หมา หรือติหมา (Ti Hma)
 
Back    19/04/2018, 15:13    35,144  

หมวดหมู่

งานฝีมือ


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพสืบค้นจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/469-บอกเล่าเรื่องราว-หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาวใต้/

       วิถีการดำเนินชีวิตของคนปักษ์ใต้สมัยก่อนจะมีบ่อน้ำกันทุกบ้าน บ้างก็อยู่ในบ้าน บ้างก็บริเวณข้างบ้านการตักน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าหมาหรือติหมา "หมา" หรือ "ติหมา" เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งเป็นความรู้ความสามารถของชาวบ้านที่มีการปรับตัวและนำวัสดุใกล้ตัวมาประดิษฐ์ออกมาเพื่อการใช้สอย เช่น การนำกาบของต้นหมากหรือใบจาก มาประดิษฐ์เป็นภาชนะตักน้ำ ในอดีตหมาหรือติหมา เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำก้านจาก (ต้นจาก) ที่เหลือใช้นำมาสานต่อกันให้เป็นรูปเรือหรือรูปถังน้ำ ชาวบ้านใช้ตักน้ำขึ้นจากบ่อหรือวิดน้ำออกจากเรือ ต่อมามีการใช้ถังและพลาสติกเข้ามาแทนที่ ทำให้ภูมิปัญญาการทำหมาหรือติหมาเริ่มสูญหายไปจากความทรงจำของเยาวชนภาคใต้ โดยลืมไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ หรือการสะสมความรู้ ลองผิด ลองถูกมาหลายยุคหลายสมัย

          คำว่า "หมา" หรือ "ติหมา" นี้ผู้รู้กล่าวว่าไม่ใช่คำไทยแท้แต่เป็นคำที่มาจากรากศัพท์มาจากภาษามลายูถิ่นคือคำว่า "ติมอ" หรือ “Timba” ซึ่งหมายถึงภาชนะตักน้ำ ทำหน้าที่เหมือนถังน้ำและขันน้ำ เช่น ตักน้ำจากบ่อโดยใช้ไม้ทำเป็นตะขอเกี่ยว หรือใช้เชือกผูกโยง ใช้ตักน้ำอาบ วิดน้ำในเรือ เป็นต้น วัสดุที่ทำอาจจะเป็นกาบของพืชตระกูลปาล์ม ได้แก่ กาบหลาวชะโอน กาบหมาก หรือใบของพืช เช่น ใบจาก ซึ่งเป็นพืชที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ในการเรียกชื่อของหมาหรือติหมา  บางครั้งจึงมีชื่อของพืชที่นำมาทำต่อท้ายด้วย เช่น ถ้าทำจากใบจากก็เรียกว่า "หมาจาก" ถ้าทำจากต้อหมาก (กาบหมาก) ก็เรียกว่า "หมาต้อ" ถ้าทำจากกาบเหลาชะโอนก็เรียกว่า "หมาต้อหลาวโอน" แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านทางภาคใต้นิยมทำ จากวัสดุใบจากมากกว่าชนิดอื่น ๆ ในบางท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการใช้คำว่า "หมา" ในความหมายที่กว้างออกไปซึ่งหมายถึงภาชนะตักน้ำทั่ว ๆ ไป แม้กระทั่งปัจจุบันก็เรียกภาชนะตักน้ำที่ทำด้วยสังกะสี อะลูมิเนียม หรือเหล็กว่า "หมาถัง" หรือ "หมาถั้ง" ที่ทำด้วยพลาสติกก็เรียกว่า "หมาพลาสติก"                                

    ในการทำหมานั้นชาวบ้านทางใต้นิยมทำจากใบจากหรือหมาจาก มากกว่าชนิดอื่น ๆ โดยใช้ยอดอ่อนที่เป็นใบนำมาตัดออกมาเป็นใบ ๆ นำมาตากแดดพอหมาด ๆ  ประเภทของหมาหรือติหมา แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ
          ๑. ชนิดตามลักษณะของการผูกปลายของตัวหมาให้เป็นที่ถือคือหมาโผ้ (โผ้–ตัวผู้) หมายถึงหมาที่เอาปลายทั้ง ๒ มาผูกไขว้กัน
         ๒. หมาเหมีย (เหมีย–ตัวเมีย) หมายถึงหมาที่เอาปลายทั้ง ๒ ข้างมาสอดผูกแนบกัน

หมาจาก (ภาพสืบค้นจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/469-บอกเล่าเรื่องราว-หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาว)

ใบจาก

หมากต้อหรือกาบหมาก

ภาพสืบค้นจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/469-บอกเล่าเรื่องราว-หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาว

กาบเหลาชะโอน

ภาพสืบค้นจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/469-บอกเล่าเรื่องราว-หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาว


วัตถุดิบและส่วนประกอบ

ภาพสืบค้นจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/469-บอกเล่าเรื่องราว-หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาว

      ในบรรดาหมาหรือติหมาที่ทำจากพืชตระกูลปาล์มในท้องถิ่นภาคใต้ หมาจากจะเป็นที่นิยมทำและใช้กันมากกว่าหมาประเภทอื่น ๆ อันเนื่องจากองค์ประกอบและรูปลักษณะที่สวยงาม และมีกรรมวิธีการทำที่น่าสนใจกว่าหมาประเภทอื่น ปัจจุบันเป็นยุคของการอนุรักษ์โลกเน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติ  ผู้คนได้ประยุกต์หมาหรือติหมา โดยเฉพาะหมาจาก มาใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง  เช่น ใส่เครื่องดื่ม ใส่อาหาร ใส่ดอกไม้ประดับ ฯลฯ

ภาพสืบค้นจาก: เพจติหมาใบจาก ตรัง ; https://www.facebook.com/pages/category/Local-Business/ติหมาใบจาก-ตรัง-1560474327610872/

ขั้นตอนการทำหมาหรือติหมาจากใบจาก

     ๑. เริ่มด้วยตัดเอายอดจากอ่อน ๆ ซึ่งเป็นยอดอ่อนที่รวมกันแน่นไม่แตกออกเป็นใบมาจัดเอาแต่ใบตัดเอายอดจาก โดยใช้ยอดอ่อนของใบจากที่ใบยังรวมกันแน่นไม่แตกออก
        ๒. นำใบไปตากแดดพอหมาด ๆ ซึ่งมีใบรวมกันหนาแน่นและยังไม่แตกออกมาจากยอดเป็นใบ ๆ (ถ้ายอดเริ่มแตกใบก็แสดงว่าใบเริ่มแก่แล้วใช้ไม่ได้) 
        ๓.
นำไปสอดกันโดยคลี่ใบออกข้างหนึ่งแล้วสอดให้แต่ละใบสลับโคนปลายไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ปลายทั้ง ๒ ข้างมีขนาดเท่า ๆ กัน
        ๔. เมื่อสอดได้ตามขนาดที่ต้องการแล้วให้รวบปลายทั้ง ๒ ข้างเข้าหากันและผูกติดกัน
       ๕. 
ใช้หวายหรือคล้าแทงเย็บรอยต่อระหว่างใบจากแต่ละใบตามแนวขวางของใบจากที่สอดกันนั้น พยายามเย็บให้เป็นแนวตรงส่วนกลางของหมา เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงในการรับน้ำหนักของน้ำ การเย็บนี้อาจเย็บหลายแถวก็ได้ แต่ถ้าเป็นหมาขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องเย็บก็ได้

        ขั้นตอนการทำหมาหรือติหมาจากหมากต้อ (กาบหมาก)
        ๑. เลือกกาบหมากสุก ซึ่งเป็นกาบที่ไม่อ่อนและไม่แห้งเกินไป ความกว้างประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ความยาวประมาณ ๓๐-๓๕ เซนติเมตร พร้อมกับเตรียมไม้ไผ่เพื่อไว้รับน้ำหนักตรงส่วนด้ามของหมาตักน้ำ
        ๒. พับปลายกาบทั้ง ๒ ข้าง แล้วผูกติดกันหรือใช้ไม้กลัด เพื่อทำเป็นที่จับเวลาตักน้ำและเย็บส่วนกลางของด้ามจับให้เป็นแนวตรงเพื่อช่วยพยุงในการรับน้ำหนัก และใช้หวายหรือเชือกมาผูกที่ด้ามให้แน่น

การตากใบจาก

หมากต้อ (กาบหมาก)

ภาพสืบค้นจาก : https://www.hatyaifocus.com/บทความ/469-บอกเล่าเรื่องราว-หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาวใต้/

รวบปลายทั้ง ๒ ข้างเข้าหาและผูกให้ติดกัน

ภาพสืบค้นจาก : http://www.siamrath.co.th/web/รายงานพิเศษหนึ่งเดียวในตรัง-“หมาจาก-หรือ-ติหมา”-ภูมิปัญญาสร้างเงินแสน


ผู้ประกอบการ

       การผลิตหมาหรือติหมาของกลุ่มผู้ประกอบการในภาคใต้ สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนเดือนละหลายล้านบาท กลุ่มผู้ผลิตหมาหรือติหมา อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง หรือกลุ่มจักสานก้านจาก หมู่ที่ ๕ ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้ผลิตและส่งขายหมาจากให้กับตลาดนัดสีเขียวทั่วประเทศประมาณเดือนละไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ลูก ซึ่งมีราคาใบละตั้งแต่ ๖-๑๐ บาท สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า ๒๗๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน และมีแนวโน้มจะขายดีขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากกระแสการรณรงค์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มเกษตรกรบ้านนายอดทองเป็นกลุ่มที่สามารถรวมตัวกันได้และสืบสานการทำติหมามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเข้ายุคทองของการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก ยิ่งทำให้ติหมาเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนกับญี่ปุ่น จากผลงานทำให้กลุ่มได้รับรางวัล OTOP ระดับพรีเมียมโกอินเตอร์ ในโครงการ ๙๑๐๑ ประจำปี ๒๕๖๑ ได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ รับโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาแล้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทองหรือกลุ่มจักสานก้านจาก มีนางสุจินต์ ไข่ริน เป็นประธานกลุ่ม

แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์

       ๑) ที่ทำการกลุ่ม ๓๑/๑1 บ้านนายอดทอง หมู่ที่ ๕ ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 92110 ประธานกลุ่ม นางสุจินต์ ไข่ริน เบอร์โทร. ๐๘๙๙๗๒๒๔๖๕
       ๒) ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดตรัง
       ๓) เมืองทองธานี กรุงเทพมหานครฯ
       ๔) ร้านไทโรตาล ถนนห้วยยอด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
       ๕) ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นเมือง จังหวัดตรัง
       ๖) ร่วมจำหน่ายสินค้า ตามงานนิทรรศการ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและให้การสนับสนุน
   

ที่ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง

สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง

ผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง

ขั้นตอนการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง

ภาพจาก : เพจจักสานก้านจาก บ้านนายอดทอง จ.ตรัง ; https://www.facebook.com/pg/CaksanKanCak/photos/?ref=page_internal


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
หมา หรือติหมา (Ti Hma)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ชิตพล  ดวงสุวรรณ และปวันรัตน์   พรหมทอง. (2560). โครงงานภูมิปัญญาท้องถิ่น (หมาตักน้ำ).  สืบค้นวันที่ 24 ส.ค. 61, จาก http://pawanear-chitpon.blogspot.com/
ธนาคารไทยพาณิชย์. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (ล. 17) : หัตถกรรมหมาตักน้ำ.  กรุงเทพฯ : ธนาคาร.
แสงอรุณ รัตกสิกร และคณะ. (2551). ลักษณะไทย เล่ม 4. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง.
หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาวใต้. (2560). สืบค้นวันที่ 24 ส.ค. 61, จาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ/469-บอกเล่าเรื่องราว-หมาตักน้ำ...ภูมิปัญาของชาวใต้/
“หมาจาก หรือติหมา” ภูมิปัญญาสร้างเงินแสน. (2558). สืบค้นวันที่ 24 ส.ค. 61, จาก https://siamrath.co.th/webรายงานพิเศษหนึ่งเดียวในตรัง-“หมาจาก-หรือ-ติ                                                  หมา”- ภูมิปัญญาสร้างเงินแสน


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025