พระธรรมโมลี (เกตุ ติสฺสโร) มีนามเดิมว่าเกตุ นามสกุลธรรมรัชชะ เกิดเมื่อปีระกา ตรงกับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๔๐ ที่บ้านเลขที่ ๒ ถนนยะหริ่ง ตําบลบ่อยาง อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของนายเฉ่งเซ่ง และนางโบ้ยเลี่ยน ธรรมรัชชะ มีพี่น้อง ๒ คน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีฉายาว่าติสฺสสโร ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจังโดยศึกษาภาษาบาลี นักธรรมที่วัดจักรวรรดิฯ กรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี
การศึกษา
- อายุได้ ๑๐ ขวบ เข้าเรียนเป็นนักเรียนมัธยมรุ่นแรก ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า คลองขวาง เรียนจบมัธยมปีที่ ๓ |
- อายุ ๑๕ ปี จากนั้นได้บรรพชาที่วัดเลียบ อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา อีก ๑ ปีต่อมาก็ไปเป็นครูสอนภาษาไทย ที่โรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของเมืองไทยคือ โรงเรียนประชาบาลระโนด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (สมัยก่อนระโนดอยู่ในเขตอําเภอสทิงพระ) |
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ อุปสมบทเป็นพระภิกษุสอบ ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค |
- พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค |
สมณศักดิ์และตำแหน่งทางคณะสงฆ์
- พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดเลียบ อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา |
- พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นเจ้าคณะอําเภอจะนะและอําเภอเทพา จังหวัดสงขลา |
- พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้เป็นเจ้าคณะอําเภอเมืองสงขลา และได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระครูวิจิตรคณารักษ์ |
- พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้เป็นเจ้าคณะมณฑลปัตตานี และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระญาณโมลีธรรมวาทีสุนทร |
- พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชที่พระราชพระญาณโมลีธรรมวาทีสุนทร |
- พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นเทพที่พระเทพญาณโมลี |
- พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมโมลี |
พระธรรมโมลี (เกตุ ติสฺสโร เป็นพระเถระที่มีอายุยืนยาว และมีพรรษากาลสูง มีความจําดีเยี่ยม ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ มีอายุได้ ๑๐๐ ปี ๒ เดือน ๒๒ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งทรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นประธานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ณ เมรุชั่วคราวสนามศักดิ์เสนี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี
ด้านการบริหารกิจการคณะสงฆ์และการศึกษา
พระธรรมโมลี (เกตุ ติสฺสโร) นอกเหนือจากจะเป็นนักเทศน์ที่มีโวหารคมคาย สามารถสาธกนิทานขึ้นมาประกอบข้อธรรมะ แล้วสอดแทรกคําประพันธ์ประเภทโคลง ฉันท์ กาพย์ เป็นทํานองสุภาษิตได้อย่างกลมกลืนและเข้าใจง่ายแล้ว ยังได้ทําประโยชน์ในด้านการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในภาคใต้ ตลอดถึงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ อาทิ ได้จัดการเรียนการศึกษาที่รัฐไทรบุรี และเมืองตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเชีย โดยสุลต่านมาเลย์ อาราธนาให้ไปจัดการ ส่วนการจัดการด้านการศึกษาที่สิงคโปร์ ได้รับมอบอํานาจจากสมเด็จ พระสังฆราช (ปลด) นอกจากนี้ ยังเป็นคณะกรรมการบริหารคณะสงฆ์ไทยในมาเลเชียด้วย แม้ว่าจะคลุกคลีอยู่กับกิจกรรมทางพุทธศาสนาอันเป็นกิจของสงฆ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสนใจห่วงใยถึงอนาคตทางการศึกษาของเด็กโดยเป็นผู้นําคนแรกที่เร่งรัดให้ทางรัฐบาลฝ่ายการศึกษาได้จัดการศึกษา โดยการสร้างโรงเรียนเทศบาลขึ้นแห่งหนึ่งปัจจุบันคือโรงเรียนเทศบาล ๒ โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่มีการสอนภาษาไทยเป็นแห่งแรกในปัตตานี ทําให้ชาวไทยมุสลิมสามารถอ่าน เขียนภาษาไทยได้ เพราะทางโรงเรียนไม่จํากัดศาสนา และในวันหยุดก็มีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ใครสนใจก็สมัครเรียนได้ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้สูงอายุ
ด้านกวีนิพนธ์
พระเทพญาณโมลีได้ประพันธ์บทกวีต่าง ๆ รวมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองไว้มาก ร้อยกรองที่มีชื่อของท่าน คือเรื่องมหาสุบินคําฉันท์ ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่และยังมีโคลงเรื่องวีรบุรุษและวีรสตร์ซึ่งพิมพ์ในหนังสือทักษิณพจน์ ซึ่งเป็นหนังสือประมวดบทร้อยกรองของกวีชาวใต้ และในอดีตท่านยังเขียนบทความทางด้านการครองชีวิตที่มีคติธรรมแฝงอยู่ลงในวารสาร “รูสมแล” อย่างสม่ําเสมอ ในคอลัมน์ “ของฝากจากพระเทพญาณโมลี” พระเทพญาณโมลีท่านได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุหลายอย่าง ตั้งแต่บวชเป็นสามเณรจวบจนเป็นพระญาณโมลี ท่านเล่าถึงเหตุผลหนึ่งที่ต้องรวบรวมวัตถุไว้ว่า....ของบางอย่างชาวบ้านเขาจะเอาไปทิ้งอาตมาเห็นก็เลยขอมาเก็บไว้ คิดว่าบางที่มันอาจจะมีความสําคัญต่อคนรุ่นต่อไป...
มัลลิกา คณานุรักษ์. (2545). บุคคลสำคัญของปัตตานี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.