19th March 2024

คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร

ประวัติ
           คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มารดาผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ท่านเกิดในตระกูลกรรณสูต เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๓๓ ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นธิดาของนายฮะหยง และนางชุ่ม กรรณสูต บิดาของท่านเป็นบุตรของพระทวีจีนปรีชา และคุณนายกี คุณหญิงหลงมีน้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด ๘ คน (เสียชีวิตหมดแล้ว) ชีวิตในวัยเยาว์ท่านไม่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนแต่ประการใดเพราะบ้านเมืองในยุคสมัยนั้น การศึกษาสำหรับกุลสตรีไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญนัก แต่การเรียนรู้ที่สำคัญคือการบ้านการเรือน ท่านจึงได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างใกล้ชิดจากคุณย่าคือคุณนายกี เมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปี ได้สมรสกับนายสงวน ศตะรัต ซึ่งขณะนั้นเป็นมหาดเล็กในวังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ปฐมเหตุของการสมรสของท่านกับนายสงวน หรือพระยาอรรถกระวีสุนทร ก็เพราะท่านได้มีโอกาสตามคุณย่ามาที่วังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบ่อย ๆ  เนื่องจากด้วยคุณย่าท่านชอบพอคุ้นเคยกับท่านเจ้าจอมมารดาชุ่ม เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาของสมเด็จกรมพระยาฯ  หลังจากสมรสแล้วท่านก็ได้ติดตามสามีไปอยู่ต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่งตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยซึ่งสามีของท่านเป็นทั้งนายอำเภอ เป็นอัยการข้าหลวงมหาดไทย เป็นเจ้าเมือง เป็นปลัดมณฑล จนถึงเป็นสมุหเทศาภิบาล ซึ่งสามีของท่านได้รับเลื่อนยศต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับจนในที่สุดได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาอรรถกระวีสุนทร ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ และเป็นองคมนตรีในปี ๒๔๗๕ ต่อมาภายหลังประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมีการยุบตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล พระยาอรรถกระวีสุนทร พ้นจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี ไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยและเป็นข้าหลวงใหญ่ในสังกัดคณะรัฐมนตรีตามลำดับจนเกษียณอายุราชการในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑
           คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มีบุตรธิดา ๔ คน และหลังจากพระยาอรรถกระวีสุนทรได้ออกราชการ ได้จัดตั้งบริษัทอรรถกระวีสุนทร เพื่อทำกิจการเหมืองแร่วุลแฟรมที่เขาน้อย อำเภอหาดใหญ่ จนกิจการเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับและเนื่องจากในอดีตท่านไม่ได้รับศึกษาเล่าเรียนมากนักทำให้ท่านระลึกอยู่เสมอว่าถ้ามีโอกาสที่จะมีโอกาสช่วยเหลือและบำรุงการศึกษาได้ท่านก็จะไม่นิ่งเฉย เช่น ในครั้งเมื่อพระยาอรรถกระวีสุนทรผู้เป็นสามี ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุง ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นเป็นสถานที่แรกเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีฐานะยากจนโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ในด้านการสังคมสงเคราะห์ท่านก็มีส่วนช่วยเหลือ เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พุทธศักราช ๒๔๘๒) ท่านได้บริจาคเงินอุดหนุนโรงพยาบาล โดยการตั้งทุนบำรุงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทย และสร้างตึกพยาบาลเด็กเกิดก่อนกำหนดที่โรงพยาบาลศิริราช ในส่วนการบำรุงพระศาสนา ท่านและพี่น้องได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัด สร้างกุฏิ สร้างศาลา สร้างพระประธานตลอดถึงเมรุเผาศพ
           เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระยาอรรถกระวีสุนทรได้ถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงหลงฯ ได้รับภาระในธุรกิจต่อมาจนได้เวลาส่งมอบให้ลูก ๆ รับช่วงต่อไป สิ่งสำคัญที่ทำให้ท่านมีความพอใจอย่างยิ่งในบั้นปลายชีวิตคือการมอบที่ดินเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั่นก็คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ดังคำปรารภของลูก ๆ ของท่านที่ว่า
      “เมื่อคุณพ่อสิ้นแล้วท่านก็ยังปรารภอยู่เสมอว่า ถ้าขายที่ดินได้เงินก้อนใหญ่เมื่อใดจะบริจาคช่วยเหลือทางด้านการศึกษาให้เป็นล้ำเป็นสันสักก้อนหนึ่ง พอดีขณะนั้น ดร. สตางค์ มงคลสุข ได้มาหาท่านและปรารภว่าทางราชการมีความประสงค์จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ ได้ดูทั่วแล้วไม่เห็นที่ใดเหมาะสมเท่าที่สวนยาง ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ของท่าน อยากทราบว่าท่านจะขายหรือไม่ และจะขายเท่าใด ท่านได้นำเรื่องหารือกับลูก ๆ ซึ่งทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าท่านควรยกให้จะได้สมความปรารถนาที่ท่านมีมานานแล้ว และเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป”
           ดังนั้นท่านจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินส่วนนั้นเป็นจำนวน ๖๙๐ ไร่ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ เพื่อส่งมอบให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จะจัดตั้งขึ้นโดยไม่คิดมูลค่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสพายชั้นปถมาภรณ์มงกุฏไทยเพื่อเป็นเกียรติแด่ท่าน และในกาลต่อมาผู้จัดการมรดกของท่านได้มอบที่ดินเพิ่มเติมอีกประมาณ ๙๐ ไร่ รวมเป็นจำนวนเกือบ ๘๐๐ ไร่ ในบั้นปลายชีวิตของท่านได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านซอยนานาเหนือ กรุงเทพฯ และถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๐ สิริมายุรวมได้ ๘๗ ปี