โจ
 
Back    02/10/2018, 10:05    19,838  

หมวดหมู่

อื่นๆ


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : http://www.openbase.in.th/taxonomy/term/7387?page=5

       คติความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติที่จะบันดาลให้เกิดผลต่าง ๆ ต่อมนุษย์นั้นมีมานานแล้ว หรืออาจเรียกว่าควบคู่มากับสังคมมนุษย์ก็ว่าได้ สาเหตุสำคัญอยู่ที่วิถีการดำเนินชีวิตของคนเราที่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการนั้น ๆ ได้ทั้งหมด มนุษย์จึงได้คิดหาวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ นั้นด้วยวิธีการที่หลากหลายแต่ด้วยความที่ไม่รู้ในปรากฎการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นทำให้คิดคาดเดาว่าผู้ทำให้เกิดเรื่องหรือปัญหานั้น ๆ คือ ผี หรือวิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์ที่มีฤทธิ์มีเดช  ดังนั้นผู้คนจึงได้อาศัยผีหรือวิญญาณนั้น ๆ เป็นสิ่งที่พึ่งพาหรือตัวช่วยในการดำรงชีพ ซึ่งจะช่วยได้หรือไม่ก็ตาม แต่ความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ก็ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในตัวมนุษย์มานับเป็นพัน ๆ ปี ในปัจจุบันแม้คนในสังคมจะมีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็เจริญขึ้น   แต่ด้วยความเชื่อที่ฝังอยู่และสืบต่อกันมานานหลายช่วงอายุคน จึงยากที่จะสลัดให้หมดไปได้ ดังเช่นที่พบเห็นกันอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ที่ยังเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ต้นไม้ใหญ่, จอมปลวก, เจ้าพ่อเจ้าแม่, หรือพระพุทธรูป ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ดึงเอามาใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและสังคมทั้งทางด้านดีและด้านลบ อย่างเช่นความเชื่อในเรื่องของ “โจ” มากล่าวไว้ต่อไปนี้
       โจ หรือกะโจ หรือกาโจ เป็นความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ หรือเป็นเครื่องรางประเภทหนึ่ง ซึ่งนิยมใช้ในหมู่ชาวสวนของภาคใต้ โดยเชื่อว่าโจสามารถป้องกันขโมยและจะส่งผลร้ายต่อผู้ที่มาขโมยผลไม้ในสวน ซึ่งจะทำให้ได้รับอันตราย เช่น ท้องอืด ท้องพอง หรือถึงแก่ความตายจากอาถรรพณ์ของเวทมนต์คาถาอาคมที่ลงกำกับไว้ในหนังวัวหนังควายซึ่งเป็นอักขระภาษาขอมโบราณ โดยจากบทความของพระไพโรจน์ อตุโล ที่เผยแพร่ใน http://prapirod.blogspot.com/2013/08/blog-post.html เรื่องความเชื่อเรื่องโจของชาวบ้านตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สัมภาษณ์พระครูปลัดทนงค์ ฐิตรํสี ความว่า "โจคล้ายกับการปักกำอัน หมายถึงการแสดงความเป็นเจ้าของป้องกันการรุกรานไม่ให้ผู้อื่นมากินสิ่งของ และเป็นการสาปแช่งแก่ผู้มากินสิ่งของ" คำว่า "โจ" มาจากคำว่า “จร” คือผู้จรมา มีความหมาย ๒ อย่าง คือ
        ๑. โจ หมายถึงบางครั้งบางที หรือฉกฉวยโอกาส
        ๒. โจ หมายถึงเครื่องมือในการป้องกันโจรขโมย

ประเภทของโจ

       โจสามารถแบ่งได้เป็น ๔ ประเภทคือ
       ๑. โจบอก ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ โดยการเจาะรูไว้เสียบด้วยไม้ตามแนวขวางแล้วใช้ปูนกินกับหมากป้ายไว้ ด้านในใส่หนังวัวหนังควาย ผูกเชือกแขวนไว้กับท่อนไม้ หรือไม้ไผ่ยาว ๓-๔ เมตร ทำพิธีปลุกเสกด้วยเวทมนต์คาถาแล้วนำไปปัก หรือแขวนไว้ที่โคนต้นผลไม้ สำหรับโจบอกนี้ชาวบ้านรู้จักและคุ้นเคยกันโดยทั่วไป บทความของพระไพโรจน์ อตุโล ที่เผยแพร่ใน http://prapirod.blogspot.com/2013/08/blog-post.html เรื่อง "ความเชื่อเรื่องโจของชาวบ้านตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช" โดยได้สัมภาษณ์ท่านพระสมปอง โสรโต ได้ความว่า “โจบอกทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ตายพราย คือต้นไม้ไผ่ที่ตายทั้งลำอยู่กลางกอ ตัดมาปล้องหนึ่งตัดหัวตัดปลายเอาข้อออกทั้ง ๔ ด้าน โดยรอบในกระบอกบรรจุหนังวัวหนังควายแห้งตายบาด มีขนาดกว้าง  ๑ เซนติเมตร ยาว ๕ เชนติเมตร หรือชิ้นใหญ่กว่านั้นใส่ลงไปในกระบอก ก่อนใส่กระบอกได้ลงยันต์เขียนคาถากำกับไว้ที่หนังวัวหนังควายแห้งตายบาด แล้วจึงอธิฐานว่าหากผู้หนึ่งผู้ใดมาเอาสิ่งของนี้ไปกินโดยไม่ได้บอกกล่าวขอให้ท้องของผู้นั้นพอง” หรือบางที โจบอกก็ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ มีหมากพลู หรือหนังวัวหนังควายแห้งตายบาดตัดเป็นชิ้น ๆ  ใส่ลงในกระบอกแล้วกำกับด้วยเวทมนต์คาถา
      ๒. โจพรก (กะลามะพร้าว) โดยนำกะลามะพร้าวตััวเมีย ๒ อันมาประกบไผ่ แล้วใช้ปูนกินหมากป้ายเอาไว้ ด้านในใส่หนังวัวหนังควายผูกด้วยเชือกแขวนไว้ กับท่อนไม้หรือไม้ไผ่ยาวประมาณ ๓-๔ เมตร โดยการทำพิธีปลุกเสกด้วยเวทมนต์คาถาแล้วนำไปปักหรือแขวนไว้ที่โคนต้นไม้ สำหรับโจพรกนี้ ตามบทความของพระไพโรจน์ อตุโล ที่เผยแพร่ใน http://prapirod.blogspot.com/2013/08/blog-post.html เรื่อง "ความเชื่อเรื่องโจของชาวบ้านตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช" ได้กล่าวว่าโจพรกที่มีอยู่ทั่วไปนั้นทำด้วยกะลามะพร้าวนั่นเองซึ่งการทำโจพรกก็ไม่ยากอะไรเพียงแค่หากะลามะพร้าวที่อยู่ใกล้บ้านและเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย โดยต้องเลือกกะลานั้นต้องเป็นตัวเมียให้มีขนาดเดียวกันให้ได้ ๒ ฝาแล้วก็ประกบให้ติดกัน แล้วร้อยรูทั้ง ๒ เข้าด้วยกัน โดยใช้เชือกกล้วยประกอบเข้าด้วยกัน แล้วใส่คางคกที่ตายแล้วไว้ข้างในด้วยเพื่อส่งกลิ่นเน่าเหม็น ซึ่งต้องการให้คนที่คิดจะมาเก็บหรือมาขโมยผลไม้ไปกินนั้นกลัว โจพรกจะใส่ใช้หนังวัวความตายบาดหรือไม่ใส่ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือเขียนยันต์ข้างกะลามะพร้าวส่วนด้านนอกกะลามะพร้าว ใช้ปูนป้ายทำเป็นรูปกากบาทพร้อมกับมีคาถากำกับ เช่น โจเอย โจจอก บอกแล้วให้เข้า โจเอยโจเจ้า เข้าแล้วอย่าออก เมื่อเสร็จแล้วก็นำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ที่ใครไปใครมาก็เห็นได้ชัดเจนแล้ว จึงอธิฐานว่าหากผู้หนึ่งผู้ใดมาเอาสิ่งของนี้ไปกินโดยไม่ได้บอกกล่าวขอให้ท้องของผู้นั้น
     ๓. โจกาบหมาก ซึ่งจะใช้กาบทางของต้นหมากม้วนเป็นรูปสามเหลี่ยม เสียบด้้วยไม้ไผ่ แล้วใช้ปูนกินกับหมากป้ายไว้ ด้านในใส่หนังวัวหนังควาย ผูกเชือกแขวนไว้กับท่อนไม้ หรือไม้ไผ่ยาว ๓-๔ เมตร ทำพิธีปลุกเสกด้วยเวทมนต์คาถาม้วนกลมๆ ผูกเชือกเขียนอักระลงที่กาบหมาก แล้วนำไปปักหรือแขวนไว้ที่โคนต้นผลไม้ พระเมธี ธานีรัตน์ กล่าวว่าการทำโจนั้นทำจากกาบหมาก
        ๔. โจหลอก เป็นลักษณะของโจหลอกเป็นการขู่ และกันขโมยมาลักเอาสิ่งของในบริเวณเรือกสวนไร่นาของตนเท่านั้น  ลักษณะของโจหลอกจะทำกับกระบอกไม้ไผ่เอาปูนที่กินกับหมากมาทาที่กระบอก โดยทำเครื่องต่าง ๆ ไว้ เช่น รูปตุ๊กตา กะโหลกไขว้ เป็นต้น

การทำพิธีใส่โจ

       ในการทำโจนั้นจะทำพิธีกรรมโดยใช้ผ้าขาว ดอกไม้ และธูปเทียน ผู้ทำจะบริกรรมคาถาลงอักขระกำกับลงบนหนังวัวหนังควายแล้วนำไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ หลังจากนั้นห้ามเข้าในสวนที่มีโจอยู่ เป็นเวลา  ๓-๗  วัน โจเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ทำจากวัสดุทรงกระบอกหรือทรงกลม ภายในบรรจุด้วยหมากพลู ๓ คำ ห่อด้วยผ้าขาวผูกด้วยผ้าแดง กากบาทด้วยปูนแดงที่ใช้กินหมาก และมีการว่าคาถาอาคมกำกับไว้ โดยนำไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ของต้นไม้ที่ต้องการ หรือนำไปฝังดินไว้โดยใช้ไม้ปักบนต้น ๓ อัน ใกล้กับพื้นที่หวงห้ามเอาด้ายสีแดงและสีขาว ผูกกับต้นไม้แล้วเอาส่วนที่เหลือมาผูกกับ ไม้หลัก ๓ อัน โดยเอาปลายเส้นด้ายทั้งสีแดงและสีขาวฝังดิน การใส่โจในท้องถิ่นภาคใต้ถือว่าเป็นของขลังและมีความศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่าสามารถห้ามคนทำอันตรายต่อทรัพย์สินของตนได้ การทำโจเป็นของขลังมีวิธีพิสดารแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโจ เช่น โจฝัง โจแขวน โจบอก โจพรก (กะลา) โจตอก โจหลอก เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ทำโจสามารถเลือกที่จะทำโจจริง หรือโจหลอกก็ได้ โจหลอกนั้นไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากหาวัสดุดังกล่าวมาข้างต้นไปแขวนตามกิ่งไม้ที่เห็นได้ชัด ส่วนโจจริงนั้นมีการใช้คาถากำกับไว้และใช้ส่วนผสมที่เป็นอาคมบางอย่างเช่น คางคกตายซาก เป็นต้น ซึ่งผลจากการกินผลไม้ที่มีโจแขวนไว้จะทำให้ผู้กินจะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานาได้ ตามแต่เจ้าของโจจะแช่งเอาไว้ บทความของพระไพโรจน์ อตุโล ที่เผยแพร่ใน http://prapirod.blogspot.com/2013/08/blog-post.html เรื่อง "ความเชื่อเรื่องโจของชาวบ้านตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช" ได้สัมภาษณ์ผู้รู้หลาย ๆ ท่าน อาทิ พระปลัดสุชาติ  สุชาโต ได้ความว่า "โจเป็นสิ่งป้องกันการลักขโมยที่ชาวสวนนิยมแขวนไว้ตามต้นผลไม้ เช่น ต้นลางสาด เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงการหวงห้ามและมีความเชื่อที่ว่าถ้าใครมาเก็บผลไม้ที่แขวนโจนี้ไปกิน จะทำให้มีอาการพุงพองนับว่าเป็นการอำพรางที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมาเก็บกิน หากมีผู้ใดโดนเข้าจะมีอาการดังกล่าว จะแก้อาการนั้นได้ต้องแก้ด้วยน้ำมนต์ที่พระเสกแล้วมากิน เพราะคนที่ถูกโจพุงจะพอง มันเป็นไสยศาสตร์บางทีถึงอาจตายได้" พระช่วง สีลสํวโร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "วิธีผูกโจให้เขียนอักขระปัญจตจะกัมมัฏฐาน ๕ ได้แก่ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ที่โจก่อนที่จะนำไปแขวนว่าโจเอยโจเจ้าให้เฝ้าไว้กันของดึกดำบรรพ ข้านั้นเชื่อถือ” ส่วนพระสวาท เถรธมฺโม ได้กล่าวถึงวิธีการใส่โจที่ต้นผลไม้ว่า “ให้เอาไม้ไผ่ตายพราย หนังควายตายบาด ให้ลงคาถาหัวใจเปรตเป็นคาถาผูกโจ และคาถาที่แตกต่างไปจากคนอื่นคือใช้คาถาผูกที่ชื่อว่าคาถาหัวใจเปรตนั้นว่า  ทุ สะ นะ โส” ส่วนพระวันชัย ปภสฺสโร ได้กล่าวถึงวิธีทำโจอีกลักษณะหนึ่งคือเอาขี้ค้างคาวสิ่งของสกปรก โสโครกใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ แล้วร่ายคาถาผูกด้วยคำที่เป็นภาษาบาลีมีอักขระ ๑๖ ตัว คือ อุ มิ อะ มิ อาเอสุตัง สุนะพุทธัง  อะสุนะอะ กำกับไว้ที่โจ ซึ่งโจนั้นจะมีผู้แก้ได้เพียงคนเดียวคือผู้ทำโจเท่านั้น

การแก้โจ

       สรรพสิ่งในโลกมีผูกแล้วก็ย่อมมีแก้ การแก้โจนั้นมีหลายวิธีการซึ่งจะนำมากล่าวไว้ดังนี้การแก้โจด้วยการสวดบทอิติปิโสแบบอนุโลมปฏิโลม ตามกำลังวันที่แก้คือวันอาทิตย์มีกำลัง ๖ วันจันทร์มีกำลัง ๑๕ วันอังคารมีกำลัง ๘  วันพุธกำลัง ๑๗ วันพฤหัสบดีกำลัง ๑๙ วันศุกร์มีกำลัง ๒๑ วันเสาร์มีกำลัง ๑๐ และตามด้วยคาถาถอนโบสถ์ว่า…
      สุณาตุ เม ภัณเต สังโฆ ยะทิ สัง ฆัสสะ ปัตตะกัลลัง สังโฆ  ตัง สีมัง สะมุหะเนยยะ เอสา ญัตติสุณาตุ เม ภันเต สังโฆ ยาสา สังเฆนะ สีมาสัมมะตา สะมานะสังวาสา เอกุโปสะถา สังโฆ ตัง สีมัง สะมุหะนะติ ยัสสายัสมะโต ขะมะติ เอติสสา สีมายะ สะมานะสังวาสายะ เอกุโปสถายะ สะมุคฆาโต โสตุณหัสสะ ยัสสะ นักขะมะติ โส ภาเสยยะ สะมะหะตา สา สีมา สังเฆนะ สะมานะสังวาสา เอกุโปสถา ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสสะมา ตุณณะหี เอวะเมตัง ธาระยามิ (กล่าว ๓ จบ)  หรือ กล่าวว่า “โจเอย โจจอบ มึงออกกูเข้า โจเอยโจเจ้าถ้ามึงเข้ากูออก” หรือใช้บทสวดที่ว่า “สะมุหะเนยยะ สะมุหะคะติ สะมุหะคะโต สีมาคะตัง พัทธะ เสมายัง สะมุหะนิตัพโพ เอวัง เอหิ นะเคลื่อนโมคลอน พุทธถอน ธาเลื่อน ยะเลื่อนหลุดลอย” เพื่อทำน้ำมนต์แก้คุณไสยแล้วนำไปประพรมที่ผลไม้แล้วจึงเอามากินได้  หรือบริกรรมภาวนาว่า “นะมะปะทะ นะมิอะอุ  อุ อะมินะ นะโมพุทธายะ” หรือใช้คาถาบทที่ว่า “นะ โมพุทายะ  นะเอ พระเจ้า ๕ พระองค์จงมาช่วยปรดให้ดออกละลายด้วยนะโมพุทธายะ”

ความสำคัญ

     การทำโจแขวนไว้มีวัตถุประสงค์อยู่หลายประการ โจเปรียบเหมือนเป็นยามเฝ้าของ ป้องกันขโมย หรือป้องกันเด็กหรือผู้คนอื่นจะเก็บผลไม้ก่อนที่สุก หรือยังไม่ได้ขนาดที่ ในอดีตการนำโจไปแขวนตามต้นไม้ที่มีผลไม้รอการเก็บ สามารถลดปัญหาการถูกลอบเก็บผลไม้เป็นอย่างดีการนำโจมาใช้กับสังคมเกษตรกรร เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ และนำจิตวิทยามาช่วยดูแลรักษาผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในบางพื้นที่ที่สังคมยังไม่รับเทคโนโลยีสมัยใหม่มาก เหมือนสังคมเมือง ความเชื่อเรื่องโจเป็นความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ที่ท้าขึ้นเพื่อใช้ป้องกันปัญหาการลักขโมยผลไม้ในสวนได้ แต่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวลดลง เนื่องจากกระแสสังคมสมัยใหม่ การใช้โจแขวนตามต้นไม้จึงสามารถ พบเห็นได้เฉพาะในท้องถิ่นห่างไกลบ้างประปราย


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โจ
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม
ความเชื่อภาคใต้-โจ/กะโจ/กาโจ. (2551). สืบค้นวันที่ 2 ต.ต. 61, จาก http://www.openbase.in.th/node/8782
ประพนธ์ เรืองณรงค์ และคณะ. (2531). ของพื้นบ้านชายแดนภาคใต้. ปัตตานี : ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้
                 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
พระไพโรจน์ อตุโล. (2556). ความเชื่อเรื่องโจของชาวบ้านตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช. สืบค้นวันที่ 2 ต.ต. 61,
                 จาก http://prapirod.blogspot.com/2013/08/blog-post.htm
พล็อกพร้าว. (2553). โจคือใคร....เล่าเรื่องโจอีกทีนะ. สืบค้นวันที่ 2 ต.ต. 61, จาก https://www.gotoknow.org/posts/413346

รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025