กริชเป็นมีดสั้นแบบหนึ่งใบมีดคดแบบลูกคลื่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในหมู่ผู้คนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กริชนั้นเป็นทั้งอาวุธและวัตถุมงคลที่บ่งบอกถึงเหตุดีร้ายในชีวิตได้ ปัจจุบันยังนิยมสะสมเป็นของเก่าที่มีคุณค่าสูงจุดก่อเกิดกริชนั้นเชื่อกันว่าเริ่มมีใช้ในเกาะชวา แล้วแพร่หลายไปทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซีย ผ่านไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คำว่า "กริช" ในภาษาไทย ถอดมาจากคำว่า "keris" ในภาษามลายู ซึ่งหมายถึงมีดสั้น คำนี้ผ่านมาจากภาษาชวาโบราณอีกทอดหนึ่ง คืองริชหรือเงอะริช หมายถึง แทง เพราะฉะนั้นกริช (keris) ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธประจำตัวของคนชวา-มลายู ขนาดเรียกว่าเป็นอาวุธประจำชาติของชาวมลายู สำหรับประเทศไทยเป็นที่นิยมพกพาของคนในบริเวณชายแดนภาคใต้ทั่วไป กริชนั้นถือเป็นอาวุธประจำกายที่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชายชาตรี ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ ยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของและตระกูล จึงทำให้เป็นที่นิยมและใช้กันแพร่หลายทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมในภาคใต้ของไทยเรื่อยไปจนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเรียกได้ว่าทั่วทั้งคาบสมุทรมลายู กล่าวกันว่ากริชนั้นน่าจะเป็นอาวุธของอินโดนีเซียในยุคหลัง ๆ เพราะจากหลักฐานพบว่ามีการใช้ดาบเป็นอาวุธมาก่อนซึ่งยังไม่พบการใช้กริช จนกระทั่งพบรูปกริชครั้งแรกที่ผนังโบสถ์ Suku ของชวาราวกลางศตวรรษที่ ๑๔ เป็นรูปจำหลักของเทพเจ้าภีมะนักรบของชวากำลังใช้มือเปล่าจับเหล็กร้อนตีเป็นรูปกริช ซึ่งใช้เข่าตนเองรองต่างทั่ง และในศตวรรษที่ ๑๔ นี้เองมีการกล่าวถึงตำนานกริชที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ในตำนานฮินดูสกุตรัม (Hindu King Sakutrum) กระทั่งถึงสมัยมัชปาหิตกริชเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลาย จนถึงศตวรรษที่ ๑๕ เรื่อยมาถึงศตวรรษที่ ๑๙ คติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้กริชแบบฮินดูเริ่มน้อยลง การทำกริชประกอบขึ้นมาแต่ละเล่มนั้น ล้วนมีความสัมพันธ์กับปรากฎการณ์ธรรมชาติ อำนาจ ชีวิต และเลือดเนื้อของเจ้าของกริช กริชเล่มหนึ่ง ๆ อาจต้องสรรหาเหล็กถึง ๒๐ ชนิดมาหลอมรวมกันด้วยกระบวบการและพิธีกรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์ ตามความเชื่อและกระบวนการทางไสยศาสตร์ เพราะกริชนั้นถือเป็นอาวุธมงคลขจัดภยันตรายและอัปมงคล ตลอดนำโชควาสนาให้เจ้าของได้
แหล่งกำเนิดของกริช
นักวิชาการส่วนใหญ่ทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ตลอดจนถึงนักวิชาการชาวยุโรป ต่างก็เชื่อกันว่ากริชเป็นอาวุธประเภทมีดหรือดาบสองคม ที่นิยมใช้กันมากในกลุ่มชนเชื้อสายชวา มลายูและชาวภาคใต้ของไทย เมื่อครั้งอดีตนั้นเป็นวัฒนธรรมของชาวฮินดูในยุคมัชปาหิตจากการแผ่อำนาจทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมไปทั่วดินแดนหมู่เกาะต่าง ๆ ของชวา-มลายู ค่านิยมและคติความเชื่อในเรื่องกริชเป็นศัสตราวุธของเทพยดาเป็นอาวุธที่มีมหิทธานุภาพ จึงได้แพร่หลายไปยังดินแดนใกล้ไกลในภูมิภาคนี้เท่าที่อิทธิพลของมัชปาหิตแผ่อำนาจไปถึง อาทิ อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ บางส่วนของฟิลิปปินส์ และในภาคใต้ของประเทศไทย นักวิชาการอย่าง ส. พลายน้อย (นามปากกา) ได้กล่าวถึงตำนานของกริชว่า... เริ่มมีในสมัยปันหยีคือในสมัยอิเหนานั่นเอง (ราวปี พ.ศ. ๑๔๖๐) แต่ในบางแห่งกล่าวว่ากริชเริ่มใช้ในสมัยปันหยี สุริยอมิเสลาวงศ์ เมงดังกามูลัง ศักราชชวา ๑,๐๐๐ ปีเศษ หรือในราวปี พ.ศ. ๑๖๒๘ ปันหยีที่มีชื่อยืดยาวนั้นก็คืออิเหนาที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง กริชที่ดีอีกแห่งหนึ่งนั้นคือที่เกาะบาหลี เพราะเมื่อพวกมุสลิมเข้าทำลายราชอาณาจักรมายาพหิส ซึ่งเป็นปลายวงศ์ฮินดูแล้วพวกช่างเหล็ก ที่เป็นกำลังใหญ่ของพวกอังควิชัยก็หนีไปอยู่เกาะบาหลีเพราะไม่ยอมถืออิสลาม ที่ทำกริชมีชื่ออีก ๒ แห่ง คือกริชเกาะบันตัมและแม่นางกระเบา... ส่วน Edward Frey กล่าวว่ากริชเป็นอาวุธที่วิวัฒนาการในชวากลางก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ หลังจากไปดูซากปรักหักพังของเทวสถานพราหมณที่สุกุ (Candi Sukuh) ซึ่งอยู่ห่างจากสุระการ์ตาไปทางตะวันออก ๒๖ ไมล์ พบฉากเตาหลอมเป็นบานศิลาแกะสลัก ๓ บานต่อกัน แสดงภาพเชิงตำนานการทำกริชโดยทำร่างภาพพระวิษณุมหาเทพองค์หนึ่งของพราหมณ์ทรงกริช ในขณะที่ประทับเหนือครุฑอันเป็นเทพปักษี ภาพและคำบรรยายของฉากเตาหลอมบานทางซ้ายแสดงถึงการหลอมกริชโดยเทพเอ็มปุ (empu) องค์หนึ่ง เทพดังกล่าวคือภีมะ (Bima) ซึ่งเป็นเทพพราหมณ์ชั้นรององค์หนึ่งและเป็นพี่ชายอรชุน ภาพบานชวาแสดงรูปอรชุน (ซึ่งเป็นพันธมิตรและเขยของพระกฤษณะ) กำลังใช้เครื่องสูบลมรูปทรงกระบอกแบบที่ช่างชาวมลายูรู้จักกัน ภาพบานกลางแสดงรูปพระคเณศวร์เทพกุญชรและเทพแห่งการประสิทธิประสาทศิลปวิทยาการ ผู้อำนวยให้การประดิษฐสิ่งใหม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในการเช่นนั้นช่างฝีมือและช่างโลหะจะมีการเซ่นสรวงพระคเณศวร์เพื่อขอพร บานศิลาแกะสลักที่จันทิสุกุนี้อายุตกราว ค.ศ. ๑๓๖๑ (พ.ศ. ๑๙๐๔) และจากหลักฐานอื่น ๆ รวมทั้งที่วัดพุทธบุโรบุโดอันมหึมา ซึ่งสร้างเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ จากภาพศิลาจำนวนมากมายแสดงภาพมนุษย์ทุกแง่มุม แสดงการใช้หรือพกพาอาวุธต่าง ๆ แต่ไม่มีกริชในภาพเหล่านั้น ฉะนั้นกริชจึงดูว่าจะไม่มีในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ แต่มามีในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ (Edward Frey, ๑๙๘๖ : ๕-๗) ส่วนไพฑูรย์ มาศมินทร์ไชยนรา กล่าวว่า... กริชเป็นอาวุธสั้นประจำชาติมลายูมานานกว่า ๖๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากจะใช้เป็นอาวุธยังใช้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงตระกูลต่าง ๆ ของกษัตริย์มลายูในสมัยนั้นด้วย กริชที่เก่าแก่และดั้งเดิมที่สุดคือกริช Majapahit และกริชที่ใช้ในประเทศชวา กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เล่ากันว่าไม่ได้ใช้เป็นอาวุธเลยเพียงแต่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นของขลังเท่านั้น...
ศัลตราวุธในวัฒนธรรมฮินดู-ชวาที่นิยมใช้กันแพร่หลายในกลุ่มชนเชื้อสายชวา-มลายูนั้น อาจเนื่องมาจากความเสี่ยงภัยทั้งสิ้นทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของชนกลุ่มนี้ เพราะสภาพทางธรณีสัณฐานที่เต็มไปด้วยเกาะแก่ง หุบห้วย เหวเนิน จึงทำให้การสัญจรไม่สะดวกต้องพึ่งพาตนเองและต้องเผชิญกับอันตรายนานา ทั้งกลุ่มชนที่ดุร้าย โจรสลัด และคนแปลกหน้า จึงต้องมีอาวุธประเภทที่พกพาติดตัวได้สะดวก เช่น กริช มีดบาแดะ (Badek) มีดแด๊ง (Pedang) มีดหางไก่ (Lawi ayam) เป็นต้น
เนื่องจากกริชเป็นศัสตราวุธที่มีกำเนิดมาจากวัฒนธรรมฮินดู-ชวา ในสมัยอาณาจักรมัชปาหิตที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในลัทธิไศวนิกาย กริชจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทนแห่งพระศิวะ ด้ามกริชแบบชวา-ฮินดูในอดีต จึงมักจะแกะสลักเป็นรูปของเทพเจ้า (พระศิวะ) เพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของและผู้ที่นำเอากริชไปใช้ ภาพของเทพดังกล่าวศิลปินหรือช่างผู้ประดิษฐ์กริช จะสร้างสรรค์ออกมาให้อยู่ในรูปของยักษ์หรือรากษส ซึ่งเป็นปางที่ดุร้ายขององค์พระศิวะปางหนึ่ง หรือในตอนใดตอนหนึ่งของตำนานฮินดู นอกจากนั้นในตากริชหรือใบกริชบางเล่ม ช่างตีกริชจะสร้างให้มีลายตาเป๊าะกาเยาะห์ หรือลายตีนช้างอยู่ด้วย ซึ่งลายดังกล่างนี้เป็นสัญลักษณ์ของโยนิโทรณะหรือสัญลักษณ์ของพระอุมา กริชบางเล่มจะมีหูหรือวงช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระคเณศวรอยู่ด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าทั้งชุดของกริชได้แก่ ด้ามกริชและใบกริชจะมีสัญลักษณ์ของเทพในลัทธิไศวนิกาย รวมอยู่ด้วยกันทั้ง ๓ องค์ ดังนั้นการพกพากริชติดตัวหรือมีกริชเอาไว้ในบ้านเรือน ก็เสมือนดั่งมีองค์พระศิวะพระอุมาและพระคเณศวรมาคอยคุ้มครองปกป้องเจ้าของกริชและครอบครัวนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา คติความเชื่อในเรื่องกริชและค่านิยมในการใช้กริช จึงได้ซึมซ้บและขยายตัวไปทั่วพื้นที่ดินแดนต่าง ๆ ที่ลัทธิฮินดู-ชวา แผ่ขยายตัวออกไปครอบคลุม
จากข้อแนะนำของอาจารย์สุชาติ นุชพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกริชกริช กล่าวว่า... กริชเกือบทั้งหมดถือเอาไศวนิกายเป็นใหญ่และมีรูปแบบด้ามทั้งพระไภรวะ (พระศิวะ) ทุรคา (พระอุมา) และพระคเนศ มีอยู่ที่เดียวที่ตีถือด้ามตามคติไวศนพนิกาย คือถือพระนารายณ์เป็นใหญ่คือกริชบูกิส เพราะเรียกลักษณะด้ามหัวจังเหลนว่าการูด้าหมายถึงครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์กริชถูกนำเข้ามาโดยกลุ่มพ่อค้าและการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชนที่ใช้กริช ในขณะเดียวกันกริชกับมีบทบาทในแง่ศาสตราภรณ์และอาวุธป้องกันตัวมากกว่า จะเห็นได้ว่าแพร่หลายตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงขุนนางและราชสำนัก โดยเฉพาะชาวบ้านจะแพร่หลายมากที่สุด ในขณะที่ในราชสำนักของสยามเองมีแค่รูปจากพิธีโสกันต์บางรูป ส่วนในราชสำนักของลังกาสุกะจะมีการใช้งานกริชในทุกระดับชนชั้น แต่มีกฎหรือข้อจำกัดไว้ด้วย เช่น กริชประดับทองคำจะใช้เฉพาะเขื้อพระวงศ์ หรือเป็นกริชพระราชทานให้กับขุนนาง ส่วนดินแดนด้ามขวานของไทยก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน เพราะกริชที่ปัตตานีจะมีแบบหัวพังกะไม้หรือกริชบูกิส ทั้งแบบชวาป่วยและแบบจังเหลน รวมถึงกริชแบบคนพุทธพังกะเงิน ปรากฏขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลาย ซึ่งตอนนั้นอิทธิพลของพราหมณ์์ฮินดูก็เสื่อมลงไปมากแล้ว... ลักษณะของกริชแบบดั้งเดิมใบมีดจะตรงเหมือนใบหอก ต่อมาใบมีดจะมีลักษณะคดไปคดมา ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าน่าจะจําลองมาจากลักษณะดังนี้
๑. งูเลื่อย ซึ่งเป็น สัตว์ที่มีพิษ เหมือนนาค-นาคา ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอํานาจ |
๒. การสะบัดของเปลวไฟ |
๓. ความสุนทรี–ความงาม |
ภาพจาก : https://yala-patani-naratiwat.blogspot.com/2017/03/blog-post_5.html
ธรรมเนียมนิยม
วิถีหรือธรรมเนียมนิยมของคนภาคใต้ตอนล่างของไทยในสมัยก่อนนั้น ครอบครัวหนึ่ง ๆ จะมีกริชไว้ประมาณ ๓-๔ เล่ม ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาไปใช้งานอะไร เมื่อลูกหลานเติมโตขึ้นมามีครอบครัวก็ต้องมี ๔-๕ เล่มเหมือนบรรพบุรุษ และได้แพร่กระจายออกไปเรื่อย ๆ กริชบางด้ามเชื่อว่าเวลาเหน็บหรือพกพาแล้วจะทํามาค้าขายดี แต่ถ้าทําไร่ทํานาด้วยก็ต้องหาอีกเล่มหนึ่งมาไว้ในบ้าน เพื่อที่จะทําให้ได้ข้าวกล้าที่ดี สัตว์เลี้ยงบริบูรณ์ตกลูกมากหรือไม่เป็นโรคระบาดถ้าจะไปออกรบจับศึกก็ต้องมีอีกเล่ม
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เรื่อยมาการนิยมกริชก็ซบเซาลง ช่างทำกริชเองก็ไม่รู้จะตีกริชขายให้ใคร ต้องปรับตัวไปผลิตมีด พร้า ขวาน ที่ใช้ในงานเกษตรกรรมและ ใช้งานในบ้านแทน ส่วนกริชที่มีอยู่ก็กลายเป็นมรดกไปอย่างบ้านหนึ่งมีกริช ๕ เล่ม เมื่อช่างเลิกตีกริชกันแล้วบ้านนั้นก็มี ๕ เล่มเหมือนเดิม พอบ้านนั้นมีลูกอีกหลายคน พ่อตายก็แบ่งกริชให้ลูก ๆ เป็นมรดกเหมือนกับการแบ่งไร่นานาน ๆ ไปลูก ๆ ก็มีลูกอีกก็ต้องแบ่งอีก จํานวนคนมันเพิ่มขึ้นแต่จํานวนกริชมีเท่าเดิมนาน ๆ ไป ก็เหลือแบ่งให้กับเฉพาะลูกชายเท่านั้น
นอกจากนี้อาวุธที่เป็นกริช ก็สามารถชี้บอกฐานะและความสําคัญแก่ผู้เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี โดยสังเกตดูจากการประดับประดาตก แต่งฝักและด้าม ถ้าฝักทําด้วยงาช้างหรือหุ้มด้วยเงินทองประทับแก้วมณีสีสวยสด ก็รู้ได้เลยว่าเจ้าของมิใช่ธรรมดาสามัญเสียแล้ว กริชนอกจากจะเป็นอาวุธแล้วยังถือเป็นของขลัง และเป็นเสมือนศาสตราภรณ์เครื่องประดับของคนในภาคใต้ตอนล่างแล้ว แต่ยังมีบาทบทในวิถีชีวิตของคนใต้อีกหลาย ๆ เรื่องเพราะกริชมีความหมายในความเชื่อของท้องถิ่น ทั้งในเรื่องราวลี้ลับที่เล่าขานตลอดอิทธิพลปาฏิหาริย์ ดังเช่นเรื่องของท่านพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช
ใบและฝัก
ตัวกริชหรีอส่วนใบมีดนั้นมักจะเรียวและคด ส่วนโคนกว้างความยาวของกริชนั้นแตกต่างกันไปไม่จำกัด ใบมีดก็ตีจากแร่เหล็กต่าง ๆ กัน แต่โดยมากจะมีนิกเกิลผสมอยู่ ช่างทำกริชหรือเอมปู จะตีใบมีดเป็นชั้น ๆ ด้วยโลหะต่าง ๆ กัน กริชบางเล่มใช้เวลาสั้น างเล่มใช้เวลาตีนานเป็นปี ๆ หรือใช้เวลาชั่วชีวิตก็มี กริชที่มีคุณภาพสูงตัวใบมีดจะพับทบเป็นสิบ ๆ หรือร้อย ๆ ครั้ง โดยมีความแม่นยำสูงมาก ใบมีดนั้นอาจมีรอยประทับของช่างกริช เช่น รอยนิ้วหัวแม่มือ ริมฝีปาก ในระหว่างการตีใบมีดนั้น การใช้โลหะต่างชนิดกันมาตีเป็นมีดใบเดียว ทำให้เกิดเป็นลายน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่าปามอร์หรือปามีร์อันเป็นแนวคิดเดียวกับเหล็กกล้า ดามัสคัส และญี่ปุ่น มีการใช้กรดกัดตัวใบมีดหลังจากตีแล้ว เพื่อให้เกิดรอยเงาและทึบบนโลหะ สำหรับแหล่งแร่เหล็กนั้นจะเป็นแหล่งแร่ที่หายากแถบมาเลเซีย หรืออินโดนีเซียใบกริชนั้นจะคดหรือหยักเป็นลอนคลื่นเรียกว่าลุก กริชส่วนใหญ่มีน้อยกว่า ๑๓ หยัก (นิยมเลขคี่เสมอ)
วัตถุที่นำมาทำกริช
การทำกริชนั้นวัตถุหลักคือเหล็ก ซึ่งประกอบด้วย
๑. เหล็กเป็นหรือเหล็กบารี |
๒. เหล็กแม่เหล็ก |
๓. เหล็กกล้าหรือเหล็ก บายอ |
๔. เหล็กกระดูกของตัวมาวะส์ หรือเหล็กตูแลมาวะส์ |
๕. เหล็กอาโก๊ะ (อังกุศ หรือขอช้าง) |
๖. เหล็กขอช้าง |
๗. เหล็กตากริช |
๘. เหล็กสมอเรือ |
๙. เหล็กกั้นพร้าที่หักติดอยู่ในด้าม หรือเหล็กกั้นอาวุธที่มีคมทั้งหลาย |
๑๐. เหล็กคนเป็นใบ้เหล็กคนตาบอด |
๑๑. เหล็กคนหูหนวก |
๑๒. เหล็กโคน (ตะปูตอกโลงผี |
๑๓. เหล็กสะหมิด (สําริด) ระฆัง |
๑๔. เหล็กปืนแตก (ปืนไฟ |
๑๕. เหล็กสะหมิด (สําริด) ฆ้อง |
๑๖. เหล็กที่ เป็นตาของกริช, มีด, พร้า, ขวาน, หอกและดาบเก่าที่ชํารศาแต่เชื่อว่ายังมีของขลังและศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นถ้ามีเศษเงิน นาก และทองคํา เล็ก ๆ น้อย ๆ ผสมเลือลงไปมีความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของยิ่งขึ้น |
ลวดลายกของกริช
ลวดลายของกริชไม่ว่าจะเป็นหัวกริชหรือด้ามกริชสำหรับจับ นิยมทำเป็นรูปหัวคน หัวสัตว์ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเรขาคณิต ที่ไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม หัวกริชจะแกะจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้เนื้อแข็ง งาช้าง เขาสัตว์ หรือหล่อด้วยโลหะ ปลอกสามกั่นเป็นส่วนที่ติดกับหัวกริช เพื่อให้หัวกริชยึดติดกันอย่างมั่นคงและไม่ให้หัวกริชแตกร้าวได้ง่าย นิยมทำด้วยโลหะทองเหลือง เงิน หรือทองคำ และมีการแกะสลักลวดลายที่ประณีต ฝักกริชเป็นที่เก็บคมกริชเพื่อความสะดวกในการพกพา มักจะทำด้วยโลหะชนิดเดียวกับโลหะที่ทำปลอกสามกั่นและแกะสลักด้วยความประณีตสวยงาม ซึ่งการทํากริชนั้นหัวใจที่สําคัญคือการทําลวดลายต่าง ๆ ในการทําลวดลายอย่างเก่านั้นหาดูได้ยากแล้ว แต่ลายที่นิยมและปรากฎอยู่มีอยู่ 2 แบบคือ “ลายบังคับ” อาทิ ขนนก ฟันปลา และ “ลายไม่บังคับ” คือเป็นเกลื้อน ดํา ๆ ด่าง ๆ
ชื่อลายที่พบและเรียกกันในภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย
๑. ลายไข่นักคุ้ม (เปลิือกไข่) |
๒. ลายก้นหยอ (ร็อกขี้หอย) |
๓. ลายฟันปลา |
๔. ลายระบายผ้า |
๕. ลายตานกเปล้า |
๖. ลายขนนก |
๗. ลายแววนกยูง |
๘. ลายมัดหวาย |
๙. ลายเกล็ดปลา |
๑๐. ลายไม้พุก (ลายไม้ผุ) |
๑๑. ลายใบมะพรา้ว |
๑๒. ลายใบสน |
๑๓. ลายรวงข้าว |
๑๔. ลายสะดือปลา |
๑๕. ลายภูเขา (กุหนุง) |
๑๖. ลายหนังเข้ |
๑๗. ลานนิ้วมือ |
๑๘. ลายเข็มทอง |
๑๙. ลายท้องงู |
๒๐. ลายตีนช้าง |
ภาพจาก : เพจกริชรามันห์ ; https://www.facebook.com/กริชรามันห์-513583585423367/
การก่อเกิดกลุ่มทำกริชรามันห์
เมื่อประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ ปีก่อน เจ้าเมืองรามันห์หรืออำเภอรามัน จังหวัดยะลาในปัจจุบัน ประสงค์จะให้มีกริชเป็นอาวุธคู่บ้านคู่เมือง และต้องการมีกริชประจำตัวด้วยถึงกับเชิญช่างผู้ชำนาญการจากประเทศอินโดนีเซีย มีชื่อว่าช่างบันไดซาระมาทำกริชที่เมืองรามันห์ในรูปแบบปัตตานีและรูปแบบรามันห์ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะจนกริชรูปแบบนี้ถูกเรียกขานในท้องถิ่นว่ากริชรูปแบบบันไดซาระ ตามชื่อของช่างทำกริชชาวชวาผู้นั้น ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการสืบทอดการทำกริชในพื้นที่เมืองรามันห์ โดยเฉพาะที่ตำบลตะโล๊ะหะลอ มาหลายชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน กริชที่เมืองรามันห์นิยมทำเป็นหัวนกพังกะมากกว่าชนิดอื่น นกพังกะคือนกที่มีปีกและตัวสีเขียวปากยาวสีแดงอมเหลือง คอขาวบ้างแดงบ้าง นอกจากนี้ยังทำเป็นหัวรูปไก่ หัวงูจงอาง และรูปคน ส่วนใหญ่สลักด้วยไม้หรือกระดูกปลา กริชมีหลายรูปแบบ เช่น กริชแบบกลุ่มบาหลี และมดุรา กริชแบบชวา กริชแบบคาบสมุทรตอนเหนือ กริชแบบบูกิส กริชแบบสุมาตรา กริชแบบปัตตานี กริชแบบซุนดา หรือซุนดัง และกริชแบบสกุลช่างสงขลา
“ชุมชนตะโละหะลอ” ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๕ บ้านบึงน้ำใส ตำบลตะโละหะลอ อำเภอรามัน จังวหัดยะลา เป็นพื้นที่ที่มีช่างทำกริชสืบทอดมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยมีนายตีพะลี อะตะบูเป็นผู้สืบทอดสายเลือดช่างกริชรามันห์ และถือเป็นครูภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ชำนาญการเรื่องกริชโบราณ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องราวของกริชให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สืบทอดรักษามรดกนี้ไว้ กริชรามันห์เป็นกริชในตระกูลของท่านปันไดสาระ ซึ่งได้รับการยอมรับในกลุ่มคนทำกริช หรือกลุ่มผู้นิยมกริชทั่วโลก เพราะเป็นกริชที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษกว่ากริชชนิดที่อื่น โดยเฉพาะใบกริชและหัวกริช เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นศิลปะรูปนกปือกา หรือนกพังกะ เป็นนกในวรรณคดีท้องถิ่น ที่มีความหมายว่า ผู้คุ้มครอง เป็นนกที่มีลำตัวสีเขียว ปากยาวมีสีแดงอมเหลือง คอมีสีขาวสลับสีแดง กริชรามันจึงเป็นรูปนกแทบทั้งสิ้น”กริชรามันห์มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวที่โดดเด่นงดงาม มีจิตวิญญาณของความเชื่อและ ตำนานไม่แพ้กริชของพื้นที่ใดในแหลม มลายู จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้ยังมีคนนิยมเก็บสะสมกริชรามันเป็นของที่ระลึก นอกจากการสาธิตทำกริชแล้วที่นี่ยังมีการโชว์การแสดงรำกริชรามันห์ให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย โดยการแสดงนี้ผู้แสดงจะโชว์ลีลาลวดลายการรำกริชอย่างอ่อนช้อยและดุดันเข้มแข็ง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส (ดูแลปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) โทร.๐๗๓-๕๔๓-๓๔๕๖
ภาพจาก : เพจกริชรามันห์ ; https://www.facebook.com/กริชรามันห์-513583585423367/
กริช อาวุธและวัตถุมงคล ของชาวมาลายู.(2559). สืบค้นวันที่ 13 ม.ค. 63, จาก
https://yala-patani-naratiwat.blogspot.com/2017/03/blog-post_5.html
"กริชรามันห์" สุดยอดหัตถศิลป์ วิจิตรงดงามจากภูมิปัญญาแห่ง อ.รามัน จ.ยะลา. (2562).
สืบค้นวันที่ 13 ม.ค. 63, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9620000099939
เพจกริชรามันห์. (2563). สืบค้นวันที่ 13 ม.ค. 63, จาก https://www.facebook.com/กริชรามันห์-513583585423367/
เพจสืบสานศาสตราอุษาคเนย์. (2563). สืบค้นวันที่ 13 ม.ค. 63, จาก https://www.facebook.com/ancientthaiweapons/
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่. (2559). เสวนาเกร็ดความรู้เรื่องกริช. สืบค้นวันที่ 13 ม.ค. 63, จาก https://www.youtube.com/watch?v=STaZHlxtQa0
ศูนย์ประณีต มหาวิทยาลัยหาดใหญ่. (ม.ป.ท) . กริช. สืบค้นวันที่ 13 ม.ค. 63, จาก https://ebook.hu.ac.th/images/File_PDF/krid.pdf
สุธี เทพสุริวงศ์ และเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ. (2547). การรวบรวมภูมิปัญญาพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : สถบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.