เนตร ชลารัตน์
 
Back    24/04/2018, 10:41    3,591  

หมวดหมู่

ปราชญ์ชาวบ้าน


ประวัติ

 

          ชาติภูมิ    
        เพลงบอกเนตรมีชื่อจริงว่าเนตร ชลารัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาเพลงบอก เป็นนักเล่นเพลงบอกซึ่งมีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เนตร ซลารัตน์ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ปีวอก ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่บ้านหมู่ที่ ๕ ตําบลอินคีรี อําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อนายโต มารดาชื่อนางนุ่ม ชลารัตน์ ปู่ชื่อขุนวิจารณ์ ฯ ย่าชื่อนางคุ้ม เป็นชาวบ้านประตูชัยใต้ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ตาชื่อนายมี และยายชื่อนางเป็ด อยู่ที่ตําบลอินคีรี กิ่งอําเภอพรหมคีรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตอําเภอพรหมคีรี) จังหวัดนครศรีธรรมราช เนตร ชลารัตน์ เป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๑ คน ซึ่งเป็น ผู้ชาย ๕ คน และผู้หญิง 5 คน (ปัจจุบันนี้พี่น้องทั้ง ๑๐ คน ถึงแก่กรรมหมดแล้ว)

         การศึกษาและอาชีพ
      
เมื่อเพลงบอกเนตร อายุ ๙ ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนที่วัดป่ากิว ตําบลบ้านเกาะ อ้าเภอเมือง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอําเภอพรหมคีรี) จังหวัดนครศรีธรรมราช กับพระครูสังฆวินัย (จันทร์) หลังจากนั้นก็ออกไปอยู่บ้านเลี้ยงควายกับพ่อซึ่งมีอยู่ประมาณ ๕๐ ตัว และช่วยพ่อแม่ทํานาอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาอีกไม่นานได้ไปอาศัยอยู่กับพี่ชายซึ่งเป็นกํานันของตําบลอินคีรี จนอายุได้  ๑๔ ปี ก็ได้รู้จักกับนายสุขปราชญ์ ซึ่งเป็นนักเลงกลอนมีชื่อเสียงในสมัยนั้น ได้พยายามฝึกหัดเทศน์มหาชาติภัณฑ์มหาพนและทัณฑ์กุมารกับนายสุขปราชญ์จนคล่องแคล่ว กอปรกับสุขปราชญ์เป็นครูสอนกลอนเพลงบอกอีกด้วย ในสมัยนั้นนิยมเล่นกลอนเพลงยาวโต้ตอบกันอย่างแพร่หลาย เพลงบอกเนตรเป็นผู้หนึ่งที่นิยมเขียนกลอนเพลงยาวจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เคยเขียนเพลงยาวโต้ตอบกับผู้หญิง ซึ่งมีชื่อเสียง มากคนหนึ่งคือนางป้อม (ชาววัดศพ) จนเป็นที่เลื่องลือในฝีปากอันคมคาย ส่วนผู้มีฝีปากทางการเขียนเพลงยาวที่มีชื่อเสียงมากระยะนั้นมีหลายคน เช่น นายวิน พระภิกษวัดกิว นายสุขปราชญ์ เป็นต้น ระยะนี้เองที่เพลงบอกเนตรใช้ชีวิตไปในทางสนุกเฮฮามากยิ่งขึ้น เพราะเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์และมีวิชา หนังสือติดตัวควบคู่ไปกับวิชาการเขียนเพลงยาว ทําให้รู้สึกได้เปรียบผู้ชายคนอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน เมื่อบิดาเห็นว่าเพลงบอกเนตรมีความประพฤติไม่ค่อยเรียบร้อย เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี บิดานำท่านไปฝากให้เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนี (ม่วง) วัดท่าโพธิ์ เพื่อเป็นการฝึกหัดนิสัยและศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมท่านได้บวชเรียนเป็นสามเณรที่นั่นและได้หมั่นศึกษาเล่าเรียนสวดมนต์แปล ศึกษาข้อธรรมะต่าง ๆ  และเนื่องจากที่นั่นมีนักเล่นเพลงบอกมาชุมนุมประลองฝีปากกันเป็นประจำ ท่านจึงได้ซึมซับและรักชอบในเพลงบอก เมื่อลาสิกขาบทออกมาก็ช่วยพ่อแม่ทำนา และเลี้ยงควายอยู่จนกระทั่งอายุได้ ๒๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๔) ได้แต่งงานกับนางสาวกิมพั้ว หลีซิวเซ็ก ซึ่งเป็นหลานของสุขปราชญ์นั่นเอง หลังจากแต่งงานก็มีอาชีพทำนา ทำสวน แต่ก็ยังคงฝึกหัดแต่งกลอนต่าง ๆ ที่ตนสนใจอยู่เป็นประจำ ท่านเคยตั้งคณะหนังตะลุงออกแสดงอยู่ระยะหนึ่งแต่ไม่ได้รับความนิยมจึงเลิกล้มไป แต่ได้หันมาแต่งบทหนังตะลุง บทกลอนโนรา ให้ผู้อื่นแสดงหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ บท เช่น เรื่องนกกระจาบ โคคาวี หอยสังข์ และเต่าทอง เป็นต้น เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และให้บวชเรียนเป็นสามเณร ระหว่างที่กําลังบวชเรียนอยู่นั้นได้หมั่นศึกษาเล่าเรียนสวดมนต์แปลจน ได้คล่องแคล่วพอสมควร แต่บวชอยู่ได้ไม่นานก็ลาสิกขาบทออกช่วยพ่อแม่ทํานาระยะนี้เริ่มสนใจเพลงบอกอย่างจริงจัง อกจากนี้ยังได้แต่งบทคำตักขับในงานบวชนาค แต่งบททำขวัญนาค บททำขวัญข้าว และบททำขวัญช้างไว้ด้วย เมื่ออายุได้ ๒๔ ปี ได้ประชันกับเพลงบอกกับเพลงบอกที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นได้แก่เพลงบอกปาน (บอด) เพลงบอกรุ่ง และเพลงบอกบัว เป็นต้น เนตร ชลารัตน์ เป็นคนเคารพครูบาอาจารย์อย่างมั่นคง ได้ยกย่องสุขปราชญ์และท่านเจ้าคุณวัดท่าโพธิ์ (ม่วง) เป็นครูเพลงบอกที่สำคัญของท่าน เมื่อพูดคุยกับใครเรื่องเพลงบอกจะกล่าวยกย่องท่านทั้ง ๒ เป็นปฐมเสมอ เมื่อจะขับเพลงบอกไม่ว่าจะขับเดี่ยว หรือเป็นการประคารมจะกล่าวบูชาครูทั้ง ๒ ทุกครั้ง 

         การสืบทอดผลงาน
     
เพลงบอกเนตรเป็นชาวนาชนบทที่สนใจการอ่าน เมื่อมีเวลาว่างก็มักจะแสวงหาหนังสือมาอ่านอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะคือหนังสือเกี่ยวกับธรรมะในพุทธศาสนา ทําให้เพลงบอกเนตรเป็นคนทันสมัย เมื่อเล่นเพลงบอกก็จะสอดแทรกความรู้และธรรมะลงไป ทําให้สาระของเพลงบอกมีน้ำหนัก ชวนฟังมากกว่าของนักเล่นเพลงบอกคนอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน และเมื่อประชันฝีปากกันสาระความรู้และธรรมะเหล่านี้มีส่วนช่วยให้เพลงนอกเนตรได้รับชัยชนะอยู่เนือง ๆ จากชัยชนะของเพลงบอกเนตรนี่เอง ทําให้มีผู้มาสมัครเป็นศิษย์กันตามสมควร เพลงบอกเนตรมีคติในการสอนศิษย์อยู่ข้อหนึ่งว่า “นักเลงเพลงบอกต้องออกจากวงเมรัย อย่าให้ใครดูแคลนว่าเป็นเพลงบอกขอเหล้า” ดังนั้นในการถ่ายทอดวิชาเพลงบอกจึงมักย้ำเตือนลูกศิษย์อยู่เสมอมิได้ขาด ศิษย์ของเพลงบอกเนตรมีหลายคนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปินเพลงบอก อาทิ เพลงบอกแมน อักษรกุล เพลงบอกวิรัตน์ การะเพิ่ง เพลงบอกจรัส ผกากรอง เป็นต้น เพลงบอกเหล่านี้ยังรักษาเอกลักษณ์การเล่นแบบดั้งเดิมอยู่เป็นส่วนใหญ่ 

         เกียรติยศจากสังคม
        
ด้วยผลงานอันประณีตและสาระอันคมคาย ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช (วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชในขณะนั้น) ได้เชื้อเชิญให้เพลงบอกเนตรมาเป็นวิทยากรด้านการละเล่นเพลงบอก ให้กับที่ประชุมทางวิชาการอยู่เสมอ ๆ นับตั้งแต่ปีพ.ศ ๒๕๑๖ เป็นต้นมา ครั้งที่จัดว่าสําคัญยิ่งในชีวิตคือการสาธิตและรับเพลงบอกให้นักวิชาการจํานวนถึง ๒๕๐ คนชม ในการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งแรกซึ่งศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช (วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชในขณะนั้น) จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๑ หลังจากนั้นเป็นต้นมา เพลงบอกเนตรก็ได้รับเชิญไปในเพลงบอกในที่ต่าง ๆ เสมอ ทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดมใกล้เคียง จนกระทั่งสุขภาพไม่อํานวย 

          วาระสุดท้าย
     
เพลงบอกเนตรได้แสดงฝีปากครั้งสุดท้ายในงานเฉลิมฉลองการเปิดสวนสร้างสรรค์นาครบวรรัตน์ ถนนราชดําเนิน ตําบลคล้ง อําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๘ หลังจากนั้นไม่นานนักก็ล้มป่วยด้วยโรคชรา ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ได้ประกาศยกย่องเป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น สาขาเพลงบอก ประจําปี ๒๕๒๘ แต่ยังมิทันที่จะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพลงบอกเนตรก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราในอาการสงบ ณ บ้านพักริมคลองบ้านเกาะ ตําบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๙ ศพเพลงบอกเนตรได้รับการ ฌาปนกิจ ณ วัดป่ากิวอันเป็นวัดใกล้บ้าน เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๙ โดยมีนายเอนก สิทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในเวลานั้นเป็นประธานประชุมเพลิง


ผลงานสำคัญ

          ผลงานส่วนใหญ่ของเพลงบอกเนตรคือกลอนเพลงบอกและการเล่นเพลงบอก แต่ก็มีอยู่กระจัดกระจาย ส่วนบทกลอนอื่น ๆ ก็พอมีอยู่บ้าง เช่น กลอนหนัง กลอนมโนห์รา เป็นต้น ดังเช่น คํากลอนบางตอนมาเสนอต่อไปนี้ เพลงบอกเนตรมีผลงานการเล่นเพลงบอกมากมาย ซึ่งมีผู้จดจำและบันทึกไว้ได้มากกว่าเพลงบอกคนใด ๆ ในอดีต จะขอยกตัวอย่างผลงานการเล่นเพลงบอกที่โดดเด่น ๆ ดังนี้..

      โต้เพลงบอกกับเพลงบอกบัว ...

                 เมื่อยามเช้าเรานึกเอาเป็นครู               หมายว่าจะบูชาได้

                 พอหวันใช้มาสักครู่                                แกชาติไม่รู้ไหร

     เอ่ยธรรมโมโอ่ธรรมะ                            นโมตัสสะไม่เข้าใจ

     คำปราศรัยเกินตัว                                 สัญชาติอ้ายบัวนา

    ข้อที่สองอ้างว่าเป็นเสือ                         มีฤทธิ์แรงเหลือกายร้ายรบ

    เราใคร่ครวญเห็นจบ                              ไอ้เสือนี่มันขบหมา

     โต้เพลงบอกกับเพลงบอกรุ่ง ...

 รุ่ง :  "รุ่งมันไก่ทงเนตรมันไก่ทาง            รุ่งเป็นไก่ด่างเนตรมันเหลืองก่ำ

แต่ว่าหยัดลำอยู่มั่ง                                    เพราะรุ่งมันหนังเหนียว

ทุกวันรุ่งอยู่แต่เรือนร้าน                           ที่อยู่ในบ้านที่เดียว

สำหรับเที่ยวใต้ถุนบ้าน                               อยู่ร้านเป็นพ่อไก่

ถ้าแม้นได้ลูกภายหลัง                                นั่นแหละตัวชั่งวิเศษ

จะเอามาตีกับเนตร                                      เสียให้มันตักษัย"

เนตร :  "ออหนักหนาน้ารุ่งชั่งประดิษฐ์                   แก่แล้วไม่เจียมคิดสมไก่

ถ้าให้ศรีวิไลแท้แท้                                                      ต้องสมแม่ตัวรังทัง

นั่นแหล่ะคงสมอารมณ์รุ่ง                                         นี่แหล่ะความมุ่งหมาย

ไม่รู้สึกตัวว่าความร้าย                                              จะมีเมื่อภายหลัง

 ถึงเนตรยังอ่อนการศึกษา                                       ในจินตนาในอุรัง

ทุกสิ่งยังกำหนดธรรม                                                เอาไว้ประจำใจ

แต่ว่าแก่เหมือนน้ารุ่ง                                                  นี่ยังมุ่งทางบาป

เอากิเลสหยาบมา                                                         ว่าไปตามอัชฌาสัย

ออว่าแก้พร้าวเฒ่าลอกอ                                           ทางโลกก็ไม่พอใจ

 ฟังคำปราศรัยน้ารุ่ง                                                   ล้วนแต่รุงรัง”

     โต้เพลงบอกกับเพลงบอกปานบอด.....

เนตร :  ถ้าเปรียบเรานี้เหมือนโคอาด                       แทงดินปราดปราดอยู่ตรงหน้า

              ปานพี่เหมือนหัวนา                                       แทงแทงไม่สาไหร”

ปานบอด  :  พี่เป็นดินกะดินตี                                    ดินนี้เป็นที่จำกัด

              พี่เป็นแผ่นดินตั้งวัด                                      พระสงฆ์ได้อาศัย”

เนตร :  เราเป็นวัวกะวัดวัด”

ปานบอด : อ้ายวัวชาติสัตว์พงไพร                         ไอ้สัตว์เป็นเขาใช้เขาไถนา

                   ชาวบ้านได้หากิน”

เนตร  : ปานนี้ดินกะดินเลว                                         เป็นแผ่นดินเขาตั้งแปรว

              มันหมินเสียเหลือหมิน”

เนตร  : วันนั้นปานว่าเนตรเป็นเปรตนรก

 ยามตายไปตกวินิบาตทุกข์

 เดียวนี้เรามีความสุข                                 พ้นแล้วแต่ทุกขา

สิ้นผลกรรมนำไปเกิด                                ได้พ้นกำเนิดแต่นิรยา

 ทั้งหูทั้งตากะมีจบ                                      กะสร้างได้ไปครบครัน

 แต่ปารชตุชีวีเปรต                                    ในบาลีอ้างเหตุไว้อย่างยอด

ว่าคะยังหูหนวกตากะบอด                        ไอ้พรรค์นั้นชาติหมัน

ยังอ้างเป็นพรหมอุดมศักดิ์                      ว่ามีภูมิพักตร์และผิวพรรณ

ให้ผ่องกายันเหมือนเนตร                         แกว่าเปรตนรกา

ชาวเมืองเขาฟังกันทั้งหลาย                    ทั้งหญิงทั้งชายจงสังเกต

ไปแลรูปปานมาแลรูปเนตร                       รูปไหนมันเปรตหวา”

 

 

ภาพจาก : หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๘


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
เนตร ชลารัตน์
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2531). อนุรักษ์มรดกไทยในนครศรีธรรมราช 2531.
                นครศรีธรรมราช : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้. 2542. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
อุดม หนูทอง. 2552. เพลงบอก. สืบค้นวันที่ 4 ม.ค. 62, จาก http://www.laksanathai.com/book3/p236.aspx.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024