มีดน้ำน้อย
 
Back    09/01/2024, 15:58    399  

หมวดหมู่

เครื่องมือในการดำรงชีวิต


ความเป็นมา/แหล่งกำเนิด

     
สภาพพื้นที่บ้านน้ำน้อย 
ภาพจาก : https://link.psu.th/MbnSh

        บ้านน้ำน้อย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอหาดใหญ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสงขลาประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศ มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาและเป็นที่ราบทุ่งนา พื้นที่ลาดเชิงเขา สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านน้ำน้อย จากหลักฐานที่ปรากฎสันนิษฐานได้ว่าบ้านน้ำน้อยอาจจะมีราษฎรเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏคือพระพุทธรูปทองคำล้วน ซึ่งสร้างในสมัยกรงสุโขทัยพระพุทธรูปที่พบมีที่มาที่ไปคือมีพระรูปหนึ่งได้นิมิตรว่ามีเทวดาองค์หนึ่งมาบอกว่าจะมีพระพุทธรูปทองคำแท้ผุดขึ้นเหนือผิวน้ำ บริเวณในลำคลองน้ำน้อยข้างวัดน้ำน้อยนอก จากนั้นพระภิกษุรูปดังกล่าวท่านก็ได้เดินทางไปยังสถานที่ ที่เทวดาท่านหนึ่งได้บอก   เมื่อไปถึงก็ได้เห็นเศียรพระพุทธรูปลอยโผล่ผิวน้ำขึ้นมาเป็นเวลาสั้น ๆ และกลับจมหายไปในน้ำอีก บ้านน้ำน้อยแต่เดิมเรียกว่า “บ้านน้ำย้อย” เพราะมีน้ำย้อยมาจากรากของต้นทุเรียนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่านตัดหมู่บ้านลงไปยังลำคลอง  ต่อมาทางราชการได้ชื่อใหม่ว่า “บ้านน้ำน้อย “ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน 
              ชุมชนน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นตำบลหนึ่งในจำนวน ๑๒ ตำบลของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วิถีชีวิตของชาวชุมชนน้ำน้อยช่วงก่อนประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๐๓ ย้อนหลังเป็นต้นไป) ประกอบอาชีพหลายอย่างได้แก่ ทำนา เก็บของป่า เลี้ยงสัว์ เพาะปลูก ทำสวนยางพารา ทำตาลโตนด หัตถกรรมตีเหล็ก ทำเหมืองแร่ กระเบื้อง และอื่น ๆ อีกหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะหัตถกรรมตีเหล็กนั้นผู้ที่ริเริ่มก็คือคนจีนที่เข้ามาทำแร่เหล็กสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ถ่ายทอดวิชาตีเหล็กจนสืบทอดต่อมา แต่ในขณะนี้การตีเหล็กเสื่อมความนิยมเป็นอาชีพที่คนในสังคมปัจจุบันไม่ให้ความสนใจ เหลือผู้ประกอบการในปัจจุบัน (๒๕๖๓) จำนวน ๒ รายคือนายมนูญ พันธ์นิล และนายนั้น ธรรมโชติ ซึ่งแต่ละท่านก็ล้วนอายุมากแล้วทั้งสิ้น กรรมวิธีตีเหล็กที่ใช้อยู่ก็ยังคงเป็นกรรมวิธีแบบเดิมา ไม่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงหรือมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้อดีตเคยทำอย่างไรปัจจุบันก็ยังคงทำแบบนั้น เช่น ยังคงใช้สูบของบรรพบุรุษในการสูบลมถลุงเหล็กเหมือนเมื่ออดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา อาชีพตีเหล็กในอดีตสามารถทำรายได้ให้แก่กลุ่มเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันทำแค่พอเลี้ยงตัวเองได้ ทำเท่าที่พอจะทำได้เท่านั้น ด้านตลาดก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป ประกอบกับมีผลิตภัณฑ์มีดสมัยใหม่ที่มีความหลากหลายเข้ามาทดแทนในตลาด จุดเด่นของมีดน้ำน้อยที่ต่่าง ๆ จากมีดประเภทอื่น ๆ คืิิอมีกรรมวิธีการผลิตและเทคนิคที่พิเศษและแตกต่างไปจากการผลิตมืดของที่อื่น ๆ เพราะกรรมวิธีล้วนเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น


การตีเหล็กแบบเดิม ลักษณะของสูบลมและเตาเผาที่ใช้
ภาพจาก : รายงานชุดโครงการวิจัยวิถีการพัฒนาทางธุรกิจสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณสู่ OTOP กรณีศึกษา : มีดน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

                 ชุมชนน้ำน้อยเป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่ง การตั้งถิ่นฐานขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฎหลักฐาน แต่จากการศึกษาของสุนันท์ อินทนิล (๒๕๔๔ : ๖๓-๘๙) พบว่าเนื่องจากสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อันประกอบด้วยพืชพันธั ธัญญาหาร สัตวับก สัตว์น้ำ ทางสัญจรหลักสามารถออกสู่ทะเลสาบ และอ่าวไทยได้สะดวก ทำให้ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีบนแดนดินถิ่นนี้ได้มีการตั้งถิ่นฐานเกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นได้มีการปรับย้ายที่ตั้งถิ่นฐานให้เหมาะสมกับสภาพทางภูมิตาสตร์ที่ทำกิน เส้นทางคมนาคมหรือหนีโรคระนาดติดต่อร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเส้นทางสัญจรสายสำคัญที่ใช้เดินช้างลากเกวียนตัดผ่านแหลมมลายูเริ่มต้นจากสงขลา-สะเดา-ไทรบุรี ข้ามไปฝั่งทะเลอันดามันตัดผ่านชุมชนน้ำน้อย ทำให้เส้นทางสายนี้ได้รับการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ทำการลาดยางช่วงสงขลา-หาดใหญ่ ต่อมาให้ชื่อว่าถนนกาญจนวนิช ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เกิดทางรถไฟตัดผ่าน ทำให้การสัญจรสะดวกยิ่งขึ้น จึงทำให้มีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนก็เข้ามาค้าขาย ทำแร่เหล็ก แร่ดีบุก ทำอิฐ กระเบื้องคินเผา และตั้งถิ่นฐานขึ้นในชุมชนหลายครอบครัว ทำให้เกิดวัฒนธรรมผสมผสานกันหลากหลาย การพัฒนาจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในทุก ๆ ด้าน กลายเป็นชุมชนที่มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท เอกสารที่กล่าวถึงชุมชนน้ำน้อยไว้ได้แก่ ภานุ ธรรมสุวรรณและทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม (๒๕๓๐ : ๒) กล่าวถึงชุมชนน้ำน้อยว่า จากการสัมภาษณ์นายธานี ไพโรจน์ภัคดิ์ กำนันตำบลเกาะยอในขณะนั้นได้ความว่า เกาะยอเดิมนั้นไม่มีคนอยู่อาศัย แต่เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของเกาะ ในประมาณกรุงสุโขทัยตอนปลายชาวบ้านแถบตำบลน้ำน้อยและตำบลทุ่งหวังจึงได้อพยพเข้ามาอยู่บนเกาะบริเวณหมู่ที่ ๕ และหมู่ที่ ๖ สุนันท์ อินทนิล (๒๕๔๔ : ๙-๑๐) กล่าวถึงศาสนสถานในชุมชนน้ำน้อยว่า จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในชุมชนหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า วัดน้ำน้อยในไม่ใช่วัดแรกของชุมชน เพราะสมัยที่ผู้ให้สัมภาษณ์ยังเป็นเด็ก เคยเห็นซากศาสนสถานที่เล่าขานกันมาว่า ซึ่งเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นก่อนวัดน้ำน้อยในปรากฎหลักฐานให้เห็นอยู่ ๔ วัด คือวัดกลางถูกทิ้งร้าง เพราะชุมชนเกิดโรคระบาดติดต่อร้ายแรง วัดหลาน้ำหรือวัดต้นพิกุล วัคกลาง วัดแหลมซอ วัดพระวง ถูกทิ้งร้างเพราะหน้าแล้งน้ำเค็มหนุนขาดน้ำจืดบริโภค หน้าฝนน้ำท่วมชาวบ้านจึงอพยพมาอยู่บนพื้นที่สูง จากการวิจัยของสุนันท์ อินทนิล (๒๕๔๔ : ๑๑๗-๑๑๘) ทำให้ทราบว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงต้นได้มีข้าศึกจากเมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกศึกแขกหรือศึกพระยาตนกุเดน ยกกองทัพไปตีเมืองสงขลา เมื่อดินทางผ่านชุมชนน้ำน้อยก็ได้เข้าไปทำลายศาสนสถานเพื่อหาทรัพย์สินมีค่าโดยฉพาะพระพุทธรูปที่ทำด้วยเนื้อทองคำในวัดหลายแห่ง เช่น พระประธานสมัยสุโขทัยในอุโบสถวัดน้ำน้อยใน แต่เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไม่สามารถทำลายได้ จึงได้ใช้ปืนยิงที่องค์พระทำให้องค์พระมีแผลกระสุน แต่ก็ไม่สามารถทำลายองค์พระได้ เมื่อทหารสองคนที่ยิงองค์พระออกจากมาจากเขตวัดได้ล้มลงสิ้นใจตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทหารของพระยาตนกุเดนส่วนหนึ่งได้เข้าปลันทรัพย์สินของชาวกว้านนอก ซึ่งเป็นชุมชนของคนจีนทำแร่เหล็กส่งนอกชาวบ้านมีฐานะร่ำรวย ต่อมาชุมชนกว้านนอกเกิดโรคติคต่อรุนแรง ทำให้ชาวบ้านป่วยตายไปหลายคนที่เหลือจึงทิ้งถิ่นฐานไปอาศัยอยู่กับญาติซึ่งเป็นชาวจีนด้วยกันที่บริเวณวัดท้ายน้ำและถนนนครนอก นครใน ในตัวเมืองสงขลา เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคลัยงกับ สนั่น เมืองวงศ์ (๒๕๑๖ : ๑๗๗) ที่ได้กล่าวถึงกบฏตนกุเด็นไว้ว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ เจ้าพระยาไทรบุรึ (ปะแงรัน) ส่งหลานชายชื่อตนกูหะมัคสหัด (ตนกุเดน) เป็นกบฎยกทัพตีหัวเมืองทางใต้รวมทั้งเมืองสงขลา ซึ่งตรงกับสมัยพระยาสงขลา (เส้ง) ในขณะที่เข้าเมืองทางใต้เข้าไปร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระราชชนนีพ้นปีหลวง (เจ้าจอมมารดาเรียม) ในรัชกาลที่ ๓ ที่พระนคร เมื่อทรงทราบศึกกบฎได้ส่งเจ้าพระยานครฯ (น้อย) พระยาสงขลา (เส้ง) มาปราบโดยมีชาติอังกฤษให้การสนับสนุน สุชาติ รัตนปราการ (๒๕๒๗ : ไม่ปรากฎเลขหน้า) ได้สรุปรายชื่อบ้านจำนวนครัวเรือนและวัด ที่มีในแขวงต่าง ๆ ซึ่งสังกัดเมืองสงขลาที่ปรากฏในเอกสารชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อใด แต่พอจะรู้ได้ว่าต้องทำขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เพราะบรรคาศักดิ์ของนายอำเภอและการแบ่งเขตอำเภอที่ปรากฎนี้เป็นแบบการปกครองของเมืองสงขลา ที่ใช้อยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบที่มีมณฑล ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เมืองสงขลาแบ่งแขวงเมืองเป็น ๑๕ ส่วน เรียกว่า "อำเภอ"  เช่น ...อำเภอหลวงอภัยพิทัก (อำเภอพะวง) มีบ้าน ๕๒ บ้าน ๑,๖๘๕ เรือน ...บ้านน้ำน้อย ๑ บ้าน ๑๐๐ เรือน บ้านบนเขา ๑ บ้าน ๕๖ เรือน บ้านกว้านนอก ๑ บ้าน ๗ เรือน บ้านพะวง ๑ บ้าน ๕ เรือน บ้านควนหิน ๑ บ้าน ๙ เรือน บ้านท่านางหอม ๑ บ้าน ๕๖ เรือน บ้านท่าจีน ๑ บ้าน ๘ เรือน... ซึ่งบ้านเหล่านี้ปัจจุบันคือหมู่บ้านในเขตการปกครองของตำบลน้ำน้อย สุนันท์ อินทนิล (๒๕๔๔ : ๘-๑๒) จากการศึกษาเอกสาร วัตถุสถานและจากการให้สัมภาษณ์ของผู้สูงอายุ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนน้ำน้อย จึงสรุปได้ว่าน้ำน้อยเป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่ง ที่ปรากฎหลักฐานว่าในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ที่นี่มีราษฎรเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นตำบลหนึ่งในจำนวน ๑๒ ตำบล ของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเดิมก่อนที่จะมีการแบ่งเขตการปกครอง ตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ถ้ากล่าวถึงชุมชนน้ำน้อยในอดีตนั้นก็จะหมายรวมถึงพื้นที่ซึ่งติดเขตตำบลข้างเคียงกับตำบลน้ำน้อยในปัจจุบันด้วย เช่น ในเขตหมู่ที่ ๑ บ้านหัวนอนถนน หมู่ที่ ๒ บ้านหลักสิบเก้า และบ้านทุ่งใหญ่บางส่วนในตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ พื้นที่หมู่ที่ ๑ บ้านแม่เตย ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ และหมู่ที่ ๓ บ้านควนหิน ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นต้น สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ๑๘ : ๘๗๑๐-๘๗๑๑) ได้กล่าวถึงเหล็กน้ำน้อยไว้ดังนี้ เหล็กน้ำน้อยคือเหล็กที่ขุดและถลุงที่บ้านน้ำน้อย ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาคใหญ่ จังหวัคสงขลา เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ถือเป็นเหล็กชั้นดี มีดพร้าที่ทำด้วยเหล็กน้ำน้อยมีชื่อเสียงโด่งดังและนิยมกันมาก เช่น พร้าน้ำน้อย อ้ายแด้งน้ำน้อย ผาลน้ำน้อย จนคำว่า "น้ำน้อย" กลายเป็นหลักประกันคุณภาพ เพราะมีความแข็งคมและทนทานทั้งช่างเหล็กที่น้ำน้อยก็ได้ชื่อว่าเป็นช่างฝีมือดีด้วย


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
มีดน้ำน้อย
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


บรรณานุกรม

ประวัติความเป็นมาหมู่บ้าน "น้ำน้อย". (2563). สืบค้น 11 ม.ค. 66, จาก https://link.psu.th/MbnSh
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ . (2547). รายงานชุดโครงการวิจัยวิถี
            การพัฒนาทางธุรกิจสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณสู่ OTOP กรณีศึกษา : มีดน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. สงขลา : มหาวิทยาลัย.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024