ครกบด
 
Back    26/03/2021, 13:43    6,305  

หมวดหมู่

เครื่องมือในการดำรงชีวิต


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=124

               เครื่องมือสำหรับบดแป้งประกอบด้วยตัวโม่เป็นหินรูปกลม มีฐานในตัวทำเป็นร่องเพื่อให้แป้งไหลลงภาชนะที่รองไว้ตรงปลายที่ยื่นออกมา เวลาใช้จะมีแผ่นหินรูปกลมอีกแผ่นหนึ่งวางซ้อนมีรูด้านข้าง สำหรับสวมไม้จับเวลาหมุนบดข้าวก่อนนำไปประกอบอาหารต่อไปครก เป็นเครื่องครัวประเภทหนึ่งซึ่งใช้ในการทำอาหารประเภทที่ต้องบดหรือทิ่มหรือตำ เครื่องครัวหรือของกินของใช้ให้ละเอียดเพื่อง่ายต่อการปรุงและเพื่อให้อาหารการกินมีรสชาติในการกิน เช่น เครื่องแกง น้ำพริก ส้มตำหรืออาหารประเภทใดก็ตามที่ต้องการความแหลกครกที่ใช้กันในครัวเป็นเครื่องครัวที่มีลักษณะภายนอกเป็นกรวยยอดตัด ๒ อัน ซ้อนกันโดยหันเอาฐานที่แคบกว่าเข้าประกบกันส่วนภายในเป็นเบ้าที่ค่อนข้างจะเป็นครึ่งทรงกลม เครื่องครัวประเภทนี้เรียกว่า "ครกบด"
 
         ครกบดหรือเครื่องโม่แป้งเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับโม่แป้งหรือบดแป้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียวเพื่อทำขนมต่าง ๆ ในภาคใต้แถบจังหวัดพังงาเรียกว่า “ครกสีหิน” ทำด้วยหินมีหลาย ๆ ขนาด ขนาดเล็กที่สุดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของฐานครกประมาณ ๑.๕ ฟุต ขนาดใหญ่จะมีประมาณ ๔.๕ ฟุต ครกบดแป้งทำมาจากหิน เช่น หินแกรนิต หินทราย เป็นต้น ครกบดหรือเครื่องโม่แป้งเป็นเครื่องมือใช้ที่เป็นภูมิปัญญาที่คนโบราณคิดค้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การทำครกบดด้วยหินจะใช้วิธีสลักและยังมีครกที่หล่อด้วยซีเมนต์ วิธีหล่อจะขุดดินเป็นเบ้าให้มีลักษณะและขนาดเท่ากับครกที่ต้องการ ความลึกของเบ้าเท่ากับความหนาของตัวครก ปูกระดาษลงในเบ้าแล้วเทซีเมนต์ลงให้เสมอขอบเบ้า ใช้แผ่นเหล็กขดกลมให้ได้ขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของขอบคลองด้านนอก วางกดแผ่นเหล็กนี้ลงให้พอดีเท่ากับความลึกของคลองที่ต้องการ ใช้แผ่นเหล็กขดกลมอีกแผ่นหนึ่งซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหน้าตัวของส่วนที่ทำฟันครกวางลงบนซีเมนต์ที่เทไว้แล้ว จากนั้นเทซีเมนต์ลงในขดแผ่นเหล็กวงในให้ได้ความสูงตามที่ต้องการ ใช้เครื่องมือขูดซีเมนต์ระหว่างแผ่นเหล็กทั้ง ๒ ออกให้ลึกตามความลึกของคลองที่ต้องการเหลาทางไม้ระกำหรือทางสาคูให้ได้ขนาดและความยาวเท่ากับเดือยครกบดที่จะใส่จริง ๆ แล้วกดลงตรงกึ่งกลางของเบ้านั้น ผ่าไม้ไผ่ให้ได้ขนาดและความยาวเท่ากับฟันครก วางกดไม้นั้นลงในซีเมนต์ตรงหน้าตัดครก วางครกทิ้งไว้พอหมาด แต่งคลองและส่วนต่าง ๆ ให้เรียบร้อย 

     วิธีใช้ครกบด
           
การบดแป้งหรือโม่แป้งโดยใช้ครกบด จะต้องวางครกบดบนพื้นสูงกว่าพื้นปกติอย่างน้อย ๑ ศอก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวางภาชนะรับแป้งจากปากครกบดได้ ข้าวสารที่จะโม่ต้องแช่น้ำให้พอง การโม่ถ้าเป็นครกมือเดียวอาจใช้ผู้บดคนเดียวหรือ ๒ คน ก็ได้ ถ้าบดคนเดียวผู้บดต้องทำหน้าที่ทั้งหมุนโม่และหยอดข้าวสารไปด้วย ถ้าบด ๒ คน คนหนึ่งจะทำหน้าที่หมุนครก ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นคนหยอดข้าวสาร การหยอดข้าวสารมีเทคนิคที่ควรระวังคือถ้าหยอดข้าวสารมากเกินไป และน้ำผสมอยู่น้อย แป้งที่บดจะหนืด บางครั้งอาจจะบดข้าวสารแล้วหลุดออกเป็นเมล็ด ๆ ก็มี ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "ครกบดมันแค้น" ฉะนั้นจึงต้องหยอดน้ำช่วย ในทางกลับกันถ้าหยอดข้าวสารน้อยและใส่น้ำมากแป้งที่ได้ก็จะเหลวและฟันครกบดจะเสียดสีกันมากอาจทำให้ซีเมนต์หรือทรายที่ฟันครกหลุดผสมลงในแป้งได้ เมื่อบดแป้งเสร็จแล้วจะต้องล้างครกบดให้สะอาด เพื่อมิให้แป้งที่ติดอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของครกบด โดยเฉพาะที่ฟันครกและในเดือยครกเกิดการบูดเน่า นอกจากจะล้างทำความสะอาดแล้ว ยังถอดเดือยครกออกอีกด้วย ครกบดในอดีตนั้นเป็นเครื่องมือที่มีใช้กันแทบทุกบ้าน แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีแป้งสำเร็จรูปขายตามท้องตลาดซึ่งหาซื้อได้ง่าย ความจำเป็นในการใช้ครกบดจึงลดลงไป ครกบดจึงค่อย ๆ หายไปจากครัวไทยอย่างเช่นในปัจจุบัน


ขอขอบคุณภาพจาก : https://www.tungsong.com/kanomjeen/index3.htm


วัตถุดิบและส่วนประกอบ

ขอขอบคุณภาพจาก : https://www.tungsong.com/kanomjeen/index3.htm

       ส่วนประกอบของครกบด
                ครกบดมี  ๒ ส่วนด้วยกันคือ

๑. ฝาครกหรือหินบด ที่อยู่ส่วนบนซึ่งจะเป็นตัวหมุนสำหรับบดแป้งมีลักษณะเป็นทรงกลมแบนหนาประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๖-๓๖ เซนติเมตร ด้านบนใกล้ขอบด้านหนึ่งมีรูกลมกว้างประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร สําหรับใส่ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวลงไป ด้านข้างหินบดมีช่องใส่ด้ามหรือเดือยะทำด้วยไม้สำหรับจับหมุนขณะบดแป้ง ซึ่งจะเล็กใหญ่ก็แล้วแต่ขนาดของครก ตรงกลางด้านล่างของฝาครกทำรูให้ได้ขนาดสวมรับกับเดือยและตรงหน้าตัดด้านล่างเซาะฟันเช่นเดียวกับตัวครก ด้านบนของฝาทำเป็นแงสำหรับรับข้าวที่จะบด ตรงแอ่งนี้เจาะรูทะลุฝาด้านล่างเพื่อให้ข้าวสารตกลงด้านล่างเพื่อบดเป็นแป้งต่อไป ด้านข้างของฝาครกขนาดเล็กจะเจาะรูสี่เหลี่ยม ๑ รูสำหรับใส่ไม้ทำเป็นมือครก ครกชนิดนี้เรียกว่า “ครกมือเดียว” แต่ถ้าครกมีขนาดใหญ่จะเจาะไว้ ๒ รู สำหรับใส่มือครกเรียกว่า “ครก ๒ มือ” ครกชนิดหลังนี้เวลาบดจะใช้คันโยกแบบเดียวกับครกสี
๒. ตัวครกหรือหินบดส่วนล่าง มีลักษณะกลมแบนใหญ่กว่าส่วนบน มีปากยื่นออกมาประมาณ ๗-๑๑ เซนติเมตร ใกล้ขอบรอบตัวหินบดเป็นร่องตื้นเพื่อให้แป้งที่บดแล้วไหลลงสู่ภาชนะรองรับ บริเวณกลางหินบดส่วนล่างจะนูนขึ้นมาเล็กน้อย มีขนาดกว้างเท่ากับหินบดส่วนบน ตรงจุดกึ่งกลางมีช่องใส่เดือยไม้สําหรับยึดเข้ากับช่องกลางหินบดส่วนบนช่วยให้หินบดทั้งสองไม่เลือนหลุดจากกันในขณะบดแป้ง การบดแป้งนั้นเวลาบดต้องยก ๒ ส่วน ให้ประกบกันจากนั้นใส่ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวลงในรูของตัวบน แล้วจับด้ามหมุนไปรอบ ๆ จนข้าวเจ้า ข้าวเหนียวนั้นละเอียด ขณะบดต้องะหยอดน้ำลงไปให้เพื่อให้ลื่นและบดง่าย แป้งข้าวที่บดก็จะไหลออกลงตามช่องแล้วไหลรวมมาลงในภาชนะรองรับ มีลักษณะกลมฐานเรียบ ด้านหนึ่งทำเป็นปากสำหรับให้แป้งไหลลงสู่ภาชนะ ขอบครกด้านนอกสุดหนาประมาณ ๗ เซนติเมตร ถัดจากขอบนอกเข้ามาราว  ๓ เซนติเมตร ทำเป็นแอ่งหรือคลองลึกลงโดยรอบเชื่อมเป็นระดับเดียวกับปากครก แอ่งนี้กว้างประมาณ ๕-๙ เซนติเมตรช่วงกลางของตัวครกยกระดับสูงขึ้นกว่าขอบครกอีกเท่าตัว ตรงหน้าตัดทำเป็นฟันโดยเซาะร่องกว้างและลึกประมาณ ๔ มิลลิเมตร ฟันนี้จะทอดตามแนวรัศมีและมีฟันตามแนวขวางบ้าง ตรงกึ่งกลางของหน้าตัดทำเป็นรูกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๒ เซนติเมตร สำหรับใส่เดือยหรือโดไม้รับและยึดฝาครกเอาไว้

      วิธีทำครกบด
             
วิธีทำครกบด การทำครกบดมีวิธีการทำดังนี้

๑. ตัวครก จะขุดดินเป็นเบ้าให้มีลักษณะและขนาดเท่ากับครกที่ต้องการ ความลึกของเบ้าเท่ากับความหนาของตัวครก ปูกระดาษลงในเบ้าแล้วเทซีเมนต์ลงให้เสมอขอบเบ้า ใช้แผ่นเหล็กขดกลมให้ได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหน้าตัดของส่วนที่ทำฟันครกวางลงบนซีเมนต์ที่เทไว้แล้ว จากนั้นเทซีเมนต์ลงในขดแผ่นเหล็กวงในให้ได้ความสูงตามที่ต้องการ ใช้เครื่องมือขูดซีเมนต์ระหว่างแผ่นเหล็กทั้งสองออกให้ลึกตามความลึกของคลองที่ต้องการ เหลาทางไม้ระกำหรือทางสาคูให้ได้ขนาดและความยาวเท่ากับเดือยครกบดที่จะใส่จริงๆ แล้วกดลงตรงกึ่งกลางของเบ้า ผ่าไม้ไผ่สด ๆ ให้ได้ขนาดและความยาวเท่ากับฟันครก วางกดไม้นั้นลงในซีเมนต์ตรงหน้าตัดครก วางครกทิ้งไว้พอหมาดก็แต่งคลองและส่วนต่างๆ ให้เรียบร้อย
๒. ฝาครกบด ให้ใช้แผ่นเหล็กขดกลมให้ได้ขนาดตามที่ต้องการวางแผ่นเหล็กนี้ลงบนพื้นดินที่ทุบดินเรียบแน่น ตรงกึ่งกลางเหลาไม้ระกำ หรือทางสาคูให้ได้ขนาดเท่ากับเดือยปักลงบนพื้น เหลาไม้เท่ารูครก(รูใส่ข้าวสาร) วางในตำแหน่งของรูครก คือ อยู่ข้างเดือยราว ๔-๖ เซนติเมตร ทำไม้ซี่ครกวางกดกับพื้นดินให้ทรงตัวมั่นคง เสร็จแล้วเทซีเมนต์ลงในเบ้านั้น พอซีเมนต์เริ่มหมาดๆ ก็แต่งปากครกให้เป็นแอ่ง
๓. แกะจากเบ้า เมื่อซีเมนต์แห้งสนิทให้แกะออกจากเบ้าทั้งตัวครกและฝาครก ถอดไม้เดือยครกไม้รูครก และไม้ฟันครกออกทิ้ง รอจนซีเมนต์แข็งตัวเต็มที่ จึงนำมาแต่งฟันครกและรูครก ตลอดจนส่วนอื่น ๆ ให้เรียบร้อยใส่เดือย ใส่มือครกและบดครกนั้น ให้ฟันครกทั้งสองหน้าเรียบสนิทและขจัดซีเมนต์ส่วนที่เกาะตัวไม่แน่นพอให้หลุดออกไปเสียก่อน โดยการใช้ข้าวสารธรรมดาแข็ง ๆ (ไม่ใช้ข้าวสารแช่น้ำสำหรับบดเป็นแป้ง) 

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ครกบด
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ครกบด. (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 26 มี.ค. 64, จาก https://www.tungsong.com/kanomjeen/index3.htm
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2531). ของพื้นบ้านชายแดนภาคใต้. ปัตตานี : ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
พิพิธภัณฑ์เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. (2561). โม่. สืบค้นวันที่ 26 มี.ค. 64, จาก https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=124


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024