16th July 2024

ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข เกิดเมื่อ พ.ศ. 2462 ที่จังหวัดจันทบุรี บิดาชื่อนายแจ้ง มงคลสุข มารดาชื่อนางไน้ มงคลสุข มีพี่ชาย 1 คน ชื่อนายแสตมป์ มงคลสุข จากคำบอกเล่าของบุคคลใกล้ชิดได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ “อาจารย์สตางค์” เกิดนั้นมีฝนตกลงมาอย่างหนักและเสียงฟ้าร้องดังกึกก้องไปทั่ว ช่อฟ้าหน้าโบสถ์ที่วัดใกล้บ้านได้หักลงมา ท่านสมภารได้เดินทางมาเยี่ยมถึงที่บ้านและผูกดวงให้พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า “สตางค์” หมายถึง “หนึ่งในร้อย” อีกทั้งยังกำชับบิดา มารดาให้เลี้ยงดูเด็กชายสตางค์ให้ดี “อาจารย์สตางค์” เป็นเด็กที่เรียนดี เฉลียวฉลาด แต่เมื่อจบชั้นมัธยมต้น บิดาของท่านจะไม่ให้เรียนต่อ เนื่องจากขัดสนเรื่องรายได้ จนคุณครูและท่านสมภารต้องมาเกลี้ยกล่อมถึงที่บ้านให้ส่งเสียให้เรียนต่อ ท่านสมภารถึงกับเอ่ยปากว่าหากมีปัญหาอะไรให้ช่วยท่านก็ยินดีจะช่วย และจะยินดีมากหากจะได้มีส่วนส่งเสียให้ได้เล่าเรียนต่อชั้นสูง ๆ แต่ถ้าไม่รับปากท่านสมภารจะนั่งอยู่อย่างนั้นไม่ยอมกลับวัด บิดาของท่านจึงยอมให้เรียนต่อ แต่จะไม่ยอมรบกวนท่านสมภารเด็ดขาดและจะส่งเสียให้เล่าเรียนด้วยตัวของท่านเองท่านได้เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตและปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อท่านได้รับปริญญาโทแล้ว ก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์แผนกเคมี ในปี พ.ศ. 2488 ได้รับเงินเดือน เดือนละ 140 บาท ในขณะนั้นท่านนับเป็นอาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง มีนักศึกษาให้ความเคารพและชื่นชมมาก ด้วยความที่ท่านมีภูมิความรู้สูง ฉลาด สอนเร็ว กระฉับกระเฉง มีวิธีสอนที่เข้าใจง่ายและเป็นกันเองกับนักเรียน ถึงแม้ว่าท่านยังเป็นอาจารย์ที่อาวุโสน้อยและยังไม่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศเหมือนอาจารย์อาวุโสท่านอื่น แต่การสอนของท่านก็ได้รับการยกย่องชื่นชมจากนักเรียนอยู่เสมอ ๆ ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนแบบ Tutorial ที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง มีกลวิธีในการสอนที่ดีมากจนเป็นที่พออกพอใจของนักศึกษาทุกกลุ่ม เนื่องจากท่านเข้าใจเลือกปัญหาเลือกจุดสำคัญต่าง ๆ มาเน้น จนมีนักศึกษาบางคนเข้าใจผิดว่าท่านรู้ข้อสอบแล้วนำมาสอนให้นักศึกษา ที่เป็นดังนี้เพราะทุกเรื่องทุกประเด็นที่ท่านนำมาสอนมักตรงกับข้อสอบของอาจารย์เคมีรุ่นผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก

ปี พ.ศ. 2490 ท่านได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัย Liverpool ประเทศอังกฤษ จนได้รับปริญญาเอกทางอินทรีย์เคมี สมัยที่ท่านศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่นั้น ได้รับคำชมจากบรรดาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Liverpool อยู่เสมอ
ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เดินทางไปดูงานที่มหาวิทยาลัย Liverpool ได้มีโอกาสพบกับผู้ควบคุมการศึกษาและการวิจัยของท่าน ซึ่งได้ชมเชยให้ฟังว่าท่านเป็นนักเรียนไทยที่มีความสามารถมาก และทำการวิจัยได้ผลดียิ่งกว่านักเรียนไทยคนอื่น ๆ ที่ได้เคยพบมาภายหลังเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ ท่านได้เข้ารับราชการที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมาไม่นานก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดตั้ง “คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์” ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นท่านทำงานหนักมาก แต่ก็ทำไปได้ด้วยดีและได้รับความสำเร็จอันงดงามงานแรกของท่านที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก คือการเป็นหัวหน้าดำเนินการศึกษาของนักศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ซึ่งในตอนนั้นยังสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในการดำเนินการครั้งนี้ไม่มีทั้งสถานที่และอาจารย์ประจำ ต้องอาศัยสถานที่เรียนกันในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ครูบาอาจารย์ของท่านได้แลเห็นถึงความตั้งใจดีและความเอาจริงเอาจัง จึงช่วยกันไปดำเนินการสอนให้ เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ไปได้ระยะหนึ่ง

ตลอดเวลาที่ท่านเริ่มงานที่โรงเรียนเตรียมแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ท่านต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการ รวมทั้งการถูกเพ่งเล็งในแง่ที่ไม่งามและดูแคลนอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดความสำเร็จของนักศึกษาแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรกก็ปรากฎผล คือเมื่อมีการสอบรวมกับคณะแพทยศาสตร์จากศิริราชและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่านักศึกษาของท่านสามารถทำคะแนนนำเป็นส่วนมาก นับเป็นผลจากการปูพื้นฐานวิชาต่าง ๆ เป็นอย่างดี ผลสำเร็จนี้สามารถทำให้ท่านขยายงานเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สำเร็จในไม่ช้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน หลังจากที่คณะวิทยาศาตร์การแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งระดับประเทศ ท่านได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสและเป็นการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของประเทศ โดยท่านร่วมเป็นคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปี พ.ศ. 2514 ได้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของไทย เมื่อท่านได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ท่านจะยังคงสถิตอยู่ในใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องไปตลอดกาล

ข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข. (2563) https://stang.sc.mahidol.ac.th/stangmuseum/biography.php

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ