คล้าย พรหมเมศ
 
Back    24/04/2018, 13:45    12,875  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

 

       คล้าย พรหมเมศหรือมโนราห์คล้ายขี้หนอน  เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ที่บ้านคลองเขเปล  ตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง จังหวดันครศรีธรรมราช หัดรำโนรากับโนราเดช แห่งบ้านหูด่าน อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้สมรสกับนางปราง มีบุตร ๒ คน คือนายคล้อย พรหมเมศ และนางแคล้ว (พรหมเมศ) พิบูลย์ โนราคล้ายขี้หนอนเป็นโนราที่มีชื่อเสียงของเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ท่านมีชีวิตอยู่ถึงสี่แผ่นดินด้วยกัน ท่านเกิดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) และถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. ๒๔๗๖ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี โนราคล้าย พรหมเมศ ได้ออกโรงรำมโนราห์อยู่หลายปีจนมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยมีท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์สวยงาม คือ "ท่าตัวอ่อน" และ "ท่ากินนรเลียบถ้ำ" จึงทำให้มีสมญานามต่อมาว่า "คล้ายขี้หนอน" (คำว่าขี้หนอนเป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึง "กินนร")  ดังนั้นคำว่า "โนราคล้ายขี้หนอน" ก็คือ "โนราคล้ายกินนร" นั่นเอง ที่เรียกกันเช่นนั้นเพราะว่าท่านชื่อคล้ายและรำโนราสวยงามราวกับกินนร

 โนราคล้ายขี้หนอนเป็นศิลปินมโนราห์คนแรกและคนเดียวเท่านั้นที่มีบรรดาศักดิ์อันเนื่องด้วยทางการศิลปะการแสดงมโนราห์โดยตรง ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑  ว่า "   หมื่นระบำบันเทิงชาตรี" แต่คนทั่วไปในสมัยนั้นมักเรียกว่า "หมื่นระบำ" หรือ "หมื่นระบำบรรเลง"    หมื่นระบำบรรเลงมีศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดศิลปการแสดงมโนราห์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น โนราเย็น โนราคลื้น แห่งอำเภอฉวาง โนราไข่ร็องแร็ง บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ (ปัจจุบันอำเภอจุฬาภรณ์) โนราคลัน บ้านเตาปูน อำเภอร่อนพิบูลย์ (ปัจจุบันอำเภอจุฬาภรณ์) โนราคลี่ ชูศรี (ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมภูผาหรือวัดดอนกลาง) ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ และอีกหลาย ๆ ท่าน โนราคล้ายขี้หนอนมีคู่แข่งที่สำคัญในสมัยนั้นก็คือคณะโนราช่วยรามสูร คณะโนราเย็นใหญ่ และโนราคล้ายขี้หมิ้น เป็นต้น โนราคล้ายขี้หนอน นับเป็นมโนราห์ผู้อาวุโสของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโนราคนแรกที่ได้นำเอาศิลปะการร่ายรำแบบโนราไปแพร่หลายในเมืองหลวงยุคนั้นและยังได้รำถวายหน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินถึง ๒ พระองค์ จนทางราชการเห็นความสำคัญของมโนราห์ จึงได้บันทึกและถ่ายภาพไว้ศึกษาและรับไว้เป็นศิลปะการแสดงของชาติในเวลาต่อมา  


ผลงานสำคัญ

ผลงานและเกียรติคุณที่ได้รับ

๑. ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้โนราคล้ายขี้หนอนเป็น "หมื่นระบำบันเทิงชาตรี" โดยโปรดเกล้าให้โนราคล้ายขี้หนอนเข้าไปรำโนราถวายหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นมีผู้ร่วมคณะไปด้วยกัน ๑๓ คน
๒. ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นระบำฯ และคณะโนราเมืองนครศรีธรรมราชอันมี โนรามดลิ้น ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ โนราเสือ อำเภอทุ่งสง โนราพลัด บ้านทุ่งให้ อำเภอฉวาง โนราคลิ้ง ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ โนราไข่ร็องแร็ง บ้านทุ่งโพธิ์ ตำบลสามตำบล อำเภอร่อนพิบูลย์ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอจุฬาภรณ์) พรานทองแก้ว พรานนุ่น กับลูกคู่รวม ๑๔ คน เข้าไปรำหน้าพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวังอีกครั้ง ในครั้งนี้โนรามดลิ้น ซึ่งแสดงเป็นตัวนาง ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "ยอดระบำ" 
๓. หมื่นระบำบรรเลง นำคณะโนราของเมืองนครศรีธรรมราชเข้าไปแสดงในกรุงเทพฯ อีกในการแสดงครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปากรได้ถ่ายรูปท่ารำต่าง ๆ ของหมื่นระบำฯ และโนราเย็นแห่งอำเภอฉวางผู้เป็นศิษย์ไว้เป็นแบบฉบับ เพื่อการศึกษาและเผยแพร่ ดังปรากฏในหนังสือตำรารำไทยในหอสมุดแห่งชาติจากชีวประวัติดังกล่าวจึงทำให้ทราบว่าศิลปะการแสดงแขนงนี้ได้เกิดขึ้นและรุ่งเรืองที่นครศรีธรรมราชมาก่อน

ท่าครูสิบสองท่าของโนราคล้าย ขี้หนอน หรือโนราหมื่นระบำบันเทิงชาตรี

ภาพจาก:  http://norakray.blogspot.com/p/blog-page.html


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
คล้าย พรหมเมศ
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

บรรดาศักดิ์ พิทักษ์ศิลป์. 2556. ประวัติโนราคล้ายขี้หนอนหรือโนราหมื่นระบำบันเทิงชาตรี. สืบค้นวันที่ 28 เมษายน 2562, จาก http://norakray.blogspot.com/p/blog-page..html
ประวัติโนราคล้าย ขี้หนอนหรือโนราหมื่นระบำบันเทิงชาตรี. 2556. สืบค้นวันที่ 28 เมษายน 2562, จาก http://norakray.blogspot.com/


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024