นกเขาชวา (Zebra Dove)
 
Back    04/09/2018, 11:25    76,804  

หมวดหมู่

อื่นๆ


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพสืบค้นจาก : http://www.thongthailand.com/index.php?lite=article&qid=42161228

       นกเขาชวามีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อายุเฉลี่ยของนกเขาชวามีอายุ ประมาณ ๒๐-๓๐ ปี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของนกแต่ละตัว นกเริ่มขันได้ในช่วงอายุ ๑ ปี ซึงจะมีเสียงขันอยู่ ๓ ระดับ คือเสียงเล็ก เสียงกลาง และเสียงใหญ่ เสียงขัน (กุก) แต่ละครั้งจะมี ๓-๕ จังหวะ นกเขาชวาที่ชายแดนภาคใต้มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมเลี้ยง เช่น พันธุ์ปราจีนบุรี การเลี้ยงนกเขาชวาได้รับความนิยมมาเป็นเวลายาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรม    
     นกเขาชวาหรือนกเขาเล็ก ชื่ออังกฤษ Zebra Dove อยู่ในสกุล Geopelia Striata มีลักษณะขนสีเทา แกมดำ หางยาวประมาณ  ๘.๙ เซนติเมตร นกเขาชวามีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไทยเกือบทุกภาคเรียกว่า "นกเขาเล็ก" ชาวชวาเรียกว่า “ปุรงปะระกูตด” ชาวมลายูเหนือเรียกว่า “บุรงตีเต้” ชาวมลายูกลางและสิงคโปร์เรียกว่า “มะระบก” ส่วนคำว่า "นกเขาชะวา" มีการสันนิษฐานที่มาของชื่อไว้ ๓ ประการ คือ

        ๑. เป็นนกที่พบมากในชวา ประเทศอินโดนีเซีย
        ๒. เสียงขันดังกังวานไพเราะคล้ายกับเสียงปี่ชวา
        ๓. แขกชวาเป็นผู้นำนกแบบนี้มาเลี้ยงในประเทศไทยเป็นคนแรก จึงได้เรียกตามชื่อของผู้ที่นำมาเลี้ยงด้วยเหตุ       นี้คนในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบันจึงได้เรียกนกเขา
             เล็กว่า  “นกเขาชวา”
            นกเขาชวามีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยและแถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลยเซีย และอินโดนีเซีย การเลี้ยงนกเขาชวาในประเทศไทยนิยมเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามหลักฐานพระราชตำรับดูลักษณะนกเขาชวาของรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ในปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงและเล่นนกเขาชวากันมากในภาคใต้ รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ นกเขาชวาเป็นนกประเภทหนึ่งที่พบในประเทศไทยและมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น นกเขาพม่า นกเขาไฟ นกเขาเขียว นกเขาเปล้า นกเขาหม้อ นกเขาตู้ นกเขาป่า นกเขาแขกหรือนกเขาเทศ นกเขานา นกเขาฟ้า นกเขาใหญ่หรือนกเขาหลวง และนกเขาชวาหรือนกเขาเล็ก ถิ่นกำเนิดของนกเขาชวาอยู่ในแถบเอเซียอาคเนย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยนิยมเลี้ยงนกเขาชวากันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วทางภาคใต้ ได้แก่จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส การเลี้ยงหรือการเล่นนกเขาชวาของชาวภาคใต้เปรียบเสมือนเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของคนในภาคใต้ การเล่นนกเขาชวาในสมัยก่อนทางภาคใต้นิยมกันก่อนในภาคอื่น ๆ แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการเล่นนกเขาชวาแพร่หลายมากขึ้น ทำให้พ่อค้านกเขาในภาคกลาง พยายามหานกเขาพันธุ์ดี ๆ มาขายทางภาคใต้ เล่ากันว่ามีชาวบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เคยนำนกเขาชวามาขายที่ภาคใต้ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้นถึงช่วงสงครามทำให้การซื้อขายหยุดชะงักชั่วคราว นกที่นำมาขายในภาคใต้สมัยนั้นเป็นนกเขาจากจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี นกเขาจากสองจังหวัดนี้ ได้รับการยกย่องจากนักเลงนกเขารุ่นก่อนว่าเป็นนกพันธุ์ดี 

การเลี้ยงหรือการเล่นนกเขาชวาในภาคใต้

       การเลี้ยงนกของคนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา ผู้เลี้ยงนกส่วนมากจะบอกว่ามีความสุขที่ได้เลี้ยง และมีความสําราญใจที่ได้ฟังเสียง นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในชุมชนจนกระทั่งไปสู่การแข่งขันระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับอาเซียน นกที่ชนะเลิศแต่ละสนามจะมีราคาสูงขึ้นและจะเป็นที่หมายปองของผู้เลี้ยงนก แม้นกตัวนั้นจะมีราคาสูงถึง ๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาทก็ตาม จึงเกิดกลุ่มเลี้ยงนกไว้จําหน่ายและเสาะแสวงหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากสถานที่ต่าง ๆ มาผสมเพื่อจะได้ลูกนกเสียงที่มีราคาไม่ต่ํากว่า ๓-๔ พันบาท เพราะฉนั้นการเลี้ยงนกเขาชวา จึงกลายเป็นวัฒนธรรมของผู้มีเงินทุนเพื่อจะได้ครอบครองนกที่เสียงดี ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีเงินทุนมากพอจะเลี้ยงนกกรงหัวจุกแทนซึ่งมีราคาถูกกว่า
 
ถ้าจะพูดว่าการเลี้ยงหรือการเล่นนกเขาชวาเกิดขึ้นก่อนในภาคใต้ก็คงไม่ผิด เพราะตามประวัติการเลี้ยงนกเขาชวาจุดเริ่มต้นจากการที่ภูเขาไฟในประเทศอินโดนีเซียระเบิด ทำให้บรรดานกที่อาศัยอยู่บินอพยพมายังประเทศไทยจนทำให้เกิดการจับมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ขายกัน ซึ่งในอดีตนิยมเลี้ยงหรือเล่นนกเขาชวากันในภาคใต้ของไทยต่อมาก็แพร่หลายไปยังภาคอื่น ๆ ด้วย มีเรื่องเล่าว่าการเลี้ยงนกเขาชวาในภาคใต้้นั้นนิยมกันมาก่อนหน้านี้มากโดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวนครศรีธรรมราชมีการเลี้ยงนกเขาชวาก่อน พ.ศ. ๒๔๓๐ ต่อจากนั้นก็แพร่หลายไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือสตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และก็ได้ขยายวงกว้างไปยังภาคอื่น ๆ ของไทย เช่น ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม ชลบุรี  จนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่อำเภอมีนบุรี และอำเภอหนองจอก กรุงเทพฯ  ก็เริ่มนิยมเลี้ยงนกเขาชวาและนิยมต่อนกเขาชวากัน ในสมัยโบราณถือว่าการเลี้ยงนกเขาชวาไว้ประจำบ้านเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา เลี้ยงไว้ดูเล่นแก้รำคาญ และเลี้ยงไว้ฟังเสียงเพื่อความสุขใจ รวมทั้งคนในจังหวัดภาคใต้ด้วยไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธหรืออิสลามนิยมเลี้ยงนกเขาชวากันมาก โดยเฉพาะบ้านของผู้มีอันจะกินมักจะต้องหานกเขาชวาเสียงดีๆมาเลี้ยงไว้ประดับบ้าน และส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงด้วยใจรักมากกว่าการค้าด้วยเหตุนี้จึงทำให้นกเขาชวาในภาคใต้มีราคาสูง ซึ่งเป็นราคาที่คนซื้อพยายามเสนอให้เจ้าของนกขาย มิใช่ราคาสูงด้วยเจ้าของนกตั้งราคาเอง เหมือนทางภาคกลาง แต่ปัจจุบันลักษณะการเลี้ยงนกเขาชวาบางแห่งในภาคใต้เริ่มมุ่งเพื่อการค้าแบบภาคกลางแล้ว คนที่มีนกเขาชวาดีอยู่ในครอบครองมักมีชื่อเสียง เป็นที่อยากรู้จักของนักเลงนกเขาทั่วไป มีหน้ามีตา ดังนั้นผู้ที่มีนกเขาชวาดีในสมัยก่อน มักไม่ใคร่ยอมขายนกของตนให้ใครง่าย ๆ เพราะเกิดความรักและหลงใหลเสียงนก อีกทั้งเกรงว่าจะเป็นการขายความมีชื่อของตนไปด้วย จังหวัดทางภาคใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาโดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ปัตตานี สตูล นครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส ฯลฯ ทุกบ้านที่มีนกเขาชวาจะมีเสารอกนก และมีกรงนกเขาชวาแขวนไว้หน้าบ้านระเกะระกะไปหมด อย่างน้อยมากกว่าหนึ่งกรงเสมอ จนถึงกับมีเรื่องขำขันเกิดขึ้นในสมัยก่อนคือสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วพบว่าเกือบทุกบ้านตลอดระยะทางจากปัตตานีจนถึงนราธิวาส จะมีเสารอกนกเขาอยู่ตามบริเวณบ้านทั่วๆไป จึงคิดว่าเสาดังกล่าวเป็นเสาวิทยุ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ตามอำเภอและตำบลต่างๆ ท่านผู้นำของประเทศถึงกับกล่าวชมกับผู้ใกล้ชิดและผู้ติดตามว่า ทางใต้นี้เจริญมากจริง ๆ มีวิทยุฟังกันทุกบ้าน ทั้งที่ความจริงมิใช่เสาวิทยุหากแต่เป็นเสารอกนกเขานั่นเอง  

เสียงของนก       

       นกเขาชวาไม่ใช่สัตว์ประเภทสวยงามแต่คนนิยมเลี้ยง เนื่องจากเสียงร้องมีความไพเราะ น่าฟัง เมื่อได้ยินเสียงร้องของนกทำให้เกิดความสุข อิ่มอกอิ่มใจ ยิ่งถ้าได้มีโอกาสเป็นเจ้าของนกที่ร้องดี ๆ ด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้มีความสุขใจมากยิ่งขึ้น
        ประเภทของเสียง เสียงร้องของนกเขาชวา แบ่งออกเป็น  ๓  ประเภท คือ
        ๑. ประเภทนกเสียงเล็ก
        ๒. ประเภทนกเสียงกลาง
        ๓. ประเภทนกเสียงใหญ่


ผู้ประกอบการ

    นกเขาชวามีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อายุเฉลี่ยของนกเขาชวามีอายุประมาณ ๒๐ ถึง ๓๐ ปี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของนกแต่ละตัว เริ่มขันช่วงอายุ ๑ ปี มีเสียงขัน ๓ ระดับ คือเสียงเล็ก เสียงกลาง และเสียงใหญ่ เสียงขันแต่ละครั้งจะมี ๓ ถึง ๕ จังหวะ นกขาชวาที่ชายแดนภาคใต้มีหลากหลายสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงอาทิเช่น พันธุ์ปราจีนบุรี
   การเลี้ยงนกเขาชวาได้รับความนิยมมาเป็นเวลายาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนใน ๓ จังหวัดภาคใต้และสงขลาบางส่วน ผู้เลี้ยงนกบอกว่ามีความสุขที่ีได้เลี้ยงและมีความสำราญใจที่ได้ฟังเสียง นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในชุมชน จนกระทั้งไปสู่การแข่งขันระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค นกที่ชนะเลิศแต่ละสนามจะมีราคาสูงขึ้นและจะเป็นที่หมายปองของผู้เลี้ยงนก จะมีราคาสูงถึง ๑๐๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ บาท ทำให้เกิดกลุ่มเลี้ยงนกเขาชวาขึ้นในหลายจังหวัดเพื่อจำหน่าย เพราะฉะนั้นการแสวงหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีจากที่ต่าง ๆ มาผสมพันธุ์เพื่อจะให้ได้ลูกนกที่มีเสียงดี ซึ่งไข่หรือลูกนกจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เสียงดีจะมีราคาไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ บาท เพราะฉะนั้นการเลี้ยงนกเขาชวาจึงกลายเป็นวัฒนธรรมของผู้มีเงินทุนเพื่อจะได้ครอบครองนกที่เสียงดี ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีเงินทุนมากพอ เริ่มเปลี่ยนมาเลี้ยงนกกรงหัวจุกแทนซึ่งมีราคาถูกกว่า

ภาพสืบค้นจาก : http://www.newsreportnakhonpathominside.com/archives/48686


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
นกเขาชวา (Zebra Dove)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

นกเขาจะนะในท่อก๊าช. (2544). ผสมพันธุ์นกเขาชวาต้องอาศัยเทคนิคชั้นสูง, แลใต้. 12 (88), 30-31. 
นกเขาชวา. (2557). สืบค้นวันที่ 20 ม.ค. 61, จาก http://www.thongthailand.com/index.php?lite=article&qid=42161228
นกเขาชวา และการเลี้ยงนกเขาชวา. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 20 ม.ค. 61, จาก http://pasusat.com/นกเขาชวา/
นิปาตีเมาะ หะยีหามะ. (2553). ร้อยเรื่องราวชุมชนวัฒนธรรมปลายด้ามขวาน. ปัตตานี :  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

มัลลิกา คณานุรักษ์. (2549). นกเขาชวา นกกรงหัวจุก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
มัลลิกา คณานุรักษ์. (2530). รวมเรื่องน่ารู้. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์. มัลลิกา คณานุรักษ์. (2527). นกเขาชวา. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์. 
รอฮานี ดาโอ๊ะ, ประสิทธิ์ รัตนมณี และนิปาตีเมาะ หะยีหามะ. (2553. ร้อยเรื่องราวชุมชนวัฒนธรรมปลายด้ามขวาน. ปัตตานี : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
             มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.


ข้อมูลเพิ่มเติม

รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024