สตรีตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกอ่อน
 
Back    30/10/2018, 13:52    22,211  

หมวดหมู่

การเลี้ยงเด็ก


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : http://www.rakluke.com/article/24/110/5145/5-เรื่องที่แม่ลูกอ่อนต้องระวัง

     ความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเกิดของคนสมัยก่อนจะมีพิธีกรรมมากมายหลายอย่าง ความเชื่อบางเรื่องบางอย่างที่คนโบราณสอนมาส่วนมากมีประโยชน์เพราะมีเหตุมีผลประกอบและสามารถประยุกต์นำมาปรับใช้ได้ แต่บางเรื่องก็ไม่มีเหตุมีผลอันสมควร อันความเชื่อสมัยก่อนที่เกิดขึ้นมาก็เนื่องจากการแพทย์สมัยก่อนนั้นไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนกับในสมัยปัจจุบันนี้ การคลอดหรือการเลี้ยงดูเด็กจึงเป็นไปตามสภาพของการเป็นอยู่ในสมัยนั้น ๆ ประกอบกับผู้หญิงสมัยก่อนมักมีความกลัวในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เช่น กลัวผี กลัวตาย กลัวฟ้ากลัวฝน และกลัวการคลอดบุตร เด็กที่คลอดในสมัยก่อนนั้นถ้าอยู่ในท่าผิดธรรมชาติในการคลอด เช่น เด็กอยู่ในท่าขวาง เด็กไม่กลับหัว หรือคลอดก่อนกำหนด เหตุการณ์เหล่านี้มักทำให้เด็กเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้จึงบั่นทอนจิตใจของคุณแม่สมัยก่อนมาก เมื่อมีคำสอนหรือข้อปฏิบัติอะไรที่ว่าต่อกันมาว่าจะทำให้เด็กคลอดง่ายหรือไม่เป็นอันตรายต่อแม่และเด็ก คนสมัยก่อนจึงทำและปฏิบัติตาม ๆ กันมา วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการเกิดของคนไทย การเกิดเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสําคัญ ส่วนจะมีพิธีรีตองมากน้อยเพียงไรก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน หรือสังคมที่ตนอยู่ร่วมด้วย คนสมัยก่อนทําพิธีต่าง ๆ ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดในระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดลูก ซึ่งจะทำให้แม่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ความตาย และเพื่อคุ้มครองปกปักษ์รักษาทารกที่คลอดให้ออกมาโดยปลอดภัย วัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวกับการเกิดมีหลากหลายรูปแบบทั้งของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยส่วนใหญ่จะมีวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวกับการเกิดเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เชื่อกันว่าบุตรเทพธิดาได้จุติมาเกิดในโลกโดยจะมีดาวตก คนโบราณเรียกว่า "ผีเล่นตรวจ" ส่วนความเชื่อตอนตั้งครรภ์มีความเชื่อว่าเด็กที่มาเกิดจะมาอาศัยที่ขาของแม่หรือที่น่องของพ่อเป็นเวลา ๗ วัน ระยะนี้พ่อจะมีอาการปวดเมื่อยและอยากกินของเปรียว ๆ โดยจะมีข้อห้ามสําหรับพ่อเป็นเวลา ๗ วัน (อาการแพ้ท้อง) และมีข้อห้ามสําหรับแม่มากมายเช่นกัน เช่น ห้ามนั่งที่บันไดนาน ๆ เพราะเชื่อว่าจะทําให้คลอดยาก, ห้ามตอกตะปูเพราะตะปูทําให้ติดกันแน่นเชื่อว่าจะคลอดลูกยาก, ห้ามไปงานศพเพราะผีจะตามมาบ้าน, ห้ามคนท้องนอนหงาย ให้นอนตะแคงสลับกันด้านซ้าย-ขวา เหล่านี้เป็นต้น ส่วนเมื่อคลอดลูกมาแล้วก็จะมีประเพณีการผูกเปล เช่น ก่อนนำเด็กลงเปลมีการผูกเปลให้เด็ก จะมีแม่ทานคอยบริกรรมคาถา เชื้อเชิญแม่ซื่อให้อยู่กับเด็ก การปูเปลเด็กจะใช้ผู้ใหญ่ที่เคยเลี้ยงง่าย ไม่ดือ ในสมัยเป็นเด็กทากรมาช่วยปูให้ เพราะเชื่อว่าเด็กจะได้มีนิสัยเหมือนคนปูเปล, พิธีขึ้นเปลต้องจัดสํารับประกอบด้วยขนมแดง ขนมขาว หมาก พลูหมู ข้าวเหนียว เพื่อเซ่นบูชาแม่เปล, ตอนอุ้มเด็กลงเปลแม่ทานจะกล่าวว่า “พุทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา” แล้ววางทารกลงเปลให้นอนหงาย โดยหันศีรษะทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ และจะขับกล่อมเด็กทารกด้วยเพลงร้องเรือ และเมื่อเด็กได้ ๑ เดือน จะมีพิธีกรรมทําขวัญเดือน (โกนผมไฟ) และลงอู่ พิธีกรรมทําขวัญเดือน (โกนผมไฟ) จะทําเมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาครบ ๑ เดือน เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากตัวเด็กและเสริมความเป็นสิริมงคล แต่ถ้าผู้จะทําพิธีอยู่ในฐานะที่อัตคัดขัดสนจะกระทําแบบรวบรัดก็ได้ โดยเอาด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือเพื่อการเรียกขวัญ แล้วก็ทําพิธีโกนตามฐานะเท่าน้นก็พอ พิธีกรรมการลงอู่จะมีการจัดเตรียมที่นอนเด็กในเปลและเอาของที่จัดไว้ให้เด็กวางตามขอบเปลใต้เบาะ ใต้หมอน จากนั้นนําแมวที่มีรูปร่างสวยงามน่ารักและผูกสร้อยที่คออุ้มลงในเปลแล้วอุ้มออกทันที เหตุผลที่เอาแมวลงเปลก่อนเด็กทารกนั้นเป็นความเชื่อที่ว่าเด็กจะได้เลี้ยงง่ายเหมือนแมว (กินอิ่มแล้วนอนหลับ) หลังจากนั้นก็จะอุ้มเด็กมาลงนอนในเปลแล้วเห่กล่อม ส่วนความเชื่ออื่น ๆ เช่น หลังการคลอดจะมีการใช้หัวไพลที่เสกอาคมผูกข้อมือเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันผีร้ายต่าง ๆ ซึ่งพิธีกรรมจะคล้ายกับการลงอู่คือก่อนนําเด็กลงบนเบาะ (ให้คนซึ่งในวัยเด็กเป็ นคนว่านอนสอนง่ายเป็นคนปูเบาะให้) ก่อนลงเบาะต้องเอาเด็กเวียนรอบเบาะแล้วกล่าวว่า “ผีเอาไป พระเอามา” แล้ววางเด็กลงทําอย่างนี้จนครบ ๓ ครั้ง แต่ในบางครั้งจะวางเด็กในกระด้งที่มีผ้านุ่งของแม่ฉีกเป็นผ้าอ้อมเอาไว้ใต้เบาะและจะเอาสมุด ดินสอ เข็ม วางไว้ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดให้เด็กรักการอ่านเขียนและมีความคิดรอบคอบและเฉียบแหลม ส่วนของรกทารกเกิดให้นั้นจะมีการนํารกไปใส่หม้อดินและใส่เกลือ โดยใช้ผ้าขาวห่อปิดผูกด้วยด้ายดิบสีขาวปนแดง แล้วเอาไปฝังบนจอมปลวกและหาสิ่งป้องกันให้สัตว์ขุดคุ้ยเขี่ยได้

ปรากฏการณ์ของเด็กแรกเกิด

  • อาการท้องอืดในเด็กแรกเกิด
    เด็กที่มีอาการท้องอืดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพุงขึ้น เด็กจะร้องไห้ ออดอ้อน นอนไม่หลับ พ่อแม่ก็จะเอมมหาหิงคุ์ทาทั่วบริเวณท้อง จับให้เด็กนอนคว่ำในไม่ช้าเด็กก็จะหายท้องอืด แต่ถ้าเด็กยังร้องไห้ไม่ยอมหยุด และไม่ยอมหลับนอนหรือหลับไปชั่วครู่แล้วผวาตื่นร้องขึ้นมาอีก โบราณเชื่อกันว่าเป็นเพราะแม่ซื้อหรือผีมาหยอกเด็ก ก็จะให้หมอทำพิธีเสกข้าวสารซัดรอบ ๆ บริเวณ ๕ บ้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ซัดสาร" เพื่อขับไล่ผีให้ออกจากบ้าน โดยทำพิธีจะกล่าวดัง ๆ ว่า ”ฟาดเคราะห์ไป “ แล้วว่าคาถามีใจความว่า “แม่ผีสาง แม่นาง แม่ซื้อ ลูกเจ้าเป็นลูกเราแล้ว อย่ามาหยิกอย่ามาข่วนอย่ามารบกวนให้ร้าย อย่ามากวนให้ได้ทุกข์ได้ไข้ เราจะเลี้ยงดูไว้ให้อยู่เป็นสุขสนุกสบาย อยู่กับเราไปจนแก่เฒ่าถือไม้ยอดทองกระบองยอดเพชร“ กล่าวแล้วก็ลงจากบ้านเอาข้าวสารซัดรอบ ๆ บริเวณบ้าน เป็นอันเสร็จพิธี
  • อาการเด็กร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ
    อาการที่เด็กร้องไห้โดยไม่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเลย ความเชื่อของคนโบราณเชื่อว่าเป็นเพราะผีมาหลอกและหลอกหลอนเด็ก ทำให้เด็กตกใจกลัวจึงร้องไห้ไม่หยุดแก้อาการโดยให้หมอตำแยหรือคนที่มีความรู้เรื่องนี้ทำพิธี “พ่นผีป่า” โดยให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วว่า “อิติ ตะวะ มิตัง ปิสา อิติ สัพพะโย มุสิกะตา อิติสัพพัญญู อิติปิโสภะคะวา” ๓ จบ แล้วเป่าลงที่กระหม่อมเด็กพร้อมทั้งเอาหัวไพลมาหั่นเป็นแว่นเล็ก ๆ ผูกเข้ากับด้ายไปผูกที่ข้อมือเด็กไว้กันผี เพราะเชื่อว่าผีจะกลัวหัวไพลแล้วจะไม่กล้าเข้าใกล้ตัวเด็ก หรือหมอบางคนอาจจะใช้ปากไปกัดใบนมแมวมาจากต้นแล้วเคี้ยวพลางเดินเข้าไปในบ้านที่เด็กร้อง พร้อมทั้งท่องคาถาว่า ”อะอึ” เดินเข้าไปใกล้คนที่กำลังอุ้มเด็กแล้วตวาดด้วยเสียงดังว่า “ไป” ผีจะตกใจแล้วออกจากบ้านไปในทันทีเด็กก็จะหยุดร้องแล้วนอนหลับเป็นปกติ

ภาพจาก : http://www.rakluke.com/article/24/110/5823/ความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน-

ข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามความเชื่อของคนโบราณที่แฝงด้วยกุศโลบาย
      ในสมัยก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบันนี้ความเชื่อหลาย ๆ อย่างที่ปฏิบัติและยึดถือกันอยู่ ซึ่งปู่ ย่า ตา ยาย มักจะสั่งสอนลูกหลานไม่ให้ทำโน่นทำนี่ด้วยเหตุผลที่อธิบายได้ยากและบางครั้งก็ดูไร้เหตุผล แต่ลูก ๆ หลาน ๆ ก็มักยอมปฏิบัติตาม แม้ในใจอาจะคัดค้านหรือนึกสงสัยอยู่บ้างแต่ก็น่าแปลกที่ว่าสิ่งที่คนโบราณบอกต่อกันมานั้นก็เพื่อตักเตือนหรือสั่งสอนด้วยความรักและห่วงใย สิ่งที่ห้ามเหล่านั้นล้วนแต่เป็นกุศโลบาย อันหมายถึงวิธีอันแยบยลที่มีมาช้านาน เพื่อใช้การตักเตือนหรือขู่ให้กลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายกับบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งมักขึ้นต้นด้วยคำว่า “ห้าม” หรือ “อย่า” โดยมีเจตนาหรือจุดมุ่งหมายแฝงอยู่ในข้อห้ามนั้น ๆ สำหรับข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามความเชื่อของคนโบราณที่แฝงด้วยกุศโลบายที่เกี่ยวกับสตรีมีครรภ์และการเลี้ยงดูเด็ก มีดังต่อไปคือ
       ๑. ห้ามหญิงท้องไปดูเขาออกลูก จะออกลูกยาก การคลอดลูกในสมัยโบราณกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก การทำคลอดในอดีตจะต้องอาศัยหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอดที่บ้าน ไม่ได้คลอดในห้องคลอดอย่างโรงพยาบาลปัจจุบัน ซึ่งห้ามมิให้ผู้อื่นเข้าไปนอกจากหมอและพยาบาลหรืออาจจะมีพ่อเด็กด้วยในบางแห่งแต่ที่ผ่าน ๆ มา เราอาจจะเคยเห็นการคลอดลูกตามภาพยนตร์ ละคร หรือผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าต้องเอาผ้าขาวม้าหรือเชือกผูกบนขื่อแล้วก็ให้ผู้หญิงที่กำลังจะคลอดจับดึงไว้ เพื่อเป็นหลักให้มีแรงเบ่งให้ลูกออกจากท้องบางคนคลอดยาก ส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความปวดท้องอย่างทรมานอยู่นาน อีกทั้งอาการคลอดก็น่ากลัว ดังนั้น หากหญิงมีครรภ์ไปดูคนอื่นคลอดลูกแล้วได้ยินเสียงหรือได้เห็นภาพอาการเจ็บปวดของการคลอดอาจจะทำให้กลัวและเกิดอาการเสียขวัญ จึงมีอุบายหลอกไม่ให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องไปดูการคลอดลูกจะออกลูกยาก เพราะไม่ต้องการให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง เกิดอาการหวาดกลัวการคลอดลูกจนทำให้เสียสุขภาพจิตเกิดความวิตกกังวลความเครียด และความไม่สบายใจอื่น ๆ ตามมา
 
    ๒. ห้ามคนมีท้องหน้าบึ้ง ลูกเกิดมาจะไม่สวยไม่งาม”  เพราะเป็นที่ทราบกันดีในปัจจุบันว่าโดยปกติผู้หญิงที่ครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสรีระและระดับฮอร์โมน ทำให้ บางคนหงุดหงิด ขี้โมโห ฉุนเฉียว เช่นเดียวกับคนโบราณที่มีความเชื่อว่าการมีภาวะจิตใจที่ไม่ดีจะส่งผลถึงลูก ทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวนได้ หญิงมีครรภ์จึงควรทำจิตใจให้สงบ อารมณ์แจ่มใส ใบหน้ายิ้มแย้มไม่บึ้งตึง ลูกในครรภ์จะสุขภาพจิตดี หน้าตาสวยงาม
 
      ๓. ห้ามหญิงมีครรภ์ไปงานศพ คนโบราณมักจะเตือนลูกหลานที่ตั้งครรภ์อยู่ว่าห้ามไปงานศพ เพราะงานศพเป็นเรื่องการเศร้าโศกอันนำซึ่งความทุกข์
 
      ๔. ห้ามกินหอย คนโบราณห้ามคนท้องกินหอยทุกประเภทเพราะมีความเชื่อว่า เวลาคลอดจะมีกลิ่นคาว และคลอดยากเหมือนหอยที่ติดอยู่ในเปลือก 
       ๕. น้ำนมแม่รักษาตาแดง เชื่อว่าเมื่อลูกเป็นตาแดงให้ใช้น้ำนมแม่หยอดตาสามารถรักษาให้หายได้ 
     ๖. สะดือคว่ำสะดือหงาย ได้ลูกชายหรือลูกหญิง เมื่อเข้าช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือช่วงสัปดาห์ที่ ๑๘ ขึ้นไปนั้น หน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่มาก และตรงช่วงรูสะดือจะง้ำปิดรูสะดือ ถ้าง้ำบนเราจะเรียกกันว่าสะดือคว่ำ ถ้าง้ำล่างจะเรียกว่าสะดือหงาย “โบราณว่าไว้ ถ้าสะดือหงาย ทายว่าจะได้ลูกผู้ชาย ถ้าสะดือคว่ำ ทายว่าจะได้ลูกผู้หญิง”
      ๗. ห้ามสระผม ตัดเล็บ การสระผม หรือตัดเล็บทารกจนกว่าจะ ๑ เดือนขึ้นไป เพราะจะทำให้เด็กทารกก่อน  ๑ เดือนป่วยได้
 
    ๘.  บ้วนน้ำลายใส่สะดือ คนโบราณมีความเชื่อว่าให้บ้วนน้ำลายใส่สะดือเด็กหลังคลอด ๓ วันเป็นต้นไป เพราะน้ำลายในตอนเช้าจะมีแบคทีเรียเยอะจะทำให้สะดือเน่าและหลุดไปเอง
    ๙. ทาดอกอัญชัน ที่ผมผมจะขึ้นดก ทาคิ้วคิ้วจะสวย ในดอกอัญชัญจะมีสารที่ชื่อว่า แอนโทไซยานิน สารตัวนี้จะมีอยู่ในผักและผลไม้ ที่มีสีม่วง เช่น อัญชัญ แบล็กเบอรี่ บลูเบอรี่ กระหล่ำปรีม่วง สารตัวนี้จะไปกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดี
    ๑๐. การโกนผมไฟของลูกผมจะขึ้นดกดำ คนโบราณเชื่อว่าถ้าผมลูกร่วงแสดงว่าลูกจำหน้าแม่ได้แล้วและการโกนผมออกครั้งนึงให้กับเด็กย ผมที่ขึ้นมาใหม่จะแข็งแรงกว่าเดิม
  ๑๑. ใช้ปัสสาวะกวาดลิ้นป้องกันฝ้าขาว เด็กทารกเเมื่อดูดนมเข้าไปแล้วย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะมีฝ้าขาวติดลิ้น และเบื่อนมไม่ค่อยอยากดูดนม คนโบราณจึงใช้ผ้าอ้อมเปียกฉี่ของลูกน้อย นำมากวาดเข้าไปในปากเด็กเพื่อเช็ดทำความสะอาด
    ๑๒. ดัดขาลูกเพื่อไม่ให้ขาโก่ง
    ๑๓. บีบจมูกลูกเพื่อให้ดั้งโด่ง
 ๑๔. อาบน้ำจับหวัด ในสมัยก่อนเมื่อเด็กมีอาการไม่สบายจะใช้ใบมะขามอ่อน หอมแดงเผาตะไคร้ หรือใบมะกรูดผสมกับน้ำอุ่นให้เด็กอาบ เมื่อเด็กได้กลิ่นระเหยของสมุนไพร สุขภาพของเด็กโดยเฉพาะทางเดินหายใจ ปอด ก็จะดีขึ้นกลิ่นระเหยของสมุนไพรต่าง ๆ จะช่วงสร้างภูมิต้านทานโรคหวัดและหืดหอบได้
   ๑๕. อาบน้ำบนหน้าแข้งเสริมพัฒนาการ การอาบน้ำในสมัยก่อนไม่มีอุปกรณ์เหมือนสมัยนี้ การอาบน้ำบนหน้าแข้งจึงเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทำกัน โดยคุณแม่วางเจ้าตัวน้อยไว้ที่หว่างขาที่เหยียดไปข้างหน้าหันหัวลูกไปทางปลายเท้า จากนั้นก็ลงมือบีบนวด ลูบไล้ ตามตัวลูก พร้อม ๆ กับส่งสายตาให้กัน
  ๑๖. อาบน้ำอุ่นสร้างภูมิคุ้มกัน การอาบน้ำอุ่นทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะการอาบน้ำอุ่นจะทำให้การไหลเวียนของโลหิตที่ผิวหนังทำงานได้ดี ป้องกันการเป็นหวัดทำให้ร่างกายอบอุ่นและมีภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ
   ๑๗. ไพลสด ลดอืดเฟ้อ โดบหัวไพลสดนั้นใช้เป็นยาสมุนไพรมาแต่โบราณ เป็นสมุนไพรพื้นบ้านนำมาปรับใช้เป็นยาในการดูแลเด็ก ไพรสดช่วยลดอาการท้องขึ้นและช่วยขับลม
  ๑๘. เกสรดอกบัวแก้ไข้ ในสมัยก่อนเมื่อลูกหลานไม่สบายก็จะใช้เกสรดอกบัวเพื่อรักษาไข้โดยใช้เกสรดอกบัวหลวง หรือจะเป็นสมุนไพรจำพวกไม้หอมอย่างจันแดง จันขาว มาฝนกับน้ำซาวข้าว หรือน้ำผึ้ง แล้วให้เด็กค่อย ๆ จิบแก้อาการหวัดได้ดี
   ๑๙. ฟักเขียวช่วยไล่หวัด โดยนำฟักเขียวมาเป็นยาแก้หวัด เพียงแค่นำฟักมาปลอกเปลือก ต้มให้ลูกกินได้ทั้งเนื้อและน้ำ ช่วยอาการหวัดและยังเป็นยาบำรุงที่ดี

ภาพจาก : https://www.amarinbabyandkids.com/parenting/สัญชาตญาณของแม่-ทุกเรื่/


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
สตรีตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกอ่อน
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ความเชื่อของคนโบราณแฝงด้วยกุศโลบาย. (2558). สืบค้นวันที่ 31 ต.ต. 61, จาก http://www.thelovelyair.com/ความเชื่อต่างๆ/
พิมพ์วิภา แพรกหา. (2556). ความเชื่อโบราณกับการเลี้ยงเด็กทารก.  สืบค้นวันที่ 31 ต.ต. 61, จาก  http://www.ttmed.psu.ac.th/blog.php?p=165
ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูเด็ก. (2556). สืบค้นวันที่ 31 ต.ต. 61, จาก  https://www.maerakluke.com/topics/599


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025