พันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร
 
Back    07/02/2022, 11:42    2,231  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

 
ภาพจาก : https://sites.google.com/site/pattaniknowlege/history

         พันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร ผู้ซึ่งคุมกองกําลังทหารที่ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นครั้งที่บุกยึดปัตตานีเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จนเสียชีวิตในที่รบ มีนามเดิมว่าทองสุก อิงคกุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่ตําบลราชวงศ์ อําเภอป้อมปราบ กรุงเทพฯ เป็นบุตรของนายบุญเฮง กับนางสุ่น อิงคกุล สมรสกับ นางสาวสะอึ้ง ทิมรัตน์ มีธิดา ๔ คน

การรับราชการทหาร

พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๖๙ รับราชการประจำกรมทหารราบที่ ๑๕
พ.ศ. ๒๔๗๐ ประจำกรมทหารพรานในกองพลทหารราบที่ ๓
พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๒ ประจำกองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์
พ.ศ. ๒๔๗๓ ประจำ ร.๒ รอ.พัน ๓
พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นนายทหารฝึกหัดราชการแผนก
พ.ศ. ๒๔๗๔ ประจำ ร.๒ รอ.พัน ๒ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๔
พ.ศ. ๒๔๗๕ ประจำกองพันทหารราบที่ ๕
พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นรอง ผบ.ก ร.พัน ๕ ร้อย ๔
พ.ศ. ๒๔๗๖ ประจำ ร.พัน ๕ (พระนคร) ๑ เมษายน ๒๔๗๖


             ก่อนเสียชีวิตท่านได้มาประจำเป็น ผบ.พัน กองพันทหารราบที่ ๔๒ กรมผสมที่ ๕ และจังหวัดทหารบกสงขลา (ส่วนแยกปัตตานี) ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เดิมนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนแต่ในต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นช่วงที่ข้าราชการพากันยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านก็เลิกใช้ขุนนำหน้าชื่อเหลือเพียง พ.ต. ที่เป็นยศทหารเท่านั้น พันเอกขุนอิงคยุทธบริหารท่านมีลักษณะเด่นคือเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง เป็นผู้ที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเคารพยำเกรง เป็นผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารีแต่เด็ดขาด ทหารในปกครองของท่านจะมีระเบียบวินัยเป็นที่รักของประชาชนที่อยู่ใกล้ เมื่อมาตั้งกองพันอยู่ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิกได้ไม่กี่เดือน พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารได้เริ่มสังเกตความเคลื่อนไหวของคนญี่ปุ่นที่มาเปิดร้านที่ถนนปัตตานีภิรมย์ หน้าวัดตานีนรสโมสร ซึ่งครั้งแรกมีเพียงร้านทำฟันเพียงร้านเดียว ต่อมามีร้านขายถ้วยชาม ร้านถ่ายรูป จึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคอยสืบและติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าของร้านเหล่านี้ ก่อนทหารญี่ปุ่นจะบุกปัตตานีในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พ.ต. ขุนอิงคยุทธบริหารได้รับการติดต่อสื่อสารว่าญี่ปุ่นจะบุกที่โรงฆ่าสัตว์ ซึ่งอยู่ที่ถนนนาเกลือใกล้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แต่ความจริงแล้วทหารญี่ปุ่นได้บุกปัตตานีที่บริเวณคอกสัตว์ ซึ่งอยู่ใกล้ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปัจจุบัน ผู้รับสารฟังผิดจาก "คอกสัตว์" เป็น "โรงฆ่าสัตว์" จึงทำให้ พ.ต. ขุนอิงคยุทธบริหารนำกำลังทหารมุ่งหน้าไปที่โรงฆ่าสัตว์ถนนนาเกลือ ซึ่งจะต้องเดินทางผ่านสะพานเดชานุชิต และก่อนที่เดินทางไปถึงสะพานเดชานุชิตจะต้องผ่านถนนหนองจิกบริเวณที่อยู่ใกล้คอกสัตว์ ด้วยไม่คิดว่าศัตรูจะอยู่แถวนั้นจึงไม่ทันระมัดระวัง ช่วงที่เดินทางผ่านทางนั้นกองกำลังทหารที่มี พ.ต. ขุนอิงคยุทธบริหารเป็นนายกอง จึงถูกซุ่มโจมตีด้วยปืนกล พ.ต. ขุนอิงคยุทธบริหารถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังคงตะโกนสั่งการให้ทหารสู้รบต่อไปจนตัวเองมาเสียชีวิตที่สุขศาลา (โรงพยาบาลในสมัยนั้น) ในวันต่อมาคือวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอกในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามใหม่แก่ค่ายทหารที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีว่า "ค่ายอิงคยุทธบริหาร" เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของ พ.อ. ขุนอิงคยุทธบริหาร
 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


บรรณานุกรม

ประวัติพ่อขุนอิงคยุทธ. (2557). สืบค้น 7 ก.พ. 65, จาก https://sites.google.com/site/pattaniknowlege/history


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024