กรงนก
 
Back    14/02/2020, 14:46    46,199  

หมวดหมู่

งานฝีมือ


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจาก : ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้, 2547 : 186

    การทำกรงนกถือเป็นภูมิปัญญาของชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง  ซึ่งในยุคแรก ๆ ที่เทคโนโลยียังไม่เจริญก้าวหน้ามาก จึงต้องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการเจาะรูไม้ที่ทำกรงนก เช่น ในหมู่ที่ 10 ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ ใช้ก้านร่มเสียบกับไม้ผัดลนไฟผัดกับมือเพื่อเจาะรู  ซึ่งใช้เวลานานมากในการทำเนื่องจากไม่มีเครื่องมือทุ่นแรง ต่อมาเมื่อมีเครื่องมือ เช่น สว่านมือหมุน หรือเครื่องเจาะรูอัตโนมัติ การทำกรงนกในปัจจุบันนี้มีการทำกรงนกกันมาก เพราะมีลูกค้ามารับกรงนกถึงที่บ้าน ซึ่งอาจจะโทรมาสั่งโดยบอกขนาดและรูปแบบที่ต้องการ หรือมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาทำให้ทำตลาดได้มากขึ้น ทำให้ชุมชนบางชุมชนทำเป็นอาชีพหลักไปเลยก็มี
         คนใต้ชอบเลี้ยงนกเหมือนกับคนไทยในภาคอื่น ๆ จะเห็นได้จากเกือบทุกบ้านทั้งของไทยมสลิมและไทยพุทธจะมีการชักกรงนกขึ้นสู่ยอดเสาแขวนเรียงกันเป็นแถวแนวตามชุมชนทั่วไปจนกลายเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงความสัมพันธ์สมัครสมานระหว่างชาวไทย ที่มีความแตกต่างทางด้านศาสนา นกที่คนใต้ชอบเลี้ยงกันมากได้แก่ นกเขาชวา  ชาวบ้านนิยมเรียกว่านกเขาเล็ก และนกปรอดหัวจุก  ชาวบ้านนิยมเรียกว่านกกรงหัวจุก ส่วนใหญ่จะเลี้ยงไว้ดูเล่น ฟังเสียงร้อง และนำไปประกวดแข่งขัน ซึ่งมีแทบทุกเสาร์-อาทิตย์ ตลอดถึงงานเทศกาลต่าง ๆ และความเชื่อปัจจุบันนี้มีผู้นิยมเลี้ยงนกเขาหันไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับนกเขาได้หลายอาชีพ เช่น อาชีพการเพาะพันธุ์ โดยแยกระดับการเลี้ยงนกคือบางรายเพาะเลี้ยงนกเขาแบบธรรมดา ไม่เน้นลักษณะเด่นทั้ง สัดส่วนรูปทรงและเสียง เพื่อสนองความต้องการของผู้เลี้ยงสมัครเล่น บางรายเพาะเลี้ยงนกเขาสายพันธุ์ดี ซึ่งสายพันธุ์นี้จะได้มาจากนกที่ชนะการประกวดจากงานสําคัญต่าง ๆ โดยนกเขาที่ชนะการประกวด บางตัวมีราคานับล้านบาท แม้กระนั้นในบางตัวที่ได้รับรางวัลลดหลั่นลงมาก็มี ราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท เมื่อเป็นนกเขาเกรดดีสายพันธุ์ดี ผู้เลี้ยงจึงต้องสรรหากรงสําหรับเลี้ยงให้เหมาะสมกับราคาของนก และคุณค่าของนกตัวนั้นด้วย เมื่อมีการนิยมเลี้ยงนกสิ่งที่ตามมาก็คืออาชีพการทำกรงนก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่มั่งคงให้กับครอบครัวได้ กรงนกที่ทำออกมามีหลายแบบทั้งแบบทั่วไปแบบสั่งทำตามปกติและแบบสั่งทำพิเศษ  ซึ่งกรงนกที่สั่งทำนั้นจะมีความละเอียด ประณีตและสวยงามเป็นพิเศษทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำด้วย กรงนกเขาชวาและกรงนกกรงหัวจุกมีลักษณะแตกต่างกัน  โดยกรงนกเขาชวานิยมทรงรูปกลมมน  โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  14  นิ้ว  สูงประมาณ  16-18  นิ้ว  มีลักษณะเรียบ ๆ  และได้มีการพัฒนาโดยแกะดอกเป็นรูปต่าง ๆ  ที่ซี่กรงเรียกว่า  “กรงมีดอก” ล่าสุดมีการพัฒนาถึงขั้นทำด้วยไม้สาวดำไม้มะม่วงป่าและไม้ชิงชัน  ทั้งตัวกรงและซี่กรงพร้อมทั้งแกะสลักที่ฐานกรง             

           

ภาพจาก : https://www.ldm.in.th/cases/6578


วัตถุดิบและส่วนประกอบ

ภาพจาก : ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้, 2547 : 182

     การทำกรงนก 
     
การทำกรงนกจะประกอบด้วยพื้นกรง ตัวกรงหรือเปลือกกรง และหัวกรง ตัวกรงหรือเปลือกกรง ซึ่งช่างที่ทำจะเชี่ยวชาญแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นกรงหนึ่งลูกจะมีช่างทำหลายคน เช่น ช่างคนที่หนึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะพื้นกรงวางพื้นไม้พยุงหรือชิงชัง จากนั้นนําไปให้ช่างอีกคนหนึ่งทําหัวกรง โดยถ้าเป็นหัวกรงชนิดที่ทํามาจากงาช้างก็จะใช้งาแท้จากพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ หรือถ้าเป็นมุกต้องให้ช่างจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ทํา เป็นต้น      
         
การทำกรงนกในปัจจุบันจะนิยมทำกรงนกหัวจุกหรือนกปรอด ที่นิยมทรงสี่เหลี่ยมคางหมูสูงประมาณ 30 นิ้ว ด้านล่างกว้างประมาณ 14 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแบบ เช่น แบบปัตตานี แบบนราธิวาส แบบนครศรีธรรมราช แบบสิงคโปร์ ทรงกลมแบบถังเบียร์ แบบสุ่มไก่ แบบหกเหลี่ยม แบบสี่เหลี่ยม และแบบโดมมัสยิด สำหรับไม้ที่นำมาทำเป็นกรงนกประกอบด้วย ไม้สาวดำ ไม้มะม่วงป่า ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ ไม้หลุมพลอ ไม้ตะเคียน และไม้สัก ส่วนไม้ที่นำมาทำซี่ลูกกรงคือไม้ไผ่ อาทิ ไผ่สีสุก ไม้ไผ่ลำละลอก และไม้ไผ่ตง ซึ่งจะต้องคัดสรรไผ่ที่แก่จัดเท่านั้นก่อนนำมาเหลาจะต้องเอาไปแช่น้ำทะเลประมาณ 2-3 เดือนแล้วนำมาเก็บในที่ร่มประมาณ 2-3 เดือนจะทำให้เนื้อไผ่เหนียวและมอดไม่กิน ด้านส่วนประกอบที่สำคัญของกรงนกมี 3 ส่วนคือโครงกรง ซี่กรง และหัวกรง โดยเฉพาะกรงนกหัวจุกเน้นใช้ไม้เนื้อแข็ง โดยต้องกลึง เลื่อย เป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ถึง 18 ชิ้น ได้แก่           

1. ไม้เสา สูงประมาณ 32 นิ้ว จำนวน 4 ชิ้น 
2. ไม้คานบน ยาวประมาณ 12 นิ้ว จำนวน 5 ชิ้น
3. ไม้คานล่าง ยาวประมาณ 14 นิ้ว จำนวน 5 ชิ้น
4. ไม้คั่นกรง ยาวประมาณ 12.5 นิ้ว จำนวน 4 ชิ้น

              โดยไม้คาน คันกรง จะต้องวัดขนาด เจาะรูด้วยสว่านตาเล็กเจาะทะลุบนสันให้รับกัน เพื่อไว้เสียบร้อยซี่กรงโดยเจาะเป็นจำนวนคี่ เช่น 13, 15, 17, 19 หรือ 21 รู ซึ่งเป็นไปตามความเล็กใหญ่ของกรงนก

       รูปแบบกรง

          สำหรับรูปแบบของกรงนกมาตรฐานนั้นมีหลายรูปแบบ โดยจัดตามขนาดของซี่กรงได้แก่ ขนาด 13 ซี่, 15 ซี่, 17 ซี่, 21 ซี่, 23 ซี่ และ 25 ซี่ สำหรับขนาดมาตรฐานคือ 13 และ 15 ซี่ ส่วนขนาดที่ได้รับความนิยมซื้อขายกันมากคือ ขนาด 13-21 ซี่ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เลี้ยงว่าต้องการกรงนกขนาดใด

       อุปกรณ์สำหรับทำกรงนก

 1. ไม้ (โครง) ไม้ไผ่ (ซี่)
2. กาวร้อน ยูรีเทน กาวลาเท็กซ์
3. มีดแกะสลัก มีด เวอร์เนีย ไม้ฉาก คีมปากนกแก้ว
4. เครื่องขัดมือ เลื่อยเหล็ก เลื่อยฉลุ ฉลุไฟฟ้า
5. ใบเลื่อยฉลุ กรรไกรตัดกิ่ง
6. สว่านแท่น สว่านมือ
7. ถังลม กาพ่นสี กบรีดไม้ และเครื่องผ่าไม้

      ขั้นตอนการทำกรงนก
             
การทำกรงนก 1 ลูกถ้่าเป็นธรรมดาจะต้องใช้เวลาทำประมาณ 14-15 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นแบบแกะลายต้องใช้เวลาในการทำอย่างน้อย 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมไม้ ถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการติดหัวกรง

1. เตรียมไม้สำหรับการทำกรงนก เลื่อยไม้ที่ผ่ามาแล้ว เป็นท่อนสำหรับสร้างเป็นไม้เสา ไม้โครง และไม้ซี่
2. นำไม้ที่ผ่าแล้วมารีดเพื่อลบรอยที่ขุระขระให้เรียบ
3. ไม้ที่ต้องฉลุลายจะนำแบบลวดลายที่ออกแบบไว้ในกระดาษติดกับไม้ที่เตรียมไว้
4. นำไปฉลุตามลวดลายบนกระดาษที่ติดไว้
5. นำไปประกอบขึ้นรูปกรงนก โดยรอยต่อของโครงกรงนกนั้นจะเจาะสว่านเพื่อฝังสลักไม้
6. ใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบ
7. นำอุปกรณ์ภายในของกรงนก ประกอบภายในกรงด้วยกาวและสลักไม้
8. ใส่ซี่กรงตามช่องที่เจาะไว้ แล้วหยอดกาวร้อน เพื่อให้ติดแน่นคงทน
9. ใส่ปุ่มกลึง บน-ล่าง ของตัวกรง
10. ใส่แป้นจานบนโครงหลังคา แล้วใส่หัวกลึงบนจาน จากนั้นใส่ตะขอบนหัวกลึง
11. นำไปขัดมืออีกครั้ง พ่นสีและยูรีเทน
 

      ขั้นตอนการทำเปลือกกรง
                 การทําเปลือกกรงเริ่มจากการเลือกวัสดุ เช่น หากเลือกซ์กรงทอ ไผ่สีสุกเป็นวัสดุนั้น ช่างผู้ทําจะนํามาผ่าแบ่งตามขนาดความสั้นยาวตามที่ช่างกําหนดแบบไว้ ข้อสําคัญ เหตุผลที่ไม้ไผ่นั้นต้องแช่น้ําทะเล ก็เนื่องมาจากน้ําทะเลมีความเค็มสามารถยืดระยะเวลาของไม้ให้มีความ คงทนได้ยาวนาน โดยปกติมักแช่ 3 -4 คืน ไม้ไผ่ที่ผ่านการแช่น้ําทะเลแล้วจะถูกนํามาผ่าเป็นซี่เล็กๆ แล้วเหลาแต่งตามขนาดที่ต้องการในแต่ละส่วนทั้งซี่กรงธรรมดาและซี่กรงดอก ช่างจะเหลาเลียดให้ได้ ขนาดตามความต้องการอย่างพิถีพิถัน ซึ่งตลอดความยาวของเส้นซี่กรงจะทําการวางลวดลายดอกขึ้นมา ก่อนจะมีการแกะดอกลายร่างเป็นช่วงๆ ดอกลายนี้เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกฝีมือของช่างผู้ทําว่าฝีมืออยู่ใน ระดับใด ลายดอกบนซี่กรงที่ยอมรับกันว่าสวยและดีต้องมีขนาดพอดีไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป รอยแกะ ดอกต้องชัดเจนแต่ต้องไม่มีความคม เพราะจะทําให้บาดแข้งขาหรือปีกของนกได้ สำหรับหวายจะถูกนำมาขดกับท่อนไม้กลมขนาดใหญ่เพื่อให้หวายเป็นวงทิ้งไว้ประมาณ 10- 15 วัน โดยตากแดดทิ้งไว้ ก่อนจะนำมาวัดระยะเพื่อเจาะสำหรับร้อยซี่กรง เส้นหวายนี้จะถูกวางระยะห่างเป็นหช่วงๆ ตั้งแต่ขอบล่าง เอวตัว ไหล่ และช่วงบนของกรง แต่ละช่วงมีวงเล็กใหญ่ต่างกันตามสัดส่วนของกรง

     ขั้นตอนการประกอบซี่กรง
          เริ่มร้อยซี่กรงจากหวายบนลงมาด้านล่างคล้ายก้านร่ม แล้วดึงซี่กรงจากหวายลงบนลงมาด้านล่างค้ลายก้านร่ม แล้วดึงซี่กรงลงตามรูหวายกะระยะจับปรับให้เหมาะสมตามรูปของกรงจนครบทุกตําแหน่ง จากนั้นจึงถักเส้นเอ็นและด้ายตามตําแหน่งต่าง ๆ เปลือกกรงที่ทําเสร็จ ตอนนี้สามารถส่งให้ลูกค้าได้ทันที

     อุปกรณ์ในกรง

          มีตั้งแต่คอนเกาะทำด้วยไม้หรือทองเหลือง ห่วงแก้วน้ำทำด้วยทองเหลืองหรือทองคำ สำหรับถ้วยใส่น้ำ ถ้วยใส่ข้าวเปลือก และมีตั้งแต่ถ้วยพลาสติกไปจนถึงเบญจรงค์ นอกจากนี้ยังมีถ้วยล่างสำหรับใส่ดอกหญ้าและทราย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนเสริมให้กรงนกมีความสวยงามและเพิ่มคุณค่าตามความต้องการของเจ้าของ

     ช่างทำกรงนก
         
ช่างทำกรงฝีมือดีของภาคใต้เท่าที่ทราบและรวบรวมได้ทั้งที่เสียชีวิตและมีชีวิตอยู่ ซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ของสงขลา ปัตตานี และยะลา อาทิ ดูแวนิ่ง  (เสียชีวิต),  กูอาแซ  (เสียชีวิต),  โกยี่,  สาและ,  สุไลมาน,  เซ๊ะสเต็ง, เล็ก  (เสียชีวิต),  และมะนัง


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
กรงนก
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กรงนก. (2561). สืบค้นวันที่ 26 ก.พ. 63, จาก https://www.ldm.in.th/cases/6578
การทำกรงนก. (2557). สืบค้นวันที่ 26 ก.พ. 63, จาก https://sites.google.com/site/karthakrngnk/
บุญชู ยืนยงสกุล บรรณาธิการ. (2547). ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. สงขลา : ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้.

สุธี เทพสุริวงศ์ และเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ. (2547). การรวบรวมภูมิปัญญาพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลา                             นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025