“สงขลานครินทร์ อยู่ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์เป็นตัวฉุดในการพัฒนา ดังนั้น การบริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จะต้องตั้งความฝันให้แรง ว่าจะนำมหาวิทยาลัยไปสู่จุดสูงสุดได้อย่างไร ในฝันนั้นคือ คน ม.อ.ต้องทำงานหนัก ต้องมีความสามัคคี ความฝันเหล่านี้จะเป็นจริงได้ ก็ต้องทำให้คน ม.อ. รัก ม.อ. ก่อน แล้วจะทำอย่างไรให้คน ม.อ.ทั้ง 5 วิทยาเขตรักกันเพื่อความเป็นปึกแผ่นของ ม.อ.เอง”
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีในวาระที่ 2 ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 เปิดใจถึงแนวคิดการบริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในระหว่างการดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นเวลาถึง 6 ปี และเป็นช่วงเวลาที่เหตุการณ์ในภาคใต้ เริ่มปะทุอย่างรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีความยากลำบากมากขึ้นในการประคับประคองมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่ให้ถูกลืมไปจากความทรงจำของคนทั้งประเทศ เหมือนกับที่คนไทยกำลังจะลืมสถานที่สำคัญหลายแห่งในภาคใต้ เช่น ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือวัดช้างไห้ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ ช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ให้ดีขึ้น แม้จะใช้เวลานานสักเพียงใดก็ตาม
“อาจารย์บุญสม” เป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความมุ่งหวังจะเป็นอาจารย์ตั้งแต่จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2518 ซึ่งเมื่อไปยื่นใบสมัครไว้ 2 แห่ง ปรากฎว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับเข้าเป็นอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ทันที จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นส่วนหนึ่งของ “สงขลานครินทร์” เป็นเวลา 37 ปี ต่อจากนั้นมา ก่อนที่จะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส
“ช่วงนั้นมีการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แต่ไม่มีอะไร ความเป็นอยู่ปกติ ในการทำงานที่เป็นอาจารย์วิศวกรรมเหมืองแร่ ต้องเข้าเหมืองที่วังพา สะบ้าย้อย ทุกๆดงดิบของป่าเข้าไปได้โดยไม่รู้สึกกลัว กลับรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ น่าอยู่ อาหารการกินไม่ลำบาก ภาษาฟังยากหน่อย คนในท้องถิ่นยังพูดภาษาถิ่นอยู่มาก แต่ไม่ถึงกับต้องปรับตัว การอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยทำให้ไม่มีปัญหา” ท่านอธิการบดีบุญสม กล่าวถึงช่วงเวลาแรกที่สงขลา
เมื่อปี 2518 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ต่างจากวันนี้อย่างมาก เพราะมีหอพักอยู่เพียง 2 หลัง มีอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า อาจารย์อยู่หอพักนักศึกษาเพราะที่พักบุคลากรยังไม่เพียงพอ โรงอาหารมีบริการอาหารแบบถาดหลุม แม่ค้าตักกับข้าวให้ ส่วนข้าวตักเองตามใจชอบ เป็นชีวิตหัวเมืองที่สงบ และบางครั้งจะเปลี่ยวโดยเฉพาะการเข้าไปในเมืองที่ต้องขับขี่มอเตอร์ไซค์ ผ่านทางที่เปลี่ยวและมืด กลัวการดักชิงรถมอเตอร์ไซค์ระหว่างทาง
นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์เมื่อครั้งนั้น จะมีค่านิยมของระบบโซตัส หรือระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่เข้มข้น อาจารย์รุ่นแรกๆ กับนักศึกษาจะอายุไม่ห่างกันมาก จนทุกวันนี้จึงมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นเพื่อนกันมากกว่าครูกับศิษย์ ในตอนนั้น อาจารย์บุญสมมีการนำนักศึกษา ซึ่งเมื่อก่อนมีเพียง 7- 8 คน ออกไปในพื้นที่เพื่อกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่เป็นประจำ เช่นการฝึกระเบิดหิน มีการวิ่งหลบสะเก็ดหินที่กระเด็นจากแรงระเบิดด้วยกันเป็นบรรยากาศแห่งความทรงจำ
หลายคนพูดถึงทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งแร่ที่กำลังจะหมดไปจากแผ่นดินไทย ซึ่งอาจจะมีผลต่อแหล่งงานของผู้จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ แต่อาจารย์บุญสมกลับเห็นว่า ในภาวะที่โลกมีการเปิดเสรี ถ้าเรามีความรู้ มีทุน ทรัพยากรแร่ใต้ดินไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราจะสามารถเข้าถึงได้หมด เช่นที่ผ่านมาอเมริกาจะไปทำเหมืองทองแดงที่โบลีเวีย เปรู บราซิล ก็เป็นเรื่องง่าย ดังนั้นคนไทยจะไปทำเหมืองที่ อินโดนีเซีย ลาว พม่า ก็ย่อมได้ จึงไม่มีปัญหาว่าประเทศที่ไม่มีแร่จะไม่สามารถทำธุรกิจเหมืองแร่ได้ ตราบใดที่ยังมีแร่ มีความรู้ มีทุน และมีคน
เมื่อพูดถึงความไฝ่ฝัน ท่านอธิการบดีบอกว่า หากเป็นด้านวิชาการ ต้องฝันถึงเรื่องการมีความรู้ และเพิ่มพูนความรู้ ทำตำแหน่งทางวิชาการไปจนถึงระดับศาสตราจารย์ แต่ในการบริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ต้องฝันว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ แม้เราจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งในปี 2510 เริ่มจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มาเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน คนจะรู้สึกหวาดกลัวภาคใต้ ทำให้มหาวิทยาลัยจะอยู่ในสถานการณ์ของพื้นที่ที่เป็นตัวฉุดหรืออุปสรรค ในการพัฒนาก็ตาม
ทั้งนี้ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน “มหาวิทยาลัยแห่งผลประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” เพราะจิตวิญญาณของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เราต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักดิ์ศรี เป็นต้นแบบของสังคมไทย และเราจะไม่ทำสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง
ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นสถาบันที่มีฐานที่แข็งแรง เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่เริ่มฝังรากลงดิน ลำต้นแข็งแรง แตกกิ่งก้านสาขา ม.อ.มีระบบภายในที่แน่น มีความสามัคคี พร้อมที่จะเจริญเติบโตแบบค่อยเป็นต่อยไป ไม่หวือหวา แต่ไม่หยุดนิ่งแม้จะมีแรงฉุดจากเหตุไม่สงบ
หกปีในตำแหน่งอธิการบดี รวมถึงหลายปีที่เป็นผู้บริหารระดับรองอธิการบดี ย่อมจะมีความเครียดซึ่งจะมีผลกระทบกับทั้งร่างกายและจิตใจ ท่านอธิการบดีบุญสม กล่าวว่า ผู้บริหารทุกคนต้องผ่อนคลายเป็น ไม่เป็นคนแบกโลกเพราะจะเหนื่อย ตนเองใช้กีฬาว่ายน้ำ เป็นตัวช่วย ทุกคนต้องมีการเล่นกีฬา แต่ไม่จำเป็นต้องนักกีฬา มีวิธีการผ่อนคลายความเครียด ว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ได้ออกกำลังทุกส่วนของร่างกาย ไม่กระแทกกระทั้นส่วนต่างๆของร่างกายมากเกินไป การสัมผัสน้ำจะรู้สึกถึงความเย็น บางคนจะฝึกสมาธิระหว่างว่ายน้ำไปด้วย จะมีการผ่อนคลายทั้งสมอง จิตใจ และร่างกาย
ท่านอธิการบดีบุญสม ยังอยากเห็นเยาวชนได้รับการศึกษาและเจริญเติบโตขึ้นมาโดยมีความสมดุลย์ของชีวิต มีความเข้าใจชีวิตที่แท้จริง อยากให้ชีวิตในวัยเด็ก เป็นชีวิตที่มีทั้งวัยเล่น วัยเรียน วัยแห่งการอบรมบ่มเพาะ อยากเห็นเด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ที่ไม่หักโหมจนไม่มีเวลาพักผ่อนออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ชีวิตวัยเด็กผ่านไปโดยไม่ได้สัมผัสกับวัยเด็กเลย ซึ่งปัจจุบันในสังคมเมืองมีเป็นจำนวนมาก สังคมที่พ่อแม่เต็มไปด้วยความไฝ่ฝันที่จะทำให้เด็กเสียโอกาสที่จะสัมผัสบรรยากาศตามวัยที่เหมาะสม
ข้อมูลและภาพจาก : https://hatyai.psu.ac.th/th/node/4267