ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร
 
Back    05/10/2021, 10:47    965  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

           ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เกิดที่เมืองถลาง ทั้งสองท่านเป็นบุตรของจอมเฒ่าทองคํา หรือพระยาถลางจอมร้างบ้านเคียน (จอมในที่นี้หมายถึงยอด หรือ หัวหน้า ร้างหมายถึงรั้ง หรือครองตําแหน่ง จอมร้างจึงมีหมายความว่า ดํารงตําแหน่งหัวหน้า คือเจ้าเมืองถลาง) ส่วนมารดาชื่อหม่าเสี้ย ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าเมืองไทรบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดากันถึง ๕ คน ประกอบด้วยคุณจันเป็นบุตรคนโต รองมาคือคุณมุก คนที่ ๓ เป็นหญิงชื่อหมา (มา) คนที่ ๔ เป็นชายชื่ออาด (ต่อมาได้เป็นพระยาถลาง) และคนที่ ๕ เป็นชายชื่อเรือง (ต่อมาได้เป็นพระพล ตําแหน่งปลัดเมืองถลาง) เนื่องจากท่านเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองไทรบุรี จึงได้รับการอบรมและฝึกสอนให้มีจิตใจเข้มแข็งอดทน รู้หลักการปกครองผู้คนมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่มีอยู่ในบุคลิกของท่านทั้งสอง เมื่อเติบโตสู่วัยสาวจันผู้พี่ก็ได้แต่งงานกับหม่อมศรีภักดี บุตรจอมนายกอง เจ้าเมืองตะกั่วทุ่ง จึงได้ย้ายไปอยู่ที่ตะกั่วทุ่งกับสามีมีบุตรด้วยกัน ๒ คน คนแรกเป็นหญิงชื่อปราง คนต่อมาเป็นชายชื่อเทียน อยู่กันมาได้ ๕ ปี สามีหม่อมศรีภักดีก็ถึงแก่กรรม ท่านจึงพาลูกทั้งสองกลับมาอยู่กับบิดาพระยาถลางที่บ้านเคียนตามเดิม ส่วนมุกผู้น้องนั้นไม่มีบันทึกว่าท่านแต่งงานกับผู้ใด (บางประวัติท่านได้แต่งงานกับนานอาดซึ่งเป็นปลัด) คุณจันเป็นหม้ายอยู่ถึง ๓ ปี จึงได่แต่งงานใหม่กับพระยาพิมล (ขัน) ซึ่งเจ้านครศรีธรรมราชส่งมาช่วยราชการที่เมืองถลาง (ในสมัยนั้นเจ้านครศรีธรรมราชเป็นผู้มีอํานาจปกครองดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด) ให้กำเนิดบุตรชายหญิงอีก ๓ คน คือคนโตเป็นหญิงชื่อทอง คนกลางและคนสุดท้ายเป็นชายชื่อจุยกับเนียม ในขณะที่กรุงศรีอยุธยากําลังคับขันใกล้จะเสียกรุงให้กับพม่านั้นพระยาถลางจอมร้างได้ถึงแก่กรรมลง บุตรชายนายอาดได้ขึ้นเป็นพระยาถลาง เจ้าเมืองแทนบิดา แต่มีเรื่องหมางใจกับพี่เขยพระยาพิมล (ขัน) และได้ร้องเรียนไปถึงเจ้านครศรีธรรมราช เจ้านครฯ จึงให้พระยาพิมล (ขัน) ไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ในคราวนี้คุณจันไม่ได้ตามไปอยู่ที่พัทลุงด้วยกลับพาลูก ๆ ไปอยู่กับญาติหม่อมศรีภักดี (อดีตสามี) ที่เมืองตะกั่วทุ่ง เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายแพ้แก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ หัวเมืองต่าง ๆ ก็ตั้งตัวเป็นอิสระ เจ้านครศรีธรรมราชก็ตั้งตัวเป็นอิสระด้วยเช่นกัน แต่ในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็ทรงปราบปรามได้สําเร็จ ทำให้เจ้านครศรีธรรมราชหนีไปเมืองพัทลุง ก็ได้พระยาพิมล (ขัน) พาหนี แต่ต่อมาก็ถูกจับตัวได้ เจ้านครศรีธรรมราชถูกนําตัวมาคุมไว้ที่กรุงธนบุรี ส่วนพระยาพิมลได้รับการอภัยโทษโดยไม่ถูกจองจํา แต่ให้พ้นจากตําแหน่งเจ้าเมืองพัทลุง จึงเปลี่ยนเข็มชีวิตใหม่เป็นพ่อค้าโดนติดต่อค้าขายไปถึงเกาะปีนัง ระหว่างเวลานั้นเองท่านจึงคุ้นเคยกับพ่อค้าต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอังกฤษและสนิทสนมเป็นเพื่อนรักกับกัปตันฟรานซิส ไลท์ นายเรือโทนอกประจําการของอังกฤษ มีตําแหน่งเป็นนายพานิช สังกัดบริษัทอิสอินเดียของอังกฤษ มีสํานักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเบงกอลทางตอนใต้ของอินเดีย เดินเรือค้าขายระหว่างอินเดียกับชายฝั่งตลอดแหลมมลายู ระหว่างที่พระยาพิมลทําการค้าขายเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ก็ได้มีโอกาสมาพักแรมกับครอบครัวที่ตะกั่วทุ่ง และมีบุตรเพิ่มอีก ๒ คน เป็นหญิงชื่อกิมและเมือง ส่วนเจ้านครศรีธรรมราชที่ถูกคุมตัวไว้ที่กรุงธนบุรีนั้นได้แสดงความจงรักภักดีช่วยงานราชการต่าง ๆ จนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้วางพระราชหฤทัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ดูแลหัวเมืองประเทศราชฝ่ายใต้อีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ เมื่อได้กลับมามีปกครองเมืองนครอีกครั้ง เจ้านครศรีธรรมราชระลึกถึงความจงรักภักดีของพระยาพิแล (ขัน) ที่มีต่อท่านในยามยาก จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลางแทนพระยาถลาง (อาด) ซึ่งถูกพวกชาวจีนที่เป็นกบฏ (อั๊งยี่) ยิงตาย พระยาพิมล (ขัน) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาสุรินทราชา เจ้าเมืองถลาง ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ ทำให้คุณหญิงจันซึ่งเป็นภริยาเจ้าเมือง ก็กลับมาใช้ชีวิตครอบครัวที่มีความสุขอีกครั้ง เมื่อพระยาสุรินทราชา (พระยาพิมล (ขัน)) เป็นเจ้าเมืองถลาง ท่านได้เร่งปรับปรุงบ้านเมืองกันใหม่อย่างมาก หลังจากที่พระยาถลาง (อาด) ได้ปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานาน และนับเป็นแบบอย่างของเจ้าเมืองนักพัฒนาคนหนึ่ง นอกจากเรื่องการทํานุบํารุงบ้านเมืองแล้ว ในเรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงท่านก็ให้ความเอาใจใส่อย่างยิ่ง เห็นได้จากสมัยที่ท่านได้รับตําแหน่งเป็นพระยาถลางใหม่ ๆ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๙-๒๓๒๐ นั้น ท่านได้ติดต่อกัปตันไลท์ ช่วยจัดซื้ออาวุธปืนให้ โดยทําสัญญาแลกเปลี่ยนกับดีบุก และในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ขึ้นครองราชย์ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ทางฝ่ายแผ่นดินพม่ามีพระเจ้าปดุงครองราชสมบัติใต้ฟ้าแผ่นดินอังวะ และได้เตรียมกองทัพใหญ่ด้วยพระประสงค์ที่จะขยายอาณาเขตด้วยกองทัพที่ยิ่งใหญ่แกร่งกล้าในการรบสามารถปราบรามัญ ไทใหญ่ มณีปุระ ยะไข่ รวบรวมไพร่พลได้ถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน จัดเป็นทัพใหญ่หมายโจมตีสยามประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงคราม ๙ ทัพ โดยให้แม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่นคุมกำลัง ๓,๐๐๐ คน เข้าตีหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองกระ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ค่ายปากพระ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่เมืองถลางขุมคลังของสยาม ข่าวทัพเรือพม่าบุกโจมตีกอปรกับเจ้าเมืองถลางเพิ่งเสียชีวิต เป็นข่าวร้ายที่ทำร้ายจิตใจชาวเมืองถลางให้อยู่ในความหวาดกลัวไม่มีที่พึ่งหมดหวัง แต่พลังใจทั้งมวลกลับตั้งมั่นด้วยจิตใจที่เข็มแข็งของท่านผู้หญิงจันและคุณมุกน้องสาว โดยท่านได้นำกำลังจากบ้านสาคู บ้านในยาง บ้านดอน บ้านไม้ขาว บ้านแขนน บ้านลิพอน บ้านเหรียง มาเตรียมการรบ ณ ค่ายข้างวัดพระนางสร้าง ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ามาเร่งก่อสร้างค่ายบริเวณทุ่งนา (โคกชนะพม่า) เพื่อเตรียมโจมตีเมืองถลาง ส่วนท่านผู้หญิงจันคุณมุกและคณะกรมการเมืองวางแผนตั้งค่ายประชิดค่ายข้าศึก เตรียมปืนใหญ่ตรึงไว้ดึงเวลาได้หลายวันเป็นผลให้เสบียงอาหารของพม่าลดน้อยลง (เหตุการณ์ครั้่งนั้นได้ทางกัปตันไลท์ เพื่อนของพระยาสุรินทราชา ได้ส่งข่าวนี้มาแจ้งก่อนล่วงหน้าจึงได้ตระเตรียมสะสมอาวุธไว้มาก และด้วยเหตุนี้เองเมื่อถลางถูกพม่าล้อม คุณหญิงจันจึงพอมีอาวุธใช้ป้องกันบ้านเมืองไว้ได้) ต่อมาได้วางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวคล้ายทหารไทย โดยเอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกมาถือแทนอาวุธ ทำทียกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงดึก ลวงพวกพม่าว่าเมืองถลางมีกำลังมาเสริมทัพทุกคืน ทำให้พม่าคาดการณ์กองกำลังเมืองถลางผิดพลาด การศึกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง ๑ เดือนเศษ กำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหาร เมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีก็ถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่เข้าใส่ โดยการนำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่าแล้วยิงคบเพลิงเข้าไปผสมตามยุทธวิธีแบบพระพิรุณสังหาร ทำให้กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญและแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ เป็นวันถลางชนะศึก เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน ให้ท่านผู้หญิงจัน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ดำรงยศอันมีศักดิ์แก่ฐานานุรูป เป็นศรีแก่เมืองถลาง และวงศ์ตระกูลสืบไป
                วีรกรรมของท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นวีรกรรมที่สําคัญยิ่งแก่บ้านเมืองในยามที่บ้านเมืองขาดผู้นํา สตรีทั้งสองนี้มีจิตใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวสามารถรับหน้าที่แทนบุรุษได้อย่างดีเยี่ยม มีความรับผิดชอบสูงและมีสามารถในการจัดกําลังตลอดทั้งรู้เชิงการลวงทางยุทธวิธีอันแยบยล และสามารถควบคุมบัญชาการรบดุจแม่ทัพทั้งหลาย อีกทั้งสร้างขวัญกําลังใจให้เกิดแก่นักรบถลาง ในอันที่จะยืนหยัดสู้ต่อไปอย่างไม่ย่นย่อ แม้กําลังฝ่ายข้าศึกจะเหนือกว่า แต่ก็สามารถเอาชนะได้ในที่สุด เกียรติประวัติวีรกรรมของสองวีรสตรีเมืองถลาง ที่สร้างไว้ให้แก่ชาติบ้านเมืองนี้ ได้จารึกอยู่ในความทรงจําของชาวไทยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้


                      อนุสาวรีย์ของทั้ง ๒ ท่าน ตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ 
ภาพจาก :  https://link.psu.th/e3mAe


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร
ที่อยู่
จังหวัด
ภูเก็ต


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

อักษรศรี หงสกุล. (2536). ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ใน หัวเมืองริมฝั่งอันดามัน. พิมพ์ครั้งแรก. กองวิชาประวัติศาสตร์
            โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025