ภาพจาก : https://souvenirbuu.wordpress.com/ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย/ภูมิปัญญาภาคใต้/ของใช้/ภูมิปัญญากรงดักนกคุ่ม/
กรงดักนกคุ่มของภาคใต้ มีลักษณะคล้ายเพนียดต่อนกเขาแต่มีขนาดเล็กกว่าสานด้วยไม้ไผ่คลุ้มหรือย่านลิเภา กรงต่อนกลุ่มจะมีลักษณะเป็นกรงรูปโค้ง ครึ่งวงกลม พื้นรองด้วยไม้กระดาน รอบกรงใช้ไม้ไผ่ขัดเป็นฝากั้น ขนาดกรงมีความกว้างประมาณ ๗ นิ้ว ลึก ๑๒ นิ้ว สูงราว ๖ นิ้ว กรงต่อนกคุ่มบางถิ่นแกะสลักหน้ากรงเป็นลวดลายอย่างสวยงาม ด้านหน้ามีประตูสําหรับให้นกเข้าออก หน้าสุดมีตาข่ายหรือร่างแห มีกรอบขนาดกรงด้านหน้า กรอบร่างแหนเปิดอ้าได้ถึง ๙๐ องศา โดยใช้เชือก ดึงด้านบน ส่วนด้านล่างผูกกับลิ้น เมื่อนกเลื่อนเดินเข้ามาแตะลิ้น ลิ้นจะหลุด เชือกดึงตาข่ายปิดประตูเข้าออกทันทีนกลุ่มก็จะติดอยู่ในกรงรูปร่างคล้ายลูกฟักที่ตัดครึ่งลูกผ่าซีก กรงที่ใช้ขังนก (นกต่อ) มักจะสานแบบถี่ ๆ แล้วยาด้วยชัน (น้ำมันจากต้นไม้) เพื่อไม่ให้นกคุ่ม (นกป่า) มองเห็นนกต่อ ด้านหน้ามีประตูปิด-เปิดได้สำหรับนกต่อและมีประตูอีกชั้นหนึ่งคลุมด้วยตาข่าย เพื่อใช้ล่อนกป่าที่เข้ามาหานกต่อ ประตูทั้ง ๒ มีเสาประตูเป็นซี่ไม้กลม ๆ ทั้ง ๒ ข้าง ทั้ง ๒ ประตู และมีเหล็กกลมสวมไว้ข้างละห่วง ด้านบนมีเชือกคล้องแทนบานพับ ประตูตาข่ายจะเปิดดั้งฉากกับพื้นโดยเลื่อนห่วงสองอันไว้ที่หัวกรง ห่วงนี้จะเลื่อนลงมาเมื่อประตูปิดขณะที่นกชนซี่เล็ก ๆ ซึ่งค้ำประตูตาข่ายให้เปิดอยู่ ละปิดขังนกป่าไว้ เมื่อนกป่าสะดุดไม้ค้ำประตู การดักนกคุ่มต้องดักในบริเวณพุ่มไม้โล่งหันหลังกรงเข้าพุ่มไม้ หันด้านหน้าออกเปิดประตูตาข่ายไว้ คนต่อนกนั่งซุ่มคอยอยู่ไกล ๆ ทำเสียงร้องเลียนเสียงนกให้นกต่อขัน เมื่อนกป่าได้ยินเสียงนกต่อจะเข้ามาหาหรือต่อสู้กัน ก็จะถูกประตูตาข่ายตะปบไว้คนต่อนกจะจับนกได้ การต่อนกคุ่มมักต่อในฤดูผสมพันธ์ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม
วิธีการทำกรงดักนกคุ่มของภาคใต้
ส่วนประกอบ
๑. ย่านลิเภาหรือไม้ไผ่คลุ้ม |
๒. เชือกไนล่อนสีดำหรือเชือกฟาง |
๓. ลวดทองแดง |
๔. ไม้กระดานแผ่นเพื่อแกะลาย |
๕. ตะกั่วถ่วงนำหนัก |
๖. ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่เล็ก ๆ |
๗. เมทิลแอลกอฮอร์ |
๘. แชลแลคขาว |
๙. ชุดแกะงานไม้ |
๑๐.กระดาษทราย |
๑๑. สว่าน |
๑๒. เลื่อยมือ/ใบเลื่อย |
ขั้นตอนการผลิต
๑. นำไม้กระดานมาแกะสลักลวดลาย เพื่อตกแต่งหน้ากรงนกให้สวยงาม |
๒. ขึ้นโครงกรงดักนก |
๓. ใช้ย่านลิเพาดำสอดตามรูที่เจาะไว้ |
๔. ขึ้นกระดูกปลาไหล ด้วยเชือกไนล่อน |
๕. ใช้ย่านลิเภาสด ผ่าครึ่งนำมาสานให้เป็นลวดลาย |
๖. นำมาประกอบเป็นกรงดักนกคุ่ม |
๗. ทาแชลแลคขาว ใส่ตะกั่วถ่วงฝาปิดกรง |
กลุ่มสานหญ้าลิเภาขุนละหาร ที่อยู่เลขที่ ๖๐/๔ หมู่ที่ ๗ ถนนเพชรเกษม ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ๘๖๑๑๘๐ ได้ทำผลิตภัณฑ์กรงนกคุ่มออกจำหน่าย สืบเนื่องจากนายรัศมินทร์ นิติธรรม ได้ไปเห็นกรงดักนกคุ่มในร้านขายกรงนก มีความสวยงาม เมื่อกลุ่มได้มีโอกาสเข้าร่วมในงานแสดงวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่กรุงเทพมหานคร ได้นำกรงดักนกคุ่มไปตั้งแสดงในงาน และได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก นายพินิจ จารสมบัติ อดีตรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มาเห็นและชอบจึงขอซื้อและแนะนำให้กลุ่มทำออกจำหน่าย โดยแนะนำให้ทำทั้งที่เป็นกรงดักนกขนาดที่ใช้ดักนกจริงและกรงดักนกขนาดจำลองเป็นของที่ระลึก กลุ่มจึงได้เชิญนายมะหามะปาริค หะยีนิยิ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนทำกรงนก มาสอนให้กับสมาชิกกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้สืบสานภูมิปัญญาและเพื่อจำหน่ายเป็นของฝากของที่ระลึก และสร้างรายได้ให้สมาชิกเพิ่มขึ้น
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2531). ของพื้นบ้านชายแดนภาคใต้. ปัตตานี : ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
ภูมิปัญญากรงดักนกคุ่ม. (ม.ป.ป). สืบค้นวันที่ 12 มี.ค. 64, จาก https://souvenirbuu.wordpress.com/ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย/
ภูมิปัญญาภาคใต้/ของใช้/ภูมิปัญญากรงดักนกคุ่ม/