พระยาตานี (ขวัญซ้าย)
 
Back    31/01/2022, 14:17    1,288  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

     

        พระยาตานี (ขวัญซ้าย) เป็นบุตรของนายเค่ง (ชาวจีนแผ่นดินใหญ่) ได้อพยพมาอยู่เมืองสงขลาและได้แต่งงานกับหญิงสาวเมืองสงขลา มีบุตร ๒ คน คือนายขวัญช้ายกับนายพ่าย ต่อมานายเค่งได้ช่วยงานราชการในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยการเสนอของพระยาสงขลา (บุญฮุ้ย) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทรงแต่งตั้งนายเค่งให้เป็นพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะ ต่อมาพระมหานุภาพปราบสงครามได้ถวายตัวนายขวัญซ้าย บุตรชายคนโตให้เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๑ ที่กรุงเทพฯ ต่อมาพระยาสงขลาได้กราบบังคมทูลขอตัวนายขวัญซ้ายมหาดเล็กมารับราชการในตําแหน่งปลัดเมืองจะนะ คอยช่วยเหลือพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้เป็นบิดาที่ชราภาพแล้ว โดยนายขวัญช้ายได้ให้นายพ่ายน้องชายช่วยกันฝึกอบรมชาวเมืองจะนะทั้งไทยและจีนให้มีความรู้ความชํานาญในการใช้อาวุธป้องกันตัว ในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ เกิดความไม่สงบที่เมืองปัตตานี โดยระตูปะกาลันมีปัญหาขัดแย้งกับข้าราชการที่เรียกว่า “ลักษมณาดายัน” (ลักษมณาเป็นตําแหน่งขุนนางไทยสมัยก่อน) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารบ้านเมืองปัตตานีสมัยนั้น จนถึงขั้นเกิดการต่อสู้กันทางราชการ จึงได้ให้นายขวัญซ้ายปลัดเมืองจะนะไประงับการพิพาทดังกล่าวจนเหตุการณ์สงบ ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ ๑ จึงมีพระราชดําริให้แบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายขวัญซ้ายเป็นเจ้าเมืองปัตตานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๑  โดยเรียกผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี ขึ้นตรงต่อผู้สําเร็จราชการเมืองสงขลา นับเป็นเกียรติประวัติที่นายขวัญซ้ายคนไทยเชื้อสายจีน (พ่อเป็นจีนแม่เป็นไทย) ได้รับตําแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาตานีได้ปกครองเมืองปัตตานีนานประมาณ ๘ ปีเศษ และได้ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๓๕๘


ผลงานสำคัญ

       พระยาตานี (ขวัญซ้าย) ได้สร้างผลงานไว้ที่เมืองปัตตานีในช่วงที่เป็นผู้ว่าราชการเมืองนั้นมีมากมายหลายประการ อาทิ ท่านได้ดำเนินการการสํารวจภูมิประเทศเพื่อปักปันเขตแดนเมืองทั้ง ๗ คือเมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองหนองจิก เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสาย และเมืองยะลา ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง ๖ เดือนกว่าจะสําเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) นอกจากนี้พระยาตานี้ยังได้ปรับปรุงกิจการท่าเรือให้กลับกลายเป็นศูนย์การค้าแร่ดีบุก เกลือ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทําให้พ่อค้าเรือสําเภาชาวจีน และอีกหลายชาติเข้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น ช่วยทําให้เศรษฐกิจของเมืองปัตตานีฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว     ส่วน ผลงานด้านการปกครองพระยาตานีได้ยึดนโยบายเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ เพื่อขจัดความหวาดระแวงที่มีต่อกัน ทําให้เกิดความรู้สึกที่เป็นมิตรเกิดน้ําหนึ่ง ใจเดียวในการร่วมแรงร่วมใจเพื่อพัฒนาบ้านเมือง จนเมืองปัตตานีเจริญก้าวหน้าและเกิดสันติสุข 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พระยาตานี (ขวัญซ้าย)
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


บรรณานุกรม

มัลลิกา คณานุรักษ์. (2545). บุคคลสำคัญของปัตตานี.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024