การใช้สมุนไพรมารักษาโรคนับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอดีด ถึงแม้ว่าปัจจุบันคนส่วนมากจะหันไปใช้การรักษาแบบแผนปัจจุบันกัน แต่การใช้พืชสมุนไพร เช่น ไพลเหลือง ไพลดำ หรือขมิ้นชัน ในการรักษาโรคก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะการรักษาอาการต่าง ๆ เช่น เคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ เป็นต้น ในบทความนี้จะขอนำเรื่องราวของไพลดำ ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้กันมากในภาคใต้เป็นไม้จำพวกเหง้า ลำต้นและเหง้าเหมือนไพล กาบใบและใบและก้านใบสีเข้มออกดำ ไพลดำเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นกอ เหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อภายในเหง้าเป็นสีม่วง หรือสีม่วงอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุนร้อน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไพลดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber ottensii Valeton จัดอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ไพลดำ มีชื่อตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น ปูเลยดำ (ภาคเหนือ), ไพลม่วง, ไพลสีม่วง (กรุงเทพฯ), ไพลสีม่วง, ดากเงาะ (ปัตตานี), จะเงาะ (มลายู-ปัตตานี), ว่านกระทือดำ เป็นต้น
ลักษณะของว่านไพลดำ
ไพลดำมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุนานหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ขึ้นเป็นกอ ความสูงของลำต้นจากดินประมาณ ๑.๕-๓ เมตร แต่ถ้าปลูกหลายปีะอาจสูงได้ถึง ๕ เมตร ส่วนของเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อภายในเหง้าเป็นสีม่วง สีม่วงจาง ๆ หรือสีม่วงอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุนร้อนคล้ายไพล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ต้องใช้ดินที่มีสีดำในการปลูก (ถ้าเป็นสีอื่นปลูกจะทำให้ต้นตาย เพราะว่านชนิดนี้เจริญงอกงามได้ในดินสีดำเท่านั้น) พบมากตามป่าเขตร้อนชื้น เช่น ภาคใต้ของไทย ใบไพลดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเรียว โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๒๖-๓๐ เซนติเมตร แผ่นใบหนาเส้นกลางใบเป็นร่องสีเขียวอ่อน ด้านล่างและเส้นกลางใบมีขน ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้นมีสีม่วงคล้ำ กาบใบซ้อนกันแน่นไม่มีขนหรือมีบ้างประปราย ลิ้นใบยาวที่ปลายกาบใบลักษณะเป็นรูปไข่ปลายมน ดอกของไพลดำ จะออกดอกเป็นช่อ จากโคนต้นแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ช่อดอกยาวประมาณ ๙ เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ ๑๔ เซนติเมตร โดยช่อดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกถึงเกือบกลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน เป็นสีเหลืองอ่อน มีประสีม่วงแดงอ่อน ๆ กลีบดอกมี ๕ กลีบ ลักษณะกลีบบาง โคนดอกเชื่อมติดกันดอกมีใบประดับสีเขียวปนแดงวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างเป็นระเบียบดูคล้ายกับเกล็ดปลา ใบประดับเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีแดงอมเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดงเข้ม กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีใส เกสรเพศผู้ส่วนที่เป็นกลีบมีหยัก ๓ หยัก โดยหยักกลางหรือกลีบปากใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปกลมแกมรูปขอบขนาน ปลายแยก ๒ หยักตื้น พื้นสีเหลืองแกมสีน้ำตาลอ่อนประสีน้ำตาลแดงแกมสีชมพูอ่อน ส่วนหยักข้างมี ๒ หยักสั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายมนสีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ปลายจะเป็นจะงอยยาวโค้งสีเหลืองส้ม ส่วนเกสรเพศเมียก้านเกสรเป็นสีขาว ยอดเกสรมีลักษณะเป็นรูปกรวยสีขาวรอบ ๆ ปากมีขน และรังไข่เป็นสีขาวโดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ส่วนผลของไพลดำ จะเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกสีแดง และจะติดผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
การปลูกไพลดำ
ความเชื่อในเรื่องการปลูกไพลดำมีแพร่หลายในหมู่คนไทยในหลายๆ ภาค โดยทั่วจะปลูกเป็นไม้ประดับเพราะไพลดำเป็นว่านเป็นพรรณไม้ที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง อันเนื่องจากปลูกเลี้ยงและการดูแลรักษาทำได้ลำบาก เช่น ต้องใช้ดินดำในการปลูก หรือดินสะอาดกลางแจ้งที่นำไปเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียด ในท้องถิ่นภาคใต้มีกรรมวิธีการปลูกที่อาจจะแตกต่างจากที่อื่น ๆ คือ การปลูกจะต้องใช้ดินที่มีสีดำเท่านั้นถ้าเป็นสีอื่นจะทำให้ต้นตายได้ (ว่านชนิดนี้เจริญงอกงามได้ในดินสีดำเท่านั้น) การใช้ดินดำ บางที่ใช้ดินกากยายักษ์ บางที่ใช้ดินดำจากป่า บางที่ใช้ดินดำผสม ในการปลูกจะใช้คาถาต่าง ๆ กำกับลงไปซึ่งมีทั้งคาถาทางพุทธศาสนา อิสลาม และคาถาพื้นบ้านแบบเพลงโนรา เวลาเอาหัวว่านลงแล้วเวลากลบดินอย่ากลบให้ดินแน่นเกินไปนัก เพื่อน้ำที่รดจะได้ซึมได้ง่าย หากกดดินแน่นหัวว่านเกินไป น้ำซึมได้ช้า ทำให้ว่านชุ่มน้ำนานเกินไปอาจเน่าเสียโดยง่าย และส่วนมากควรเหลือหัวว่านให้โผล่พ้นดินสักหน่อยเพื่อสะดวกในการแตกต้นขึ้นใหม่
สรรพคุณของไพลดำ
ไพลดำตามตำรายาไทยสรรพคุณตะเหมือนไพล ใช้ได้เหมือนไพล แต่มีฤทธิ์แรงกว่า ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแก้บอบช้ำได้เป็นอย่างดี ไพลดำเป็นยาอายุวัฒนะนำมาบำรุงกำลัง ซึ่งสรรพคุณสามารถนำมาใช้ทั้งหมดคือ
๑. ลำต้น ใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารเป็นพิษหรือลำไส้เป็นพิษ ตลอดถึงเป็นยาอายุวัฒนะและยาบำรุงกำลัง
๒. ดอก มีรสขื่นสรรพคุณเป็นยาแก้ช้ำใน ช่วยกระจายเลือดที่เป็นก้อนลิ่ม ช่วยรักษาอาการบวม อาการช้ำทั้งตัว (ทั้งต้น)
ภาพจาก https://medthai.com/ว่านไพลดำ/
๓. เหง้า นำมาฝนทาแก้เคล็ดขัดยอก ฟกบวม แก้เหน็บชา แก้เมื่อยขบ สมานแผล ขับประจำเดือน แก้บิด สมานลำไส้ น้ำมันจากเหง้า ทาถูนวดแก้เหน็บชา แก้เส้นสายตามร่างกายตึง แก้เมื่อยขบ โดยนำเหง้าสดมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือสะตุ ๑ ช้อนโต๊ะ กินเป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้บิด ขับลม ขับประจำเดือนสตรี สมานลำไส้ เหง้าสด ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน เก็บไว้รับประทานเช้า-เย็น วันละ ๒-๓ เม็ด เป็นยาช่วยเจริญอาหาร บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ ใบ รสขื่นเอียน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ปวดเมื่อย ดอก รสขื่น แก้ช้ำใน กระจายเลือดที่เป็นก้อนลิ่ม ราก รสขื่นเอียน แก้เลือดกำเดาออกทางปากทางจมูก แก้อาเจียนเป็นเลือด
ภาพจาก: เพจบ้านว่านไทย ; https://www.facebook.com/BanVanThai/
๔. ใบ มีรสขื่นเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ครั่นเนื้อครั่นตัวและแก้อาการปวดเมื่อย
ประโยชน์ของไพลดำ
ไพลดำเป็นว่านทางคงกระพันชาตรี มีการนำมาใช้ในทางไสยศาสตร์ เช่น คงกระพันชาตรี ซึ่งจะต้องเสกด้วยเวทมนตร์คาถา เช่น พุทธังเป็นยา ธัมมังรักษา สังฆังหาย ตะหัง นะหิโสตัง”หรือ “นะโมพุทธายะ” ๗ จบ สำหรับว่านไพลดำนี้จะมีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภทคือ ว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีม่วงอมน้ำตาลจะเด่นในเรื่องของอยู่ยงคงกระพัน) และว่านไพลดำชนิดเนื้อในหัวเป็นสีดำ ซึ่งจะเด่นในเรื่องการชักนำเงินทองแต่ปัจจุบันหายากมากแล้ว
การทำลูกประคบ
การทำลูกประคบเพื่อรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ คือนำไพลเหลือง ไพลดำ และขมิ้นชัน ซึ่งหาได้ในพื้นที่ของชุมชนมาโขลกให้ละเอียดแล้วนำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง มัดให้แน่น แล้วจึงนึ่งให้มีความร้อนเล็กน้อยนำมาประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ หรือบริเวณที่มีแมลงกัดต่อย โดยการประคบจะประคบทิ้งไว้ประมาณ ๑๐-๒๐ นาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้หายไปได้
ภาพจาก : http://fbd.forest.go.th/th/?p=961
กรมป่าไม้ กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้. (2553). สมุนไพรพื้นบ้าน. สืบค้นวันที่ 4 ต.ค. 61, จาก http://fbd.forest.go.th/th/?p=961
ไพลดํา สรรพคุณและประโยชน์ของว่านไพลดำ 19 ข้อ !. (2557). สืบค้นวันที่ 4 ต.ค. 61, จาก https://medthai.com/ว่านไพลดำ/
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะเภสัชศาสตร์. (2553). ฐานข้อมูลสมุนไพร. สืบค้นวันที่ 4 ต.ค. 61, จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=172