี มีเจ้าผู้ครองเมืองเป็นนางพญาชื่อรายาบีรู (พ.ศ. ๒๑๕๑-๒๑๖๗) นั้นได้มีชาวจีนชื่อลิ้มเต้าเคียนมาอยู่เมืองปัตตานีและเข้ารีตรับนับถือศาสนาอิสลามแล้วไม่ยอมกลับเมืองจีน หลิมกอเหนี่ยวน้องสาวเดินทางมาตามพี่ชายให้กลับเมืองจีนเพื่อดูแลมารดาที่แก่ชรา แต่ลิ้มเต้าเคียมไม่ยอมกลับเพราะได้รับมอบหมายจากเจ้าเมืองปัตตานี ให้เป็นผู้ควบคุมก่อสร้างมัสยิดกรือเซะอยู่และยังสร้างไม่เสร็จจะขออยู่เมืองปัตตานีต่อไปจนกว่าจะสร้างเสร็จ หลิมกอเหนี่ยวมีความน้อยใจจึงทำอัตวินิบาตกรรมประท้วงพี่ชาย แต่ก่อนที่นางจะผูกคอตายนางได้อธิษฐานว่าแม้นพี่ชายจะช่างที่เก่งเพียงใดก็ขอให้สร้างมัสยิดนี้ไม่สำเร็จ ด้วยแรงแห่งคำสาปแช่งของนางปรากฏว่าลิ้มเต้าเคียมสร้างไม่สำเร็จ ได้ทำการสร้างหลังคาและโดมถึงสามครั้ง เมื่อสร้างจวนเสร็จก็เกิดอัสนีบาตฟาดโดมและหลังคาพังทลายลงมาทุกครั้งทำให้ลิ้มเต้าเคียมเกิดความหวาดกลัว จึงได้ทิ้งงานก่อสร้างให้ค้างอยู่จนบัดนี้ ส่วนในพงศาดารและตำนานท้องถิ่นเมืองปัตตานี พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้กล่าวถึงลิ้มโต๊ะเคี่ยมและลิ้มกอเหนี่ยว (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า "เวลานั้นบ้านเมืองที่เรียกกันว่าเมืองปัตตานีนั้น ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านมะนา ติดต่อกับบ้านโต๊ะโสม บ้านกะเสะ ฝ่ายตะวันออก แต่บ้านพะยาปัตตานีเดี๋ยวนี้ห่างกันทางประมาณสี่สิบเส้นทางที่จะไปเมืองยะหริ่ง ในระหว่างภรรยาเจ้าเมืองปัตตานีว่าการเป็นเจ้าเมืองอยู่นั้นนางพะยาปัตตานี ได้จัดแจงหล่อปืนทองเหลืองใหญ่ไว้สามกระบอก ตำบลที่หล่อปืนนั้นริมบ้านกะเสะก่อด้วยอิฐเป็นรูปโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่งสามห้องเฉลียงรอบ แม่ประธานกว้างประมาณหกศอก ยาวสิ้นตัวเฉลียงสี่วาเลศ เครื่องบนและพื้นเวลานี้ชำรุดหมดยังเหลือแต่ฝาผนัง และฝาผนังเฉลียงนั้นก้อเป็นโค้งทั้งสี่ด้าน พื้นแม่ปะทานสูงประมาณสองศอกเศษ พื้นเฉลียงสูงประมาณสองศอก โรงหรือโบสถ์ที่ก่อด้วยอิฐนี้ มลายูในแหลมปัตตานีเรียกว่า “สับเฆ็ด” แลนายช่างผู้หล่อปืนสามกะบอกนั้น สืบความได้ว่าเดิมเป็นจีนมาจากเมืองจีนเป็นชาติหกเคี่ยมแส้หลิม ชื่อเคี่ยมเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกะเสะจีนเคี่ยมคนนี้มาได้ภรรยามลายู จีนเคี่ยมก็เลยเข้าสุหนัตนับถือศาสนาอิสลามเสียด้วยพวกมลายูสมมุติเรียกกันว่าหลิมโต๊ะเคี่ยม" และในตำบลบ้านกะเสะก็มีเรื่องเล่าว่าหลิมโต๊ะเคี่ยมเดิมเป็นคนจีนและเป็นนายช่างหล่อปืนนี้มาอยู่ในเมืองปัตตานีหลายปี น้องสาวลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อกอเหนี่ยวตามมาจากเมืองจีนมาพบหลิมโต๊ะเคี่ยมที่เมืองปัตตานี อยู่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมให้ละเสียจากเพศมลายูกลับบ้านไปเมืองจีน หลิมโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยออมไปกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นน้องสาวแต่เฝ้าอ้อนวอนหลิมโต๊ะเคี่ยมมานั้นประมาณหลายปีลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอม ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งเป็นน้องสาวมีความเสียใจลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชายผูกคอตายเสีย ครั้นกอเหนี่ยวน้องสาวผูกคอตายแล้ว หลิมโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ก็จัดแจงศพกอเหนี่ยวน้องสาวฝังไว้ในตำบลบ้านกะเสะ และทำเป็นฮวงซุ้ยปรากฏอยู่ตลอดมาจนบัดนี้
             สำหรับพงศาวดารเมืองปัตตานีฉบับนี้ที่ว่านี้ได้กล่าวถึงคำสาปแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวไว้ด้วยและยังได้กล่าวถึงมัสยิดกรือเซะ ว่าอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมโดยไม่ระบุว่าเป็นเพราะสาเหตุใดสำหรับประเด็นคำสาปแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวกลับไม่ปรากฎในหนังสืออื่น ๆ เช่น หนังสือ Sejarah Kerajaan Melayu Patani ฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. ๑๙๘๕ เขียนโดย Ibrahim Syukri มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการเสียชีวิตของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยไม่ปรากฏข้อความเรื่องคำสาปแช่งเช่นกัน หนังสือประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่พิมพ์โดยมูลนิธิเทพปูชนียสถาน เนื่องในโอกาสงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าเล้งจูเกียง ฉบับที่พิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๒ และ ๒๕๔๔ ได้กล่าวถึงบุญญาบารมีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและความเกี่ยวข้องระหว่างพี่ชายคือลิ้มโต๊ะเคี่ยมกับมัสยิดกรือเซะ รวมทั้งได้รวบรวมคำบอกเล่าเกี่ยวกับกิตติศัพท์อภินิหารของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบุคคลต่าง ๆ ที่เคารพนับถือและศรัทธาในเจ้าแม่ แต่ในหนังสือดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความที่เขียนถึงคำสาปแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวไว้แต่อย่างใด ในวิทยานิพนธ์เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีนในย่านสายกลาง จังหวัดยะลา ของแพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กล่าวถึงประวัติของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่โดยศาลเจ้าเล้งจูเกียงก็ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคำสาปแช่งต่อมัสยิดกรือเซะแต่อย่างใด มีเพียงประวัติของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เนื้อหากล่าวว่าลิ้มเต้าเคียนผู้เป็นพี่ชายได้รับอาสาเจ้าเมืองปัตตานีสร้างมัสยิด ในตอนท้ายเรื่องราวจบลงด้วยการที่ลิ้มกอเหนี่ยวหญิงสาวชาวจีนที่มีบทบาทช่วยวงศ์ตระกูลของเจ้าเมืองปัตตานีในการต่อสู้กับพวกกบฏ  ส่วนในพงศาวดารเมืองปัตตานีที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในประชุมพงศาวดารภาค ๓ (พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑) ก็ไม่มีข้อความที่กล่าวถึงคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่มีต่อมัสยิดกรือเซะหรือมัสยิดปินตูกรือบัง มีเพียงประวัติของท่านลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือลิ้มเต้าเคี่ยน โดยกล่าวท่านเข้ามาปัตตานีเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๑๙ ในสมัยแผ่นดินสุลต่านบาฮาดูร์ ชาร์ โดยได้นำเรือสำเภามาจอดเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือตันหยงลูโล๊ะ และก็ไม่ปรากฏว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมหรือลิ้มเต้าเคียน ได้อภิเษกสมรสเจ้าหญิงคนหนึ่งคนใดเลยไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิงอูงู เพราะฉะนั้นตามตำนานที่ได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้แต่งงานกับบุตรีของเจ้าเมืองปัตตานีนั้นน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะในประวัติศาสตร์อิสลามปัตตานี นับตั้งแต่พระยาอินทิราเข้ารับอิสลาม มาจนถึงการปกครองของสุลต่านบาฮาดูร์ชาร์ซึ่งอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๔๓-๒๑๒๗ ก็ไม่ปรากฏว่าบุตรีของสุลต่านองค์ใดแต่งงานกับลิ้มโต๊ะเคียมหรือหลิมเตาเคียนเลย และมัสยิดกรือเซะก็ไม่ไดถูกสร้างในสมัยสุลต่านบาฮาดูร์ ชาร์ แต่น่าจะสร้างในรัชการสมัยของสูงต่านอิสมาแอล ชาร์ (พระยาอินทิรา) ภายหลังจากที่พระองค์ได้เข้ารับศาสนาอิสลาม และสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือศิลปะของมัสยิดกรือเซะเป็นศิลปะแบบเปอร์เซีย ไม่ว่าจะเป็นซุ้มโค้งประตู หรือเมี๊ยะรอบ ล้วนแล้วแต่เป็นทรงและศิลปะแบบ เปอร์เซียทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นไม่ได้ที่ลิ้มโต๊ะเคียมจะสร้างมัสยิดหลังนี้ ตามที่ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเล่าต่อ ๆ กันมา เพราะถ้าเราได้ไปดูมัสยิดในเมืองจีนที่สร้างเมื่อประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ปีที่แล้ว จะได้เห็นว่ามัสยิดเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นทรงจีน (เหมือนวัดจีน) ทั้งสิ้น ดังนั้นลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะเอาศิลปกรรมแบบเปอร์เซียมาสร้างมัสยิดนี้ได้อย่างไร อาจจะเป็นไปได้ว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมอาจจะเข้ามาช่วยบูรณะมัสยิดภายหลังจะเกิดความเสียหายจากสงครามก็เป็นไปได้ อีกอย่างลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ได้สมรสกับบุตรีของสุลต่านปัตตานีดังที่ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวว่ากล่าวไว้แต่อาจจะสมรสกับญาติของสุลต่านคนใดคนหนึ่งก็เป็นไปได้ แต่เป็นเพราะลิ้มโต๊ะเคี่ยมอาสาที่จะต่อเติมมัสยิดให้เสร็จสิ้นเพราะสิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือในสมัยเจ้าหญิงฮิเยาว์ เจ้าหญิงบีรู เจ้าหญิงอูงู และเจ้าหญิงกูนิง ครองเมือง ปัตตานี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๒๗-๒๒๓๐ มัสยิดกรือเซะก็ยังไม่ถูกทำลาย มัสยิดกรือเซะยังคงถูกบันทึกว่าเป็นมัสยิดที่งดงามภายในมัสยิดมีลวดลายอันวิจิตรบนยอดโดมของมัสยิดกรือเซะหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ แต่อาจเป็นไปได้ว่า ในสมัยนี้ราชินีฮิเยาว์ เกิดศึกทำสงครามหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ทำให้มัสยิดเสียหายมากคือในปี พ.ศ. ๒๑๔๖ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ส่งกองทัพเข้ามาตีเมืองปัตตานีโดยมาขึ้นที่ปากอ่าว เมืองปัตตานี และบุกเข้าประชิดเมืองปัตตานี ราชินีฮิเยาว์ได้นำทหารหาญของเมืองปัตตานีออกมาต่อต้านกองทัพอยุธยาอย่างเต็มกำลังสามารถ โดยใช้ปืนใหญ่ออกมายิ่งต่อสู้จนกองทัพสยามต้องถอยทัพกลับไปในที่สุด ในศึกสงครามครั้งนี้ทำให้มัสยิดกรือเซะ หรือมัสยิดปินตูกรือบังเสียหายมาก ลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งรับราชการอยู่จึงรับอาสาช่วยบูรณะซ่อมมัสยิดกรือเซะ และเป็นเวลาเดียวกับที่ลิ้มกอเหนี่ยวมาตามพี่ชายเพื่อกลับเมืองจีนไปดูแลแม่ที่ชรา แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ยอมกลับเพราะยังบูรณะมัสยิดไม่เสร็จ และอาจเป็นไปได้ว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีความตั้งใจแล้วว่าจะไม่กลับไปแผ่นดินจีนอีกเพราะมีลูกมีเมียแล้ว ลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อได้รับการปฏิเสธจากพี่ชายก็เลยเสียใจมาก เพราะได้รับปากกับทางบ้านแล้วว่าจะนำพี่ชายกลับไปยังบ้านเกิดให้จนได้ เมื่อไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจพี่ชายให้คล้อยตามนางเสียใจเป็นที่สุด เพราะนางไม่สามารถบากหน้ากลับบ้านไปหาแม่ได้โดยปราศจากพี่ชาย จึงได้ตัดสินใจผูกคอตายโดยใช้ผ้าผูกกับต้นมะม่วงหินพานต์ที่ริมชายหาดตันหยงลุโละ ส่วนนางจะสาปแช่งให้ฟ้าผ่ามัสยิดหรือไม่นั้นเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ถ้าหากนางสาปแช่งมัสยิดกรือเซะจริงแล้ว ต้องมีคนได้ยินและต้องห้ามปรามนางไว้ การผูกคอตายครั้งนี้เป็นไปเพราะน้อยใจพี่ชายเท่านั้น  (อ้างอิงจาก ตอฮีเราะห์ แม และนิมารีแย ยูโซะ ; ๒๕๕๗) จากปัญหาดังกล่าวทำเกิดเป็นปัญหากินแหนงแคลงใจระหว่างชาวไทยเชื้อสายมาลายูและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ แต่จากการสำรวจและบูรณะของกรมศิลปากร พบว่าโครงสร้างโดมนั้นมีลักษณะไม่แข็งแรงและขาดความสมดุลจึงทำให้พังทลายทั้งยังไม่พบร่องรอยถูกเผาหรือถูกฟ้าผ่าตามตำนานที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะหลังราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีถัดจากราชวงศ์ศรีวังสาได้ย้ายศูนย์กลางเมืองไปยังบานาและจะบังติกอตามลำดับ มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งให้โรยราไป
           
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานมัสยิดกรือเซะ ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ หน้า ๓๖๙๐ และประกาศขอบเขตโบราณสถานมัสยิดกรือเซะ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๖๗ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๖ พื้นที่โบราณสถาน ประมาณ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๙๕ ตารางวา


ภายในมัสยิดกรือแซะ


ความสำคัญ

        มัสยิดกรือเซะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามัสยิดปิตูกรือบัน คำว่าแรกเรียกตามนามหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งมัสยิด คำหลังเรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของชาวยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง  กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่ามัสยิดกรือเซะเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลาม ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถาน ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมของชาติไว้ และได้ให้งบประมาณมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ เนื่องในวาระแห่งปีเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ มีอายุครบ ๒๐๐ปี ในปีพุทธศักราช  ๒๕๒๕  มัสยิดหลังนี้ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๒ บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖ กิโลเมตรเศษ มีบริเวณชิดติดต่อกับถนนสายปัตตานี-นราธิวาสรูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๕.๑๐ เมตร ยาว ๒๙.๖๐ เมตร สูง ๖.๕๐ เมตร เสาทรงกลมเลียนรูปลักษณะแบบเสาโกธิคของยุโรป ช่องประตู หน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และโค้งมนแบบโกธิค โดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง หนังสือสยาเราะห์ปัตตานีของนายหะยี หวันหะซัน กล่าวว่าสุลต่านลองยุนุสเป็นผู้สร้างประมาณปีฮิจเราะห์ ๑๑๔๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๖๕ สมัยอยุธยาตอนปลาย เหตุที่ก่อสร้างไม่เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยุนุสกับระตูปะกาลันซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ หลังจากสุลต่านลองยุนุสสิ้นพระชนม์แล้ว ระตูปูยุดได้รับตำแหน่งสุลต่านเมืองตานีคนต่อมาได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองตานีไปตั้งอยู่ ณ บ้านปูยุด (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่ ตำบลปูยุด อำเภอเมืองปัตตานี) บริเวณที่ตั้งวังของระตูปูยุดยังคงปรากฏร่องรอยกำแพงอยู่จนบัดนี้ จนไม่มีผู้ใด้คิดสร้างต่อเติมมัสยิดอีกทิ้งไว้รกร้างจนถึงปัจจุบันนี้

 


โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

         
การใช้อิฐในการก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ ได้มีการนำโค้งแหลนมาใช้เป็นซุ้มระหว่างช่วงเสา ซึ่งมีสัดส่วมสวยงามรับกับขนาดของเสาอาคาร มัสยิดกรือเซะถึงแม้จะสร้างไม่เสร็จ
สมบูรณ์แต่กล่าวได้ว่าเป็นมัสยิดที่ก่อสร้างด้วยอิฐเก่าแก่แห่งแรก และเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาอิสลามที่มีคุณค่าและงคงามแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี

        สภาพเดิมของมัสยิดกรือเซะถูกบันทึกไว้ว่าเป็นฐานตึกสี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐแต่ไม่ถือปูนมี ๓ ห้อง และมีเฉลียงโดยรอบ จากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบว่าฐานมัสยิดกรือเซะมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ ๑๕ เมตร ยาวประมาณ ๒๙.๖๐ เมตร มีลักษณะเป็นฐานแอ่นโค้งสําเภาที่เป็นชุดฐานบัวลูกแก้ว ลักษณะของฐานบางส่วนพบร่องรอยของการเรียงอิฐและร่องรอยการสอปูนซีเมนต์ในสมัยหลัง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการซ่อมแซมบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ฐานมัสยิดกรือเซะสร้างด้วยอิฐสอปูน ส่วนตัวอาคารมัสยิดชั้นเดียวขนาด ๕ ห้องก่ออิฐถือปูน ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หน้าอาคารเป็นลานอิฐยกพื้น ภายในอาคารมีระเบียงล้อมรอบห้องประกอบพิธีทางศาสนา ประตูและหน้าต่างเป็นทรงโค้งแหลมและโค้งมน รองรับน้ำหนักเครื่องบนด้วยเสากลมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรม ที่นิยมสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓


การบูรณะปรับปรุงมัสยิดกรือเซะ ใด้มีการสร้างลานยกพื้นด้านหน้าของมัสยิด และสร้างรั้วกั้นอาณาเขตโดยรอบและใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของชาวไทยมุสลิมมาจน
ถึงทุกวันนี้


ภาพจาก : ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล), 2555, 476


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
มัสยิดกรือเซะ (Krue Se Mosque)
ที่อยู่
บ้านกรือเซะ หมู่ที่ ๒ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
จังหวัด
ปัตตานี
ละติจูด
6.873157
ลองจิจูด
101.303172



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ตอฮีเราะห์ แม และนิมารีแย ยูโซะ. มัสยิดกรือเซะ. (2557).  สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 61, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/masjidkerses/2014/12/08/entry-1
พรทิพย์ พันธุโกวิท, ศิริพร สังข์หิรัญ และธนิสรา พุ่มผะกา. (2555). ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
           (โบราณสถานในจังหวัด
สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส.
ประวัติมัสยิดกรือเซะ. (2559). สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 61, จาก http://news.muslimthaipost.com/news/27367
ประวัติมัสยิดกรือเซะ. (2559). สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 61, จาก http://news.muslimthaipost.com/news/27367
ประวัติมัสยิดกรือเซะ YVC. สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 61, จาก https://sites.google.com/site/prawatimasyidkruxsea/khwampenma
มรดกตานี. (2550). กรุงเทพฯ : ไทยยูเนี่ยนกราฟฟิกส์.มัสยิดกรือเซะ. (2560). สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 61, จาก 
            https://th.tripadvisor.com/Attraction_Review-g2238716-d4915910-Reviews-Krue_Sae_Mosque-Pattani_City_Pattani_Province.html
วสันต์ ชีวะสาธน์. (2544). รายงานการวิจัยสถาปัตยกรรมทางศาสนาของชุมชนชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี. 
           ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.  (2560). มัสยิดกรือเซะ. สืบค้นวันที่ 9 มี.ค. 61, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/มัสยิดกรือเซะ


ข้อมูลเพิ่มเติม

 


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024