สถาพร ศรีสัจจัง
 
Back    12/10/2021, 16:19    9,718  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ


ภาพจาก : http://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/334

       สถาพร ศรีสัจจัง เกิดวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่บ้านน้ำเลือด ตําบลท่ามิหรํา อําเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรชายคนเดียวของนายกระจ่างและนางเล็ก ศรีสัจจัง บิดามีอาชีพรับราชการ ได้แต่งงานกับนางอมรา ศรีสัจจัง มีบุตรชาย ๑ คน สถาพร ศรีสัจจัง เป็นกวีและนักเขียนที่สร้างผลงานหลายประเภททั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บทความ และวรรณกรรมเยาวชน ผลงานหลายเรื่องได้รับยกย่องอและรางวัล และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ อย่างเช่น เรื่องสั้นเรื่อง คลื่นหัวเดิ่ง วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง เด็กชายชาวเล เป็นต้น นามปากกาว่าพนม นันทพฤกษ์ และอินถา ร้องวัวแดง สถาพร ศรีสัจจัง ต่อมาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาวรรณศิลป์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สถาพร ศรีสัจจัง สนใจเรื่องภาษา วรรณคดี และกวีนิพนธ์ไทยมาแต่เยาว์วัย ในสมัยเด็กอยู่กับย่า ย่าจะเล่าเรื่องวรรณกรรมพื้นบ้านให้ฟัง เช่น เรื่องมโนราห์ พระรถ-เมรี ทำให้มีพื้นฐานความรู้เรื่องนิทานพื้นบ้าน เมื่อเข้าโรงเรียนก็มีความผูกพันกับครูภาษาไทยซึ่งเป็นนักกลอนมีชื่อในยุคนั้น เช่น ประพนธ์ เรืองณรงค์ ประสิทธิ์ ฤทธาภิรมย์  และผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์อีกคนหนึ่ง คือจำลอง ศรีสัจจัง ผู้เป็นพี่ชายซึ่งเป็นนักกลอนมีฝีมือคนหนึ่งในมหาวิทยาลัย ด้วยความที่มีใจฝักใฝ่ในการแต่งคำประพันธ์ สถาพร ศรีสัจจัง เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดคำกลอนระดับจังหวัด ประกวดคำฉันท์และเรื่องสั้นมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม มีผลงานตีพิมพ์สู่สาธารณะครั้งแรกที่สตรีสาร ในคอลัมน์ศาลากวีและเรื่องสั้นเรื่องแรกตีพิมพ์ในชัยพฤกษ์ ราวปี พ. ศ . ๒๕๐๙-๒๕๑๐
     สถาพร ศรีสัจจัง เป็นกวีและนักเขียนที่เป็นนักคิด นักอุดมคติและนักต่อสู้เพื่อสังคม ผลงานวรรณศิลป์ของสถาพรผูกติดอยู่กับความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สถาพรมีวัยหนุ่มอยู่ในช่วงที่ประชาชนถูกย่ำยีด้วยอำนาจอันไม่เป็นธรรม เขาเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้นั้นด้วยพลังกาย พลังใจและพลังปัญญาที่กลั่นออกมาเป็นเรื่องสั้นและบทกวีมากชิ้น งานเขียนของเขากล่าวแทนใจของนักต่อสู้คนหนุ่มสาวในยุคแสวงหา ผลงานของเขาจึงเป็นการสานต่อแนวคิดของกลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิตและวรรณกรรมเพื่อประชาชน แม้ว่างานเขียนของสถาพร ศรีสัจจัง จะสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น แต่สามารถสร้างประสบการณ์ร่วมแก่ผู้อ่านทั่วไป สำหรับสถาพร ศรีสัจจัง อุดมคติ วิถีชีวิต และการสร้างสรรค์วรรณกรรมคือสิ่งเดียวกัน หากเป็นการเดินเรือเขาหันหัวเรือเข้าสู้คลื่น ในงานวรรณศิลป์เขาหันเข้าปะทะความไม่ถูกต้องอย่างไม่หวั่นกลัว ดังนั้นจุดเด่นในงานประพันธ์ของเขาคือการสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องเป็นธรรม และการต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาโดยไม่ย่อท้อและหวาดหวั่น โดยใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่งดงาม คมคาย และเข้มข้นด้วยพลังอารมณ์สะเทือนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกวีของเขามีลีลาจังหวะและและมีพลังเสียงที่ประสานกับพลังของถ้อยคำอย่างหนักแน่น บทกวีของเขาจึงมีความโดดเด่นที่มีน้ำเสียงเข้ม ห้วนแต่มีพลังแรง ราวประกาศเอกลักษณ์ของคนใต้ แต่ขณะเดียวกันมีความหวานซึ้งของอารมณ์กวี สถาพรมีความจัดเจนในถ้อยคำ เขาสามารถเล่นคำ เล่นเสียง ผสานคำท้องถิ่นและส่วนกลางได้อย่างมีรสอารมณ์ ยิ่งประกอบกับการที่เขามีความตระหนักในปัญหาของสังคม และมีความเข้าใจเห็นใจชีวิตของคนทุกข์ยากที่ถูกเอาเปรียบ กวีนิพนธ์ของเขาจึงเข้มข้นทั้งเนื้อหาและลีลาวรรณศิลป์ จนอาจกล่าวได้ว่า กวีนิพนธ์ของสถาพร ศรีสัจจัง เป็นต้นแบบของตระกูลช่างสลักถ้อยคำเป็นงานวรรณศิลป์ ที่สืบสานต่อมาในกลุ่มกวีร่วมสมัยที่เป็นชาวภาคใต้ เป็นนักอุดมคติที่ไฟไม่เคยมอดไหม้ ด้วยฝีมือในเชิงช่างวรรณศิลป์ที่ไม่เคยตก สถาพร ศรีสัจจัง ยังสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงบันดาลใจแก่กวีและนักเขียน รุ่นน้อง ให้สืบต่ออุดมการณ์ความคิดและสืบสานอัตลักษณ์แห่งวรรณศิลป์ของเขาต่อมา

       การศึกษา

- จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดควนนิมิตร อําเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
- จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ จากโรงเรียนกันตั้ง อําเภอกันตัง จังหวัดตรัง
- จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ. ๓) จากโรงเรียนวิเชียรมาตุ อําเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
- จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ. ๕) โรงเรียนสภาราชินี อําเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
- จบปริญญาตรี ศศ.บ.(ภาษาไทย) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ปี พ.ศ. ๒๕๑๕
- จบปริญญาโท ศศ.ม.(ไทยคดีศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (มหาวิทยาลัยทักษิณ) ปี พ.ศ. ๒๕๓๓

       การทํางาน

พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖ เจ้าหน้าที่มูลนิธิโกมลคีมทอง กรุงเทพมหานคร ทําหน้าที่คัดเลือกและผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์เพื่อการเผยแพร่
พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๕ ประจํากองบรรณาธิการและเป็นบรรณาธิการสํานักพิมพ์หลายสํานักพิมพ์ ได้แก่หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (๒๕๑๗-๒๕๑๘) นิตยสารปุถุชน (๒๕๑๗-๒๕๑๘) สํานักพิมพ์ปุถุชน (เป็นบรรณาธิการ ช่วงปี ๒๕๑๗-๒๕๑๘) สํานักพิมพ์เม็ดทราย (กองบรรณาธิการ ช่วงปี ๒๕๒๑-๒๕๒๒) สํานักพิมพ์กอไผ่ (บรรณาธิการ ช่วงปี ๒๕๒๓-๒๕๒๕)
พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๒ ผู้จัดการโรงงานปลาป่น อําเภอกันตัง จังหวัดตรัง
- พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๔๕ นักวิชาการประจําสถาบันทักษิณคดีศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณอําเภอเมือง จังหวัดสงขลา
- พ.ศ. 2525- อาจารย์ผู้สอน (ระดับปริญญาตรี-โท ) มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ฯลฯ

ผลงานสำคัญ


ภาพจาก : https://www.nangdee.com/name/f/p60.html

         สถาพร ศรีสัจจัง เป็นนักเขียนที่เป็นนักคิด นักอุดมคติ และนักต่อสู้เพื่อสังคม ผลงานวรรณศิลป์ผูกติดอยู่กับความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม งานเขียนของเขากล่าวแทนใจของนักต่อสู้คนหนุ่มสาวในยุคแสวงหา สานต่อแนวคิดของกลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมเพื่อประชาชน สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จุดเด่นอีกประการหนึ่ง ในงานประพันธ์คือ การสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ความเป็นธรรมอย่างไม่ย่อท้อหวาดหวั่น โดยใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่งดงาม คมคาย และเข้มข้นด้วยพลังอารมณ์สะเทือนใจ ในขณะเดียวกันก็มีความหวานซึ้งของอารมณ์ กวีเล่นคำ เล่นเสียงผสานคำท้องถิ่นกับภาษากลางได้อย่างมีรสเข้มข้น ทั้งเนื้อหา และลีลา จนอาจกล่าวได้ว่ากวีนิพนธ์ของสถาพร ศรีสัจจัง เป็นต้นแบบของตระกูลช่างสลักถ้อยคำ เป็นงานวรรณกรรมศิลป์ที่สืบสานต่อมาใน กลุ่มกวีร่วมสมัยโดยเฉพาะที่เป็นชาวภาคใต้ ผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ บองหลา ทะเล ป่าภู และเพิงพัก สถาพร ศรีสัจจัง มีผลงานกวีเริ่มแรกในขณะเรียนคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังเหตุการณ์นี้ผลงานของเขาก็เคียงคู่อยู่กับกวีเด่น ๆ ในยุคนั้น อาทิ รวี โดมพระจันทร์ หรือวิสา คัญทัพ หลังเผด็จการทหารกลับมามีอำนาจอีกครั้งในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ชื่อของ สถาพร ศรีสัจจัง ก็เงียบหายไปเหมือนฝนลาฟ้า ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ปรากฎขึ้นในนามกวี พนม นันทพฤกษ์ มีบทกวีอย่างเดือนสามลม รักล่องแผดโผยโปรยผ่านมาหรือฝั่งทะเลตะวันตก บทกวีในช่วงต่อมาของพนม นันทพฤกษ์ ไม่ว่าจะเป็นตำนานแห่งพิมพะยอมหรือตำนานดาว ล้วนมีเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างโดดเด่น จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากมีกวีรุ่นใหม่หลายคน ทดลองเดินตามเส้นทางของเขามาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งกวีเจ้าคารมผู้นี้กลายเป็นต้นแบบไปในที่สุด

       งานประพันธ์ที่เผยแพร่เป็นภาษาไทย

- พ.ศ. ๒๕๑๓ รวมเรื่องสั้น กวีนิพนธ์เรื่อง “เจ้าชื่อทองกวาว" (เขียนร่วมกับผู้อื่น)
- พ.ศ. ๒๕๑๔ รวมเรื่องสั้น กวีนิพนธ์เรื่อง “ต้องฝนยามแล้ง” (เขียนร่วมกับผู้อื่น)
- พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมเรื่องสั้น กวีนิพนธ์เรื่อง “ก่อนไปสู่ภูเขา”
- พ.ศ. ๒๕๒๓ รวมเรื่องสั้นเรื่อง “คืนฟ้าดาว รอยเปื้อนและทางเดิน
- พ.ศ. ๒๕๒๔ รวมเรื่องสั้น กวีนิพนธ์เรื่อง "ยืนต้านพายุ” และวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “เด็กชายชาวเล”
- พ.ศ. ๒๕๒๕ วรรณกรรมเยาวชนเรื่องบองหล" และนวนิยายเรื่อง“ทุ่งหญ้าขาว ป่าสูงและวันรุ้ง ทอสาย
- พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมเรื่องสั้นเรื่อง “ดาวที่ขีดเส้นฟ้า”
- พ.ศ. ๒๕๒๘ กวีนิพนธ์เรื่อง “คือนกว่ายเวิ่งฟ้า” 
- พ.ศ. ๒๕๒๙ ร้อยแก้วเรื่อง “ที่ว่ารัก-รักนั้น"
- พ.ศ. ๒๕๓๑ นวนิยายเรื่อง “ดั่งผีเสื้อเถื่อน : คือชายพเนจร, ป่าภู-ทุ่งราบและเวิ่งทะเล”
- พ.ศ. 2532 กวีนิพนธ์เรื่อง “ณ เพิงพักริมห้วย”
- พ.ศ. ๒๕๔๐ วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ดงคนดี”
- พ.ศ. ๒๕๔๑ กวีนิพนธ์เรื่อง “ทะเล ป่าภู และเพิงพัก
- พ.ศ. ๒๕๔๓ กวีนิพนธ์เรื่อง “ฟ้องนายหัว”

        งานประพันธ์ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

- เรื่องสั้นเรื่อง “คลื่นหัวเพิ่ง” ได้รับการแปลเป็นภาษาจีน อังกฤษ มลายู
- เรื่องสั้นเรื่อง “ห้องพระ” และนวนิยายเรื่อง “เด็กชายชาวเล" ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น 
บทกวี “ดาวเหนือ” ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

     ผลงานเกียรติคุณ
        
สถาพร ศรีสัจจัง ได้รับรางวัลทางด้านวรรณกรรมระดับชาติหลายรางวัลด้วยกัน เช่น

- พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่องสั้นชื่อคลื่นหัวเพิ่ง ได้รับรางวัลช่อการะเกด จากนิตยสารโลกหนังสือ และรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมประจําปี จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๒๓ เรื่องสั้นชื่อเหยื่อพราน และสารคดี เรื่องวังปราจันทร์-ทะเลบัน- กบาต เส้นทางสายยุทธศาสตร์” ได้รับรางวัลจากนิตยสารแมน                   
พ.ศ. ๒๕๒๕ นวนิยายเรื่องเด็กชายชาวเล ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติและจากสํานักงานส่งเสริมเยาวชนแห่งชาติ สํานักนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. ๒๕๒๕ นวนิยายเรื่องบองหลา ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๐ กวีนิพนธ์คือนกว่ายเวิ่งฟ้า ได้รับรางวัล จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๕๑ นวนิยายดงคนดี ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

          นอกจากรางวัลที่รับได้ดังกล่าวแล้ว สถาพร ศรีสัจจัง ยังได้รับเชิญเป็นตัวแทนนักเขียนไทยร่วมประชุมกับนักเขียนอีก ๑๒๐ ชาติ ในงาน ประชุมนักเขียนแห่งเอเซีย ณ กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นอกจากเขียนเรื่องสั้น กวีนิพนธ์และนวนิยายแล้ว ท่านยังมีบทบาทสําคัญด้านอื่น ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยมีส่วนร่วมเป็นกองบรรณาธิการจัดทําสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๔ ของ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบัน คือมหาวิทยาลัยทักษิณ) เป็นบรรณาธิการบริหาร วารสาร “ทักษิณคดี” วารสารเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนปราศ ราหุล เป็นที่ปรึกษาชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งมีส่วนในการสร้างนักเขียนและกวีผู้มีชื่อเสียง และผลงานเป็นที่ยอมรับในแวดวงวรรณกรรมในยุคต่อมา ได้แก่ กานดี ณ ศรัทธา ปราศ ราหุล (เสียชีวิตแล้ว) มาโนช นิสรา ดวงแก้ว กัลยาณ์ และรมณา โรชา เป็นต้น    


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
สถาพร ศรีสัจจัง
ที่อยู่
จังหวัด
พัทลุง


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

กิตติมา จันทร์ลาว. (2555). วิเคราะห์กวีนิพนธ์ของ สถาพร ศรีสัจจัง. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาภาษาไทย
         มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
จุไรรัตน์ จันทรวงศ์. (2548). ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา. สงขลา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024