น้ำตาลแว่น
 
Back    02/11/2021, 16:25    12,785  

หมวดหมู่

อาหาร


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด


ภาพจาก : ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้, 2547, 188

        ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญอย่างหนึ่งของภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงจังหวัดปัตตานี ตาลโตนดขึ้นได้ดีตามท้องทุ่งทั่ว ๆ ไป และมักจะขึ้นเองตามธรรมชาติตามคันนา โดยกระจายทั่วไปบริเวณคาบสมุทรสทิงพระในท้องที่อำเภอสทิ้งพระ จังหวัดสงขลา มีต้นตาลขึ้นมากเป็นพิเศษ ทําให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเหล่านั้นรู้จักนําส่วนต่าง ๆ ของต้นตาลมาใช้ประโยชน์ เช่น ลําต้นใช้ในการก่อสร้างบ้านและทำเครื่องเรือน ทางใช้ทํารั้วหรือเชื้อเพลิง ใบตาลใช้มุงหลังคา เครื่องจักสาน ส่วนน้ำหวานหรือน้ำตาลสดนำมาทำเป็นเครื่องดื่มหรือเคียวเป็นน้ำผึ้งทำเป็นน้ำตาลปึกและน้ำตาลแว่น จนกลายเป็นวิถีและวัฒนธรรมของคนแถบนั้น
          ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากตาลโตนดที่ขึ้นชื่อคือน้ำตาลแว่น แหล่งที่ผลิตมากอยู่ที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากน้ำตาลโตนดที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยบรรพบุรุษของชาวอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ได้นำผลผลิตจากต้นตาลโตนดซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในเขตอำเภอสทิงพระ นับเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของชาวบ้าน รองจากอาชีพทำนา สมัยก่อนชาวบ้านที่มีอาชีพทำน้ำตาลโตนดจะนำน้ำตาลมาเคี่ยวกลายเป็นน้ำผึ้งเหลวเก็บไว้ แต่บางส่วนก็นำมาเคี่ยวต่อให้ข้นเหนียวจนแห้งกลายเป็นผง เรียกว่าน้ำผึ้งตังเมใช้สำหรับเป็นขนมหวานไว้ถวายพระฉันท์กับน้ำร้อน และเป็นของกินเล่นของเด็ก ๆ การทำน้ำตาลแว่นได้ทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ได้ถ่ายทอดวิธีการทำให้แก่ลูก ๆ หลาน ๆ ทำติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคนและได้พัฒนามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน น้ำตาลแว่นได้รับการยอมรับเป็นสินค้า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ  ๕ ดาว ของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา


ภาพจาก : https://news.gimyong.com/article/12182


วัตถุดิบและส่วนประกอบ


ภาพจาก : https://news.gimyong.com/article/12182

         การทำน้ำตาลแว่นนั้นมีวัตถุดิบและส่วนประกอบตลอดถึงกระบวนการต่าง ๆ เพราะก่อนที่จะมาเป็นน้ำตาลแว่นนั้นโดยการนำน้ำตาลสด ซึงจะเก็บได้จากต้นช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกต้นตัวเมียที่เรียกว่า “งวงตาล” ที่อายุต้นตาลประมาณ ๑๐-๑๕ ปี งวงยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ดอกบานพอประมาณ โดยปกติจะเริ่มประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี เนื่องจากปริมาณฝนเริ่มลดน้อยลงและงวงตาลหรือช่อดอกของต้นตาลโตนดจะเจริญเติบโตเต็มที่ในช่วงนี้ ส่วนระยะเวลาการผลิตจะสิ้นสุดปลายฤดูแล้วประมาณเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม สำหรับขึ้นตอนของการได้มาของน้ำตาลสดมีดังนี้

๑. การทำทางขึ้น
     ทางขึ้นเก็บน้ำตาลหรือลูกตาลโตนด จะใช้วิธีปีนขึ้นเก็บโดยใช้ “ไม้คาบตาล” ที่ทำจากไม้ไผ่ ตีแนบขนานลำต้นจนถึงยอดตาล
๒. การนวดงวงตาล    
      การนวดงวงตาลหรือการคาบช่อดอก เพื่อให้งวงตาลสร้างและเก็บน้ำหวาน ทั้งต้นดอกตัวผู้และตัวเมียจะคล้ายกัน จะแตกต่างกันเฉพาะไม้นวดช่อดอกของต้นตัวผู้จะใช้ไม้นวดที่แบนและสั้นกว่า ส่วนของต้นตัวเมียจะใช้ไม้กลม และยาวกว่า การนวดจะนวดที่บริเวณปลายของงวงตาล ประมาณ ๓–๔ ข้อ โดยใช้คีมไม้สอดรวบงวงตาลเข้าหากัน และนวดอย่างสม่ำเสมอด้วยไม้คาบตาลเบา ๆ ทำติดกันประมาณ ๓-๔ วัน หลังจากนั้น ผูกงวงตาลเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำตาลต่อไป

๓. การปาดตาล
     การปาดตาลจะใช้มีดปาดตาล ปาดที่ปลายงวงตาลบาง ๆ แล้วผูกกระบอกไม้ไผ่ให้แน่นกับงวงตาลสำหรับรองรับน้ำตาล ตาลต้นหนึ่งจะรองรับได้ ๕-๗ กระบอก โดยปาดวันละ ๒ ครั้ง คือช่วงเช้า และรอประมาณ ๖- ๑๐ ชั่วโมง ก็ขึ้นเก็บ พร้อมกับปาดใหม่อีกครั้ง และไปเก็บตอนเย็น แต่สามารถเปลี่ยนเวลาปาดให้คลุมช่วงกลางคืนได้ เพราะการปาดและรองน้ำตาลช่วงกลางคืนจะได้น้ำตาลมากเป็น ๒ เท่า ของช่วงกลางวัน แต่จะทำให้งวงตาลผลิตน้ำตาลได้น้อยลงอย่างรวดเร็ว โดย ๑ ช่อดอกจะปาดและให้น้ำตาลนานประมาณ ๓-๔ เดือน โดย ๑ ต้น จะให้น้ำหวานเฉลี่ยวันละ ๒๐-๔๐ ลิตร กระบอกไม้ไผ่ (ปัจจุบันอาจเปลี่ยนเป็นขวดหรือแกลลอน) สำหรับเก็บรองน้ำตาล โดยก่อนเก็บมักถากไม้เคี่ยมหรือไม้พะยอม แต่นิยมใช้ไม้เคี่ยมมากกว่า จำนวน ๒-๓ ชิ้น ใส่ลงในกระบอกทุกกระบอก เพื่อช่วยชะลอการบูดของน้ำตาลโตนด

๔. การแช่งวงตาล
     การแช่งวงตาลด้วยน้ำ หลังจากการนวดหรือคาบช่อดอกแล้ว เกษตรกรจะแช่ช่อดอกหรืองวงตาลที่มีดรวมกันไว้แล้ว ในกระบอกใส่น้ำเปล่า จากภูมิปัญญาของเกษตรกรพบว่าน้ำที่ใช้แช่งวงตาลควรเป็นน้ำขุ่นหรือน้ำดินโคลน เพื่อให้มีน้ำตาลสดในปริมาณที่มากขึ้น ถ้าเป็นน้ำใสจะทำให้น้ำตาลสดไหลออกไม่ดี การแช่ต้องแช่ให้ครบ ๒ วัน ๒ คืน พอดี ถ้าแช่น้ำนานเกินไปจะทำให้ใส่ไส้ของงวงตาลอุดตัน ทำให้น้ำตาลสดไหลไม่ดี

 


ภาพจาก : https://puechkaset.com/ตาลโตลด/

               การทําน้ำตาลแว่นนั้นมีขั้นตอนดังนี้

นําน้ำผึ้งประมาณ ๖-๗ ลิตร มากรองใส่กระทะ เติมน้ำมันมะพร้าวประมาณ ๒-๓ หยด (เพื่อไม่ให้เกิดฟองเวลาเคี่ยว)

 


ภาพจาก : https://www.technologychaoban.com/news-slide/article_9019

ตั้งไฟเคี่ยวประมาณ ๑๐ นาที

 

กวนโดยใช้ไม้พายประมาณ ๑๐ นาที (ให้น้ำผึ่งเป็นสีน้ําตาลเข้ม)
กวนตีประมาณ ๕ นาที

 

 

 

- ตักหยอดลงในแว่น (ทำจากในตาล)

 


ภาพจาก : https://news.gimyong.com/article/12182

- ตากไว้จนแห้ง

 


ภาพจาก : https://www.technologychaoban.com/news-slide/article_9019


ผู้ประกอบการ

กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนด


ภาพจาก : https://news.gimyong.com/article/12182

          กลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดน ตั้งอยู่บ้านคลองฉนวน หมู่ที่ ๕ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีคุณดำ คล้ายสีนวล เป็นประธานกลุ่ม โดยได้รวมตัวก่อตั้งกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดขึ้นมาเพื่อแปรรูปน้ำตาลโตนดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำตาลแว่น น้ำตาลผง น้ำตาลปึก (น้ำตาลปีบ) และได้พัฒนามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันได้รับการยอมรับเป็นสินค้าระดับ ๔ ดาว ของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา


ภาพจาก : https://news.gimyong.com/article/12182


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
น้ำตาลแว่น
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ตาลโตนด(Palmyra Palm) ประโยชน์ และสรรพคุณตาลโตนด. (2558). สืบค้น 3 พ.ย. 64, จาก https://puechkaset.com/ตาลโตนด/
​น้ำตาลแว่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตาลโตนดอีกหนึ่งสินค้าเพิ่มมูลค่าของชาวอำเภอสทิงพระ. (2562). สืบค้น 3 พ.ย. 64, จาก
            https://news.gimyong.com/article/12182
บุญชู ยืนยงสกุล, บรรณาธิการ. (2547). ใต้--หรอยมีลุย : บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. สงขลา :
           ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024