โรงอ่าง : วัฒนธรรมแห่งเครื่องปั้นดินเผา
 
Back    14/02/2020, 10:38    7,889  

หมวดหมู่

งานฝีมือ


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

     

      เครื่องปั้นดินเผาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้คนส่วนใหญ่คงรู้จักถนนโรงอ่าง อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะอ่าง จึงตั้งชื่อถนนโรงอ่างที่กลายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าอดีตบริเวณนี้เป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง ๓ ชนิด คืออ่าง โอ่ง และเนียง ซึ่งเป็นเครื่องใช้สอยที่จําเป็นต่อวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นในยุคนั้น อ่างสําหรับอาบน้ําให้ลูกหลาน โอ่งสําหรับเก็บน้ําไว้ใช้ และเนียงสําหรับถนอมอาหารประเภทของดอง จึงต้องปั้นให้มีขนาดใหญ่สําหรับใช้ประโยชน์จริง ๆ เช่น โอ่ง เก็บน้ําได้ประมาณ ๔ ปี๊บ แต่ปัจจุบันทุกอย่างได้ลดขนาดให้เล็กลงตามความต้องการของท้องถิ่น ที่ซื้อเครื่องปั้นดินเผาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น รองกระถางต้นไม้ ใส่อาหารนก ใส่น้ําเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น การปั้นจําเป็นต้องประยุกต์รูปแบบตามกลไกของตลาดและลูกค้า เช่น แจกัน กระถางต้นไม้  เป็นต้น
   ปัจจุบันบริเวณนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมเมือง มีอาคารบ้านเรือนปลูกสร้างขึ้นมาแทนโรงอ่าง คนที่สัญจรไปมาอาจจะย้อนนึกถึงภาพในอดีตไม่ได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีต จากการสัมภาษณ์ลุงฮวน แซ่ลิ้ม อายุ ๘๐ ปี ของแอดมินเพจเครื่องปั้นดินเผาโรงอ่าง ปัตตานี ซึ่งโพสต์ไว้ว่าลุงฮวน แซ่ลิ้มเป็นนายช่างปั้นในยุคต้น ๆ เหลือเพียงคนเดียวที่มีชีวิตอยู่ ถ้าใครไปซื้อเครื่องปั้นดินเผาช่วงเช้าถึงเที่ยง จะเห็นคนแก่นั่งใช้เท้าหมุนมอญหรือแป้นสําหรับขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผาอย่างชํานาญ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าคนอายุ ๘๐ ปียังแข็งแรงในงานปั้น จากการพูดคุยทราบว่าท่านไม่เคยเข้าโรงพยาบาล อันเป็นผลมาจากการออกกําลังจากการใช้เท้าถีบแป้นเพื่อขึ้นรูปทุกวัน แต่ด้วยวัยชราจะให้ทํางานทั้งวันคงไม่ไหวทําได้เพียงครึ่งวันในฐานะลูกจ้างท่านจึงได้สะท้อนปรัชญาการใช้ชีวิตในฐานะลูกจ้างว่า "ผลสืบเนื่องจากอดีต ไม่มีความสํานึกในการเก็บเงิน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเที่ยวเตร่ ได้ตั้งโรงอ่างเป็นของตัวเองก็ไม่ประสบผลสําเร็จเพราะทํางาน ไม่จริงจึงต้องรับจ้างจนแก่เฒ่า" แต่ถึงกระนั้นถือว่าท่านเป็นผู้ทรงคุณค่า เชี่ยวชาญในงานปั้น ผ่านชีวิตมาหลายยุคสมัย เก็บความทรงจําไว้มากมายถึงเรื่องราวบนถนนโรงอ่างแห่งนี้ ท่านสะท้อนความทรงจําให้ฟังว่า "สมัยก่อนบริเวณนี้จะเป็นแหล่งอาศัยของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาจากประเทศจีนและมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ซึ่งคงได้รับการถ่ายทอดการทําเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่อยู่ประเทศจีน เพราะเกือบทุกครัวเรือนจะประกอบอาชีพเครื่องปั้นดินเผา จึงมีโรงอ่าง ๖-๗ โรงตั้งทอดยาวตามแนวถนนแต่ละโรงจะมีช่างปั้นและลูกจ้างทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมประมาณ ๑๐ คน ซึ่งลุงฮวนได้รับจ้างเป็นนายช่างในโรงอ่างบริเวณนี้เกือบทุกโรงออกจากโรงนี้เข้าไปรับจ้างโรงโน้น ส่วนด้านหลังโรงอ่างจะติดกับแม่น้ําปัตตานี เพราะการตั้งหลักแหล่งอาชีพเครื่องปั้นดินเผาจะต้องมีภูมิประเทศติดกับแม่น้ํา เพื่อสะดวกในการขนส่งสมัยก่อนจะขนส่งทางเรือสําเภาจะมีพ่อค้าจากรัฐกลันตันตรังกานู ประเทศมาเลเซีย แล่นเรือสําเภาเพื่อนําถ้วยทองเหลืองมาขายยังปัตตานี ก่อนจะกลับประเทศจะต้องแวะมาซื้อเครื่องปั้นดินเผาไปขาย ยังประเทศมาเลเซีย และหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยได้แล่นเรือสําเภามาซื้อเครื่องปั้นดินเผา


วัตถุดิบและส่วนประกอบ

 

ภาพสืบค้นจาก https://www.facebook.com/Kreuang.bpan.din.pao/?rf=229078707142233

     รูปแบบการปั้นในปัจจุบัน แม้จะนิยมการปั้นแบบโบราณแต่ได้นําเครื่องเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เร็วขึ้น กระบวนการทําเครื่องปั้นดินเผาจะต้องประณีตละเอียดทุกขั้นตอนเพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แตกง่าย ตามลําดับดังนี้ 
 

ขั้นตอนเตรียมดิน
       ดินเป็นวัตถุดิบที่สําคัญจะต้องเป็นดินเหนียว ๒ ประเภท คือ ดินเหนียวสีคําเวลาเผาเสร็จแล้วจะมีสีขาวปนแดง ดินเหนียวสีเหลืองเวลาเผาเสร็จจะมีสีแดง นอกจากนั้น จะมีการผสมระหว่างดินเหนียวดํากับดินเหนียวเหลือง เพื่อจะให้ดินเผาออกมามีสีส้มและการชื่อขายดินเหนียวไม่ใช่เรื่องง่ายจะต้องแสวงหาไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่นาคอนที่ใช้ทําอยู่จะเป็นดินจาก ตําบลปะกาฮะรัง อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 

ขั้นตอนผสมดิน
   การผสมดินเพื่อให้ดินมีความชุ่มน้ําจะสะดวกในการนวด ถ้าต้องการดินเผามีสีอะไรต้องผสมดินให้ เหมาะสมตามสัดส่วนระหว่างดินเหนียวดํากับดินเหนียว เหลือง จากนั้นใส่น้ําแช่ไว้ 2 คืนในกรอบสี่เหลี่ยม ผืนผ้าที่ทําด้วยไม้ 

ขั้นตอนการนวดดิน
     การนวดดินในอดีตจะยุ่งยากและต้องใช้ความอดทน คือนําดินที่แช่น้ําไว้ ๒ คืน มาเหยียบด้วยเท้า ประมาณ 3 ครั้ง เพื่อให้ดินผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ปัจจุบันใช้เครื่องนวดคิน 2 ครั้งก็ใช้ได้แล้ว จากนั้นจะใช้เส้นใยเหล็กบาง ๆ สับดินให้เป็นแว่นเล็ก ๆ อีกครั้ง เพื่อต้องการให้เมล็ดทรายกรวด และดินที่ยังจับกันเป็นก้อนจะได้แตกละเอียดแล้วนําไปใส่เครื่องนวดอีกครั้งหนึ่งคนจะละเอียดผสมเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อสะควก ในการขึ้นรูป

ขั้นตอนขึ้นรูป
     การขึ้นรูปเป็นขั้นตอนที่ประณีตและอาศัยความชํานาญในอดีตจะนิยมใช้มอญหรือแป้น ในการขึ้นรูปจะมีลักษณะเป็นแท่นกลมหมุนได้ นําก้อนดินเหนียวมาวางไว้บนแท่นแล้วใช้เท้าถีบเพื่อให้แท่นหมุนเป็นวงกลมความเร็วที่ต้องการ ใช้มือกดดินลงไปเพื่อขึ้นรูปการปั้นตามต้องการ ปัจจุบันใช้แป้นหมุนไฟฟ้าเพราะมีความสะดวก แต่การขึ้นรูปที่อาศัยความละเอียด นายช่างยังนิยมใช้มอญเพราะสามารถบังคับการปั้นได้ 

ขั้นตอนตกแต่งลวดลาย
    การตกแต่งลวดลาย เป็นการเพิ่มมูลค่าราคาสินค้าให้สูงขึ้น เครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นรูปเสร็จแล้วนํามาตากลมไว้พอหมาด ๆ อย่าให้แห้งเกินไปเพราะจะตกแต่งลวดลาย ลําบาก จากนั้นนําเครื่องปั้นดินเผาไปซ้อนทับเป็นชั้น ๆ เพื่อให้ขอบของเครื่องปั้นเข้ารูปและมีความคมสวยงาม

ขั้นตอนการตากแดด
     ตากแดดประมาณ ๑ วัน แต่ช่วงฤดูฝนจะมีความลำบาก ต้องใช้วิธีการตากลมแทนประมาณ ๓ วัน ให้เครื่องบันแห้งสนิทเป็นสีขาวเพื่อเตรียมเข้าเตาเผา

ขั้นตอนการเผา
     เตาจะก่อด้วยอิฐเป็นรูปวงกลมหรือสี่เหลี่ยมก็ได้ช่องใส่ไฟมี ๕ ช่อง คือด้านหน้าและด้านข้างอีก ๔ ช่อง เพื่อจะให้ความร้อนไปทั่วบริเวณเตาเผาแต่ละครั้งต้องบรรจุ เครื่องปั้นดินเผาประมาณ ๒,๐๐๐ ใบ ใช้เวลาประมาณ ๒ วัน ๒ คืน เครื่องปั้นดินเผาจะเสียหายหรือแตกประมาณร้อยละ ๑๐ ซึ่งจะเป็นเครื่องปั้นใบใหญ่และอยู่ใกล้ช่องใส่ไฟจะมีอัตราส่วนการแตกและเสียหายมากกว่าเครื่องปั่น ใบเล็กและอยู่ด้านในเตา
     เครื่องปั้นดินเผามีความสําคัญกับวิถีชีวิตแต่ละสมัยแตกต่างกันจําเป็นต้องประยุกต์รูปแบบงานปั้นให้เป็นไปตามกลไกทางสังคมไม่ได้คงเอกลักษณ์ไว้เฉพาะอ่าง โอ่ง เนียง แต่จะมีรูปแบบ การผลิตที่หลากหลายซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว จัดว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สามารถผลิต เครื่องใช้สอยมาใช้เองได้ จึงเป็นมรดกอันล้ําค่าที่มีคนจํานวนมากที่ต้องการนําไปใช้ในชีวิตประจําวัน แต่ไม่มีใครสนใจจะศึกษาเรียนรู้เพื่อนําไปประกอบอาชีพโดยเฉพาะเยาวชนรุ่นหลัง จะเข้ามาเพียงเพื่อเป็นกิจกรรมที่ศึกษาข้อมูลในการทํารายงาน ไม่ได้สนใจจะเรียนรู้อย่างจริงจัง ทั้งที่นายช่างพร้อมจะถ่ายทอดความรู้การจะรักษาสิ่งที่มีคุณค่าให้คงอยู่ในท้องถิ่นจะเป็นหน้าที่ ของบุตรหลาน ทําให้ถนนสายนี้เหลือโรงอ่างเพียงโรงเดียวที่ยังเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่บอกกล่าวเรื่องราวในอดีตไว้ได้ ถ้าโรงอ่างแห่งนี้ปิดตัวลง ทุกอย่างบริเวณนี้เป็นแค่เพียง ตํานานที่ไม่มีความหมายอะไรต่อความรู้สึกของชุมชน แม้จะไม่สูญหายในช่วงเวลาอันใกล้ แต่นายช่างอายุ ๘๐ ปีหมดกําลังลงเท่ากับว่าโรงอ่างแห่งนี้ไม่มีนายช่างที่มีความชํานาญและบอกกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตได้มีเพียงเจ้าของและบุตรหลานเท่านั้นที่จะลงมือทําเองทุกขั้นตอน เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมบรรพบุรุษไว้ได้


ผู้ประกอบการ

      ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โรงอ่างซบเซาลงเรื่อย ๆ เกิดจากเจ้าของโรงอ่างตายจากไปและลูกหลานไม่ให้ความสําคัญกับอาชีพการปั้น หันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น เช่น รับราชการ ค้าขาย ประกอบกับนายช่างคนเก่าแก่ที่มีความชํานาญได้ตายไปที่ละคนสองคนทําให้นายช่างเหลือน้อยลง เจ้าของโรงอ่างไม่สามารถดําเนินการได้จึงต้องหยุดกิจการไป ปัจจุบันเหลือเพียงโรงเดียวที่ยึดเป็นอาชีพคงความเป็นวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์บอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดีคือโรงอ่างของนาย วิโชติ แซ่โง้ว
       นายวิโชติ  แซ่โง้ว เป็นลูกหลานรุ่นที่ ๔ ที่ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองจีนและมานักแหล่งที่นี้ จึงประกอบอาชีพเครื่องปั้นดินเผาการสืบทอดเรื่อยมาจากรุ่นสู่รุ่นจนกระทั่งปัจจุบันส่วนโรงอื่น ๆ ลูกหลานหันไปประกอบอาชีพรับราชการค้าขายและประกอบอาชีพอย่างอื่นจึงล้มเลิกกิจการไป


แหล่งจำหน่าย

สำหรับแหล่งจำหน่ายสามารถติดต่อได้ที่เพจเครื่องปั้นดินเผาโรงอ่าง ปัตตานี ; https://www.facebook.com/Kreuang.bpan.din.pao/?rf=229078707142233


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
โรงอ่าง : วัฒนธรรมแห่งเครื่องปั้นดินเผา
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

รอฮานี ดาโอ๊ะ, ประสิทธิ์ รัตนมณี และนิปาตีเมาะ หะยีหามะ. (2553). ร้อยเรื่องราวชุมชนวัฒนธรรมปลายด้ามขวาน. ปัตตานี :  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
                มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
โรงอ่าง. (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 14 ก.พ. 63, จาก https://www.facebook.com/Kreuang.bpan.din.pao/?rf=229078707142233


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024