เครื่องทองเหลืองปัตตานี
 
Back    04/09/2024, 10:12    191  

หมวดหมู่

งานฝีมือ


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

               เครื่องทองเหลืองปัตตานี จากการเรียบเรียงของจุฑาภรณ์ หวังกุหลำ ในหนังสือ ๑๐ สุดยอดสมบัติปัตตานี ประจำปี ๒๕๖๒ ได้กล่าวถึงเครื่องทองเหลืองปัตตานีไว้ว่าเป็นหัตถกรรมช่างฝีมือประเภทเครื่องทองเหลือง ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านความประณีต ความสวยงาม และมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เกิดจากการผสมผสานศิลปะของชาติต่าง ๆ เช่น จีน อาหรับ ยุโรป สยาม ที่ผสมผสานเข้ากับศิลปะแบบมลายูท้องถิ่น ด้านแหล่งผลิตเครื่องทองเหลืองปัตตานีแหล่งใหญ่คือบ้านจะบังติกอ (ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี) ซึ่งจะบังติกอนี้เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองปัตตานี ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๘-๒๔๔๕ และเป็นที่ตั้งของวังเจ้าเมืองปัตตานีในยุคนั้น หัตถกรรมการทำเครื่องทองเหลืองที่จะบังติกอถืิอเป็นแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนในครั้งอดีตที่มีชื่อ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลืองมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ สามารถส่งไปเป็นสินค้าออกที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีพ่อค้าคนกลางรับซื้อและส่งไปจำหน่ายตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น สงขลา พัทลุง ยะลา นครศรีธรรมราช บางครั้งข้ามเขตเข้าไปขายถึงกลันตันและไทรบุรี ถึงแม้ว่าในบางเมือง เช่น ไทรบุรี นครศรีธรรมราช จะเป็นเมืองที่มีการทำเครื่องทองเหลืองขายอยู่เช่นกันก็ตามในเรื่องนี้ ประพันธ์ เรืองณรงค์ ได้สัมภาษณ์ชาวไทยในไทรบุรีทำให้ทราบว่าชาวไทยในไทรบุรีเรียกหม้อหุงข้าวทองเหลืองในรูปแบบภาคใต้ว่า "หม้อตานี" จึงสัษฐานได้ว่าหม้อทองเหลืองที่ใช้กันอยู่ในเมืองไทรบุรีน่าจะเป็นสินค้านำเข้าจากเมืองปัตตานี เนื่องจากเป็นหม้อที่มีคุณภาพดี ได้รับความนิยมสูง จึงเป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันในนาม "หม้อตานี" และสันนิษฐานได้อีกว่าหม้อทองเหลืองรูปแบบนี้เกิดที่มีเมืองตานีก่อน (หม้อทองเหลืองชนิดปากกว้างมีหูที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า "หมัอหู") เนื่องจากรูปแบบเป็นที่ถูกใจลูกค้า การนำไปใช้งานมีความสะดวกและมีความคล่องตัวสูง  ต่อมาก็เกิดแหล่งผลิตเครื่องทองเหลืองขึ้นในเมืองไทรบุรีโดยรับเอารูปแบบนี้ไปผลิตขึ้นใช้ในบ้านเมืองของตนเอง แต่ยังคงเรียกว่าหม้อทองเหลืองรูปแบบนี้ว่า "หม้อตานี" ในฐานะที่เมืองตานีเป็นแหล่งกำเนิดหม้อทองเหลืองรูปแบบนี้ (สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสูงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๔๗ : ๙)  
                      เครื่องทองเหลืองปัตตานี ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวันประกอบด้วย

- กาน้ำทองเหลือง


ภาพจาก : ๑๐ สุดยอดสมบัติปัตตานี ประจำปี ๒๕๕๒

      ประโยชน์ใช้สอย เป็นภาชนะใส่น้ำไว้ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ของคนมลายูสมัยก่อน บางชิ้นจะมีความพิเศษ เนื่องจากมีการแกะลายที่ตัวกาไว้ด้วย 

- ลุ่ม ตะลุ่ม หรือดูแล จือปู จือปูตือมาฆอ


ภาพจาก : ๑๐ สุดยอดสมบัติปัตตานี ประจำปี ๒๕๕๒

         ประโยชน์ใช้สอย เป็นภาชนะมีฝาปิดสำหรับใช้ใส่ของ เช่น ของมีค่าชิ้นเล็ก ๆ จำพวก เครื่องทอง หรือใช้ใส่อาหารได้แก่ อาหารแห้งจำพวกขนมหวานและของขบเคี้ยวต่าง ๆ 

- หม้อหู หม้อปากกว้าง หม้อตานี หรือปูโยะตลึงอ


ภาพจาก : ๑๐ สุดยอดสมบัติปัตตานี ประจำปี ๒๕๕๒

         ประโยชน์ใช้สอย ใช้เป็นหม้อสำหรับหุงข้าว หรือใช้เป็นหม้อแกงประเภทต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ประเกทแกงส้ม (เพราะว่ากรดในส้มจะทำให้โลหะทองเหลืองละลายออกมา ทำให้รสชาติของแกงเปลี่ยนไป มีรสขมและมีธาตุโลหะหนักเจือปนออกมาในน้ำแกง)

- หม้อคอ หม้อคอออม


ภาพจาก : ๑๐ สุดยอดสมบัติปัตตานี ประจำปี ๒๕๕๒

    ประโยชน์ใช้สอย ใช้เป็นหม้อสำหรับหุงข้าว หม้อน้ำมนต์หรือหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีหลายขนาด จัดเป็นหม้อทองหลืองรุ่นเก่าแก่ที่มีใช้กันมาหม้อทองเหลืองชนิดปากกว้างชนิดนี้น่าจะได้รับรูปแบบมาจากหม้อดินโบราณที่นิยมใช้กันทั่วไปในในท้องถิ่นของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เช่น อินเดีย และเขมร

ตะเกียงชวาลาและตะเกียงกลีบบัว


ภาพจาก : ๑๐ สุดยอดสมบัติปัตตานี ประจำปี ๒๕๕๒

       ประโยชน์ใช้สอยของตะเกียงชวาลาและตะเกียงกลีบบัวนี้ นิยมใช้จุดเพื่อให้แสงสว่างและใช้ประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ตามคติความเชื่อในท้องถิ่นที่นับถือศาสนาฮินดู โดยใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิง สำหรับตะเกียงกลีบบัวได้มีการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกระเช้า ใช้ตั้งพื้นหรือแขวนถือเป็นตะเกียงโบราณของปัตตานีที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบของตะเกียงศิลปะฮินดู-ชวา วัสดุที่ใช้ผลิตมีทั้งสำริดและทองเหลือง เนื่องจากตะเกียงมีรูปแบบคล้ายดอกไม้ หรือดอกประจำยามจึงมีชื่อเรียกว่า "ตะเกียงดอกไม้"

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เครื่องทองเหลืองปัตตานี
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

จุฑาภรณ์ หวังกุหลำ. (2562). 10 สุดยอดสมบัติปัตตานี ประจำปี 2562. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี.


 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025