พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ หรือพุทธทาสภิกขุ) (Phra Dharmakosacarya or Buddhadasa Bhikkhu)
 
Back    12/07/2018, 09:11    78,860  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

       พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสวนโมกขพลารามเพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถาน ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนามพุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ที่วัดบ้านเกิดจากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ท่านได้ตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านพร้อมปวารณาตนเองเป็นพุทธทาส อันเนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด ท่านพุทธทาสภิกขุมีนามเดิมว่าเงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หรือวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งขณะนั้นพุมเรียง  ยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านได้อพยพจากมณฑลฝูเจี้ยนในประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น “พานิช” เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่างบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย ซึ่งเมื่อท่านได้มาประจำที่สวนโมกขพลาราม การก่อสร้างประเภทงานไม้ส่วนใหญ่เกิดจากการสร้างสรรค์ของท่านและพระสงฆ์ และนอกเหนือจากนี้บิดาของท่านยังมีความสามารถในทางบทกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งผลและมีอิทธิพลต่อตัวท่านพุทธทาสเป็นอย่างมาก โดยที่ผลงานธรรมะของท่านส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะซาบซึ้ง ซึ่งสามารถดึงดูดใจให้ผู้อ่านได้เข้าถึงอรรถรส และเนื้อหาของธรรมะได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนมารดาของท่านชื่อเคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตาของท่านชื่อเล่ง มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ซึ่งมีอิทธิพลต่อท่านในวัยเด็กเป็นอย่างมาก และทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุปัจจัยที่ครอบครัวฝ่ายมารดาท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ส่งผลมายังท่าน โดยได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ บิดามารดาได้พาท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดใหม่หรือวัดพุมเรียง ซึ่งเป็นวัดที่บรรพบุรุษในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมาเป็นเวลา ๓ ปี ธรรมเนียมโบราณก่อนที่จะมีโรงเรียนสามัญนั้นพ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้ไปอยู่ที่วัด เพื่อจะได้รับการศึกษาขั้นต้นตามแบบโบราณ รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา รวมทั้งจะฝึกหัดการอาชีพต่าง ๆ ท่านพุทธทาสภิกขุเองได้เล่าถึงชีวิตช่วงที่ตนเองครั้งที่อยู่วัดไว้ว่า

       "ผมออกจากบ้านไปอยู่วัดเมื่ออายุ ๘--๑๐ เรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัด อายุ ๑๑ ปี ได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน สมัยก่อนมันเป็นธรรมเนียมเด็กชายต้องอยู่วัดกันทั้งนั้น แต่ละวัดมีเด็กเป็นฝูง จะไปอยู่วัดก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์พระ ทางวัดเขาก็จะมอบหน้าที่ให้อาจารย์องค์หนึ่งหรือสององค์ให้คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน คอยควบคุมให้เด็กมันได้กินกันเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วให้มันได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมอะไรบ้าง ในเรื่องไหว้พระสวดมนต์ เรื่องอุปัฏฐากพระเป็นเวรผลัดกันตักน้ำ ขาดไม่ได้ ทำสวนครัวริมสระ ยกร่องปลูกมัน ทำกันทั้งนั้น อาหารนั้นข้าวก็ได้จากบิณฑบาต ส่วนแกงนี่ทางบ้านเขาจะส่งเป็นหม้อเขียว ๆ ของบ้านใครเด็กคนนั้นก็ไปเอามา หม้อแกงจึงมีมาก ข้าวก็พอฉัน แกงก็พอ บ้านพุมเรียง ข้าวปลามันอุดมสมบูรณ์ “.

       เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ ท่านพุทธทาสภิกขุได้กลับมาอยู่ที่บ้าน และเข้าเรียนที่วัดโพธาราม หรือวัดเหนือ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่สอนแบบแผนใหม่ ใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยนั้นจะมีการเกณฑ์พระภิกษุจากทั่วประเทศไปอบรมวิชาครูที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกลับมาสอนยังท้องถิ่นเดิมของตน ซึ่งที่โรงเรียนวัดโพธารามก็มีครูที่ไปอบรมในครั้งนั้นด้วย เช่น ครูวัลย์ ครูทับ สุวรรณ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุได้มีโอกาสเล่าเรียนกับครูเหล่านั้นด้วย ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนชั้นประถมที่วัดโพธาราม จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ก็ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ซึ่งตั้งอยู่ในตัวตลาดไชยา ทำให้ท่านต้องจากบ้านที่พุมเรียงมาพักอยู่กับบิดา ซึ่งได้เปิดร้านค้าอีกแห่งเพื่อขายข้าวเปลือกที่ตลาดไชยา ในบางครั้งท่านต้องรับหน้าที่ลำเลียงสินค้าจากบ้านที่ไชยา ไปบ้านที่พุมเรียง ซึ่งเรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าไว้ว่า

       “ขาย ๒ ร้าน ต้องมีเกวียนผมต้องขับเกวียนบ้าง ต้องเลี้ยงวัวบ้าง แต่เขาก็มีผู้ใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เลี้ยงวัวขับเกวียนนะ แต่บางทีผมแทรกแซง นี่สนุกไปเลี้ยงวัวแถบทางรถไฟนี่สนุก รื้อก้อนหินทางรถไฟ หาจิ้งหรีดอยู่ใต้นั้น มันชุม ให้วัวกินหญ้าไปพลางอยู่ที่ทางรถไฟตรงที่เอียง ๆ ลงมา ความจริงเขาห้าม ผิดระเบียบ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เพราะหญ้ามันมี วัวมันชอบกินหญ้าแถวนั้น บางทีมันก็ขึ้นไปกินข้างบน ๆ ต้องไล่ลง เจ้าหน้าที่เขาจะดุ ถ้าเลี่ยงลงมาช้า ๆ เขาไม่ดุ ถ้าผู้ใหญ่ที่เป็นคนเลี้ยงโดยตรงไม่ไป เราก็ดูให้จนเย็น หมดเวลาเขาจึงมารับเอากลับไป

       เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม. ๓ ในปี พ.ศ.  ๒๔๖๕ บิดาของท่านก็เสียชีวิตไปด้วยโรคลมปัจจุบัน ทำให้ท่านต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยมารดาทำการค้าขาย และส่งน้องชายซึ่งในขณะนั้นบวชเป็นสามเณรให้มีโอกาสได้เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี  การช่วยทางบ้านเป็นงานที่หนักมาก แต่ท่านก็ไม่ท้อถอยและหาวิธีพักผ่อนหย่อนใจด้วยการออกหาอาหารทะเล การเลี้ยงปลากัดและการฝึกเล่นดนตรี แม้มารดาของท่านจะถือว่าดนตรีเป็นของไม่ดีก็ตาม ในส่วนของการเลี้ยงปลากัดนั้น ท่านทำได้ดีถึงขนาดนักเลงปลากัดได้มาแอบขโมยเอาปลากัดของท่านไปท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ว่า

       “ผมไม่เพียงแต่ขายของเป็นกรรมกรด้วย แบกของไปส่งตามบ้านเขา อย่างบ้านข้าราชการนี่เขาซื้อน้ำมันก๊าดปี๊บหนึ่งนี่ เราก็ต้องแบกไปส่งให้ ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีรถรา มันก็ยุ่ง ทำงานหนักด้วย กระทั่งต้องผ่าฟืนทั้งหมดที่ใช้ในบ้าน อย่างโยมเขาซื้อไม้โกงกางมาทั้งลำเรือ เราต้องเลื่อยให้มันเป็นท่อน แล้วผ่าจนหมด จนเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเสร็จ ผ่าไม้โกงกางนี่ก็สนุก มันกรอบ เอาขวานแตะมันกระเด็นออกไป หรือบางทีเอาขวานวางหงาย เอาไม้ซัดลงไปมันก็แตก มันก็สนุก บางเวลาขอยืมอวนที่โรงโป๊ะนั่นเอง เพื่อลากปลาตรงโรงโป๊ะ ลากขึ้นมาบนหาดทรายครั้งเดียวกินไม่ไหว มีครบ ปูม้าก็มี ปลาหมึกก็มี ปลาอะไรก็มี มีหลายอย่าง ปลาหมึกแบบกระดองแข็ง ที่เขาเอามาทำยาสีฟันผงหมึกก็มี ชนิดกระดองแข็งนะ เอามาต้มทั้งเป็น ๆ มันกรอบไม่น่าเชื่อเลย กรอบเกือบเท่าลูกสาลี่กรอบ กรอบกร้วมเลย กินโดยไม่ต้องมีน้ำจิ้มก็อร่อย กินปลาหมึกกับกาแฟก็ยังได้ ผมมีวิธีชนิดที่ทำให้ปลากัดเก่งไม่มีใครสู้ได้ ตัวไหนเลือกดูให้ดี ดูมันแข็งแรงอ้วนท้วนดี เอาใส่ลงในบ่อกลม ๆ แล้วเอาตัวเมียใส่ขวดแก้วผูกเชือกแล้วหย่อนลงไป พอไอ้ตัวผู้เห็น มันวิ่งเลย วิ่งรอบบ่อ มันยิ่งกว่าออกกำลัง ทำไป ๓-๔ วันเท่านั้นตัวก็ล่ำ ตาเขียว ครีบหนา กัดมือเอาเลยถ้าไปจับ อย่างนี้ถ้าเอาไปกัดชนะแน่ มีนักเลงปลากัดมาลักเอาของเราไป ผมมาเห็นเอ๊ะ ปลาตัวนี้หายไปตัวอื่นมาแทน ผมถามว่าใครมาที่นี่ โยมบอกชื่อว่าคนนั้น ๆ ซึ่งเป็นนักกัดปลาอาชีพ เขามาขโมยเปลี่ยนของเราไป เอาไปกัดแล้วชนะจริง ๆ อีกอย่างที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่มีโอกาสฝึกก็คือดนตรี มันชอบเอง นายธรรมทาสเขาไม่ชอบเลย รู้สึกจะเกลียดเสียด้วยซ้ำ แต่ผมนี้ชอบดนตรี ชอบเพลง อย่างเรียกว่าสุดเหวี่ยงเลย แต่โยมห้ามไม่ให้เอาเครื่องดนตรีขึ้นไปบนเรือน ผมจึงไม่ค่อยได้หัดมีบ้านที่เขาหัด เราก็ลองไปดูไปหัด ผมชอบง่าย ๆ ชอบขลุ่ย ชอบออแกนที่โยกด้วยมือ มันง่าย มันเป็นนิ้วเป็นโน้ต ถ้าเราร้องเพลงอะไรได้ เราก็ทำเสียงอย่างนั้นได้ แต่ฝึกไม่ได้เพราะมันอยู่ที่โยม ต้องเอาไปคืนเจ้าของ

 

 

       การได้อยู่วัดของท่านทำให้ท่านมีความรู้เรื่องยาโบราณและสมุนไพรอย่างมาก นอกจากนี้ท่านยังได้หัดชกมวย เนื่องจากเมืองไชยาเป็นแหล่งมวยที่มีชื่อเสียงในด้านชกที่สง่าสวยงามคือมวยไชยา ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องร่วมท้องอีก ๒ คน มีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ ๓ ปี และ ๖ ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชายชื่อยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านชื่อกิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่ที่บ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี และใช้นามสกุลสามีว่า “เหมะกุล” เมื่อท่านอายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้เข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์ (บวช) เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ ที่วัดอุบลหรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง โดยมีพระอุปัชฌาย์คือพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และพระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสได้รับฉายาว่า อินฺทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ การบวชของท่านพุทธทาสเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี และท่านเองไม่คิดที่จะบวชแบบไม่สึก ดังที่ท่านปัญญานันทภิกขุ อ้างถึงคำพูดของท่านพุทธทาสภิกขุก่อนที่จะบวชไว้ว่า...“เรื่องบัญชี บัญน้ำ เก็บไว้ก่อน เมื่อสึกออกมาแล้วค่อยมาทำต่ออีก”......  ท่านพุทธทาสเล่าถึงมูลเหตุการบวชของตนเองไว้ดังนี้ 

       “เท่าที่นึกได้ เท่าที่จำได้นี่ เขาปรึกษากันบ่อยๆ ในหมู่ผู้ใหญ่ อย่างว่าเวลาอามาพบ ก็จะปรึกษากันเรื่องอยากให้บวช ป้า น้า ญาติพี่น้องก็ปรึกษากันอยากให้บวช แต่จำไม่ได้ว่ามีประโยคที่โยมพูดว่าบวชเถอะ ๆ เราตามใจเขา เราแล้วแต่เขา ความรู้สึกรักษาประเพณีมันทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา มันรู้สึกคล้าย ๆ กับว่าไม่ครบหรือไม่สมบูรณ์ถ้าไม่เคยบวช มันจึงยินดีที่จะบวช คำสั่งให้บวชหรือคำชี้แจงแนะนำอย่างโดยตรงก็ไม่เคยได้รับ แต่มันรวมพร้อมกัน จากการได้ยินบ่อย ๆ ได้รับความรู้สึกบ่อย ๆ แปลกเหมือนกัน ถ้าจะเอากันจริง ๆ ว่าใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นคนรับ ใครเป็นคนแนะนำมันไม่มี มันนึกไม่ออก ที่ถูกมันเป็นความเห็นพ้องกันหมดว่าต้องบวช ควรบวช แต่นี่มันรู้แน่ ๆ ก็คือความประสงค์อย่างยิ่งของโยม แต่คำสั่งนั้นไม่เคยได้รับ คำขอร้องก็ไม่เคยได้รับ ส่วนความคิดของตัวเองนั้นผมคงเห็นว่าบวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ ตามพันธสัญญาก็จะบวชให้โยม ๑ พรรษา คือ ๓ เดือน คนหนุ่มสมัยนั้นเมื่ออายุครบบวชก็บวชกันเป็นส่วนมาก” 

       “ผมออกหนังสือพิมพ์เถื่อนเป็นกระดาษฟุลสแก๊ป ๒ คู่ มันเป็นเรื่องสนุกเท่านั้น เราเขียนก่อนสวดมนต์ตอนค่ำ พอพระสวดมนต์เสร็จ เราก็เอามาให้อ่านกัน เขาอ่านแล้วหัวเราะ วิพากษ์วิจารณ์กันเรามีความอวดดีที่จะทำให้คนอื่นเขาหัวเราะได้ รู้สึกว่ามันทำให้เพื่อนสบายใจ จิตมันเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ได้คำนึงถึงสาระอะไรในตอนแรก

ภาพสืบค้นจาก : http://www.bia.or.th/html_th/site-content/65-archives/746-00.html

       ตามที่กล่าวแล้วว่าท่านพุทธทาสตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง ๓ เดือนเท่านั้น แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตเป็นพระแล้วความยินดีในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการเอาอกเอาใจจากพุทธบริษัทรอบข้าง ทำให้ท่านพุทธทาสไม่มีความคิดที่จะลาสิกขาออกมาครองเพศฆราวาสอีกต่อไป รวมทั้งพระภิกษุในวัดหลายรูปเห็นว่าท่านพุทธทาสเรียนหนังสือเก่งและเทศน์ดี จึงสนับสนุนให้ท่านอยู่ที่วัดต่อไป เพื่อเป็นกำลังในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เล่ากันว่าเจ้าคณะอำเภอเคยถามท่านพุทธทาสว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า......"ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด แต่ถ้ายี่เกยจะบวชผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย”  ท่านเจ้าคณะอำเภอจึงไปคุยกับโยมแม่ของท่านว่าท่านควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนน้องชายของท่านนั้นไม่ต้องบวชก็ได้เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้วคือเป็นคนมักน้อยสันโดษ การกินอยู่เรียบง่าย และตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้นี้ทำให้นายธรรมทาส น้องชายของท่านไม่ได้บวช โดยยอมละทิ้งการศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมารับผิดชอบหน้าที่ทางบ้านและให้ท่านพุทธทาสบวชเป็นพระต่อไป ชีวิตสมณเพศในพรรษาที่ ๒ ของท่านไม่ต่างจากพรรษาแรกมากนัก ท่านได้ศึกษานักธรรมต่อ และสอบได้นักธรรมโทในพรรษานี้ เมื่อออกพรรษาได้ไม่นานช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๑ อาเสี้ยงน้องชายของบิดาท่านได้ส่งเสริมและผลักดันให้ท่านไปศึกษาทางธรรมต่อที่กรุงเทพฯ ท่านพุทธทาสพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

       “ออกพรรษาแล้วไม่นาน ก็เดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อาที่ชุมพรเป็นคนยัดเยียดให้ไป มันเป็นธรรมเนียมโดยมากด้วยว่าเมื่อได้นักธรรมโทแล้ว ถ้าจะเรียนต่อ เป็นโอกาสที่พอเหมาะพอดีที่จะเข้ากรุงเทพฯ พระครูชยาภิวัฒน์ (มหากลั่น) ซึ่งอยู่ทางโน้นก็เห็นว่าดี อาที่ชุมพรมีส่วนยุที่สำคัญอยากให้เรียนมาก ๆ เพื่อเป็นเกียรติเป็นอะไรของวงศ์ตระกูลมากกว่าแต่แกไม่มีความคิดว่าจะไม่ให้สึก ถึงแม้จะสึกก็ให้เรียนมาก ๆ เข้าไว้หลายปี คงจะดีกว่ารีบสึก

       ท่านพุทธทาสภิกขุได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ที่วัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร โดยอาศัยกับพระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับท่านและได้มาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน สำหรับท่านพุทธทาสซึ่งไม่เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ มาก่อนเลยมีความคิดว่ากรุงเทพฯ นั้นคือเมืองที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งด้านพระศาสนา เนื่องกรุงเทพฯเป็นแหล่งความรู้ด้านปริยัติที่เจริญมาก ท่านจึงวาดภาพไว้ว่าพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ จะต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยถึงขนาดคิดว่าจะมีพระอรหันต์อยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ  ซึ่งเรื่องนี้ท่านเล่าไว้ว่า

       “ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ เราก็เคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ มันไม่เหมือนที่บ้านเรา พระกรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ ๙ ประโยค คือคนที่เป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป เคยคิดว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ควรจะถือเป็นตัวอย่าง เคยนึกว่าพระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ก่อนไปกรุงเทพฯ มันคิดอย่างนั้น

       แต่กรุงเทพฯ ที่ท่านพบเห็นนั้นมันชั่งห่างไกลจากกรุงเทพฯ ที่ท่านจินตนาการไว้อย่างลิบลับเหลือเกิน ท่านพุทธทาสรู้แจ้งประจักษ์ชัดกับตนเองว่าศีลาจารวัตรของพระภิกษุสามเณรเมืองกรุงนั้นออกนอกลู่นอกทางยิ่งกว่าพระภิกษุสามเณรบ้านนอกที่อยู่กันตามประสาคนไม่มีความรู้เสียอีก ท่านได้เล่าอีกว่า 

       “แต่พอไปเจอจริง ๆ มันรู้ว่ามหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรนัก มันก็เริ่มเบื่อ อยากสึก รู้สึกว่าเรียนที่กรุงเทพฯ มันไม่มีอะไรเป็นสาระ เรียนที่กรุงเทพฯ มันอยากจะสึกอยู่บ่อย ๆ พระเณรไม่ค่อยมีวินัย มันผิดกับบ้านนอก มันก็เป็นมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เรื่องสตางค์เรื่องผู้หญิง... พระเณรบ้านนอกมันเคร่งกว่ามาก ไม่ใช่เฉพาะที่พุมเรียงหรอก ตลอดปักษ์ใต้แหละ เคร่งกว่าที่กรุงเทพฯ มาก เรื่องเกี่ยวกับการกินการฉันก็สรวลเสเฮฮาเหมือนกับคนเมา ฮาฮาตลอดเวลาฉัน ลักษณะนั้นเราเรียนไปตั้งแต่โรงเรียนนักธรรมว่ามันใช้ไม่ได้นี่ อย่างมาต่อยไข่สดต้มไข่หวานหรือทอดประเคนกันเดี๋ยวนั้นเลย มันผิดวินัยแต่เขาทำกันเป็นธรรมดา เรียกว่ามันไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใสเลย ผิดกับวัดที่บ้านนอกเราก็ต้องเป็นพระที่จับสตางค์ ใช้สตางค์เหมือนเขาไปหมด ตามธรรมดาพระที่พุมเรียง สมัยผมบวชเขาไม่จับเงินจับทองกัน มีผู้ช่วยเก็บให้แล้วมันค่อย ๆ เปลี่ยน ไม่จับแต่ต่อหน้าคน ในกรุงเทพฯ มันเป็นโรคร้ายระบาดทั่วกรุงเทพฯ อยู่หัวเมืองมันยังมีอิทธิพลในทางเคร่งครัดแบบเก่าอยู่

       ท่านพุทธทาสเจอสภาพอย่างนี้ก็เกิดเป็นความเอือมระอาในชีวิตสมณเพศอย่างหนัก ท่านอยู่กรุงเทพฯ ได้เพียง ๒ เดือนเท่านั้นก็กลับมาที่พุมเรียงเพื่อจะลาสิกขา แต่ขณะนั้นเป็นช่วงใกล้ที่จะเข้าพรรษาแล้ว มีผู้ทักท้วงว่าจะลาสิกขาตอนนี้ยังไม่เหมาะสม ท่านจึงตัดสินใจครองสมณเพศอีก ๑ พรรษา และคิดว่าค่อยลาสิกขาบทเมื่อออกพรรษาไปแล้ว และในพรรษานี้ท่านก็สอบนักธรรมชั้นเอกผ่าน และเมื่อถึงวันออกพรรษาได้มีคุณนายหง้วน เศรษฐภักดี ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร และก็เป็นญาติของท่านด้วย รวมทั้งพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) รองเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหารในขณะนั้น ได้ชักชวนให้ท่านมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยา ราชวรวิหาร ท่านพุทธทาสจึงได้เลื่อนกำหนดการลาสิกขาเอาไว้ก่อนและมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่ที่นี้เป็นเวลา ๑ ปี ซึ่งกลวิธีการสอนของท่านนั้นน่าสนใจ ทำให้นักเรียนของท่านสอบได้หมดยกชั้น เรื่องนี้ท่านได้เล่าไว้ว่า

       “สอนนักธรรมนี่ก็สนุก สอนคนเดียว ๒ ชั้น มันคุยได้ว่าสอบได้หมด แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏตกไปองค์หนึ่ง เพราะใบตอบหาย ก็กลายเป็นครูที่มีชื่อเสียงขึ้นมาทันที มันสนุก เพราะเป็นของใหม่ และมันชักจะอวด ๆ อยู่ว่าเราพอทำอะไรได้ หาวิธียักย้ายสอนให้มันสนุก ไม่เหมือนกับที่เขาสอนๆ กันอยู่ เช่น ผมมีวิธีเล่า วิธีพูดให้ชวนติดตาม หรือให้ประกวดกันตอบปัญหา ทำนองชิงรางวัล นักเรียนก็เรียนกันสนุก ก็สอบได้กัน” 

       เมื่อเป็นเช่นนี้คุณนายหง้วน จึงได้ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันแบบกระเป๋าหิ้ว ให้ท่านเป็นรางวัล และท่านก็ได้ใช้เครื่องนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปีในการสร้างสรรค์งาน ในขณะเดียวกันนี้นายธรรมทาสก็ได้รวบรวมญาติมิตรที่สนใจในพระพุทธศาสนามาจัดตั้งเป็นคณะศรัทธาขึ้นในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ และนี่คือจุดเริ่มก่อนที่จะกลายเป็นคณะธรรมทานในเวลาต่อมา ท่านเล่าไว้ว่า

       "นายธรรมทาสเขามีนิสัยอยากส่งเสริมพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ตั้งแต่ตอนที่เขาไปเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาฯ (พ.ศ. ๒๔๖๙) เขาไปพบบทความเกี่ยวกับการเผยแผ่พุทธศาสนาทางสมาคมมหาโพธิของธรรมปาละ และหนังสือยังอิสต์ ของญี่ปุ่น ได้เร้าใจให้เขาเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา และหาหนังสือทางพุทธศาสนามาจากหอสมุดนั้นมาอ่านเสมอ พอกลับมาบ้าน (พ. ศ. ๒๔๗๐) ก็มาตั้งหีบหนังสือให้คนอื่นอ่านกันในเวลาต่อมา (พ.ศ. ๒๔๗๒) รวบรวมหนังสือธรรมะที่หาได้ในสมัยนั้น รวมทั้งเทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ไทยเขษม วิสาขะ เป็นต้น ก็ก่อหวอดให้เกิดความสนใจในหมู่คนแถวนั้น ไม่กี่คนหรอกจับกลุ่มสนทนากันเรื่องจะทำพุทธศาสนาให้มันบริสุทธิ์ ให้มันถูกต้องอย่างไร ต่อมาคนเหล่านี้ก็เป็นกำลังตั้งสวนโมกข์และคณะธรรมทาน มีนายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงศ์วานิช นายกวย กิ่วไม้แดง เป็นตัวตั้งตัวตีนายธรรมทาสเขาได้รู้จักกับชาวลังกาชื่อสิริเสนา ที่มาพักอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ จึงได้รู้เรื่องกิจการของสมาคมมหาโพธิ และอนาคาริกะธรรมปาละ ซึ่งพยายามฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาและอินเดีย นายธรรมทาสเขาก็มีจดหมายติดต่อรับหนังสือมหาโพธิ ต่อมาก็รับบริติชบุดดิสต์ ของสมาคมมหาโพธิ ลอนดอน บุดดิสต์ อิน อิงแลนด์ และ บุดดิสต์ แอนนวล ออฟซีลอน ทำให้เขารู้ว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในต่างประเทศ

ภาพสืบค้นจาก : http://www.bia.or.th/html_th/site-content/65-archives/746-00.html

นายธรรมทาส พานิช (ถ่ายภาพขณะเป็นเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)

ภาพสืบค้นจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/พระธรรมโกศาจารย์_(เงื่อม_อินฺทปญฺโญ)

       เมื่อหมดหน้าที่สอนนักธรรมแล้วอาเสี้ยงก็เร่งเร้าให้ท่านพุทธทาสเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยหวังให้หยิบพัดยศมหาเปรียญมาไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ท่านจึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งการมากรุงเทพฯ ของท่านในครั้งนี้ก็เพื่อจะศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีหรือสอบเปรียยญเท่านั้น โดยละทิ้งเรื่องการลาสิกขาเอาไว้ก่อน แต่ท่านก็ไม่ได้เข้าเรียนในช่วงกลางวันเหมือนพระเณรอื่น ๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสอนที่อืดอาดไม่ทันใจจึงได้ให้พระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) สอนพิเศษให้ในช่วงกลางคืน นอกจากการเรียนภาษาบาลีแล้วท่านก็ยังสนใจในเรื่องอื่น ๆ เช่น การถ่ายภาพ การพิมพ์ดีด ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ทั้งยังติดตามผลงานเขียนของปัญญาชนทั้งหลายในสมัยนั้นไม่ว่าจะครูเทพ, น.ม.ส., เสฐียรโกเศศ เป็นต้น เมื่อประกาศผลสอบปรากฏว่าท่านสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค และกลายเป็นพระมหาเงื่อม อินทปญฺโญ ในปีพ.ศ. ๒๔๗๔ แต่ท่านก็รู้สึกเบื่อระบบการเรียนที่เป็นอยู่เป็นอย่างมากและด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษาโดยค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และจากตำราต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ท่านเคยกล่าวไว้ในจดหมายถึงสามเณร กรุณา กุศลาสัย ไว้ดังนี้

    "...ผมเองก็เป็นนักศึกษาโดยตนเองทุกประเภทวิชชา..." และ "...ต้องเรียนเอาเองเรื่อย ๆ จากหนังสือทั่ว ๆ ไป ตลอดถึงจากหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษนับว่าไม่รู้อะไรเลย เพิ่งมาเรียนเอาโดยตนเองอีกเมื่อบวชแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้พอที่จะนับว่าคล่องตัว หรือพอใช้แก่การงานของตัว ภาษาไทยนับว่าพอคล่องตัว แต่ก็ยังต้องเรียนไปอีกเรื่อย ๆ ทั้งสองอย่าง ธรรมเคยเรียนในโรงเรียนเพียงสองปี ต่อนั้นเรียนลำพังเอง ไปขอสมัครสอบได้นักธรรมทั้งสามชั้นแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกว่ามีความรู้ธรรมเลย ยังเรียนเองเรื่อย ๆ กระทั่งบัดนี้และทั้งเชื่อว่ายังต้องเรียนไปเองอีกนาน... สำหรับภาษาบาลียิ่งร้ายกาจใหญ่ ควรจะเรียนกันตั้ง ๑๐-๑๒ ปี ผมเรียนในโรงเรียนเพียง ๖-๗ เดือน เรียนกับท่านอาจารย์ของตัวเองในกุฏิราว ๑ ปี แล้วก็ไปขอสมัครสอบก็สอบได้เป็นเปรียญตรี (๓ ประโยค) เบื่อเต็มทนปีต่อมาไปขอสมัครสอบเฉย ๆ ตก ๔ ประโยค หยุดเสียชั่วคราว เพิ่งจับเรียนด้วยตนเองอีกเมื่อปี ๒๔๗๕ เรื่อย ๆ มาจนกระทั่งบัดนี้วันละเล็กละน้อยเสมอและยังคงรักที่จะเรียนไปเรื่อย ๆ บัดนี้กลายเป็นทำงานพลางเรียนพลาง... " ส่วนวิชชาอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา วรรณคดีต่าง ๆ ฯลฯ สะสมตำราเรียนเองอย่างเดียวคู่เคียงกันมาจนกระทั่งบัดนี้ เหมือนกันเจตนามุ่งมั่นของท่านพุทธทาสซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ "การลงมือปฏิบัติธรรม" ในชั้นต้นท่านก็ยังคิดว่าความรู้ของท่านยังไม่เพียงพอ ดังนั้นท่านจึงคิดค้นหาหลักเอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า "...เราเลยจำเป็นต้องค้นหาหลักเอาเอง อันนี้มันจึงทำให้ต้องไปสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นนักปริยัติหากเพื่อจะเก็บเอาหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติ..."

     ท่านจึงได้ลงมือค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมาได้รวบรวมหลักการและเขียนเป็นหนังสือ "ตามรอยพระอรหันต์" อีกทั้งยังได้คัดเลือกเอาพระไตรปิฎกส่วนหรือสูตรที่ควรจะเผยแพร่มาแปลลงในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาอีกด้วย จากนี้ท่านได้ศึกษาปรัชญาต่าง ๆ เช่น ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาตะวันตก เป็นต้น ท่านเล่าว่าปรัชญาอินเดียบางส่วนเป็นรากฐานของพุทธศาสนาเช่นกัน แต่ปรัชญาทางตะวันตกจะไม่ลึกซึ้งสูงสุดไปในทางดับทุกข์หรือเพื่อ มรรค ผล นิพพาน แต่ประการใด ท่านยังได้ศึกษาค้นคว้าในศาสนาและลัทธิอื่น ๆ อีกด้วยได้แก่ ศาสนาคริสต์ ลัทธิเซน มหายาน วัชรยาน โหราศาสตร์ เป็นต้น ท่านยังได้ศึกษาในเรื่องวิทยาศาสตร์ และค้นพบว่า "หลักพุทธศาสนาหัวข้อธรรมต้องการพิสูจน์ทดลอง ไม่ต้องการคาดคะเนคำนวณ มันผิดหลักกาลามสูตรตรรกเหตุนัยเหตุมันต้องพิสูจน์ทดลองจนทนต่อการพิสูจน์ ว่ามันดับทุกข์ได้ เพียงแต่พอใจแล้วว่าพุทธศาสนานี่มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์..." พุทธศาสนาจะเผชิญหน้ากับโลกในสมัยวิทยาศาสตร์ได้ถึงที่สุดคือโลกในอนาคตเมื่อวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะช่วยโลกได้ เราก็เสนอหลักธรรมะ หรือธรรมะเข้าไปให้วิทยาศาสตร์สามารถใช้วิทยาศาสตร์ช่วยโลกได้..." หรือ "...กฎของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุผล เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมีกฎอิทิปปัจจยตามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่อย่างเต็มที่ แล้วมนุษย์ก็จะเริ่มสนใจเรื่องต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของวิกฤติการณ์กันอย่างเต็มที่ พบแล้วก็จำกัดหรือควบคุมตามแต่กรณีเรื่องร้าย ๆ ในจิตใจของมนุษย์ก็จะลดลง..." ท่านพุทธทาสเป็นผู้ใฝ่รู้และศึกษาค้นคว้าอย่างมากมายและมิได้หยุดอยู่นิ่ง อาทิ ด้านพฤกษาศาสตร์ ด้านโบราณคดี  แต่มาในภายหลังท่านได้มุ่งศึกษาในทางดับทุกข์มากกว่าศาสตร์อื่น ๆ ท่านได้กล่าวถึงหลักในการศึกษาเรียนรู้ว่า "...ถ้าคุณอยากจะเรียนรู้เรื่องอะไรคุณจงตั้งต้นการศึกษาเหมือนอย่างว่า เราจะไปเป็นครูเขาในเรื่องนั้น เรียนให้มากในเรื่องนั้น แล้วคุณจะรู้เรื่องนั้นดี ดีจนพอ ดีจนเกินพอ ไม่ว่าเรื่องอะไร มันมีหลักอย่างนั้นคือมันเรียนมาก คิดมาก มันทบทวนมาก มันก็เลยได้ผลดีกว่าที่จะตั้งใจสอน...” 

     จากที่ท่านพุทธทาสได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป รวมถึงความหย่อนยานในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิด ๆ ของพุทธศาสนิกชนที่เป็นอยู่ท่านคิดว่าพุทธศาสนาที่สอนที่ปฏิบัติกันในเวลานั้น มีความคลาดเคลื่อนไปจากที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ กอร์ปกับปลายปีนั้นท่านสอบเปรียญธรรมประโยค ๔ ไม่ได้ ท่านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์ เดินทางกลับไปอำเภอไชยาเพื่อทำงานตามอุดมคติและศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อ โดยร่วมกับน้องชายคือนายยี่เก้ย ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นธรรมทาส และยังมีคณะธรรมทานในการช่วยจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม “สวนโมกขพลาราม” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาท่านได้ประกาศใช้ชื่อนาม “พุทธทาส” เพื่อแสดงถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน

ปณิธานและอุดมคติแห่งชีวิต 

       จากบันทึกของท่านเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เขียนไว้ว่า 

              "...ชีวิตของข้าพเจ้า สละทุกอย่างๆ มุ่งหมาย ต่อความสุขนี้ และประกาศ 
               เผยแพร่ความสุขนี้ เท่านั้น ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ในบรรดามีอยู่ในพุทธศาสนา”

   อุดมคติของท่านพุทธทาสที่หยั่งรากลึกทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลาไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนา แบบมหายาน และศาสนาอื่น ๆ เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์ วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้นเชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก็คือเพื่อน ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้นและหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมดคือต้องการให้คน พ้นจากความทุกข์

ท่านจึง ได้ตั้ง ปณิธานในชีวิตไว้ ๓ ข้อ คือ
๑. ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึง ความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
๒. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
๓. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

     แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้ บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่า ท่านจ้วงจาบ พระพุทธศาสนา เป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ หรือ รับจ้าง คนคริสต์ มาทำลายล้าง พระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิดในเรื่องเนื้อหาและหลักการมากกว่าที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัวเพราะท่านมีหลักในการทำงานว่า 

      "พุทธบุตรทุกคนไม่มีกังวลในการรักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็ตามเราต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิตจะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้นอย่านึกถึงเลยเป็นอันขาด จะกลายเป็นเศร้าหมอง และหลอกลวงไปไม่มากก็น้อย"....   จนในที่สุด ท่านก็ได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษา ของไทยและวงการศึกษาธรรมะของโลก ได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาลเยี่ยงพระมหากัสสปในครั้งสมัยพุทธกาล

ธรรมะปฏิบัติของท่านพุทธทาส

       สำหรับธรรมะที่ท่านพุทธทาสใช้มากที่สุดในชีวิตของท่านคือ การพินิจพิจารณาสติสัมปชัญญะ ใคร่ครวญโดยโยนิโสมนสิการ ท่านกล่าวไว้ว่า ..."ได้รับประโยชน์มากที่สุดเป็นการเพิ่มพูนความรู้หรือปัญญาอันลึกซึ้งมันก็มาจากโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าเรื่องบ้านเรื่องโลกเรื่องธรรมการรับเข้ามาโดยวิธีใดก็ตาม เช่น ฟังจากผู้อื่น อ่านจากหนังสือหรือจากอะไรก็ตามที่เรียกว่านอกตัวเรา ฟังเข้ามาพอถึงแล้วก็โยนิโสมนสิการ เก็บไว้เป็นความรู้เป็นสมบัติพอจะทำอะไร จะลงมือทำอะไรก็โยนิโสมนสิการ ในสิ่งที่จะทำให้ดีที่สุดมันก็ผิดพลาดน้อยที่สุดเรียกว่าไม่ค่อยจะผิดพลาดเลยเท่าที่จำได้ในความรู้สึก เพราะเราเป็นคนโยนิโสมนสิการตลอดเวลา และรู้สึกว่าฉลาดขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ถ้าจะเรียกว่าฉลาดนะ"... ท่านพุทธทาสฉันข้าวเพียงครั้งเดียว บิณฑบาตเป็นวัตร ใช้ผ้า ๓ ผืน ท่านเล่าว่า ..."เราถือ ๓ ผืน แบบใช้ผ้าอาบด้วยแต่ก็มีบางทีเหมือนกัน ซักสบงก็ต้องนุ่งจีวรแทน จีวรถ้าเอามาพับกลางตามยาวก็เท่ากับสบง ๒ ชั้น นุ่งแทนสบงจนกว่าสบงจะแห้ง ๓ ผืน ต้องถืออย่างนี้"... ในระยะแรกที่ท่านพุทธทาสย้ายเข้ามาที่สวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) ท่านมีบริขารและสิ่งของจำเป็นที่ใช้อยู่ไม่กี่อย่างได้แก่ บาตร ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวทำด้วยแก้วลอยไส้ จุดอยู่หน้าพระพุทธรูป หนังสือ ๒-๓ เล่ม ต่อมาเมื่อท่านเริ่มเขียนหนังสือจริงจังขึ้น ท่านจึงมีกุฏิและตะเกียงหลอด เป็นตะเกียงน้ำมันขนาดเล็กมีหลอดแก้วยาว สำหรับผ้าห่ม มุ้งและหมอน ท่านจะใช้จีวรหรือบางครั้งจะใช้สังฆาฏิห่มเป็นผ้าห่ม ส่วนหมอนท่านใช้ไม้สองอันวางหัวท้ายแล้วใช้ไม้กระดานเล็ก ๆ ตอกขวางคล้ายม้ารองนั่งแต่เตี้ย ๆ เท่ากับหมอน และใช้ผ้าสังฆาฏิพับ ๆ รองเสียชั้นหนึ่ง ซึ่งหมอนอย่างนี้เป็นของธรรมดา ๆ ที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ทั่วไป สำหรับมุ้งท่านไม่ได้ใช้ แต่จะใช้ในยามที่ไม่สบาย ตามปกติจะให้ตากวย ลูกศิษย์ สุมไฟกันยุงให้เท่านั้น ท่านถือธุดงควัตรเป็นหลักและอยู่อย่างธรรมชาติ ท่านกล่าวไว้ว่า ..."เป็นอยู่อย่างธรรมชาติเพื่อให้จิตใจเกลี้ยง ช่วยให้จิตใจเหมาะกับที่จะเข้าใจธรรมชาติง่ายขึ้น ในแง่ของที่ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือในแง่ที่มันจะต้องเป็นไปอย่างนั้น ซึ่งไม่ต้องดัดแปลงไม่ต้องลำบากยากเย็น"... นอกจากนี้ท่านยังกล่าวอีกว่า ..."มันไม่มีแบบอะไรที่ตายตัวเอาตามสบายอย่างง่ายที่สุด อย่าให้มันมีปัญหาก็แล้วกัน ไปจำกัดตายตัวอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งบ้าใหญ่ อย่าไปรู้ไปชี้มันมากนักแหละดี"....

 

ภาพสืบค้นจาก : https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=seafoodaoidee&month=05-07-2011&group=11&gblog=2

 

สมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์

       สำหรับสมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์ที่ท่านได้รับตามลำดับดังน

       - พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นพระมหาเงื่อม อินทปัญโ

       - พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์

       - พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระอริยนันทมุนี

       - พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชชัยกวี

       - พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวิสุทธิเมธี

       - พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมโกศาจารย์

        แม้ท่านจะมีสมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ท่านจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นหรือติดต่อกับทางราชการเท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่น ๆ แล้วท่านจะใช้ชื่อพุทธทาส อินฺทปัญโญ เสมอซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อม ถ่อมตัว และไม่ยึดมั่นถือมั่นในลาภยศสักการะ ประการสำคัญชื่อพุทธทาสนี้ เป็นที่มาแห่งอุดมคติ ของท่านนั่นเอง

เกียรติคุณทางโลก

พ.ศ. ๒๕๒๒ พุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๒๘ อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 
พ.ศ. ๒๕๒๘ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  
พ.ศ. ๒๕๒๙ ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ.๒๕๓๐ อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๓๒ การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๓๖ ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกียรติคุณด้านอื่น ๆ

      ในระดับนานาชาติปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัย ที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในยุโรป และอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่าน หนังสือของท่านกว่า ๑๔๐ เล่มได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และกว่า ๑๕ เล่มแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส อีก ๘ เล่ม แปลเป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนั้นยังแปลเป็นภาษาจีนอินโดนีเซีย ลาว และตากาล็อค ยูเนสโกยกย่องท่านพุทธทาส ๑ ใน ๖๓ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในการประชุมสมัยสามัญองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ พิจารณาการยกย่องเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่นและเหตุการณ์สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ ประจำปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ รวม ๖๓ คน/สถาบัน ในนั้นมีท่านพุทธทาสภิกขุด้วย ถือได้ว่าท่านเป็นคนไทยคนที่ ๑๘ ที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ภาพสืบค้นจาก : http://www.tnews.co.th/contents/317313

ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ กับท่านพุทธทาส (ภาพสืบค้นจาก : http://www.tnews.co.th/contents/317313)

 

ความเจ็บป่วยของท่านพุทธทาส

        โรคประจำตัวของท่านพุทธทาสซึ่งเป็นมาตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี คือโรคท้องผูกและริดสีดวง ท่านเล่าว่าสมัยหนุ่ม ๆ ไม่มีล้มเจ็บหนักอย่างมากเป็นไข้มาเลเรีย ๒-๓ วัน แต่ตอนหลัง ๆ เป็นหวัดแค่ ๒-๓ วัน ก็เรียกว่าเจ็บหนักแล้ว ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบที่โรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เข้ารับการรักษาด้วยอาการเจ็บที่สมองที่โรงพยาบาลศิริราช ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีอาการอาพาธกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอาการหัวใจวายและน้ำท่วมปอด วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีอาการอาพาธอีกครั้งด้วยเส้นเลือดสมองอุดตัน และต่อมาวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ อาพาธด้วยเส้นเลือดแตกในสมอง พระสิงห์ทอง เขมิโย พระอุปัฏฐากดูแลท่าน ได้เล่าว่าในเช้า. ของวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๔.๐๐ น. ท่านพุทธทาสลุกขึ้นเตรียมงานที่จะพูดในวันล้ออายุในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ซึ่งเป็นครบรอบวันเกิดของท่าน ซึ่งจะมีการจัดงานล้ออายุขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่สักครู่หนึ่งท่านก็ปิดไฟล้มตัวลงนอนและบอกท่านสิงห์ทองให้พระไปตามพระครูปลัดศีลวัฒน์ (โพธิ์ จนฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล มาพบท่านจากนั้นท่านได้กล่าวกับท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ว่า ..."น่ากลัวอาการเดิม (เส้นเลือดในสมองอุดตัน) จะกลับมาอีก"... นอกจากนี้ท่านยังบอกพระพรเทพ ฐิตปญฺโ ว่า ..."เอาย่ามของเรามาทีไปเก็บแล้วก็กุญแจในกระเป๋านี่เอาไปด้วยเราไม่อยากจะตายคากุญแจ (กุญแจตู้เอกสารหนังสือ)"... จนเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. เศษ ท่านได้กล่าวกับนพ. ประยูร ที่เข้ามาพบท่านว่า ..."มันเพลีย วันนี้ไม่อยากทำอะไร เดินก็ไม่เดินข้าวก็ไม่ฉันแล้วไม่อยากฉันมันเพลียเหลือเกิน"... แล้วท่านก็นอนทำท่าจะหลับเวลาประมาณ ๘.๐๐ น. ท่านพุทธทาสเรียกท่านสิงห์ทองอีกครั้งและกล่าวว่า ..."ทอง ทอง เราจะพูดไม่ได้แล้ว ลิ้นมันแข็งไปหมดแล้ว"... จากนั้นท่านก็พูดออกมาอีก ๔-๕ ช่วง แต่พระองค์อื่น ๆ แสดงปฏิกริยาว่ารับรู้ไม่ได้ ท่านก็หยุดแล้วท่านก็สาธยายธรรม ซึ่งท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์จับได้ว่า ท่านพุทธทาสสาธยายนิพพานสูตร ทบทวนไปทบทวนมา ดังนี้

        "...อตฺติ ภิกฺขเว ตทายตนํ, ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโชน วา โย, น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺญฺาณญฺ จายตนํ น อาภิญฺจญฺญา ยตนํ น เนวสญฺญา นาสญฺญายตนํ, นายํ โลโก น ปรโลโก น อุโก จนฺทิมสุริยา, ตมหํ ภิกฺขเว เนว อาคตึวทามิ น คตึ น ฐิตึ น จุตึ นอุปฺปตฺตึ อปฺปติฏฐํ อปฺ ปวตฺตํ อนา รมฺมณ เมว ตํ, เอ เสวนฺโต ทุกฺขสฺสาติ..."

     คำแปลว่า... ภิกษุทั้งหลาย ! "สิ่ง" สิ่งนั้นมีอยู่, เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม, ไม่ใช่อากาสานัญ จายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น, ไม่ใช่ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่างภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีอันเดียวกับ "สิ่ง" สิ่งนั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา, ไม่กล่าวว่ามีการไป ไม่กล่าวว่ามีการหยุด ไม่กล่าวว่ามีการจุติ, ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น, สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่, สิ่งนั้นมิได้เป็นไปและสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์, นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ล่ะ... ท่านพุทธทาสได้สาธยายนิพพาสูตร จนกระทั่งท่านหมดความรู้สึกไปเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก ปริมาณเลือดมากขึ้น ๆ จนกดทับเนื้อสมองต่อจากนั้นคณะศิษย์ได้นำท่านเข้ารักษาที่ รพ.สุราษฎร์ธานี และนำท่านกลับสวนโมกข์ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖  จากนั้นได้นำท่านเข้ารักษาที่รพ. ศิริราช อีกครั้ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วยจวบจนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. คณะศิษยานุศิษย์ จึงนิมนต์ท่านกลับสู่สวนโมกข์ พร้อมคณะแพทย์ที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด จนในที่สุดชีพจรท่านหยุดเต้นท่านพุทธทาสได้มรณภาพโดยสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เวลา ๑๑.๒๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ สิริอายุได้ ๘๗ ปี ๔๒ วัน (๖๗ พรรษา)

การเก็บบรรจุและเผาศพท่านพุทธทาส

  ท่านพุทธทาสได้ทำพินัยกรรมเรื่องการจัดงานศพของท่านไว้ ซึ่งท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยท่านระบุในพินัยกรรมไม่ให้ฉีดยาศพไม่ให้จัดงานพิธีใด ๆ ให้เผาศพโดยวิธีเรียบง่ายที่สุด และนำอัฐิไปเก็บไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปในศาลาธรรมโฆษณ์ พร้อมกับให้เทปูนซีเมนต์โบกทับ ส่วนอังคารให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน นำไปลอยที่ช่องหมู่เกาะอ่างทอง ที่เขาประสงค์ และที่ต้นน้ำตาปีที่เขาสก จากนั้นคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนได้จัดให้มีการเผาศพท่านพุทธทาส ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ณ บริเวณเขาพุทธทอง โดยใช้พิธีตามแบบโบราณคือ ปักเสา ๔ ต้น ดาดเพดานด้วยผ้าขาวเริ่มทำพิธีเผาศพเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. โดยท่านปัญญานันทภิกขุ (พระเทพวิสุทธิเมธีสมณศักดิ์ในขณะนั้น) เป็นประธานในการจุดไฟ พระภิกษุจำนวนนับพันองค์ นั่งสวดมนต์ดังกระหึ่มทั่วบริเวณภูเขาด้านขึ้นไปทางโบสถ์ ส่วนอีกด้านหนึ่งให้ประชาชนได้เดินผ่านไปเคารพศพได้อย่างทั่วถึงทุกคน

ภาพสืบค้นจาก : http://www.bia.or.th/html_th/site-content/65-archives/746-00.html


ผลงานสำคัญ

ภาพสืบค้นจาก : http://www.bia.or.th/html_th/site-content/65-archives/746-00.html

    ท่านพุทธทาสได้อุทิศตนทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ทุกคนได้พบกับสันติสุข โลกเกิดสันติภาพ  ผลงานต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานจนถึงกาลมรณกรรมมีดังนี้

ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม

       วันที่ ๖ เมษายน  พ.ศ. ๒๔๗๕  ท่านพุทธทาสเดินทางกลับถึงพุมเรียงได้ไม่นาน ได้ร่วมกับน้องชายคือนายยี่เกย หรือท่านธรรมทาส พานิช และเพื่อน ๆ ในคณะธรรมทานประมาณ ๔-๕ คน ที่รับรู้ได้ถึงปณิธานอันมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ของท่านพุทธทาส ทุกคนเต็มอกเต็มใจที่จะหนุนช่วยด้วยความศรัทธาโดยพากันออกเสาะหาสถานที่ซึ่งคิดว่ามีความวิเวกและเหมาะสมจะเป็นสถานที่ ที่ปฏิบัติธรรมตามรอยพระอรหันต์ สำรวจกันอยู่ประมาณเดือนเศษก็พบวัดร้างเนื้อที่ประมาณ ๖๐ ไร่ ชื่อวัดตระพังจิก (อยู่ในเขตพุมเรียง) ซึ่งรกร้างมานานเป็นป่ารกครึ้มมีสระน้ำใหญ่ซึ่งร่ำลือกันว่ามีผีดุมาก แต่ก็เป็นที่ที่พอใจของคณะธรรมทาน ก็เลยจัดทำเพิงที่พักขึ้นหลังหนึ่งอยู่ด้านหลังพระพุทธรูปเก่า ซึ่งเป็นพระประธานในวัดร้างนั้น แล้วท่านก็เข้าอยู่ในวัดร้างแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา โดยมีอัฐบริขาร ตะเกียง และหนังสืออีกเพียง ๒-๓ เล่ม เข้าไปอยู่ได้ไม่กี่วันวัดร้างนามตระพังจิกนี้ก็ได้รับการตั้งนามขึ้นใหม่ ซึ่งท่านเห็นว่าบริเวณใกล้ที่พักนั้น มีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป จึงคิดนำคำทั้ง ๒ คำมาต่อเติมขึ้นใหม่ให้มีความหมายในทางธรรมจึงเกิดคำว่า "สวนโมกขพลาราม" (สวนโมกข์-พุมเรียง) อันหมายถึงสวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์ ขึ้นในโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สวนโมกขพลารามเป็นสวนที่ตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาค้นคว้าธรรมะ เพื่อปฏิบัติธรรมะให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นต่อไป สวนโมกขพลารามไม่ใช่มีเพียงชาวพุทธที่เป็นคนไทยเท่านั้นที่ไปปฏิบัติธรรม ยังมีชาวต่างประเทศมากมากเข้ามาศึกษาธรรมะกับท่านด้วย ซึ่งเรื่องนี้ท่านปัญญานันทภิกขุเล่าไว้ในประวัติของท่านไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสวนโมกขพลารามว่า  ...“เวลานี้ฝรั่งมาอยู่ที่สวนโมกข์มากมาย บางเดือนถึง ๑๐๐ ทุกเดือนนี่ท่านต้องพูดกับฝรั่ง ๑๐ วันตั้งแต่วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๐ ทุกวันเวลาบ่าย”... 
     สวนโมกขพลารามของท่านจึงเป็นสวนโมกข์นานาชาติไปในเวลาไม่นาน โดยมีโยมอุปัฏฐากชื่อนางเคลื่อนทำพินัยกรรมมอบเงิน ๖,๓๗๘ บาท ตั้งเป็นทุนต้นตระกูลพานิช ใช้ดอกผลบำรุงสวนโมกข์และคณะธรรมทาน ต่อมาท่านพุทธทาสได้มาสร้างสวนโมกข์-ไชยา (ในปัจจุบัน) ขึ้นอันเนื่องมาจากท่านได้เทศน์และพักค้างที่วัดชยารามเป็นประจำ จึงดำริที่จะสร้าง "สโมสรธรรมทาน" ครั้งหนึ่งท่านออกหาไม้ในป่าและมาพบป่าบริเวณนี้ที่เรียกว่า "ด่านน้ำไหล" ซึ่งในขณะนั้นมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ท่านจึงได้สร้างสวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งในระยะเริ่มแรก (ประมาณ ๒ ปี) ท่านพุทธทาสยังไม่ได้มาพักอยู่ที่สวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) แต่ให้พระมหาเฉวียน จากวัดชยารามมาอยู่เป็นองค์แรก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ที่นี่เป็นการถาวร ทำให้สวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-พุมเรียง)  ร้างไป สำหรับที่สวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) นี้ท่านได้จดทะเบียนเป็นวัดใช้ชื่อว่า "วัดธารน้ำไหล" แต่ชาวบ้านเรียกกันเองว่า "วัดเขาพุทธทอง" ตามชื่อภูเขากลางวัดเดิมที่ท่านต้องการให้สวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) เป็นองค์การอิสระ ไม่ต้องทำตามระเบียบของวัด ด้านหน้าใช้เป็นวัดด้านหลังเป็นวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) แยกกันทางกฎหมายแต่ต่อมาภายหลังได้ยกให้เป็นของวัดธารน้ำไหลทั้งหมดภายในสวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) ท่านพุทธทาสได้สร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ ต่าง ๆ มากมาย โดยมีกำลังสนับสนุนในการสร้างทั้งจากพระภิกษุและสามเณร ตลอดถึงฆราวาส สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ โรงมหรสพทางวิญญาณ, กุฎิที่มีลักษณะเป็นเรือลำใหญ่และเล็ก ๒ ลำ ซึ่งใช้เป็นห้องประชุม และเป็นที่พักของพระคันตุกะผู้มาเยือน ตลอดถึงฆราวาสชาย และเป็นที่เก็บน้ำฝนด้วย, รูปปั้นและภาพปั้นพุทธประวัติ, รูปปั้นอวโลกิเตศวร, อุโบสถแบบสวนโมกข์, ลานหินโค้งใช้ฟังเทศน์ ถวายอาหารพระภิกษุสามเณรและใช้สถานที่แห่งนี้สาธิตว่าสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์และสาวกประพฤติปฏิบัตินอย่างไร, โรงเรียนหินและสระนาฬิเกร์ ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์ของมหรสพทางวิญญาณ และห้องสุขาแบบอย่างของสวนโมกข์, ศาลาธรรมโฆษณ์เป็นสถานที่รวบรวมผลงานของท่านทั้งหมด ตลอดจนเป็นที่บรรจุศพของท่าน

งานเขียนหนังสือ

      หลังจากที่ท่านท่านพุทธทาสสร้างสวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์-ไชยา) ไม่นานท่านคิดทำหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ธรรมะ และเพื่อแถลงกิจการของคณะธรรมทานและสวนโมกข์ ท่านเล่าว่าในยุคนั้นที่กรุงเทพฯ เคยมีหนังสือพิมพ์ "ธรรมจักษุ" ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า (กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) หนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” ออกเผยแผ่ทุก ๆ ๓ เดือน นับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของไทย เริ่มตีพิมพ์เมื่อครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ นอกจากนั้นก็มีหนังสือธรรมะ “ชุดธรรมโฆษณ์” มีทั้งหมด ๔๐ เล่ม การพิมพ์หนังสือชุด "ธรรมโฆษณ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมพิมพ์จากปาฐกถาธรรมที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่าง ๆ และงานหนังสือเล่ม ๆ อื่น ๆ ของท่าน โดยแบ่งออก เป็น ๕ หมวด คือ

  • หมวด "จากพระโอษฐ์" เป็นเรื่องที่ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎกภาษาบาลี
  • หมวด "ปกรณ์พิเศษ" เป็นคำอธิบายข้อธรรมะ ที่เป็นหลักวิชาและหลักปฏิบัติ
  • หมวด "ธรรมเทศนา"เป็นคำบรรยายแบบเทศนาในเทศกาลต่างๆ
  • หมวด "ชุมนุมธรรมบรรยาย" เป็นคำขยายความ ข้อธรรมะ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง
  • หมวด"ปกิณกะ" เป็นการอธิบายข้อธรรมะเบ็ดเตล็ด ต่าง ๆ ประกอบ ความเข้าใจ

       ผลงานของท่านด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ปาฐกถาธรรมของท่าน ที่ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์ วิจารณ์ ทั้งในแง่วิธีการและการตีความพระพุทธศาสนาของท่าน กระตุ้นให้ผู้คนกลับมาสนใจธรรมะกันอย่างลึกซึ้งแพร่หลายมากขึ้นครั้งสำคัญ ๆ ได้แก่ ปาฐกถาธรรมเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" "อภิธรรมคืออะไร"  "ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร"  "จิตว่างหรือสุญญตา"  "นิพพาน"  "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม"  "การ
ศึกษาสุนัขหางด้วน" เป็นต้น สำหรับงานประพันธ์ของท่าน เช่น ตามรอยพระอรหันต์, ชุมนุมเรื่องสั้น, ชุมนุมเรื่องยา, ชุมนุมข้อคิดอิสระ (บทประพันธ์บางเรื่องท่านใช้นามปากกาว่าสิริวยาส)  ส่วนผลงานแปลจากภาษาอังกฤษของท่านเล่มสำคัญคือ "สูตรของเว่ยหล่าง" "คำสอนของฮวงโป" ทั้ง ๒ เล่มเป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นต้น เกี่ยวกับงานหนังสือเหล่านี้ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับพระประชา ปสนฺนธมฺโม เอาไว้ว่า

   "เราได้ทำสิ่งที่มันควรจะทำ ไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่า มันคุ้มค่าอย่างน้อย ผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีใครในประเทศไทยบ่นได้ว่าไม่มีหนังสือ ธรรมะอ่าน ก่อนนี้ ได้ยินคนพูดจนติดปาก ว่าไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน เราก็ยังติดปาก ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่านตอนนี้บ่นไม่ได้อีกแล้ว"

      ท่านพุทธทาสมีงานเขียนเป็นบทความขนาดสั้นชิ้นแรก “ชื่อประโยชน์แห่งทาน” ปรากฏอยู่ในหนังสือที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) พระอุปัชฌาย์ของท่านและมีบทความขนาดยาวเรื่องพระพุทธศาสนาสำหรับปุถุชน” พิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบโรงเรียนนักธรรมวัดพระบรมธาตุไชยา นอกจากนั้นก็มีผลงานที่เด่นของท่าน อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ คู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะและท่านมีสหายธรรมคนสำคัญคือพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และท่าน บ.ช. เขมาภิรัตน์ นามปากกาที่ท่านพุทธทาสใช้มีมากมายได้แก่ "พุทธทาส" จะเขียนเรื่องธรรมะโดยตรง ส่วน "อินฺทปญฺโญ" กับ "ธรรมโยธ" จะเขียนเรื่องให้คนโกรธ เพราะจะวิจารณ์กันอย่างแรงกระทบกันแรง "สิริวยาส" จะเขียนโคลงกลอน "สังฆเสนา" เขียนแบบนักรบเพื่อธรรม ส่วน "ทุรโลกา รมณจิต" เขียนเรื่องปรารถนาโลก "ข้าพเจ้า" เขียนเรื่องแง่คิดขำ ๆ "นายเหตุผล" เป็นการแกล้งเขียนเป็นเจตนาที่จะให้ผู้อ่านคิดนึกในทุกแง่ทุกมุม แกล้งเขียนค้านพุทธศาสนา ถ้าจะค้านมันจะค้านได้อย่างนี้ ให้คนอื่นได้วินิจฉัยได้ความรู้ทางพุทธศาสนามากขึ้น ต่อมาท่านพุทธทาสมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก โดยค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎก ท่านจึงได้เขียน "ตามรอยพระอรหันต์" ขึ้นโดยคัดเลือกเอาพระไตรปิฎก ส่วนหรือสูตรที่ควรจะเผยแพร่มาแปลลงในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา โดยท่านเล่าไว้ว่า ..."ในนั้นมีความสมบูรณ์ของการปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะค้นคว้าสำหรับไว้ใช้เองด้วยเพื่อตามรอยเอง เพื่อใช้กับตนเองแล้วก็เห็นว่าคนอื่นเขาก็ใช้ได้ก็เลยให้พิมพ์ให้โฆษณาออกไป"... 
       นอกจากนี้ผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีปรากฏอยู่มากมาย ทั้งในรูปพระธรรมเทศนา และในงานเขียน โดยท่านตั้งใจทำการถ่ายทอดพระพุทธศาสนาให้อยู่ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนาอย่างแท้จริง นั่นคือเป็นศาสนาแห่งความรู้ไม่เจือปนไปด้วยความหลงผิด ที่เข้าแทรกจนกลายเป็นเนื้อร้ายที่คอยกัดกินได้แก่เรื่อง พุทธพาณิชย์, ไสยศาสตร์ และเรื่องความหลงใหลในลาภยศของพระสงฆ์ ฯลฯ อีกทั้งคำสอนของท่านพุทธทาส ก็ได้ถูกถ่ายทอดให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไป สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ โดยที่ยังคงเนื้อหาสำคัญไว้ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งคำสอนของท่านยังรวมไปถึงเรื่องทั่ว ๆ ไปด้วย

ภาพสืบค้นจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/พระธรรมโกศาจารย์_(เงื่อม_อินฺทปญฺโญ)

ปณิธานและอุดมคติแห่งชีวิต 

ผลงานท่านพุทธทาส (ภาพสืบค้นจาก : http://www.dhammadana.or.th/index.php/2013-11-01-07-35-27)


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ หรือ พุทธทาสภิกขุ) (Phra Dharmakosacarya or Buddhadasa Bhikkhu)
ที่อยู่
จังหวัด
สุราษฎร์ธานี


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ธรรมทานมูลนิธิ. (2556). ประวัติย่อของท่านพุทธทาสภิกขุ. สืบค้นวันที่ 23 ส.ค. 61, จาก http://www.dhammadana.or.th/index.php/2013-11-01-07-35-27
ประวัติย่อพุทธทาส. (2557). สืบค้นวันที่ 23 ส.ค. 61, จาก http://www.bia.or.th/html_th/site-content/65-archives/746-00.html
พิสิฏฐ์ สินธุวงศานนท์. (2555). ประวัติพระพุทธทาสภิกขุ. สืบค้นวันที่ 23 ส.ค. 61, จาก https://www.gotoknow.org/posts/282216
พุทธทาสภิกขุ. (2546). เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
วิกิพิเดียสารานุกรมเสรี. (2561). พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ). สืบค้นวันที่ 23 ส.ค. 61, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/พระธรรมโกศาจารย์_(เงื่อม_อินฺทปญฺโญวิชัย หิรัญวงศ์. (2559). คนไทย : บุคคลสำคัญของโลก (2505-2560). กรุงเทพฯ : สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์.
อรศรี งามวิทยาพงศ์. (2542). ประวัติอาจารย์พุทธทาส. สืบค้นวันที่ 23 ส.ค. 61, จาก  http://www.buddhadasa.com/history/budprofile1.html


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024