ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี)
 
Back    16/05/2019, 16:42    12,461  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

      ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) เป็นราชทินนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ท่านเป็นต้นตระกูลจิระนคร เป็นจีนแคะอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่มาอาศัยแผ่นดินสยามเพื่อทำมาหากิน ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) มีนามเดิมว่ากีซี แซ่เจีย เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ที่ตำบลจูไฮ อำเภอเหม่ยเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง สาธารณประชาชนจีน เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้อง ๖ คน บิดาชื่อเจียซุ้นหลิน แซ่เจีย มารดาชื่อหลิ่มคอนกู แซ่หลิ่ม เป็นหลานปู่ของนายเจียหยุ่นฟองและคุณย่าแซ่หยองซื่อ ฉื่อเฉา ในวัยเด็กท่านได้รับการศึกษาอบรมจากคุณปู่ซึ่งมีอาชีพเป็นครู ในปี พ.ศ. ๑๘๒๑ ตามประวัติตระกูลของท่านเล่าว่ามีทหารแซ่เจียประจำกองของขุนพลหวุ่นเทียนเสียงท่านหนึ่ง ได้ยกกองทัพจากมณฑลกังไสนำทหารบุกเข้าโจมตีอำเภอเหมยเชี่ยน ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของชาวมองโกลเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ. ๑๘๒๐ (หรือในปลายราชวงศ์ซ่ง) ปีถัดมา (พ.ศ.๑๘๒๑) นายทหารเจียพุ่กลุ่ก หรือ “เจียซิน” ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอำเภอเหมยเชี่ยนแต่นั้นมาท่านได้รับเชื้อสายตระกูลเจียไว้หลายรุ่นจนถึงเหลนรุ่น ๑๑ ได้แยกครอบครัวออกไปตั้งที่ตำบลจูไฮ สืบลูกหลานถึงรุ่นที่ ๒๐ คือนายเจียซุ้นหลิน และได้กำเนิดขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) พร้อมทั้งพี่น้องชายหญิงอีก ๕ คน ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ บิดามารดาของท่านได้พาท่านและพี่น้องอพยพจากประเทศจีนมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อมาได้ย้ายครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอหาดใหญ่ ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ได้แต่งงานกับภรรยาคนแรกที่ประเทศจีนชื่อจุงซ้อนยิน มีบุตร ๑ คน เนื่องจากต้องเสี่ยงโชคมายังดินแดนสยามจึงไม่สามารถพาภรรยามาด้วย (แต่ได้เดินทางตามมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยมาพำนักอยู่ที่บ้านหาดใหญ่ในกับขุนนิพัทธ์จีนนคร และได้ให้กำเนิดบุตรชาย ๑ คน คือกี่ จิระนคร)  เมื่อมาอยู่ประเทศไทยได้แต่งงานใหม่กับนางสาวเลี่ยน แซ่ฮิว ชาวอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  มีบุตรธิดา ๑๐ คน รวมบุตรและธิดาของขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) จำนวนทั้งสิ้น ๑๑ คน มีรายชื่อดังนี้คือ
           
๑. สุกิตติ์ จิระนคร
           
๒. สุธรรม จิระนคร
           
๓. อัมพา(เชื่อม) จูตระกูล
           
๔. กี่ จิระนคร
          
๕. ชูจิตร ชูจิตรบุตร
          
๖. จินตนา แซ่ฉั่ว (ถึงแก่กรรมปี พ.ศ. ๒๕๐๕)
           
๗. จุรีย์ ตันพานิช
           
๘. มาลี จิระนคร
           
๙. นิพัทธ์ จิระนคร (ถึงแก่กรรมปี พ.ศ. ๒๕๒๑)
           
๑๐. กรองกาญจน์ สินสกุล
           
๑๑. กิตติ จิระนคร

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่ 

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่

 

     

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่ 

 

นางหลิ่มคอนกู แซ่หลิ่ม มารดาท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี)

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่ 

 

ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ถ่ายตอนอายุ ๔๐ ปี (๒๔๖๙)

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่  

 

จุงซ้อนยิน ภรรยาคนแรกของขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี)

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่

 

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่

        นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เรื่อยมาขุนนิพัทธ์ฯ ได้พยายามทําความเจริญให้กับท้องถิ่นและเพื่อที่จะทําให้หาดใหญ่เป็นชุมทางคมนาคม ท่านได้อุทิศที่ดินและวางผังเมืองด้วยตนเองจากการตัดถนนสายแรก ขึ้นคือ

๑. ถนนเจียกีชี ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนธรรมนูญวิถี
๒. ถนนเจียกีชี สาย ๑ ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑
๓. ถนนเจียกีชี สาย๒ ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนไทยอิสระ แล้วเปลี่ยนอีกครั้งเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ ๒
๔. ถนนเจียกีชี สาย ๓ ต่อมาเปลี่ยนเป็น ถนน ๒๔ มิถุนาฯ แล้วเปลี่ยนอีกครั้งเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ ๓

         หลังจากที่ท่านได้ย้ายไปอยู่ฝั่งถนนเพชรเกษมแล้ว ท่านยังได้พัฒนาที่ดินแถบนั้นอีก โดยการอุทิศที่ดินให้กับเทศบาลเมืองหาดใหญ่เพื่อตัดถนนอีก ๓๕ สาย เช่น

-  ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๑
-  ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๒
 - ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๓
- ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๔
- ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๕
- ถนนซอยนิพัทธ์สงเคราะห์รวม ๒๕ สาย
- ถนนจิระนคร
- ถนนจิระอุทิศ
- ถนนซอย ๑ นิพัทธ์อุทิศ ๑ และชอย ๒ นิพัทธ์อุทิศ ๑
- ตรอกจิระพัทธ์
- ถนนนิพัทธ์ภักดี

               นอกจากการอุทิศที่ดินเพื่อตัดถนนหลายสายแล้ว ท่านยังได้อุทิศที่ดินส่วนหนึ่งและขายอีกส่วนหนึ่งให้กับโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย อุทิศที่ดินจํานวนสี่ไร่ครึ่งให้กับเทศบาลเพื่อสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ อุทิศที่ดินจํานวน ๑๔ ไร่ให้กับเทศบาลเมืองหาดใหญ่ และต่อมาได้ขายที่ดินอีกส่วนหนึ่งให้กับเทศบาลเพื่อสร้างสนามกีฬาจิระนคร จากการขายที่ดินในครั้งนี้ท่านได้บริจาคเงินอีกสองแสนบาท เพื่อเป็นเงินสมทบส่งเสริมการกีฬาให้กับเทศบาล ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ปัจจุบันนี้สถานที่ทั้ง ๓ แห่งนี้คือสนามกีฬา จิระนคร โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เป็นสถานที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในภาคใต้
             ขุนนิพัทธ์ฯ ท่าได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ท่านได้รับอนุญาตให้ใช้ราชทินนามเป็นชื่อตัว คือ "นิพัทธ์” จากกระทรวงมหาดไทยและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนนามสกุล “จิระนคร" จากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๗ ขุนนิพัทธ์ฯ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูลและครอบครัวของท่านมากมายแต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็ได้บําเพ็ญกุศลเพื่อส่วนรวมและหน่วยราชการทุกสาขาควบคู่กันมาโดยตลอด 

 


 

คําขวัญสดุดียกย่องท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร ซึ่ง ดร. หลี่เที่ยเงิน เอกอัครราชทูตคนแรกแห่งสาธารณรัฐจีน ประจําประเทศไทย ได้ให้เกียรติมอบให้คราวเยี่ยมคารวะขุนนิพัทธ์จีนนคร ที่บ้านพักส่วนตัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑

ถึงแก่อนิจกรรม

       ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) เป็นบุคคลที่เสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม ท่านได้พัฒนาหาดใหญ่จนได้กลายเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของประเทศไทยและเป็นต้นตระกูลจิระนคร ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ สิริรวมอายุได้ ๘๗ ปี

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่

บ้านเก่าแก่ของขุนนิพัทธจีนนคร  (ภาพจาก : ย้อนอดีตนครหาดใหญ่ (ชุด 2) ยุคก่อนปรากฎชื่อหาดใหญ่ในประวัติศาสตร์ ทวดทองรากเหง้าของชาวบ้านพื้นถิ่้น, 2552 : 25)


ผลงานสำคัญ

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่ ;

       เมื่ออายุ ๑๗ ปี ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ได้เดินทางไปที่เมืองซินปูฮีเพื่อช่วยบิดาทำกิจการค้าจนกระทั่งมีอายุ ๑๙ ปี ได้อพยพถิ่นฐานทำมาหากินบนผืนแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. ๒๔๔๗   โดยได้เดินทางมากับเรือของบริษัทญี่ปุ่นขนาดระวาง ๑,๐๐๐ ตันกรอส บรรทุกผู้โดยสาร ๕,๐๐๐ คน เสียค่าโดยสารคนละ ๕ เหรียญ แออัดยัดเยียดรอนแรมในทะเลเป็นเวลา ๗ วัน จึงเข้าเทียบท่าบางกอก เมื่อถึงแผ่นดินสยามแล้วได้เข้าทำงานที่ร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศ (ยี่ห้อเต็กเฮงไท้) ที่บางกอกเป็นร้านของนายหย่องเฮี้ยงซิ้ว ผู้เคยเป็นศิษย์ของปู่ (นายเจียหยุ่นฟอง) ท่านทำงานอยู่ที่ร้านจำหน่ายสุราได้ระยะหนึ่งก็ลาออกไปเผชิญโชคด้วยตัวเอง บางกอกในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นยุคของการปฏิรูปการปกครอง จัดกระทรวง ทบวง กรมใหม่ ทั้งในด้านชลประทาน การรถไฟ การเกษตร การตั้งโรงไฟฟ้า กรมไปรษณีย์โทรเลข การประปา ฯลฯ
      เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า มีพระบรมราชโองการให้สร้างทางรถไฟสายเพชรบุรีจรดสุดชายแดนภาคใต้ ท่านได้สมัครเข้ามาทำงานกับบริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟสายนี้ โดยรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจการและดูแลทั่วไป งานสร้างทางรถไฟสายใต้ในสมัยนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ปักษ์ใต้ยังมีพลเมืองน้อยเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยไข้ป่าบางแห่งเป็นที่ลุ่มน้ำขึ้นสูง ท่านมีหน้าที่ควบคุมงานถางป่าให้เป็นแนวกว้างประมาณ ๔๐ เมตร เพื่อเป็นแนวทางการลงดินลงหินสำหรับวางรางรถไฟ เนื่องจากการสร้างทางรถไฟมีระยะยาวหลายร้อยกิโลเมตร จึงต้องแบ่งงานออกเป็นช่วง ๆ ช่วงละ ๓๐ กิโลเมตร แต่ละช่วงมีโรงงานขนาดใหญ่กว่า ๑๐ แห่ง มีคนงานช่วงละ ๒๐๐ คน มีนายช่างอิตาลีเป็นผู้ดำเนินการทางเทคนิค พร้อมผู้ช่วยชาวเอเชียอีก ๒ คน คนงานสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นคนจีนหลายภาษา จึงต้องแบ่งหน้าที่การงานโดยให้ชาวจีนแคะ ทำหน้าที่บุกเบิกถางป่าชาวจีนแต้จิ่วทำหน้าที่โกยดิน ถมทางให้สูงประมาณ ๔.๕ เมตร ชาวจีนกวางตุ้งทำหน้าที่โรยหินบนดินที่ถมไว้เพื่อเป็นแนวทางการรถไฟ บางครั้งงานที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วถูกน้ำป่าเซาะทลาย ก็ต้องเริ่มงานกันใหม่อีก ตลอดเส้นทางการสร้างทางรถไฟสายใต้นี้ต้องใช้คนทั้งหมดนี้หลายพันคน การสร้างทางรถไฟสายใต้นี้รัฐบาลในหลวงรัชกาลที่ ๕  ได้กู้เงินจากอังกฤษเพื่องานนี้โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ กระทำสำเร็จรูปมาจากอังกฤษ การสร้างสะพานก็ต้องส่งปูนซีเมนต์มาก่อเป็นคอสะพาน แล้วจึงส่งสะพานสำเร็จรูปซึ่งทำจากอังกฤษมาวางไว้ให้พอดี ขนาดของสะพานเหล็กนี้ มีตั้งแต่ ๓๐–๘๐ ตัน การลำเลียงปูนซิเมนต์และรางเหล็กจากเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ต้องลำเลียงโดยทางน้ำ และทางบกเป็นทอด ๆ ไป จนถึงอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ระหว่างการสร้างทางรถไฟสายใต้นี้ ได้สร้างมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “บ้านน้ำน้อย” (อยู่ครึ่งทางระหว่างหาดใหญ่–สงขลา) บ้านน้ำน้อยหรือตำบลน้ำน้อยเป็นชื่อรวม ตั้งอยู่ริมถนนกาญจนวานิชย์ ในสมัยก่อนโน้นบ้านน้ำน้อยมีแร่เหล็กมากมายจนได้ชื่อว่าชาวน้ำน้อยเป็นช่างเหล็กฝีมือดีแห่งหนึ่งของภาคใต้
       ต่อมาท่านได้ลาออกจากงานแล้วนั่งเกวียนไปสงขลา โดยตั้งใจจะพำนักอยู่สงขลาสักระยะหนึ่ง แต่กลับถูกขโมยขึ้นบ้านกวาดทรัพย์สินไปจนหมด ท่านจึงต้องเช่าเรือจากสงขลาล่องเรือย้อนกลับไปพัทลุงเพื่อหานายซี จื้อ ถิ่น ที่จังหวัดตรังซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายนั้นอยู่ ท่านจึงได้รับมอบหมายงานจากนายซี จื้อ ถิ่น ให้เป็นผู้ควบคุมทางรถไฟสายทุ่งสงอีกเป็นเวลา ๑ ปี ต่อมาก็ได้เป็นผู้ควบคุมทางรถไฟอีกหลายแห่ง
     ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ท่านได้รับเหมางานสร้างทางรถไฟช่องพัทลุงถึงร่อนพิบูลย์ ซึ่งมีช่วงเขาอันกันดารเป็นป่าทึบท่านรับเหมางานขุดดินเจาะอุโมงค์ลอดเขาจากนายซี จื้อ ถิ่น ซึ่งเป็นผู้รับเหมาต่อจากบริษัทต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยมีบริษัท เบอร์ลีย์ยุคเกอร์ จำกัด รับเหมาขุดเจาะอุโมงค์อยู่ก่อนแล้ว แต่คนงานรุ่นแล้วรุ่นเล่านับร้อย ๆ คนต้องประสบกับความตายจำนวนมาก เนื่องจากช่องเขาอันกันดาร เมื่อท่านได้มารับนี้ได้ใช้ความสุขุมรอบคอบในการควบคุมงานอย่างเต็มความสามารถ จนสามารถขุดอุโมงค์เสร็จได้ตามกำหนดเวลา ซึ่งอุโมงค์นี้ก็คือ “ชุมทางเขาชุมทอง” หลังจากนั้นแล้ว จึงเข้าควบคุมเส้นทางสายรถไฟสายฉวาง–ทุ่งสงต่อไปอีก ๒ ปี เมื่อเสร็จจากงานรับเหมาช่วงฉวาง–ทุ่งสงแล้ว ก็ได้รับเหมาทางรถไฟสายใต้ช่วงต่อไปอีก งานรับเหงาได้มาสิ้นสุดลงที่สถานีอู่ตะเภาซึ่งตั้งอยู่แถบคลองอู่ตะเภา ห่างจากที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ชุมทางสถานีอู่ตะเภาเป็นเส้นทางรถไฟ สายหาดใหญ่ในสมัยนั้นปัจจุบันใช้เป็นเพียงที่หยุดรถไฟ ระหว่างนี้ท่านได้เข้าสำรวจแหล่งแร่ดีบุก และวุลแฟรม ที่ต่อมาได้กลายเป็นธุรกิจหลักอีกสายหนึ่ง ก่อนที่จะมาเริ่มบุกเบิกหักร้างถางพงพื้นที่เมืองหาดใหญ่
 
      โดยในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้สร้างห้องแถวหลังคามุงจาก บริเวณมุมสี่แยกถนนธรรมนูญวิถี ถ่ายจากสถานนีรถไฟหาดใหญ่ไปยังเขาคอหงส์ ซึ่งปัจจุบันบริเวณแถบนี้ เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง ห้างสรรพสินค้าทั้งสองฟากฝั่งขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกสร้างเมืองหาดใหญ่คนแรก หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านได้มาพักอาศัยอยู่ที่ริมคลองอู่ตะเภา ข้างที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ แถบสถานีรถไฟอู่ตะเภานี้มีสภาพเป็นลุ่มน้ำท่วมเป็นประจำ ท่านเล็งเห็นว่าไม่เหมาะกับการตั้งสถานีและบ้านเรือนจึงได้ออกสำรวจหาแหล่งพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกบ้านเรือนอยู่อย่างถาวรต่อไป ซึ่งก็พบป่าเสม็ดแห่งหนึ่งมีผู้อาศัยอยู่บ้างประปราย “บ้านโคกเสม็ดชุน” อยู่ห่างจากที่ตั้งสถานีรถไฟอู่ตะเภาประมาณ ๓ กิโลเมตร ขุนนิพัทธ์ฯ จึงได้เริ่มซื้อขายต้นเสม็ดรายแรกเป็นจำนวน ๕๐ ไร่ เป็นเงิน ๑๗๕ บาท จากชาวบ้านผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณนั้น โดยผ่านนายหน้าช่วยติดต่อซื้อขาย คือ ผู้ใหญ่บ้านหนูเปียก จันทร์ประทีป และผู้ใหญ่บ้านพรหมแก้ว คชรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่โคกเสม็ดชุนแต่อาศัยอยู่ในละแวกบ้านหาดใหญ่ หลังจากที่ขุนนิพัทธ์ฯ ได้ซื้อที่ป่าต้นเสม็ดแล้ว ทางการได้ขอซื้อที่ดินส่วนหนึ่งต่อในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อทำเป็นย่านรถไฟ ได้ขอซื้อที่ถัดจากแนวทางรถไฟที่มีอยู่ก่อนแล้ว เริ่มจากด้านหลังของสถานที่หยุดรถไฟชั่วคราว “โคกเสม็ดชุน” หรือสถานีรถไฟหาดใหญ่ในปัจจุบัน กินเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างตลอดริมถนนธรรมนูญวิถีทั้งสองฟาก (หรือถนนเจียกีซีในสมัยนั้น) จรดสี่แยกถนนธรรมนูญวิถีติดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑
         ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ขุนนิพัทธ์ฯ ก็ได้โค่นต้นเสม็ดเพื่อปราบพื้นที่ให้กว้างใหญ่ไว้สร้างห้องแถวให้กับครอบครัวพร้อมเพื่อนบ้าน เริ่มด้วยการสร้างห้องแถวหลังคามุงจาก จำนวน ๕ ห้อง ต่อจากเขตย่านรถไฟ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด) ก่อนจะสร้างห้องแถว ขุนนิพัทธ์ฯ ได้วางผังเมืองไว้อย่างมีระเบียบ โดยการตัดถนนดินแดงขึ้นสายแรกอยู่ด้านหลังของสถานีรถไฟ ถนนสายนี้แรกว่า “ถนนเจียกีซี” พร้อมกันนั้นขุนพัทธ์ฯ ก็ได้ตัดถนนขึ้นอีก ๓ สาย คือ ถนนเจียกีซี ๑, เจียกีซี ๒, และเจียกีซี ๓ ตัดผ่านถนนเจียกีซีมีลักษณะเป็นตารางหมากรุก ต่อมา ถนนเจียกีเซีย ได้เปลี่ยนเป็นถนนธรรมนูญวิถี ถนนเจียซีกี ๑, ๒ และ ๓ ได้เปลี่ยนเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑, ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๒ , ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๓  ซึ่งชื่อ “นิพัทธ์” นี้เป็นชื่อราชทินนามของขุนนิพัทธ์จีนนคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ประชาธิปก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ การวางผังนี้ท่านได้ความคิดจากเมืองสุไหงปัตตานี ประเทศมลายู เนื่องจากสภาพเมืองสุไหงปัตตานีมีลักษณะคล้ายกับสภาพพื้นที่ที่ได้จับจองไว้ ห้องแถวจำนวน ๕ ห้อง โดยที่ห้องแรกสร้างด้วยเสาไม้กลมตัวบ้านฝาขัดแตะหลังคามุงจาก ห้องที่ ๒  เพื่อนของท่านได้เช่าทำโรงแรมมีชื่อว่า “โรงแรมเคี่ยนไท้” และ “โรงแรมยี่กี่” ส่วน ๓ห้องสุดท้ายนั้น ท่านใช้เป็นที่พักอาศัยและขายของชำ ในระหว่างที่ท่านและครอบครัวพร้อมทั้งเพื่อนบ้าน ได้ย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวสร้างใหม่นั้น ก็ยังคงมีการติดต่อกับชาวมลายูเสมอ แต่บริเวณที่ตนพักอาศัยนี้เคยเป็นป่าต้นเสม็ดไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ เพื่อเป็นการสะดวกในการติดต่อจดหมายกับชาวต่างประเทศ ท่านจึงได้ใช้ชื่อว่า “บ้านหาดใหญ่” ซึ่งเป็นชื่อละแวกบ้านใกล้เคียงเป็นสถานที่ติดต่อส่งจดหมายมายังจุดหมายปลายทาง ที่ปรากฏว่าลงได้ถูกต้อง หลังจากที่ทางการได้ซื้อที่ดินจากขุนนิพัทธ์ฯ ไว้บริเวณย่านรถไฟแล้ว อีก ๓ ปีต่อมา (ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐– ๒๔๖๑) ได้มีการเปลี่ยนป้ายสถานีโคกเสม็ดชุนมาเป็นสถานีรถไฟหาดใหญ่ แต่ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อป้ายของสถานีรถไฟใหม่นี้ ข้าราชการหลายท่านพร้อมทั้งปลัดเทศาภิบาล นายไปรษณีย์ ได้เชิญท่านไปปรึกษาหารือเกี่ยวกับการตั้งชื่อสถานีรถไฟ ท่านก็ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงการที่ตนเองมีการติดต่อจดหมายกับชาวมลายู และใช้ชื่อ “หาดใหญ่” เป็นสถานที่ติดต่อ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับการใช้ชื่อนี้จึงเสนอให้ใช้ชื่อ “สถานีหาดใหญ่” 
       ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการทำพิธีฉลองเปิดสถานีหาดใหญ่และตลาดหาดใหญ่ที่ท่านเป็นผู้เริ่มก่อตั้งและวางผังเมืองเอง ซึ่งในสมัยนั้นมีบ้านเรือนในตลาดหาดใหญ่กว่า ๑๐๐ หลังคาเรือนแล้ว ตลาดหาดใหญ่ได้เริ่มเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีการทำการค้ากับชาวมลายูมากขึ้นเมื่อวันที่ ๒-๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ท้องที่ตลาดหาดใหญ่ได้ถูกยกฐานะให้เป็นสุขาภิบาล ท่านขุนนิพัทธ์ฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วย ต่อมาเมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๘ ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลหาดใหญ่ และเมื่อ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๒ ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ก่อนที่ถูกยกเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้ย้ายครอบครัวจากห้องแถวริมถนนเจียกีซี หรือถนนธรรมนูญวิถีในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ฝั่งถนนเพชรเกษม แต่ท่านก็มิได้หยุดพัฒนาเมือง ช่วงสงครามเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นมาถึงหาดใหญ่ พร้อมกับขอใช้บ้านท่านเป็นฐานบัญชาการย่อย แต่ท่านไม่ยอมยกให้พร้อมกับต่อรองให้ใช้บ้านฝั่งตรงกันข้าม (อาคารสยาม-นครินทร์ในปัจจุบัน) ซึ่งนายทหารญี่ปุ่นก็ยินยอมเพราะต้องการมวลชนผู้ใหญ่ในท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการประสานกับประชาชน และหลังจากทราบเจตนารมณ์ของญี่ปุ่นแล้วว่า ต้องการเอาหาดใหญ่เป็นเพียงทางผ่าน ท่านจึงได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการ เพื่อแจ้งให้ประชาชนที่ตกใจหลบหนี กลับมาประกอบอาชีพตามปกติ ซึ่งประชาชนก็กลับมาแต่เศรษฐกิจหาดใหญ่ขณะนั้นแทบจะหยุดชะงักหมด เพราะผลของสงครามขณะที่ญี่ปุ่นได้ทยอยเข้ามาหาดใหญ่จำนวนมากหลายกองพัน โดยมาพักก่อนที่จะผ่านไปมาลายู พร้อมทั้งลำเลียงอาวุธหนักมาทางรถไฟ และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เครื่องบินรบของสหประชาชาติได้บินมาทิ้งระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ สร้างความเสียหายให้กับอาวุธ และเสบียงของญี่ปุ่น ที่จะลำเลียงให้มาลายูจำนวนมาก แต่ที่เสียหายมากสุดคือ การทิ้งระเบิดที่สงขลาที่ทำให้ประชาชนถูกลูกหลงตายจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นช่วงที่วิกฤติที่สุดทุกคนในหาดใหญ่เหมือนถูกตัดขาด จากโลกภายนอก เพราะการติดต่อระหว่างจังหวัดก็ไม่สามารถทำได้ชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็อาศัยชาวบ้านรอบนอก นำผักปลาอาหารมาขายดำรงชีพไปวัน ๆ ซึ่งดำเนินอยู่กระทั่งสงครามสงบสิ้น ในระหว่างที่ท่านและครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวสร้างใหม่นั้นได้ทำธุรกิจหลายอย่างกับชาวต่างชาติ อาทิ ธุรกิจโรงแรม บริษัทเหมืองแร่ ซื้อขายแร่และยางพารา มีความจำเป็นต้องติดต่อกับชาวต่างประเทศ และต้องมีชื่อสถานที่ติดต่ออย่างเป็นทางการ จึงได้ใช้ชื่อว่า "บ้านหาดใหญ่" สำหรับการติดต่อทางไปรษณีย์
       ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการเปิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ และตลาดหาดใหญ่ ต่อมาตลาดหาดใหญ่ได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาล ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ ได้ทรงพิจารณาถึงคุณงามความดีและกิตติศัพท์ในการพัฒนาตนเองและตลาดหาดใหญ่ จึงมีพระบรมโองการโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็น "ขุนนิพัทธ์จีนนคร" และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้น ๓ แก่ขุนนิพัทธ์จีนนคร และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเข็มอีก ๓๐ ชนิด ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านเมืองขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัทนิพัทธ์และบุตร ที่เป็นบริษัทของท่านได้คิดค้นวิธีการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางพารา โดยผลิตได้เดือนละ ๗๐,๒๘๐ ปีบ จำหน่ายราคาลิตรละ ๑-๒ บาท ใช้กันทั้งที่หาดใหญ่ สงขลา และประเทศเพื่อนบ้าน แต่คุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงเลิกผลิต ท่านได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ และได้รับอนุญาตให้ใช้ราชทินนามเป็นชื่อตัว คือ "นิพัทธ์" จากกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนนามสกุล "จิระนคร" จากกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗  ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ได้บริจาคทรัพย์และที่ดินให้กับหน่วยงานและสมาคมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และได้วางมือทางธุรกิจให้กับทายาทในปี พ.ศ.  ๒๔๙๗ 

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่

 

 

ภาพจาก Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่

ผลงาน/เกียรติคุณ

๑. ได้รับพระราชทานราชทินนาม "ขุนนิพัทธ์จีนนคร" จากพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒        
๒. ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้น ๓ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕         
๓. ได้รับแหนบตราพระอุเทนทราธิราช (ตราประจำตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร) เป็นคนแรกในปี  พ.ศ. ๒๔๘๖         
๔. ได้รับเข็มเครื่องหมายทองประดับเพชร (เครื่องหมายตอบแทนส่วนบุคคล) จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี)
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ขุนนิพัทธ์คนสร้างเมืองหาดใหญ่. 2560. สืบค้นวันที่ 17 พ.ค. 62, จาก amazinghatyai.com/khunnipatgodhaadyai/
ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี). 2554. สืบค้นวันที่ 17 พ.ค. 62, จาก  www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=24678.0
ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูลจิระนครผู้สร้างเมืองผู้สร้างเมืองหาดใหญ่. 2557. สืบค้นวันที่ 17 พ.ค. 62, จาก www.songkhlamedia.com/media/index.php?topic=2611.0
เพจ Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้ ที่นี้หาดใหญ่. 2562. สืบค้นวันที่ 15 พ.ค. 62,จาก https://www.facebook.com/pg/Thansorn/photos/tab=album&album_id=927514207269139
ลักษมี จิระนคร. 2528. ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้บุกเบิกหาดใหญ่ ยุคแรกสุด. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 6 (12), 122-129.
ลักษมี จิระนคร, "นิพัทธ์จีนนคร" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้  8 (2542), 3799-3805.
 ท่านขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้บุกเบิกหาดใหญ่ ยุคแรกสุด. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 6 (12), 122-129.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024