สะตอผักยืนต้นที่มีฝักแบนยาว เมล็ดกลม สีเขียว กลิ่นฉุน มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของไทย จัดเป็นผักเศรษฐกิจที่มีคนนิยมบริโภคจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สะตอมีชื่อสามัญคือ Bitter bean, Twisted cluster bean, Stink bean มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Parkia speciosa Hassk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์คือ Parkia macropoda Miq.) สะตอเป็นไม้ยืนต้นจัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) มีกิ่งก้านที่มีขนละเอียด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นจะออกช่อที่ปลายของกิ่ง ตามตำราแพทย์แผนไทยจะใช้เมล็ดขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการไตพิการ ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซียนิยมใช้เมล็ดสดรับประทาน แก้อาการผิดปกติของไต สะตอมีเมล็ดที่มีกลิ่นเหม็นเขียวรุนแรงแต่นิยมนำมารับประทานกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารไทยปักษ์ใต้ หลังจากรับประทานสะตอเข้าไปจะมีกลิ่นฉุน รุนแรง สามารถดับกลิ่นสะตอ ด้วยการรับประทานมะเขือเปราะตามสักสองสามลูก สะตอเมื่อสุกจนฝักเป็นสีดำ เนื้อสะตอเป็นสีเหลืองอ่อน รับประทานได้ทั้งเม็ด สะตอออกฝักช่วงฤดูฝนใช้ระยะเวลาประมาณ ๓ เดือนกว่า ๆ จึงจะเก็บฝักรับประทานได้ ซึ่งเกษตรกรจะใช้การสังเกตด้วยสายตา จะเห็นเม็ดเต็ง ฝักสีเขียวสด ซึ่งเหมาะกับการประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น ผัดสะตอ ผัดกะปิสะตอกุ้ง สะตอผัดเปรี้ยวหวาน แกงเนื้อสะตอ สะตอผัดเครื่องแกง แกงส้มสะตอ หรือนำสะตอมาทำผักเหนาะกินกับน้ำพริก
พันธุ์ของสะตอ
สะตอเป็นพืชพื้นเมืองภาคใต้เมล็ดที่มีกลิ่นเหม็นเขียวรุนแรง สะตอแบ่งได้ ๒ สายพันธุ์ คือ
๑. สะตอข้าว มีลักษณะฝักเป็นเกลียว มีขนาดเล็กสะตอข้าวจะฝักเล็ก เรียวยาว เป็นเกลียว เปลือกบาง นิยมทานเพราะเมล็ดมีกลิ่นไม่ฉุนนัก แต่เนื้อเมล็ดไม่ค่อยแน่น มีความกรอบหวานมัน
๒. สะตอดาน จะมีฝักลักษณะตรงแบนไม่บิดเบี้ยว ฝักใหญ่ เปลือกหนา เมล็ดใหญ่ และกลิ่นฉุนกว่าสะตอข้าว เมล็ดมีรสเผ็ดนิด ๆ เนื้อแน่น เหมาะที่จะนำไปทำแกง ผัดเผ็ดต่าง ๆ
ภาพจาก : https://www.facebook.com/SatolShop/?tn-str=k*F
ประโยชน์ของสะตอ
สะตอจะมีแร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น โปรตีน แคลเซียม คาร์โบไฮเดรต เหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี และซี ซึ่งในการช่วยขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการ ไตพิการ ช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือดได้ การรับประทานสะตอเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ในสะตอจะมีใยอาหารช่วยให้การขับถ่ายคล่อง ลดอาการท้องผูก ป้องกันการเกิดริดสีดวงทวาร ฯลฯ ในที่นี้จะขอนำสรรพคุณของสะตอจากเว็บไซต์ https://guru.sanook.com/27257/ มากล่าวคือ
- สะตอมีส่วนช่วยบำรุงสายตา - ช่วยทำให้เจริญอาหาร - ช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน - ช่วยลดความดันโลหิต - ช่วยทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกันได้ดีขึ้น - มีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ - ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด - เชื่อว่าการรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ - ช่วยขับลมในลำไส้ - ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ - ช่วยในการขับปัสสาวะ - สะตอมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย - แก้ปัสสาวะพิการ - ช่วยแก้ไตพิการ - ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย - ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา - ใช้ประกอบอาหาร เช่น สะตอผัดกุ้ง แกงป่าใส่สะตอ สะตอผัดกะปิกุ้งสด เป็นต้น - ใช้แปรรูปเป็นสะตอดองได้อีกด้วย ส่วนยอดสะตอนำมารับประทานเป็นผักเหนาะ - ใบของสะตอใช้ทำเป็นปุ๋ยบำรุงดิน - ลำต้นของสะตอใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านต้นหลิว. (2549). ฉันนี่แหละ...สะตอ, นิตยสารสมุนไพรเพื่อสุขภาพ, 6, (71).
ประโยชน์ของสะตอและประเภทต่าง ๆ ที่คุณยังไม่เคยรู้มาก่อน. (2560). สืบค้นวันที่ 21 ก.ย. 61, จาก https://www.wongnai.com/food-tips/sataw-bitter-bean-tips
พิมพ์ใจ พัฒนศิริพงศ์. (2545). อย่าลืมสะตอ, วารสารเคหการเกษตร, 26 (5) พ.ค., 183-186.
เพจขายสะตอใต้ สะตอไมตรี. (2561). สืบค้นวันที่ 21 ก.ย. 61, จาก https://www.facebook.com/SatolShop/?tn-str=k*F
20 ประโยชน์ของสะตอและวิธีดับกลิ่น. (2557). สืบค้นวันที่ 21 ก.ย. 61, จาก https://guru.sanook.com/27257/
สะตอ. (2557). สืบค้นวันที่ 21 ก.ย. 61, จาก https://medthai.com/สะตอ/