ก้าวสู่สำนักงานสีเขียว (Green Office)

สำนักงานสีเขียวคืออะไร?

สำนักงานสีเขียว หมายถึง สำนักงานและกิจกรรมต่างๆ ภายในสำนักงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างรู้คุณค่า มีแนวทางในการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญจะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำ

กว่าจะเป็นสำนักงานสีเขียว?

การจะเป็นสำนักงานสีเขียวนั้น สำนักงานต้องผ่านตามเกณฑ์การประเมิน ซึ่งถูกกำหนดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หลักสำคัญของสำนักงานสีเขียว คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมในสำนักงาน เพื่อลดการใช้พลังงาน และริเริ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณขยะโดยการลดการใช้ การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดและเลิกใช้สารเคมีอันตราย รองรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เป็นต้น สำหรับเกณฑ์การประเมิน แบ่งเป็น 6 หมวด ดังนี้

หมวด 1 การกำหนดนโยบาย การวางแผนการดำเนินงานและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

➤ กำหนดบริบทและขอบเขตของการจัดการสิ่งแวดล้อม จัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อม และมีแผนงานโครงการที่ นำไปสู่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

หมวด 2 การสื่อสารและสร้างจิตสำนึก

 ➤ เน้นการสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสำนักงาน และการจัดฝึกอบรมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และสิ่งแวดล้อมให้กับบุคลากร และมีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์แก่บุคลากรในองค์กร

หมวด 3 การใช้ทรัพยากรและพลังงาน

 ➤ เน้นการใช้พลังงาน การใช้นํ้า และทรัพยากรอื่น ๆ รวมถึงการจัดประชุมและนิทรรศการ

หมวด 4 การจัดการของเสีย

 ➤ เน้นการจัดการของเสียและน้ำเสียในสํานักงาน 

หมวด 5 สภาพแวดล้อมและความปลอดภัย

 ➤ เน้นเรื่องสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกสํานักงาน (Indoor & Outdoor Environmental) ได้แก่ อากาศ แสง เสียง ความน่าอยู่ และการเตรียมความพร้อมต่อสภาวะฉุกเฉิน

หมวด 6 การจัดซื้อจัดจ้าง

 ➤ เน้นการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และการจัดจ้างที่เป็นมิตร (ฉลากเขียว) ในสํานักงาน

ระดับคะแนนของการประเมินมีอะไรบ้าง?

สำนักงานที่เข้าตรวจและมีคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์การประเมินสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ สำนักงานที่มีคะแนนรวมร้อยละ 60 ขึ้นไป โดยมีระดับการผ่านเกณฑ์ 3 ระดับ ดังนี้

1. ระดับดีเยี่ยม (G ทอง) คะแนนรวมร้อยละ 90 ขึ้นไป

2. ระดับดีมาก (G เงิน) คะแนนรวมร้อยละ 80-89

3. ระดับดี (G ทองแดง) คะแนนรวมร้อยละ 60 -79

สุดท้ายแล้ว สำนักงานสีเขียว ถือเป็นเรื่องของบุคลากรทุกคนในองค์กรที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันช่วยขับเคลื่อนสำนักงานจากนโยบายไปยังการลงมือปฎิบัติ สิ่งนี้จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความตระหนักที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสำเร็จในระยะยาวและมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปอีกด้วยค่ะ

เอกสารอ้างอิง
สยาม อรุณศรีมรกต, กัมปนาท ภักดีกุล, ฐิติธร บุญเรือง, และเพ็ญพรรณ พงษ์สายันต์. (2562). มาตรฐานสำนักงานสีเขียว (Green Office Standard). ค้นจาก http://www.clm.up.ac.th/greenoffice/doc/greenoffice62.pdf

Back To Top
Chinese (Simplified)EnglishFrenchGermanItalianSpanishThai