พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์)
 
Back    12/12/2018, 15:19    173,132  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

ภาพจาก : สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาคใต้, 2556

        พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) หรือเทวดาเมืองคอน อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช  เดิมชื่อคล้าย นามสกุลสีนิล เกิดวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๑๙ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด ตรงกับ จ.ศ. ๑๒๓๘ ที่บ้านโคกทือ ตำบลช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล ท่านมีพี่สาว ๑ คน ชื่อนางเพ็ง พ่อท่านคล้ายมีนิสัยเป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยนละมุนละไม จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก เมื่ออายุ ๑๕ ปี ขาของท่านเสียข้างหนึ่งคือขาด้านซ้ายขาดตั้งแต่ตาตุ่มลงไป  ท่านประสบอุบัติเหตุในการถางป่าทำไร่กระดูกปลายเท้า สามนิ้วแตกละเอียดรักษาไม่หาย ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายได้ใช้มีดปาดตาลมีดตัดปลายเท้าออกด้วยตัวเองและใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ

การศึกษา

      พ่อท่านคล้ายได้รับการศึกษาในเบื้องต้นที่บ้านโดยมีบิดาเป็นผู้สอน ได้เรียนวิชาคำนวณตลอดถึงวิชาอักษรโบราณ จนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างชำนาญ ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม ต่อมาศึกษาต่อในสำนักนายขำ ที่วัดทุ่งปอน บ้านโคกทือ จนจบหลักสูตร ต่อมาได้ไปฝึกหัดเล่นหนังตะลุงกับนายทองสาก ประกอบกับพ่อท่านคล้ายมีหน้าตาดี น้ำเสียงไพเราะ จึงมีคนติดใจการเล่นหนังตะลุงของท่านมาก

บรรพชาและอุปสมบท

     เมื่ออายุ ๑๙ พ่อท่านคล้ายได้บรรพชาที่วัดจันดี ตำบลหลักช้าง เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๓๘ มีพระอุปัชฌาย์คือพระอธิการจันเจ้าอาวาสวัดจันดี (ทุ่งปอน) ท่านสามารถท่องพระปาฏิโมกข์จนได้อย่างแม่นยำ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ โดยมีพระครูกราย คงคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูงเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอนหรือวัดจันดี การศึกษาสมัยอุปสมบทตามลำดับดังนี้

  • ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ พ่อท่านคล้าย ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เรียนมูลกัจจายนะ ในสำนักพระครูกาแก้ว (ศรี) ณ วัดหน้าพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จบหลักสูตรมูล พอแปลบาลีได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา ๒ พรรษา
  • ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฏฐานที่สำนักวัดสามพัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์หนูเจ้าอาวาสเป็นผู้สอน
  • ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พ่อท่านคล้าย ได้กลับมาอยู่จำพรรษาวัดหาดสูง ใกล้ตลาดทานพอ ในสำนักพระครูกราย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพ่อท่าน เพื่อศึกษาวิปัสสนาและไสยศาสตร์ โดยเหตุที่พระครูกราย เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาและทรงวิชาคุณทางไสยศาสตร์ในสมัยนั้น
  • ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พ่อท่านคล้าย ได้ไปจำพรรษาที่วัดมะขามเฒ่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาบาลีและพระอภิธรรมเพิ่มเติม
  • ปี พ.ศ. ๒๔๔๘  พ่อท่านคล้ายกลับจากวัดมะขามเฒ่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอน (จันดี) ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษา ณ ที่ใดก็ตาม ท่านได้ศึกษาค้นคว้าภาษา บาลี วิชาโหราศาสตร์ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ติดต่อกันมาโดยมิได้ประมาท ด้านการก่อสร้างก็ได้สร้างไว้วัดและปูชนียวัตถุตามวัดต่าง ๆ ไว้มากมาย

สมณศักดิ์

     พ่อท่านคล้ายได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูพิศิษฐ์อรรถการในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นพิเศษในนามสมณศักดิ์เดิม พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์)  ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ และเป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ อันเนื่องจากมีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดีหรือวัดทุ่งปอน ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนประชาชนได้ประชุมตกลงสร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไปเรียกว่าวัดพระธาตุน้อย และแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ววัดนี้ก็เป็นที่ประดิษฐานสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว

มรณภาพ

     เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ตรงกับแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ พ่อท่านคล้ายจะต้องเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในงานพุทธาภิเษกที่คณะพุทธบริษัท จังหวัดนั้นนิมนต์ใว้ ประมาณเวลา ๑๖.00 น. ของวันเดินทาง คณะศิษย์เห็นว่าท่านอาพาธด้วยโรคหืดอย่างกระทันหัน จึงนิมนต์พ่อท่านขึ้นรถด่วนเข้ากรุงเทพ ถึงวันรุ่งขึ้นได้นำท่านเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎในวันนั้น ทางคณะแพทย์ได้พยายามรักษาท่านจนเต็มความสามารถ ท่านได้รักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาถึง ๑๔ วัน อาการมีแต่ทรงกับทรุด ครั้นถึงวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เวลา ๒๓.05 น. พ่อท่านคล้าย ได้มรณะภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี เมื่อบำเพ็ญกุศลศพครบ ๑๐๐ วัน ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้บรรจุสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว โดยประดิษฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ในวัดพระธาตุน้อยจนถึงปัจจุบันนี้


ภาพจาก : https://pantip.com/topic/36239885

      ปัจจุบันสรีระพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ประดิษฐ์ฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ ณ สถานที่นี้ จึงเป็นเจดีย์อนุสรณ์สถานพ่อท่านคล้ายอีกด้วย สังขารพ่อท่านคล้ายซึ่งว่ากันว่าแข็งเป็นหิน ที่ชาวบ้านนับถือและศรัทธาด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาสักการบูชากันมากยิ่งขึ้น 

 

ภาพจาก : https://pantip.com/topic/36239885

ภาพจาก : https://pantip.com/topic/36239885


ผลงานสำคัญ

ด้านศาสนา

      พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) เป็นผู้นำในการสร้างวัด สร้างพระ ตลอดถึงปูชนียวัตถุมากมาย เช่น สร้างวัดมะปรางงาม ตำบลละอาย สร้างวัดพิศิษฐ์อรรถการาม และวัดที่สำคัญที่สุดคือวัดพระธาตุน้อย หรือคนทั่วไปเรียกว่าวัดพ่อท่านคล้าย ท่านได้สร้างขึ้นใหม่และสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์ โดยยึดรูปแบบมาจากวัดพระมหาธาตุทั้งหมด การก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สร้างพระเจดีย์ พ่อท่านคล้ายได้สร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ ได้แก่เจดีย์วัดสวนขัน เจดีย์บ้านควรสวรรค์ ตำบลนาแว อำเภอฉวาง เจดีย์วัดยางค้อม อำเภอพิปูน และที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้แก่เจดีย์วัดสวนขันอำเภอพระแสง และเจดีย์หน้าถ้ำขมิ้นบนภูเขา อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฏร์ธานี

ด้านพัฒนาท้องถิ่น

     พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) จัดได้ว่าเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่มาตลอดชีวิต ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ท่านได้เดินทางไปพัฒนาในที่ต่าง  ๆ สร้างถนนสร้างสะพานไว้มากมาย ด้วยเมตตาบารมีและความเคารพศรัทธาของศิษย์และประชาชน เช่น

  • สร้างถนนเข้าวัดจันดี
  • ถนนจากตำบลละอายไปพิปูน
  • ถนนจากวัดสวนขันไปยังสถานีรถไฟคลองจันดี
  • ถนนจากตำบลละอายไปนาแว
  • ถนนระหว่างหมู่บ้านในตำบลละอาย
  • สะพานข้ามคลองคุดด้วนเข้าวัดสวนขัน
  • สะพานข้ามแม่น้ำตาปีจากตลาดทานพอไปนาแว
  • สะพานข้ามคลองเสหลา หน้าวัดมะปรางงาม
  • สะพานข้ามคลองจันดี เป็นต้น

ด้านความมีเมตตาและวาจาสิทธิ์

     ศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือศรัทธาพ่อท่านคล้ายได้เชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจาพูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น พ่อท่านคล้ายจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและแจ่มใสอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคน "ขอให้เป็นสุข เป็นสุข" ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่พบความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำอวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและทางเสื่อมเสีย คนที่ไปนมัสการหวังที่จะได้วัตถุมงคล บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวน ผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่านคล้ายก็ได้มีเมตตาให้กับทุกคน ยิ่งชานหมากของท่านหากใครได้รับจากมือท่านเป็นของที่มีค่ามาก

ภาพจาก : https://pantip.com/topic/36239885

        คุณลุงหยวน แซนิ้ว ชาวบ้านอําเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่าพ่อท่านคล้ายเป็นผู้มีอภินิหารมาก เมื่อครั้งที่มีการก่อสร้างวัดจันดีไม่มีทรายเลย ท่านสามารถทำให้น้ําพัดพาทรายมากองไว้ที่หน้าวัดได้ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก ลุงหยวนยังชี้ให้ดูต้นมะพร้าวคู่ภายในบริเวณวัดธาตุน้อยสถานที่ที่พ่อท่านคล้ายเคยพํานักอยู่ขณะที่ดูแลการก่อสร้างเจดีย์ (ใต้...หรอยมีลุย บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้ ; 2547, 110)
           สำหรับสรีระสังขารของท่านที่บรรจุอยู่ในโลงแก้ว ก็เป็นสิ่งอัศจรรย์มากที่ไม่เสี่ยมสลายไปตามกาลเวลา จึงทำมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในตัวพ่อท่านคล้ายอยู่มิเสื่อมคลาย 
ปัจจุบันจะทีประเพณีสรงน้ํารูปหล่อหลวงพ่อคล้าย ซึ่งมีขึ้นในวันอังคารที่ ๒ เดือน ๔ เป็นประจําทุกปีที่วัดธาตุน้อย จังหวัดนครศรีธรรมราช


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย)
ที่อยู่
จังหวัด
นครศรีธรรมราช


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ธรรมนิตย์ ชำนาญ, บรรณาธิการ. (2556). ตามรอยพระอริยเจ้าพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.
บุญชู ยืนยงสกุล, บรรณาธิการ. (2547). ใต้...หรอยมีลุย บอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของภาคใต้. สงขลา : ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้.

ประวัติพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน เทวดาเมืองคอน. (2553). สืบค้นวันที่ 28 ต.ค. 62, จาก https://www.tumsrivichai.com//index.php?                                                                                  lay=show&ac=article&Id=526533&Ntype=5
หลวงพ่อคล้าย จันทสุวัณโณ. (2560). สืบค้นวันที่ 28 ต.ค. 62, จาก https://www.web-pra.com/amulet/หลวงพ่อคล้าย-วัดสวนขัน


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024