มีดพร้านาป้อ
 
Back    02/10/2018, 10:16    44,733  

หมวดหมู่

เครื่องมือในการดำรงชีวิต


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก : https://www.facebook.com/kobnapor/

            สุพัตรา ปรีดาศักดิ์ และวรรณา แก้วพรหม (๒๕๓๙ : ๓-๔) ได้กล่าวถึงการตีเหล็กของบ้านนาป้อไว้ว่าหมู่บ้านนาป้อเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก เนื่องด้ วยการคมนาคมระหว่างบ้านนาป้อกับตัวเมืองไม่สะควกเท่าที่ควร จึงทำให้บ้านนาป้อมีโอกาสได้รับได้รับความเจริญของสังคมเมืองตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ น้อย หากเปรียบเทียบกับหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่รายรอบตัวเมือง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หมู่บ้านนาป้อโชคดีกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ที่สามารถรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ได้อย่างดี และที่สำคัญชาวบ้านนาป้อยังคงรักษามรดกทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดเอาไว้เพื่อเป็นอาชีพแก่คนในท้องถิ่น อาชีพนั้นคืออาชีพดีเหล็ก การตีเหล็กของบ้านนาป้อที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือมีดพร้า ที่มีความคม แกร่ง และทนทานถึงกับมีคำพังเพยว่า "กินเหมือนพร้านาป้อ" เรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบันนี้ 
               บ้านนาป้อมีมานานแล้วประมาณ ๒๐๐ ปี จากการที่ชาวอินเดียซึ่งอพยพเข้ามาและได้นำวิชาการตีเหล็กเข้ามาถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานและคนในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างอาชีพและมีรายได้เป็นอย่างดี ผลงานการตีเหล็กของชาวบ้านนาป้อเป็นที่เลื่องลือไปเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงและเอกลักษณ์ให้แก่จังหวัดตรังด้วย ในอดีตเมื่อเสร็จจากหน้านาชาวบ้านนาป้อก็จะลงมือตีพร้่า ซึ่งแทบทุกครัวเรือนจะมีโรงตีเหล็กเป็นของตัวเอง การตีเหล็กของบ้านนาป้อในอดีตมีการทำมีดพร้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันช่างตีเหล็กได้ผลิตงานออกมาหลายรูปแบบตามความต้องการของตลาด ทุกขั้นตอนในการผลิตจะใช้มือเพียงอย่างเดียว ไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าเหมือนปัจจุบันนี้ ปัจจุบันโรงตีเหล็กในบ้านนาป้อ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ได้ตั้งเป็นกลุ่มเครือข่ายมีดพร้า และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ ผลิตภัณฑ์จากการตีเหล็กจึงได้รับความนิยมมากขึ้น ชาวบ้านจึงมีรายได้จากผลิตภัณฑ์คังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิงของตำบลดวนปริงดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมแขนงนี้ให้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด       
              มีดพร้าบ้านนาป้อเป็นสินค้าชุมชนอีกตัวหนึ่งที่มีคุณภาพเป็นที่รู้จักของชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ บ้านนาป้อเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง บ้านนาป้อนั้นผลิตมีดพร้ามามากกว่า ๓๐๐ ปี เป็นมีดที่ผลิตสำหรับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ใช้ในเกษตรและชีวิตในประจำวัน นอกจากมีดพร้าแล้วชุมชนที่นี่ยังผลิตเครื่องมือทางเกษตรต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น จอบ เสียม คราด ชะแลง ขวาน และอื่น ๆ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน หมู่บ้านนาป้อ มีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตมีดพร้า ทุกคนในครัวเรือนจะผลิตมีดพร้ากัน คนที่ริเริมหรือเป็นต้นตำรับ คือนายเด่น ชิตจันทร์ หรือบังเด่น ที่คนนาป้อและคนทั่ว ๆ ไปรู้จักเป็นอย่างดี  มีดพร้าบ้านนาป้อตามตำนานเล่าว่ามีชาย ๒ คน ชื่อนายเพชรกับนายคง ต้อนวัวควายไปขายที่กันตัง ระหว่างทางนั่งพักเหนื่อยใต้ต้นจากนั้นก็หลับไปทั้ง ๒ คน พอตื่นขึ้นมาก็เห็นเรือลำหนึ่งซึ่งจวนจะพังแล้วจอดทิ้งอยู่ จึงได้ถอนเอาตะปูเรือกลับมาด้วย จากนั้นลองเอาตะปูโยนใส่เข้าไปในเตาไฟ เหล็กตะปูเรือก็กลายเป็นเหล็กแหลม นำไปใช้เจาะดินหยอดเมล็ดพืชในการเพาะปลูก ต่อมาก็ได้ทดลองหาเหล็กมาเผาและตีเป็นรูปทรงต่าง ๆ ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตร และเครื่องใช้ในชีวิตประจำที่หลากหลาย ทำให้ชีวิตความเป็นของคนในหมู่บ้านดีขึ้นตามลำดับ

       “เอกลักษณ์ของมีดพร้านาป้อที่มีชื่อเสียงเลื่องลือก็คือคุณภาพความคม ความแข็งแกร่งและความทนทาน จนมีคำเปรียบเปรยว่า “กินเหมือนมีดพร้านาป้อ” ซึ่งหมายถึงว่าเวลาตัดไม้หรือกรีดยางจะกินเนื้อไม้หรือต้นยางได้ง่ายเพราะมีความคมมาก”  

ลักษณะของภูมิปัญญาของมีดพร้านาป้อ

        มีดพร้าใช้ในการตัด สับ ฟัน เหลากิ่งไม้ หวดหญ้า ตัดเถาวัลย์ ถางป่า และเป็นอาวุธ ลักษณะของมีดพร้านั้นจะมีคมมีด ส่วนปลายไม่เรียวแหลมเหมือนปลายมีด จึงเรียกว่าหัวพร้า มีดพร้ามีลักษณะแตกต่างกันคือพร้าหัวงอ มีลักษณะหัวพร้าโค้งงอซึ่งเรียกว่าจะงอย ใช้ในการเกี่ยวหญ้า หรือเกี่ยวเถาวัลย์ ให้มารวมกันก่อนที่จะใช้คมพร้าหรือเครื่องมือมีคมอย่างอื่นตัดให้ขาด และอีกลักษณะคือพร้าลืมงอ มีลักษณะหัวโค้งงอใช้ประโยชน์ในการตัด การฟัน และใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ส่วนด้ามของมีดพร้าอาจทำด้วยไม้หรือเหล็กก็ได้ การสืบทอดภูมิปัญญาในการทำมีดพร้านาป้อ มีคุณลักษณะพิเศษคือ
         ๑.๑ การทำมีดพร้า ชาวบ้านนาป้อได้สืบทอดวิชาตีเหล็กทำมีดพร้ามาจากบรรพบุรุษ เหล็กที่ใช้ทำมีดพร้า ปัจจุบันนิยมใช้เหล็กผสมสำเร็จ และเหล็กแหนบรถยนต์ เชื้อเพลิงใช้ถ่านไม้ อุปกรณ์มีเตาเผา ทั่ง ค้อน การตีมีดจะใช้เหล็กดี ทำให้มีดมีความคม และใช้ทนทาน
    ๑.๒ ลักษณะของมีดพร้านาป้อตัวมีดทำด้วยเหล็กลักษณะมีดหัวโค้งงอโดยปลายสุดงอโค้งลงเป็นจะงอยการใส่ด้ามด้ามจะทำด้วยไม้ด้ามยาวขนาดจับเหมาะมือกระชับมือ รูปทรงสวยงาม
              ๑.๓  ประเภทของมีดพร้านาป้อ
                     ๑) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดยะลา และประเทศมาเลเซีย ใช้ตราเบตง
                     ๒) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดกระบี่ ใช้ตราจระเข้
  
                  ๓) มีดพร้าหัวตัด ส่งขายในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง ใช้ตรา ๕ ดาว และตรา ๒๒          
                    ๔) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร ใช้ตรา ๐๐๗
                    ๕) มีดพร้าภูเก็ต ส่งขายในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง ใช้ตราหน่อไม้และตราน้ำเต้า ขนาดของมีดพร้าที่ผลิตออกมาดังนี้
                             เบอร์           ความยาวมีด           คมมีดกว้าง             คอมีดกว้าง           เส้นผ่าศูนย์กลางบ้องมีด
                          ๐                   ๑๕ นิ้ว                       ๒.๕ นิ้ว                         ๓ นิ้ว                                ๓ นิ้ว
                          ๑                   ๑๔ นิ้ว                       ๒.๑ นิ้ว                         ๓ นิ้ว                                ๓ นิ้ว
                          ๒                  ๑๓ นิ้ว                        ๒ นิ้ว                            ๒.๕ นิ้ว                            ๒.๕ นิ้ว
                          ๓                  ๑๒ นิ้ว                        ๒ นิ้ว                            ๒.๕ นิ้ว                            ๒.๕ นิ้ว
                          ๔                  ๑๐ นิ้ว                         ๒ นิ้ว                           ๒.๕ นิ้ว                             ๒.๕ นิ้ว
    
       ๑.๔  วิธีการใช้ นิยมใช้กันกว้างขวางสารพัดประโยชน์ ใช้สอยในชีวิตประจำวันของคนชนบท ดังนี้
               ๑) เป็นอุปกรณ์ในการทำสวน ทำไร่นา ใช้งานถาง ฟันต้นไม้ ตัดหญ้า ปอกมะพร้าว ปอกผลไม้ต่าง ๆ
               ๒) ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ผู้ชายชนบทในจังหวัดตรังและภาคใต้ จะนิยมใช้มีดพร้า เวลาจะออกจากบ้านทั้งไปสวนไร่นา และไปทำธุระอื่น ๆ ก็จะนำติดตัวไปด้วย

ประโยชน์
        ประโยชน์หลัก ๆ ของการทำมีดพร้านาป้อมีดังนี้คือ
         ๑.  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานต่าง ๆ ของชุมชน เช่น ทำไร่ทำนา 
         ๒. เพื่อเป็นอาชีพเสริม นอกจากทำรายได้ให้แล้ว ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษเอาไว้ ชาวนาป้อยังได้ผลิตจอบ เสียม ขวาน มีดกรีดยาง เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมต่าง ๆ  การผลิตมีดพร้านาป้อที่ถือเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมของชุมชน เพราะมีดทุกเล่มจากนาป้อ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของคนท้องถิ่น 
   


 

ขอขอบคุณภาพจาก: https://www.77kaoded.com/content/90083


วัตถุดิบและส่วนประกอบ

ภาพจาก : http://najangwattrang.blogspot.com/2018/04/300.html

      วัสดุที่ใช้เป็นหลักในการตีมีดพร้านาป้อได้แก่ เหล็กแหนบรถยนต์ เหล็กแทง ถ่านไม้ แลคเกอร์ และน้ำมันวานิช น้ำประสานทอง ลวดทองแดง เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้คือโรงตีเหล็ก เตาเผาเหล็ก สูบลม ทั่ง ค้อน ลูกหมัง ค้อนตีตรา คีมคีบเหล็ก เหล็กผ่าหรือสกัดเหล็ก ตะไบ หินเจียไฟฟ้า รางน้ำ เหล็กเขี่ยถ่าน เหล็กตักน้ำประสานทอง และเครื่องตัดเหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

ขั้นตอนการตีเหล็ก
      ขั้นตอนการตีมีดพร้านาป้อ มีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ ๖ ขั้นตอนได้แก่ ขั้นการตัดเหล็ก เพื่อให้ได้แผ่นเหล็กตามขนาดที่ต้องการ

  • ขั้นการขึ้นรูปหรือการแปรรูป เพื่อตกแต่งโครงร่างให้เป็นรูปโค้งตามลักษณะของมีดพร้า
  • ขั้นการแต่งรูป ทำให้ได้มีดพร้าที่มีรูปร่าง รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ และสวยงาม
  • ขั้นการตีตรา เป็นการประทับตราหรือยี่ห้อลงบนมีดพร้า
  • ขั้นการแต่งผลิตภัณฑ์ เป็นขั้นสำคัญ คือทำให้มีดพร้ามีความคมและเรียบ
  • ขั้นการชุบ เป็นขั้นตอนที่ทำให้มีดมีความคม ความแกร่ง และความทนทาน
          สำหรับกระบวนการเผาเหล็กให้แดงสำหรับตีซึ่งทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฺเปิดเผยขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตมีดพร้านาป้อ คือการใช้ไม้เขี้ยมจากต้นเขี้ยมที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นมาเผาทำเป็นเชื้อเพลิง สาเหตุที่เลือกไม้เขี้ยมมาใช้ในการเผา เพราะมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว ร้อนสม่ำเสมอ แต่มีความแตกต่างจากถ่านไม้ชนิดอื่น ๆ  ตรงที่มอดเร็ว และต้องอาศัยพัดลมเป่าเพื่อให้ระอุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ประหยัดถ่านไม้ ไม่ต้องปล่อยให้มอดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยในการเผาเหล็กให้แดงจนสามารถตีได้นั้นจะใช้ความร้อนจะต่้องมากกว่า ๑๐๐ องศา และต้องตีเหล็กประมาณ ๑๐๐-๓๐๐ ครั้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของมีดและขั้นตอนการเผาก่อนหน้า ถ้าเหล็กแดงจัดจะสามารถตียืดได้มากกว่า จากนั้นนำเข้าเครื่องรีดเหล็ก เพื่อตกแต่งเก็บรายละเอียดมีด ต่อด้วยการนำไปทำคมด้วยเครื่องเจียเหล็ก ก่อนจะนำไปชุบด้วยน้ำเปล่าให้เหล็กเย็น สำหรับการชุบนั้นจะต้องมีขั้นการชุบมีดนีหากชุบไม่ดีเหล็กจะเปราะหรืออาจแตกได้ ซึ่งไม่ใช่ช่างทุกคนที่สามารถชุบมีดได้ จะต้องอาศัยความชำนาญอย่างสูง 

ภาพจาก : https://www.77kaoded.com/content/90083

ภาพจาก : https://www.77kaoded.com/content/90083


ผู้ประกอบการ

       สำหรับกลุ่มของผู้ประกอบการที่ผลิตมีดพร้านาป้อ ประกอบด้วย
       ๑. กลุ่มวิสาหกิจมีดพร้านาป้อ วันใหม่ ชิดจันทร์ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ เล่าว่าเอกลักษณ์ที่ทำให้มีดที่นาป้อ มีความแตกต่างจากที่อื่น คือเหล็กและวิธีการตีจากภูมิปัญญาดั้งเดิม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ มีอยู่ใน ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลิตมีดพร้าที่ประวัติความเป็นมาว่ามีดเหล่านี้ใช้ในการสร้างเมืองตรังที่ถูกสืบทอดมายาวนาน จำหน่ายไปทั่วประเทศและประเทศมาเลเซีย เมียนมาร์ และลาว“โดยมีดทุกชนิดที่ถูกตีขึ้นที่นี่ ทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เก่า ความเหนียวและทนทานของเหล็กแหนบ หลังจากที่ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ จนกลายเป็นมีด จะมีความแข็งแรง ไม่บิ่นง่าย และมีอายุการใช้งานที่นานมากกว่าเหล็กทั่วไป” วันใหม่ เผยว่า หลังจากที่ สกว. ได้นำการวิจัยมาร่วมพัฒนา ตนและทีมงานได้ประยุกต์ใช้จนสามารถผลิตมีดมากขึ้นได้ในแต่ละวัน โดยตัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ทำให้สามารถทำมีดได้เพิ่มขึ้นจากวันละ ๘๐-๑๒๐ ชิ้น เป็น ๑๕๐–๑๘๐ ชิ้นต่อวัน จากเดิมคนงาน ๑ คนจะต้องทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตัดเหล็ก ตีมีด ทำคม จนได้มีดที่สมบูรณ์ ได้ปรับขั้นตอนเป็น แต่ละคนทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง เช่น คนที่ตัดเหล็กแหนบก็ทำหน้าตัดเพียงอย่างเดียว ก่อนส่งให้คนที่ทำหน้าที่ตี และส่งต่อในขั้นตอนอื่นเป็นทอด ๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยร่นระยะเวลาการทำงานได้มากกว่า นอกจากนี้งานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่างชุมชนและสกว. ยังมีส่วนสำคัญในการแนะนำการทำช่องทางการตลาดใหม่ ๆ จากเดิมที่ใช้วิธีการจำหน่ายโดยตรงด้วยการออกบูทในฐานะสินค้า OTOP และส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลางกระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย เมียนมาร์ และลาว         
  ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจมีดพร้านาป้อเริ่มมีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น อาทิ การสร้างเพจเฟซบุ๊ก สำหรับประชาสัมพันธ์และติดต่อกับลูกค้า ที่ชื่อว่า Napoknife Otop Trang ที่จะมีการอัปเดตรูปภาพ ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีดพร้านาป้อ สามารถติดต่อซื้อขายกับลูกค้ารายย่อยได้โดยตรงและเป็นหนึ่งช่องทางสร้างการรับรู้สินค้าไปในเวลาเดียวกันในอนาคตอันใกล้จะมีการทำการตลาดด้วยแอพพลิเคชั่น LINE@ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการจัดจำหน่าย และเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการและศึกษาเรียนรู้

ประธานกลุ่มวิสาหกิจมีดพร้านาป้อวันใหม่ ชิดจันทร์ 

ภาพจาก : https://www.77kaoded.com/content/90083

        ๒. มีดพร้าบังคมสันบ้านนาป้อ มีนายคมสัน ชิตจันทร์ อายุ ๓๙ ปี เป็นบุตรชายของบังเด่นผู้ที่ริเริม หรือต้นตำรับ ได้ให้สัมภาษณ์กับนสพ.บ้านเมืองว่า เกิดมาก็เห็น ปะ (พ่อ) ตีมีดพร้าขายให้กับชาวบ้าน ซึมซับอาชีพตีมีดพร้ามาตั้งแต่เด็ก จึงมีความรักในอาชีพนี้มาตลอด ก่อนหน้านี้ตีมีดพร้าร่วมกับพี่ชายคือประเวท แต่มาระยะหลังก็แยกมาทำเป็นอาชีพส่วนตัว ประมาณ ๕ ปีแล้ว ปัญหาอุปสรรคของการผลิตมีดพร้า คือขาดแรงงานมีฝีมือ เพราะอาชีพตีมีดเป็นงานที่เหนื่อย ต้องใช้แรงงาน ใจไม่รักทำไม่ได้ คนที่รักในอาชีพนี้มีน้อย มีดพร้าที่ผลิตขึ้นมาจะเป็นสินค้าเบอร์ ๒๒ ขายในพื้นที่จังหวัดตรัง หากผลิตเพื่อขายในจังหวัดกระบี่ จะเป็นมีดพร้าตราดาว และสินค้าเบอร์ ๕๕ มีดพร้า "บังคมสัน" บ้านนาป้อ เพราะทราบดีว่าเป็นมีดพร้าที่ทำมาจากเหล็กแหนบ คุณภาพมีดดี คม มีดพร้าของตนเป็นที่รู้จักของคนในแถบนี้ แต่ละวันจะผลิตได้ ๑๕ ชิ้น นำไปขายส่งในร้านค้าตลาดสดเขตเทศบาลนครตรัง มีความคิดจะเพิ่มการผลิต โดยเพิ่มเป็น ๒ เตาเผา ปัจจุบันมีเตาเผา ๑ เตา เพราะตลาดมีความต้องการมาก ทำมาเท่าไหร่ก็ขายได้หมด ตนและชาวบ้านแถบนี้ก็ต้องการให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน เข้ามาสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้กู้แบบไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หากได้เงินเข้ามาก็นำไปซื้อเครื่องจักรบางตัว ปรับปรุงที่ทำงาน อีกทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการผลิต 
     ๓. ชุมชนผลิตมีดพร้าบ้านนาป้อ โดยมีประเวท ชิตจันทร์ เป็นประธานกลุ่ม ชุมชนผลิตมีดพร้าบ้านนาป้อผลิตมีดและเครื่องมือการเกษตรอื่น ๆ นำสินค้าไปแสดงที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ จากคำสัมภาษณ์นางวรรณี ชิตจันทร์ ภรรยานายประเวท ชิตจันทร์ เป็นประธานกลุ่ม ว่าครั้งแรกผู้ที่มาชมสินค้า OTOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ถามว่านี่คืออะไรแล้วเอาไปทำอะไรทำให้ตนและญาติที่ไปขายมีดพร้า งง..งง..แต่ก็เข้าใจเลยว่าคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังไม่รู้จักมีดพร้าและสินค้าจากชุมชนบ้านนาป้อ... แต่วันนี้คนทั่วประเทศรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า เขมร และมาเลเซีย รู้จักมีดพร้าบ้านนาป้อเป็นอย่างดี สำหรับยอดผลิตและยอดขายของประเวท ชิตจันทร์ ผลิตในเชิงพาณิชย์ได้วันละ ๒๐๐ ชิ้น คนงานร่วม ๒๐ คน เหล็กที่ใช้ตีมีดจะเป็นเหล็กแหนบรถบรรทุก ๖ ล้อ เพราะมีความพอดีกับชิ้นงานตีมีดออกมาจะคม ทนทาน มีดพร้าเบอร์ ๒ ขายดีที่สุด ใครมาเยี่ยมชุมชนบ้านนาป้อก็เลือกซื้อไปได้อันละ ๑๖๐ บาท ชาวบ้านที่มารวมกลุ่มตีมีดที่นี่จะทำงานเฉพาะช่วงเช้า ๐๘.๐๐-๑๑.๐๐ น. งานก็เสร็จแล้วหลังจากนั้นทุกคนก็ออกไปทำงานอื่น ๆ อีก 

 

ขอขอบคุณภาพจาก: http://najangwattrang.blogspot.com/2018/04/300.html            


แหล่งจำหน่าย

กลุ่มมีดพร้านาป้อ ตราช่างโกบ

       ติดต่อได้ที่...

 

 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ

ติดต่อได้ที่... บ้านเลขที่ ๑๖๔/๒ บ้านนาป้อ หมู่ที่ ๘ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ๙๒๐๐๐

 

มีดพร้าบังคมสันบ้านนาป้อ

 ติดต่อได้ที่...  บ้านเลขที่ ๔ หมู่ที่ ๘ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

 

ชุมชนผลิตมีดพร้าบ้านนาป้อ

ติดต่อได้ที่...  บ้านเลขที่  ๔/๓ หมู่ที่ ๘ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
มีดพร้านาป้อ
ที่อยู่
จังหวัด
ตรัง
ละติจูด
7.5116273
ลองจิจูด
99.5674725



วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กลุ่มมีดพร้านาป้อ ร่วมมือนักวิจัย สกว. ผลักดันมีดท้องถิ่นตรังสู่ตลาดโลก. (2561). สืบค้นวันที่ 29 ต.ค. 61, จาก https://www.77kaoded.com/content/90083

มีดพร้านาป้อ....ของดีเมืองตรัง. (2552). สืบค้นวันที่ 29 ต.ค. 61, จาก http://www.iamtrang.com/detail_page.php?sub_id=579

มีดพร้านาป้อ ภูมิปัญญา 300 ปีที่เมืองตรัง. (2561).  สืบค้นวันที่ 29 ต.ค. 61, จาก http://najangwattrang.blogspot.com/2018/04/300.html


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024