ภาพจาก : https://goo.gl/h7DxFp
พระครูวิสัยโสภณหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในนามของอาจารย์ทิม เดิมท่านชื่อทิม พรหมประดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ณ บ้านนาประดู่ ตําบลนาประดู่ อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทองกับนางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๖ คน เมื่อท่านอายุได้ ๙ ขวบ บิดามารดาได้ฝากให้อยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท ซึ่งขณะนั้นยังเป็น พระแดง ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเพื่อจะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดนาประดู่ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ท่านได้บวชเป็นสามเณร จากนั้นก็สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทํานา พออายุได้ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนาประดู่ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีพระครูพิบูลย์สมณวัตร (เจ้าคณะใหญ่เมืองหนองจิก) วัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพุฒ ติสฺสโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่าธมมฺธโร โดยจําพรรษาที่วัดนาประดู ๒ พรรษา แล้วจึงย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) อําเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาก็ได้ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ซึ่งในช่วงนั้นท่านยังคงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดช้างให้กับวัดนาประดู่ เพราะท่านยังคงเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยว หลาย ๆ ขบวน ทําให้ประชาชนขวัญเสียพวาดกลัว ภัยสงคราม ท่านได้จัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อครั้งที่ท่านย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ใหม่ ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างและทรุดโทรม ท่านได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชาและดําริที่จะสร้างพระอุโบสถแต่ยังขาดทุนทรัยพ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้ร่วมกับนายอนันต์ คุณารักษ์ สร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืดขึ้น (นับเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวดอันโด่งดัง โดยมีจุดเริ่มตามภาพนิมิตเป็นรูปพระภิกษุชรานั่งขัดสมาธิบนดอกบัวมีองค์พระดำ) นับแต่นั้นมาพระพิมพ์แบบนี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายสืบมาจนถึงปัจจุบัน วัตถุมงคลที่พระอาจารย์ทิมมีส่วนร่วมสร้างทั้งในนามวัดช้างให้และวัดอื่น ๆ นับจากปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ตราบจนกระทั่งมรณภาพมีหลายต่อหลายรุ่น ล้วนแต่เป็นที่นิยมสะสมกันอย่างกว้างขวาง
พระครูวิสัยโสภณได้เริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้มรณภาพลงในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ รวมอายุได้ ๕๗ ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
พระครูวิสัยโสภณ ท่านได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา และสร้างพระอุโบสถ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการะ สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ โดยท่านได้ร่วมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นแรก ได้เงินจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดได้นำเงินมาสร้างพระอุโบสถ และสร้างกุฏิสำหรับเป็นที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญตลอดถึงวัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้หลังคาทรงเรือนไทยเป็นตึก ๒ ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางวัดช้างให้ ฯลฯ ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของท่าน
หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด (นั่งขัดสมาธิบนดอกบัวมีองค์พระดำ)
ภาพจาก : https://goo.gl/rnt3c7