หมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นบุตรของนายเที่ยง และนางสิน ทิพย์ฉุย สมรสกับถนอม ทิพย์นุ้ย มีบุตร ๓ คน หมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แต่มีความรู้ด้านแพทย์แผนไทยเป็นอย่่างดี อาชีพหลักทําสวนยางพารา อาชีพเสริมเป็นแพทย์แผนไทยเนื่องจากในสมัยเด็ก ๆ หมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย อาศัยอยู่กับลุงที่เปิดร้านขายเครื่องยาสมุนไพร พอมีเวลาว่างก็ไปช่วยลุงหาสมุนไพรจนเกิดความชํานาญ และก็ทําไปเรื่อย ๆ ต่อมาก็ได้กลับมาอยู่บ้านทำสวนยางพารา ต่อมาท่านเกิดเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ (ริดสีดวง) จึงไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันได้ยามารับประทานแต่ก็ไม่หาย หมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย จึงกลับมาศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรในการดูแลรักษาตนเอง เนื่องจากได้แรงบันดาลใจมาจากในสมัยวัยเยาว์ครั้งที่เคยช่วยลุงเก็บสมุนไพร จนสามารถรักษาหายจากโรคลำไส้ (ริดสีดวง) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านจึงชักชวนกลุ่มเพื่อนที่เป็นหมอพื้นบ้านจัดตั้ง “ชมรมหมอพื้นบ้าน” เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรให้กับเยาวชนและประชาชนที่สนใจด้านการแพทย์แผนไทย ความรู้ในด้านสมุนไพรนอกจากท่านจะเรียนรู้จากบรรพบุรุษแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหมอพื้นบ้านในกลุ่มด้วยกัน หมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย มีความถนัดทางด้านการนวดและการต้มยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคไหล่ยึด ปวดศีรษะ โรคลำไส้ (ริดสีดวง) ไข้ทับระดู ปัจจุบันหมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย ไม่ได้รับรักษาคนไข้เป็นหลัก แต่เน้นการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนที่สนใจทั่วไป
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรค
สำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคของหมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย จะใช้การสังเกตลักษณะอาการทั่วไปของผู้ป่วย เช่น ท่าทางการเดินว่าปกติหรือไม่ หรือดูสีหน้าซีดเซียวหรือไม่ จับชีพจรเพื่อวินิจฉัยอาการของโรค เช่น โรคไข้มีการเต้นชีพจรเร็วมากกว่าปกติ และซักประวัติว่ามีอาการป่วยหรือมีสาเหตุมาจากโรคอะไร หลังจากนั้นหมอจะสรุปขั้นตอนการรักษา เช่น อาการปวดเมื่อยหมอมักใช้วิธีการนวดก่อน หากอาการไม่ดีขึ้นจึงจัดตำรับยาต้มให้ หากเป็นโรคที่ต้องกินยาต้มหมอจะต้มให้ผู้ป่วยรับประทาน แต่ บางตํารับจะให้ผู้ป่วยไปหาต้มรับประทานเอง หลังจากนั้นมีการติดตามการรักษา โดยติดตามข่าวจาก ารสอบถามผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดแทน ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีอาการหนักหากไม่สามารถรักษาได้ที่จะบอกให้ผู้ป่วยทราบและแนะนําให้ไปหาหมออื่น นอกจากจัดตํารับยาสําหรับรักษาอาการป่วยแล้ว บางโรคหมอแนะนําข้อปฏิบัติอื่นเพิ่มเติม เช่น ห้ามกินของแสลง เป็นต้น
ข้อปฏิบัติสําหรับหมอนั้นท่านได้ให้ข้อคิดว่าไว้ว่า คนเป็นหมอ ต้องมีคุณธรรม ไม่โอ้อวด ไม่รังเกียจดูถูกคนไข้ ทําใจให้สงบ การใช้สมุนไพรในการในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคลำไส้ (ริดสีดวง) ไข้ทับระดู โรคปวดเมื่อย สำหรับตัวยาสมุนไพรที่ใช้รักษาแล้ว ส่วนใหญ่ท่านปลูกหรือหาได้จากธรรมชาติ ถ้าสมุนไพรบางส่วนที่ไม่สามารถหาได้หรือราคาเเพงก็ให้คนไข้ไปซื้อเอง ซึ่งการรักษาจะเน้นการใช้สมุนไพรสดในการรักษามากกว่าสมุนไพรแห้ง เพราะเชื่อว่าให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
การถ่ายทอดความรู้
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หมอสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย ได้ชักชวนเพื่อน ๆ ที่เป็นหมอพื้นบ้านในอําเภอชัยสนและอําเภอใกล้เคียงของจังหวัดพัทลุง จัดตั้ง ”ชมรมหมอพื้นบ้าน” โดยมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญา การใช้สมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชนที่สนใจ โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนเขาชัยสนและศาลาหมู่บ้าน รวมทั้งบ้านของท่านเองเพื่อถ่ายทอดความรู้ แนวคิดในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยต่าง ๆ
นิติพล รักเล่ง และวาฑิต คงพูล. (2553). ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรของหมอพื้นบ้านบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดพัทลุง.
สงขลา : สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.