สุ่มจับปลา
 
Back    02/05/2023, 14:32    2,498  

หมวดหมู่

เครื่องมือในการดำรงชีวิต


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

             
ภาพจาก : https://link.psu.th/QgST7

                สุ่มจับปลา เป็นเครื่องมือไว้สำหรับครอบปลาในน้ำตื้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาช้านานจวบจนถึงปัจจุบัน โดยที่สุ่มจับปลานั้นเป็นเครื่องมือประมงเอาไว้จับปลาน้ำตี้น ตามทุ่งนาและหนองน้ำที่มีน้ำตื้น ๆ สุ่มเป็นเครื่องมือจักสานทําจากซี่ไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายสุ่มไก่ ปากลุ่มที่อยู่ด้านล่าง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ส่วนด้านบนแคบกว่าเปิดเป็นช่อง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร สําหรับเอามือล้วงไปจับปลา ความสูงของสุ่มประมาณ ๕๐ เซนติเมตร การใช้สุ่มจับปลาบริเวณน้ําตื้น ๆ ตามหนอง บึง ที่ขังน้ํา โดยการเดินเอาสุ่มครอบไปเรื่อย ๆ เมื่อครอบถูกปลา ปลาจะว่ายชนสุ่มจนรู้สึก จึงเอามือล้วงจับปลาที่อยู่ในสุ่ม  
                 สุ่
มมีอยู่  ๒ ประเภท  คือ สุ่มที่มีรูปแบบการสานให้มีความถี่ของตาสุ่มมากกว่า อีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่าสุ่มซี่ ซึ่งที่มีความห่างของตาสุ่มมากกว่า และซี่ของไม้ไผ่ที่เหลาจะเล็กกว่า สามารถมองเห็นด้านในสุ่มได้ชัดเจนกว่า สุ่มที่สานให้มีลายของตาสุ่มทึบ เป็นเครื่องมีอจับปลาที่มีมาแต่โบราณ สานด้วยไม้ไผ่ ใช้ครอบดักจับปลา ด้านบนทำช่องวงกลมไว้สำหรับล้วงเข้าไปในสุ่มเพื่อจับปลาใส่ข้อง

                    ลักษณะของสุ่ม
        
        สุ่มจับปลา เครื่องจักสานรูปร่างคล้ายฝาชี ด้านบนหรือหัวสุ่มมีช่องกลม ๆ ให้มือล้วงลงไปจับปลาได้ รูปทรงของสุ่มมีหลายแบบและมีกรรมวิธีในการสานต่างกันไป เช่น สุ่มกลอง สุ่มซี่ สุ่มตะเคียว สุ่มจับปลาเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในชนบทที่ได้รับการสืบทอดกันแต่ในสังคมปัจจุบันจะหายากแล้ว จากวิถีชีวิตของผู้คนในชนบท เช่น แม่บ้านหรือผู้หญิงภายในครัวเรือน ในกรณีที่ไม่มีกับข้าว (อาหาร) โดยเฉพาะฤดูแล้งเป็นช่วงที่ขาดแคลนอาหาร จำเป็นที่ต้องออกหาปลา โดยเลือกสถานที่ เช่น สระ หนอง คู คลองที่มีน้ำน้อย และมีปลาอาศัยอยู่โดยเลือกไว้ในใจก่อนล่วงหน้า การสุ่มจับปลาจะไม่เห็นตัวปลา ดังนั้นผู้สุ่มจะต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร ที่จะสุ่มเลือกครอบลงน้ำ เมื่อครอบลงแล้วจะใช้มือล้วงควานหาปลาภายใน หากสุ่มติดปลาใหญ่ ปลาจะชนริมข้างสุ่มให้รู้สึกได้ ก็จะควานจับออกใส่ข้อง การสุ่มจับปลาเช่นนี้ต้องมั่นใจ ไม่มั่ว ไม่สุ่มแล้วยก สุ่มแล้วยก ไม่เลือก ไม่ดูหน้าดูหลัง เรียกเปรียบเทียบว่า “สุ่มสี่สุ่มห้า” การใช้สุ่มแม้ไม่เห็นตัว ไม่สามารถเลือกชนิดและขนาดตามใจต้องการได้ แต่ใช้ประสบการณ์การเลือกสถานที่ทำให้ได้ปลา อาจโชคดีได้ปลาใหญ่เกินกว่าที่หวังไว้ ถึงอย่างไรก็มีกับข้าวในครัวให้ผ่านพ้นไปได้ ดังนั้นคำว่าสุ่มจึงมีความหมายสัมพันธ์กับคำว่า “สุ่มหา, สุ่มตัวอย่าง” ลองถือสุ่มออกหาปลาอย่างไรก็ได้ตัวเครื่องมือจับปลา มีมากหมายหลายอย่างทำด้วยไม้ไผ่เป็นหลัก เช่นสุ่ม (จับปลา) นาง (ชนาง ก็เรียกใช้ช้อนดักจับกุ้งปูปลาขนาดเล็ก) เชงเลง (ปากกว้างหางเรียวใช้ดักปลา) เจ้ย (ตะแกรง ใช้ตากกุ้งปลา ตากพริก ร่อนข้าวสาร) นั่งได้นอนได้ (หรือหญดก็เรียกคืออีจู้ทั้งแบบตั้งและแบบนอนใช้ดักปลา) โลด–เล่ (เครื่องดักปลาแบบให้ปลากระโดดขึ้นมาค้างบนรางร้าน) ส้อน (รูปร่างเล็กยาวคล้ายกระบอกกรวยใช้ดักกุ้งปลาขนาดเล็ก) ไซ (มีหลายแบบ เช่น ไซลาว มีรูปร่างเล็กยาวใช้ดักกุ้ง ไซดักปลา ไซหัวหมู) รูปร่างของไซแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่ส่วนที่เหมือนกันคือมี “งา” อยู่ข้างในดังคำปริศนาคำทำนายที่ว่า “ช้างตายในนางอกงาในพุง” ตะข้องหรือ “ข้อง” สำหรับขังปู ปลา กุ้ง หอย มีหลายชนิดและลางชนิดก็เรียกชื่อกับการใช้งานต่างออกไป เช่น จง หรือข้องจงมีขนาดเล็กทรงชะลูดปากเรียว (ใช้ใส่กุ้ง ปู ปลา) ข้อง (ทั่วไปใช้ใส่หอย ปู ปลา) ข้องไหล (ใช้ดักปลาไหล) ไซขังปลา (ไซทนก็เรียก) ข้องบา (คือตะข้องแบบมีบ่า ๒ ข้าง มักมีขนาดใหญ่ ใช้ใส่ปลา) ข้องนั่งได้คืออีจู้นั่นเอง

                วิธีการใช้สุ่ม
             
สุ่มเป็นเครื่องมือหาปลาที่ใช้ร่วมกับการ "แก่โค่น" ซึ่งเป็นวิธีการต้อนปลาให้สามารถมองเห็นปลาได้ดี ก่อนที่จะครอบสุ่มลงแล้วจับเอาปลา คนหาปลาเรียก "สักลุ่ม" หรือใช้กับการหว่านแห โดยเมื่อหว่านแหจับปลา ปลาจะว่ายเข้าไปหลบตามพงหญ้าริมฝั่งแม่น้ำ ก็จะมีคนหาปลาอีกคนใช้สุ่มจับปลาอีกวิธีหนึ่งด้วย ปลาที่จับได้ เช่น ปลาบู่ ปลาช่อน ปลาเข็ง ปลาอีกำ วิธีการใช้สุ่มจะใช้วิธีการแก่โค่นหรีอหว่านแหก่อน แล้วใช้สุ่มครอบดักจับปลาในบริเวณที่มีโคลนตมและน้ำไม่ลึกมาก สุ่มสามารถใช้หาปลาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน หากใช้ตอนกลางคืน จะเป็นการไต้ไฟส่องหาปลาก่อนที่จะใช้สุ่มสักครอบจับปลา เรียกวิธีการหาเช่นนี้ว่า "ไต้สุ่ม" ฤดูกาลที่นิยมคือเดือนพฤษภาคมถึงมกราคม ช่วงนั้นคนหาปลาแต่ละคนจะมีแหล่งของตนเอง และจะ หาปลาตามระบบนิเวศต่าง ๆ  ของแม่น้ำ หรือตามทุ่งน่า โดยมากแล้วเป็นบริเวณที่น้ำลึกไม่เกินหัวเช่า จะได้ปลาประมาณ ๒.๔ กิโลกรัม บางครั้งอาจได้มากถึง ๑0 กิโลกรัม 


https://www.youtube.com/watch?v=lg850FjXXrE


วัตถุดิบและส่วนประกอบ

               การสานสุ่มจะมีองค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วนคือ "กง" หมายถึงโครงหลักของตัวสุ่ม ที่ใช้ไม้ไผ่หรือเครือไม้มาขดเป็นวงกลม โดยทั่วไปสุ่มหนึ่งหลังจะมี ๔ กง โดยกงบนสุดจะมีขนาดเล็กที่สุด ในขณะที่กงด้านล่างจะกว้างที่สุด เมื่อทำกงเสร็จแล้วจะทำ "เสื้อ" หมายถึงการสานสุ่มให้เป็นรูปตาข่าย โดยการเหลาไม้ไผ่ทำเป็นซี่จำนวน ๒๑ ซี่ และนำมาสานเข้ากับกงใช้เครือผักกูดหรือปอเป็นตัวยึดให้ติดกับกง แต่ปัจจุบันจะใช้เชีอกไนล่อนแเทน สุ่มหลังหนึ่งใช้เวลาในการสานประมาณ ๒ วัน มีอายุการใช้งาน ๒.๔ ปี

             วิธีทำและวัสดุที่ใช้
          
สุ่มจับปลาเป็นเครื่องมือครอบจับปลาในน้ำตื้น โดยเฉพาะปลาใหญ่ที่ใช้มือล้วงเข้าไปควานจับปลาออกมา สุ่มปลามีอยู่ ๒ แบบ มีรูปแบบและหน้าที่การใช้สอยเหมือนกัน แบบแรกทำจากไม้ไผ่จักไว้ผิวเป็นเส้นประมาณ ๖๐ เส้น สานขึ้นเป็นรูปวงกลม ใช้เป็นเส้นตั้งกระจายเป็นรัศมีโดยรอบ จากนั้นจึงดัดให้มนโค้งลงเท่ากันทุกเส้น ใช้ไม้ไผ่สานข่มหนึ่งยกหนึ่งให้มีตาห่างพอสมควร ตอนบนเป็นวงแคบ แล้วค่อยบานผายกว้างออกที่ปลายโคน เรียกว่าสุ่มสาน คือใช้วิธีการสานตลอดตัวสุ่ม อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า สุ่มซี่ โดยเหลาไม้ไผ่เป็นซี่ ๆ ที่ปลายแหลมยึดติดโคนกับไม้จริงตัดเซาะเหลาเป็นเส้นวงกลมหนา ปลายซี่เรียงเท่า ๆ กัน ประมาณ ๕๐-๖๐ ซี่ ใช้ลวดเหล็กเส้นดัดเป็นเส้นวงกลมมีขนาดต่าง ๆ เรียงเล็กน้อยประมาณ ๕ วง ใช้วงเล็กสุดทำโครงด้านใน ด้านบนผูกมัดด้วยลวดหรือเชือกให้แน่นทำลงมาเป็นช่วง ๆ ระยะห่างกันตามความเหมาะสม ส่วนปลายล่างกว้างสุด สุ่มซี่จึงมีลักษณะเป็นเส้นไม้ไผ่ห่างกันเป็นซี่ ๆ ผูกติดกับโครงเหล็ก ภายในมีขนาดต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับผู้ใช้ คือปากด้านล่างกว้างเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ช่องจับด้านบนกว้าง ๑๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หรือใช้มือล้วงเข้าไปภายในจับปลาได้สะดวก     


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
สุ่มจับปลา
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024