อิ่ม จิตต์ภักดีหรือหนังอิ่มเท่ง เกิดดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา ที่บ้านคลองช้าง ตําบลบางเหรียง อําเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา บิดาชื่อนายฉิม จิตต์ภักดี เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี มารดาชื่อนางพลัด จิตต์ภักดี ชาวบ้านคลองช้าง ตําบลบางเหรียง อําเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มีพี่น้อง ๒ คน คือฉิม จิตต์ภักดี และอิ่ม จิตต์ภักดี หนังอิ่มเท่งเป็นผู้มีความสนใจ การแสดงหนังตะลุงตั้งแต่เด็ก เริ่มแสดงหนังตะลุงแบบครูพักลักจำไม่มีใครสอนให้โดยตรง อาศัยความศรัทธาในการแสดงหนังตะลุงจึงได้สมัครเป็นศิษย์หนังหม้งแห่งบ้านชะรัด จังหวัดพัทลุง หนังหม้งได้ถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับการเล่นหนังตะลุงและพาครอบครูทำให้หนังอิ่มเท่งมีมานะฝึกฝนการแสดงมากยิ่งขึ้น ความมีปฏิภาณไหวพริบด้านการแสดงที่จับใจผู้ชมในการด้นกลอนสดที่พลิกแพลงสอดคล้องกับเหตุการณ์ทำให้คณะหนังตะลุง ที่มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบทตลกที่มี “เท่ง” เป็นตัวเอกนั้นแสดงได้ถูกใจประชาชน จนได้รับฉายาต่อท้ายชื่อ “หนังอิ่มเท่ง” อิ่ม จิตต์ภักดีหรือหนังอิ่มเท่ง มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ รับงานแสดงทั่วภาคใต้เป็นคณะหนังตะลุงที่ยังคงรักษาแบบฉบับหนังตะลุงรุ่นเก่าไว้เป็นอย่างดี การแสดงทุกเรื่องจะสอดแทรกคติธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีแก่ประชาชน และยังได้เข้าแข่งขันประชันหนังตะลุงไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ครั้ง จนได้รับรางวัลกลองทองคำ เสื้อสามารถ ถ้วยเกียรติยศ และขันน้ำพานรอง ฯลฯ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พุทธศักราช ๒๕๔๐
การศึกษา
ชีวิตในวัยเด็กของหนังอิ่มเท่ง ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากบิดาและมารดาจนอ่านออกเขียนได้ จึงได้เข้าเรียนที่วัดบางทีง ตําบลบางเหรียง อําเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบางกล่ำ (ปัจจุบันคือวัดชลธาราวาส) ตําบลบางเหรียง อําเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พออายุได้ ๑๘ ปี ได้บรรพชาที่วัดบางกล่ำ ตําบลบางเหรียง อําเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา จำนวนเวลา ๒ พรรษา สอบได้นักธรรมตรี จึงลาสิกขาบท เมื่ออายุ ๒๑ ปีก็เข้ารับการเกณฑ์ทหารได้เข้าประจําการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๕ ค่ายพระปกเกล้า ตําบลเขารูปช้าง อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ชีวิตครอบครัว
ชีวิตครอบครัวของหนังอิ่มเท่ง (อิ่ม จิตต์ภักดี) ได้สมรสกับนางสาวเนี่ยว คงสม เป็นชาวตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ ๒๗ ปี มีบุตรธิดาด้วยกัน ๘ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๔ คน มีชื่อเรียงตามลำดับดังต่อไปนี้
๑. นางถนอม ชูสวัสดิ์ อาชีพธุรกิจส่วนตัว |
๒. นายคุณากร จิตต์ภักดี อาชีพธุรกิจส่วนตัว |
๓. นางชะเอม ฉายกลิ่น อาชีพค้าขาย |
๔. นายวรานุวัฒน์ จิตต์ภักดี อาชีพรับราชการครู |
๕. นายธนวัฒน์ จิตต์ภักดี อาชีพรับราชการครู |
๖. นายธนวัฒน์ จิตต์ภักดี อาชีพรับราชการครู |
๗. นางเจษฏาภรณ์ เชื้อภูพาน อาชีพรับราชการครู |
๘. นายเพชรน้ำเอก จิตต์ภักดี อาชีพรับราชการ |
๙. นางฉะอ้อน ศรีสว่าง อาชีพค้าขาย |
ชีวิตครอบครัวหนังอิ่มเท่ง (อิ่ม จิตต์ภักดี) เป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของการศึกษาและยึดมั่นในคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ได้หมั่นเอาใจใส่อบรมสั่งสอนบุตรธิดาให้เป็นผู้ที่รับผิดชอบ ชั่วดี มีความประพฤติที่ดีงามและเหมาะสมกับวัย ได้ส่งเสริมบุตรธิดาทุกคนให้ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี
เส้นทางของนายหนังตะลุง
หนังอิ่มเท่ง มีความสนใจเกี่ยวกับหนังตะลุงมาตั้งแต่เด็ก โดยปกติจะเป็นคนที่ชอบดูหนังตะลุงมาก เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี สามารถเล่นหนังตะลุงได้ โดยเริ่มหัดหนังตะลุงจากการไปชมหนังตะลุงมา เพราะหลังจากไปดูหนังตะลุงมาเด็กชายอิ่มจะกลับมาทบทวนด้วยตัวเองเสมอแต่ก็ไม่เคยได้ฝึกหัดแบบจริงจัง หลังจากแต่งงานแล้วเกิดชอบหนังตะลุงขึ้นมาอีก จึงได้ปลูกโรงหัดหนังขึ้นในบ้าน โดยไม่มีครู แต่อาศัยประสบการณ์ที่เคยดูหนังมามาก ตลอดจนวัยและความนึกคิดที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว จึงทําให้หัดหนังตะลุงได้รวดเร็ว ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหนังหม้งซึ่งอยู่ที่บ้านชะรัด อําเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง หนังหม้งได้ครอบครูและยื่นรูปให้ตามธรรมเนียมของ นายหนังตะลุงหัดใหม่ ที่จะแสดงได้จะต้องมีครูจึงจะถือว่าเป็นนายหนังโดยสมบูรณ์ หนังอิ่มเท่ง หัดหนังได้ไม่นานก็ออกโรงแสดงครั้งแรกที่บ้านไทรใหญ่ ตําบลรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับความนิยมจากคนดูพอสมควร
ภาพจาก : https://www.hatyaitoday.com/dcp-culture/
ประสบด้านการแสดงหนังตะลุง
หนังเท่ง ได้แสดงหนังตะลุงมาหลายครั้งจนมีชื่อเสียง แต่การแสดง ครั้งสําคัญของท่านมีอยู่ ๓ ครั้ง ด้วยกันคือ
๑. การแสดงที่วัดวาแฉ้ บ้านหนองไทร จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นการแสดงหนังตะลุงแข่งกับในราเติม วิน-วาด เป็นครั้งแรก |
๒. การแสดงที่งานวัดปากคลอง จังหวัดตรัง ชาวบ้านใกล้เคียงจากบ้านโพรงจระเข้ และบ้านในควน ตลอดจนบ้านสํานักต้นแบกมาร่วมงานกันเป็นจํานวนมาก |
๓. ได้รับเกียรติให้ไปแสดงในงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ที่สถาบันราชภัฏ สงขลา ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีผู้ชมจากทั่วทุกภาค นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติและตัวแทนคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลาได้ไปนั่งชมด้วย หลังจากจบการแสดงได้มีตัวแทนจากคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา มานั่งสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและชื่นชมในผลงานหนังตะลุงของหนังอิ่มเท่ง จึงเสนอชื่อและผลงานของหนังอิ่มเท่ง ต่อคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ให้ได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นจากสมาพันธ์หนังตะลุงจังหวัด สงขลา |
เกียรติยศที่ได้รับ
- พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับการยกย่องจากสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็น “ศิลปินพื้นบ้านดีเด่น” สาขาหนังตะลุง |
- พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับการยกย่องจากสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) |
หนังอิ่มเท่ง เป็นนายหนังตะลุงที่มีความสามารถในการเล่นหนังตะลุงเป็นอย่างดียิ่ง ผลงานด้านหนังตะลุงเป็นที่ประจักษ์และยอมรับของคนทั่วไป ทั้งที่เป็นการแสดงหนังตะลุงการถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่ศิษย์และการประพันธ์วรรณกรรม เพื่อการแสดงหนังตะลุง จนทําให้เป็นนายหนังที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของภาคใต้ และได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จากสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติประวัติที่สําคัญยิ่งในชีวิต อิ่ม จิตต์ภักดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พุทธศักราช ๒๕๔๐ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๔ พ.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ ๑๑.๑๔ น. ณ บ้านพัก ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เนื่องจากโรคชรา ด้วยอายุได้ ๙๙ ปี
ภาพจาก : https://www.hatyaitoday.com/dcp-culture/
หนังอิ่มเท่ง เป็นผู้ที่มีความสามารถในการแสดงหนังตะลุง อย่างแท้จริง ได้ใช้ชีวิตการเป็นศิลปินอยู่ในแวดวงของการแสดงหนังตะลุง มาเป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี ได้สั่งสมประสบการณ์ด้านหนังตะลุงไว้มาก มีลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่ท่านรู้จักจนทําให้ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย ผลงานและรางวัลที่ได้รับดังกล่าวถือเป็นเกียรติยศ ทําให้หนังอิ่มเท่ง ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ และรางวัลต่าง ๆ มากมาย พอสรุปได้ดังนี้
๑. กลองทอง ได้รับจากการแข่งขันหนังตะลุงจังหวัดตรัง |
๒. ขันน้ำพานรอง ได้จากการแข่งขันหนังตะลุงในจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ ๑๕ ใบ |
๓. จอแพร ได้จากการแข่งขันหนังตะลุงในจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ ๑๕๐ จอ |
๔. ถ้วยเกียรติยศ ได้จากการแข่งขันหนังตะลุงในจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ ใบ |
๕. โล่เกียรติยศ ได้จากการแข่งขันหนังตะลุงในจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ ๒๕ ใบ |
๖. เสื้อสามารถ ได้จากการแข่งขันหนังตะลุงในจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ ๑๐ ตัว |
จุไรรัตน์ จันทรวงศ์. (2550). ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา. สงขลา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด.
เปิดประวัติ “อิ่ม จิตต์ภักดี” ศิลปินแห่งชาติการแสดงหนังตะลุง “หนังอิ่มเท่ง”. (2563). สืบค้นวันที่ 8 ต.ค. 64, จาก https://www.hatyaitoday.com/dcp-culture/