โดย
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส. หรือ KMI)
ก่อนที่จะพูดถึงขั้นตอนต่อไป ผม (ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช) ขอใช้เวลาสั้น ๆ ทบทวนขั้นตอนที่ผ่านมาก (ขั้นตอนแรก) ก่อนว่า “Executive Overview” Session ที่กล่าวไว้ในขั้นตอนแรกนั้น บางองค์กรก็จัดขึ้นมาเพียงสั้นๆ ใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง (เพราะผู้บริหารระดับสูงไม่ค่อยมีเวลา) แล้วจึงไปจัดเพิ่มในลักษณะ Workshop ที่ใช้เวลา 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะได้อะไร ถ้าต้องการเพียงแค่ Knowledge Map ก็อาจจะใช้เพียง 2 วัน แต่หากต้องการวางแผนร่วมกัน (KM Planning) ต้องการจะได้ KM Roadmap ก็อาจจะต้องใช้เวลา 3 วันก็ได้
สำหรับขั้นตอนต่อไป เราจะมุ่งความสนใจมาที่เรื่อง “การพัฒนา Knowledge Facilitator” หรือที่ สคส. เรียกกันว่า Workshop การสร้าง “คุณอำนวย” ที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะคนเหล่านี้คือผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ “อำนวยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรต่อไป หากถามว่าองค์กรทุกองค์กรจำเป็นต้องมีคนทำหน้าที่นี้เสมอไปไหม? คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนในองค์กร ถ้าคนในองค์กรมีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) ค่อนข้างดี บางทีก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ “คุณอำนวย” แต่เท่าที่พบเห็นส่วนใหญ่สิ่งที่เป็นปัญหาแทบทุกองค์กรก็คือ ผู้ที่มาเข้ามาร่วมวง ลปรร. ส่วนใหญ่ถ้าไม่พูดมากเกินไป ก็มักจะนิ่งเงียบ ไม่ยอมพูดไม่ยอมแชร์ เรียกได้ว่ามากันสุดขั้ว (extreme) ที่พูดก็พูดมาก พูดบ่อย พูดยาว (และที่ซ้ำร้ายก็คือไม่ยอมฟังใคร) ส่วนที่ไม่พูดก็ค่อนข้างนิ่งเฉย ไม่พูดไม่จา อีกทั้งหลาย ๆ ครั้งผมก็พบว่าการพูดจามักหลงเข้าป่า หลุดประเด็นไป ไม่ตรงกับหัวเรื่องที่ตกลงกันไว้ ในภาวะเช่นนี้ถ้าไม่มี “คุณอำนวย” ช่วยอำนวยวงก็คงจะเข้ารกเข้าพง ซึ่งถือว่าเสียเวลาและเป็น “ฝันร้าย” สำหรับผู้ที่ร่วมวงทุกคน
ส่วนคำถามถัดมาก็คือคำถามที่ว่า “แล้วใครกันล่ะที่ควรจะถูกเลือกมาให้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งสิ่งที่ผมตอบไป ก็มักจะเป็นการตอบแบบกว้าง ๆ ว่าองค์กรควรจะสร้าง “คุณอำนวย” ให้ครอบคลุมทุกฟังค์ชั่นของงาน และ “คุณอำนวย” ควรจะแทรกตัวอยู่ทุกระดับขององค์กร ผู้ที่มาทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นพิเศษ (expert) คือไม่จำเป็นต้องรู้ลึกในงาน แต่ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความรู้กว้างขวางเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ที่เขาพูดคุยกันได้บ้าง การที่เราพัฒนา “คุณอำนวย” จากคละสายงานและหลากหลายระดับ ก็เพื่อเวลาที่เราต้องการจะเลือกใช้ “คุณอำนวย” เราจะได้มี “ตัวเลือก” สามารถเลือกผู้ที่เหมาะสมกับวง ลปรร. แต่ละวงนั้น เช่น ถ้าเป็นวงผู้ใหญ่ เอาเด็ก ๆ ไปเป็น “คุณอำนวย” ก็อาจจะไม่เหมาะสมหรือในทางกลับกันในวงเด็ก หากเอาผู้บริหารไปเป็น “คุณอำนวย” คนในกลุ่มก็อาจรู้สึกเกร็งไม่เป็นธรรมชาติ หากเรามีการพัฒนา “คุณอำนวย” ที่หลากหลายก็จะทำให้การเลือกใช้นั้นง่ายขึ้นมาก
หากมองกันอย่างผิวเผินหลายคนอาจเข้าใจผิด คิดว่าหน้าที่หลักของ “คุณอำนวย” ก็คือการ “อำนวยวง” ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน แต่ผมอยากให้มองกว้างไปกว่านั้น คือมองว่าคุณค่าอันยิ่งใหญ่ในการทำหน้าที่ของ “คุณอำนวย” ก็คือการอำนวยให้เกิด “วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ขึ้นมาภายในองค์กร แน่นอนที่สุด วัฒนธรรมดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ “คุณอำนวย” จะสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง เพราะผู้บริหารนอกจากจะเป็น “ต้นแบบ (Role Model)” ให้กับทุก ๆ คนในองค์กรแล้ว ท่านยังต้องสามารถ “เอื้อเหตุปัจจัย” เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมดังกล่าวด้วย และด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “คุณเอื้อ” ในเรื่องการนำ KM ไปใช้ในองค์กรก็คือผู้บริหารทุกท่านนั่นเอง
Workshop ที่ใช้พัฒนา “คุณอำนวย” ที่ สคส. จัดโดยทั่วไปจะใช้เวลา 3 วัน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้บรรยากาศแบบสบายๆ ไม่ใช้โต๊ะไม่ใช้เก้าอี้ การเรียนรู้เป็นแบบ Action Learning เรียนผ่านการทำกิจกรรม และการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน (Reflection)
———————————————–
ที่มา….สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม. สืบค้นวันที่ 13 ก.ย. 62, จาก https://kmi.or.th/kmknowledge/