ส้มแขก (Garcinia)
 
Back    24/09/2018, 10:09    62,012  

หมวดหมู่

สมุนไพร


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

ภาพจาก :  https://halsat.com/ส้มแขก/ส้มแขก

     สมุนไพรไทย ๆ ที่ช่วยลดน้ำหนักที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้หรือมองข้าม สิ่งนั้นคือส้มแขกของดีที่อยู่คู่ครัวไทยมาตั้งแต่โบราณกาล ส้มแขกถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการลดน้ำหนัก ส้มแขกเป็นพืชท้องถิ่นนิยมปลูกกันในภาคใต้ เนื่องจากผลของส้มแขกจะมีรสเปรี้ยว คนใต้จึงนิยมนำมาทำส่วนประกอบอาหาร เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา เป็นต้น 
      ส้มแขกเป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Guttiferae เปลือกของต้นส้มแขกจะมีสีน้ำตาลดำ ลักษณะของใบจะเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว มีใบใหญ่เรียบและเป็นมันวาว ส่วนใบอ่อนมีสีน้ำตาล ดอกของส้มแขกด้านในมีสีแดง ส่วนด้านนอกจะมีสีเขียว ผลของส้มแขกจะมีผิวเรียบ สีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลือกแก่ 
    ส้มแขกมีชื่อสามัญว่า Garcinia, Malabar tamarind, Garcinia cambogia, Gambooge, Brindle berry, Assam fruit ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Garcinia atroviridis เป็นพืชสกุลเดียวกับมังคุด อาจมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ส้มมะวน ส้มพะงุน ( ปัตตานี ) ส้มมะอ้น (ใต้) ส้มควาย (ตรัง) ไม้ในวงศ์นี้มีอยู่ประมาณ ๓๒๐ ชนิด มักพบในเขตแถบร้อน เช่น เอเซีย อเมริกา และอัฟริกา ไม้ที่อยู่ในพวกเดียวกัน ได้พะวาหรือกะวา (G.cornia) ชะมวง (G.cowa ) มังคุด (G. mangostana ) ชะมวงน้ำหรือมะพูดป่า (G.mervosa ) มะดัน (G.schomburgkiana) มะพูด (G.vilersiana )

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 
 
       ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของส้มแขก จะเป็นทรงพุ่มกว้างสูงประมาณ ๕-๑๔ เมตร ลักษณะของลำต้น ใบ ดอก ผล จะมีลักษณะดังนี้

 

ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นและมีเนื้อแข็งสูงประมาณ ๕-๗ เมตร ลักษณะของเปลือกต้นหากเป็นต้นอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลอมดำและตามลำต้นจะมี                    ยางสีเหลืองออกมา เปลือกสีน้ำตาลอมดำคล้ายต้นชะมวง เมื่อลำต้นเป็นแผลจะมียางสีเหลืองออกมา
ใบ : เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร                         กว้างประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร เวลาใบแห้งจะมีสีน้ำตาล
ดอก : ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ด้านนอกสีเขียว ด้านในสีแดง ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๕-๑.๗ เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้เรียงอยู่บนฐานรองดอก                                  ดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว จะแทงออกมาจากปลายกิ่งมีขนาดเล็กกว่าดอกตัวผู้ รังไข่รูปทรงกระบอกซึ่งจะออกตามปลายยอด
ผล : เป็นผลเดี่ยวผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ มีขนาดใกล้เคียงกับผลกระท้อน เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล มีประมาณ               ๘-๑๐ ร่อง ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ๒ ชั้น ๆ ละ ๔ กลีบ เนื้อแข็งมีรสเปรี้ยวจัด แต่ละผลมีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด ผลส้มแขกมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาปรุงอาหาร เช่น                 แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา เพื่อให้มีรสเปรี้ยวหรือใช้ทำน้ำแกงขนมจีน ทำเป็นเครื่องดื่มลดความอ้วน

  

ต้นส้มแขก

ใบส้มแขก (ภาพจาก : https://medthai.com/ส้มแขก/)

ดอกต้นส้มแขก

ผลส้มแขก

การขยายพันธุ์ :
 
       ส้มแขกสามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด การแตกหน่อ การติดตา และการต่อยอด สำหรับการปลูกให้เตรียมพื้นที่ปลูก เนื่องจากส้มแขกเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ระยะปลูกที่เหมาะคือ ๘x๘ เมตร หรือ ๑๐x๑๐ เมตร ซึ่งจะปลูกได้จำนวน ๒๐–๒๕ ต้นต่อไร่ ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก การปลูกมีจุดเน้นที่สำคัญคือควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่ถ้าจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก

การให้ปุ๋ยและการให้น้ำ :
   
 ต้นส้มแขกที่ยังเล็กและยังไม่ให้ผล ซึ่งมีอายุ ๑–๖ ปี ควรใช้ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๖-๑๖-๑๖ ส่วนต้นที่ให้ผลแล้วควรบำรุงต้นด้วยปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๖-๑๖-๑๖ สำหรับการเร่งตาดอกให้ใช้ปุ๋ยสูตร ๘-๒๔-๒๔  การบำรุงผลควรใช้ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖  การปรับปรุงคุณภาพควรใช้ปุ๋ยสูตร ๘-๒๔-๒๔ หรือ ๑๓-๑๓-๒๑ สำหรับการให้น้ำนั้นหลังจากปลูกใหม่ ๆ ถ้าฝนไม่ตกควรรดน้ำทุกวัน และค่อย ๆ ห่างขึ้นสัก ๓–๔ วัน/ครั้ง สำหรับส้มแขกที่โตแล้ว อาจมีการให้น้ำบางระยะ ๆ ก็พอ

ประโยชน์ของส้มแขก :
     ส้มแขกมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ดอก ผล ราก ใบ โดยที่ในส้มแขกมีสารสำคัญที่มีชื่อว่า Hydroxycitric acid หรือเรียกสั้น ๆ ว่า HCA ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมัน จากการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่น ๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นกรดซิตริก (Citric acid), กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic acid), กรดออกตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และกรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid) ส้มแขกถือเป็นสมุนไพรลดน้ำหนักได้อย่างดีเยี่ยม เนื่องจากส้มแขกจะยับยั้งการสร้างไขมันในร่างกายสารธรรมชาติในส้มแขกช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นไขมัน และช่วยเผาผลาญไขมันภายในร่างกายได้อีกด้วย จากผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวหลังจากทดลองรับประทานส้มแขกแล้วน้ำหนักจะไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่จะลดลงอย่างช้า ๆ ประมาณ ๑ kg. ในระยะเวลาประมาณ ๓-๔ อาทิตย์ ซึ่งทำหน้าท้องยุบลง
       สรุปแล้วส้มแขกทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือป้องกันการสร้างไขมันใหม่และสลายไขมันเก่านั่นเอง 
HCA เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถลดน้ำหนักได้ เนื่องจาก HCA จะเป็นตัวยับยั้งไม่ให้แป้งและน้ำตาลเปลี่ยนไปเป็นไขมัน แต่จะนำน้ำตาลเปลี่ยนไปเป็นพลังงานให้กับเรา ซึ่งเมื่อเรามีปริมาณน้ำตาลในเลือดที่เพียงพอที่จะทำให้เราไม่หิว และจะนำน้ำตาลเปลี่ยนไปเป็นไกลโคเจนเก็บไว้ที่ตับ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ก็คือจะเก็บเป็นพลังงานสำรองให้ร่างกาย เมื่อร่างกายรับรู้ว่ามีไกลโคเจนเก็บไว้ที่ตัวแล้ว จึงไม่ทำให้เรารู้สึกหิวมากนัก นอกจากนี้ HCA ยังมีส่วนช่วยเอ็นไซม์คาร์นิทีน เอซิล ทรานสเฟอร์เรส (Carnitine acyl transferase) ซึ่งที่มีหน้าที่ในการดึงไขมันที่เคยสะสมมาแล้วมาใช้เป็นพลังงานทำให้ผู้ที่กินส้มแขกเข้าไปจะมีรูปร่างดีขึ้น ไขมันส่วนเกินลดลง ไม่มีผลข้างเคียง ในปัจจุบันส้มแขกได้มีการนำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล เป็นต้น สำหรับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของส้มแขก จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดหรือสารสำคัญของผลส้มแขกมีฤทธิ์ทางยาหลายประการ ดังนี้

๑. การศึกษาผลต่อน้ำหนักตัวและไขมันในร่างกายจากการวิจัยฤทธิ์ของสาร HCA ของต่างประเทศโดยศึกษาในหนูขาวหรือหนูถีบจักร พบว่า HCA ช่วยลดการกินอาหาร ลดน้ำหนักตัว หรือลดการเพิ่มของน้ำหนักตัวได้
๒. การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ โดยที่อนุพันธ์ของ-hydroxycitric acid ๒ ชนิด แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา Cladosporium herbarum ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้โดยมีความแรงเทียบเท่า cyclohecimide แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อราอื่นหรือยีสต์
๓. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) สารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยเอธานอลของผลส้มแขกไม่แสดงฤทธิ์ antioxidant เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH radical scavenging assay ที่ระดับความเข้มข้นสูงสุด ๒,๐๐๐ g/ml. แต่สารสกัดของราก ใบ และเปลือกต้นแสดงฤทธิ์ antioxidant ที่แรงกว่าวิตามินอี ในขณะที่สารสกัดด้วยเมธานอลของผลส้มแขกก็ไม่แสดงฤทธิ์ antioxidant เช่นกัน

สรรพคุณของส้มแขก :
       สำหรับสรรพคุณของส้มแขกตามตำราพื้นบ้าน ส้มแขกช่วยบรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์ เป็นยาระบายอ่อน ๆ ซึ่งสารในส้มแขกจะถูกขับออกทางไตโดยไม่ถูกทำลาย (ไม่ผ่านตับ) และออกฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะด้วย ช่วยลดไขมันส่วนเกินได้ ฯลฯ  ส่วนต่าง ๆ ของส้มแขกมีสรรพคุณดังนี้

๑. ดอกส้มแขกช่วยแก้อาการไอ เป็นยาขับเสมหะ
๒. ผลแก่ และดอกส้มแขกช่วยลดความดัน
๓. ดอกส้มแขกช่วยรักษาโรคเบาหวาน 
๔. ส้มแขกมีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต
๕. รากส้มแขกช่วยแก้กระษัย
๖. ส้มแขกช่วยบรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์
๗. ส้มแขกเป็นยาระบายอ่อน ๆ
๘. ใบส้มแขกสดช่วยแก้อาการท้องผูก 
๙. ส้มแขกมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ
๑๐. รากส้มแขกใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว  
๑๑. ผลส้มแขกสรรพคุณช่วยลดความอยากอาหาร ความรู้สึกหิวอาหาร
๑๒. ส้มแขกช่วยเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร ช่วยดักจับแป้งและไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
๑๓. สารสกัดจากส้มแขกช่วยทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้น และขับไขมันออกมา
๑๔. ส้มแขกมีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนัก และช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้
๑๕. ส้มแขกมีคุณสมบัติช่วยสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรต (อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล) ไม่ให้เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้ แต่จะนำไปเป็นพลังงานให้ร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลี

 

ผลิตภัณฑ์ส้มแขกแคปซูล
ภาพจาก : https://medthai.com/ส้มแขก/


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ส้มแขก (Garcinia)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เต็ม สมิตินันทน์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
ส้มแขก (Gamboge). (ม.ป.ป.). สืบค้นวันที่ 28 ก.ย. 61, จาก http://natres.psu.ac.th/Researchcenter/tropicalfruit/fruit/gamboge.htm
ส้มแขก สมุนไพร ช่วยลดน้ำหนัก สรรพคุณของส้มแขก. (2559). สืบค้นวันที่ 28 ก.ย. 61, จาก https://beezab.com/tag/พืช-นิยมปลูก-ภาคใต้/
ส้มแขก สรรพคุณและประโยชน์ของส้มแขก 25 ข้อ. (2557). สืบค้นวันที่ 28 ก.ย. 61, จาก https://medthai.com/ส้มแขก/
ส้มแขก รวมสรรพคุณและประโยชน์ทั้งหมดของต้นส้มแขก. (2560). สืบค้นวันที่ 28 ก.ย. 61, จาก https://halsat.com/ส้มแขก/
สรรพคุณสมุนไพรส้มแขก. (2557).  สืบค้นวันที่ 28 ก.ย. 61, จาก http://www.bookmuey.com/?page=Garcenia.html


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024