18th April 2024

อาคารปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร (ตึกฟักทอง) เป็นอาคารหนึ่งที่เป็นผลงานการออกแบบของคุณอมร ศรีวงศ์ สถาปนิกที่ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ไว้วางใจให้เป็นผู้ออกแบบอาคารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ศูนย์อรรถกระวีสุนทร หรือในชื่อศูนย์ศึกษาหาดใหญ่ ในยุคแรกเริ่มก่อตั้ง (ศูนย์นี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาเขตหาดใหญ่ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นสมัยที่ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ เป็นอธิการบดี)

ภาพจาก : https://kyl.psu.th/TbtqFaMUZ

ตึกฟักทองเป็นหนึ่งในกลุ่มอาคารของคณะวิทยาศาสตร์ ในระยะแรกเริ่มอาคารเรียนยังมีน้อย นักศึกษาทุกคณะจึงต้องมาเรียนวิชาบรรยายที่นี่ ทั้งนี้เนื่องจากตึกฟักทองมีห้องบรรยายถึง 5 ห้อง คือ ห้อง L1 ถึง L5 ห้องบรรยายใหญ่สุดคือ ห้อง L1 สามารถจุคนได้ถึง 500 คน ดังนั้น ห้องนี้นอกจากจะใช้เรียนวิชาบรรยายแล้ว ยังเป็นห้องที่ใช้จัดประชุมอาจารย์และข้าราชการทั้งวิทยาเขต รวมทั้งใช้ในการจัดกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย ส่วนห้องอื่นๆ ที่เหลืออีก 4 ห้อง คือห้อง L2 – L5 จุคนได้ห้องละ 250 คน ออกแบบโดยสถาปนิกอมร ศรีวงศ์ มีกลีบทั้งหมด 25 กลีบ ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีคณะต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และนักศึกษาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ตึกฟักทองก็ยังมีนักศึกษาจากคณะต่างๆ หมุนเวียนมาเรียนวิชาบรรยายที่นี่อย่างสม่ำเสมอ สำหรับบริเวณลานชั้นล่างและชั้นบนรอบตัวอาคาร มีทางเข้า – ออกห้องบรรยายถึง 5 ทาง ด้านหนึ่งของอาคารมีสระน้ำล้อมรอบ มีสะพานทอดยาวข้ามเข้าสู่อาคาร ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นทางนี้เดินเข้าสู่ห้องเรียนเมื่อมหาวิทยาลัยสร้างเสร็จใหม่ๆ อาคารตึกฟักทองนับเป็นงานทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ตัวอาคารทาสีขาว มีรูปร่างเป็นผลฟักทอง มีกลีบทั้งหมด 25 กลีบ ตึกฟักทองเป็นอาคารที่เชิดหน้าชูตาของคน ม.อ. เป็นอย่างมาก เพราะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นที่กล่าวขวัญถึง และดึงดูดสายตาและความสนใจของผู้ที่ได้มาเยี่ยมชม สมัยก่อน ต้นไม้ที่ปลูกไว้บริเวณรอบอาคารยังไม่เติบใหญ่และบดบังตัวอาคารดังเช่นทุกวันนี้ จึงสามารถมองเห็นทัศนียภาพได้ในระยะไกล

ตึกฟักทองหรืออีกชื่อหนึ่งคือ อาคารปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร เป็นหนึ่งในกลุ่มอาคารของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บริเวณด้านหน้าตึกฟักทองจะมีสระน้ำล้อมรอบลานชั้นล่างของตึกฟักทอง โดยมีสะพานที่ใช้แผ่นอิฐปูพื้น ทอดยาวข้ามสระน้ำไปยังตึกฟักทอง เป็นที่น่าแปลกใจว่า จำนวนแผ่นอิฐที่ปูพื้นสะพานมีจำนวน 25 แผ่น เป็นตัวเลขเดียวกันกับกลีบของตึกฟักทอง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 25 กลีบ สะพานข้ามสระน้ำที่ทอดไปยังตึกฟักทอง คณะวิทยาศาสตร์แห่งนี้ ถือเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2516 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ใช้สะพานนี้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ลานชั้นล่าง ตึกฟักทอง โดยมี ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ นายกสภามหาวิทยาลัยในขณะนั้นเป็นผู้ตามเสด็จ การเสด็จในครั้งนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าเฝ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเงินเพื่อสมทบทุนก่อสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชชนก ณ บริเวณลานชั้นล่าง อาคารตึกฟักทอง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2516
ศูนย์ปาฐกถา ประดิษฐ เชยจิตร (ตึกฟักทอง) เป็นหนึ่งในกลุ่มอาคารของคณะวิทยาศาสตร์ ตึกฟักทองมีห้องบรรยายถึง 5 ห้อง คือ ห้อง L1 ถึง L5 ห้องบรรยายใหญ่สุดคือ ห้อง L1 สามารถจุคนได้ถึง 500 คน ส่วนห้องอื่นๆ ที่เหลืออีก 4 ห้อง คือห้อง L2 – L5 จุคนได้ห้องละ 250 คน

ความสวยงามของตึกฟักทอง เป็นสิ่งที่สนใจของบรรดากองถ่ายภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างมาก ได้มาขอใช้สถานที่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยเฉพาะตึกฟักทองเป็น Location ในการถ่ายทำภาพยนตร์ เท่าที่จำได้ มีอยู่ 2 เรื่อง คือภาพยนตร์เรื่องจินตะหรา (สร้างเมื่อปี 2516) นำแสดงโดยภาวนา ชนะจิต และ ยอดชาย เมฆสุวรรณ และเรื่องหนึ่งคือภาพยนตร์เรื่องวงศาคณาญาติ (สร้างเมื่อปี 2529) นำแสดงโดยจินตหรา สุขพัฒน์ และสันติสุข พรหมศิริ

ในเวลาต่อมา ตึกฟักทองได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่าศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ เชยจิตร คณบดีคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมงานกับศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้มาตั้งแต่เริ่มแรก (มหาวิทยาลัยภาคใต้ ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า สงขลานครินทร์)

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : https://kyl.psu.th/TbtqFaMUZ

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ