ฉิ้น อรมุต
 
Back    19/09/2018, 14:47    6,195  

หมวดหมู่

ปราชญ์ชาวบ้าน


ประวัติ

ภาพจาก : https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal

       ฉิ้น อรมุต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๗๔ ตรงกับแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ที่บ้านธรรมโฆษณ์ หมู่ที่ ๓ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายยก และนางแช่ม อรมุต มีพี่น้องรวม ๖ คน สมรสกับนางเหี้ยง คงสุวรรณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ มีบุตรและธิดารวม ๘ คน ฉิ้น อรมุต เป็นผู้มีความสนใจหนังตะลุงอย่างจริงจังมาตั้งแต่เด็ก ได้เรียนรู้ทั้งกระบวนการ รูปแบบ และศิลปะการแสดงหนังตะลุงอย่างลึกซึ้งและแตกฉาน ท่านแสดงหนังมาไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ ครั้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความสามารถเป็นเลิศในการเขียนบทหนังตะลุงเป็นที่เลื่องลือและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และเคยแสดงหนังตะลุงหน้าพระที่นั่ง ๒ ครั้ง จนได้รับพระราชทานนามว่า “หนังอรรถโฆษิต” ซึ่งแปลว่าผู้ประกาศความดี ในการแสดงหนังตะลุงท่านจะเป็นผู้ประดิษฐ์ตัวหนังตะลุงที่แสดงเองเกือบทั้งหมด ด้วยเป็นผู้มีไหวพริบและปฏิภาณและมีทักษะในการใช้ภาษาให้เกิดสุนทรียะในการแสดง และยังฝากข้อคิดที่เป็นคติสอนใจเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้ชม จนเป็นที่ยอมรับและเคารพนับถือ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี พ.ศ.๒๕๓๒     

        การศึกษา
       ฉิ้น อรมุต จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ จากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ หลังจากจบการศึกษาแล้ว ฉิ้น อรมุตได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมาตลอด โดยการอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง นวนิยาย ฯลฯ เช่น กามนิต นิทานเวตาล นิทานชาดก นิราศของสุนทรภู่ พระอภัยมณี รามเกียรติ์ ฯลฯ และยังหาความรู้จากสื่ออื่น ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ ตลอดจนการสังเกตพบปะพูดคุยกับผู้รู้ทั้งหลาย และได้อุปสมบทที่วัดธรรมโฆษณ์เป็นเวลา ๑ พรรษา โดยมีพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) เป็นพระอุปัฌาจารย์ จากที่เริ่มสนใจหนังตะลุงมาตั้งแต่ยังไม่จบประถมปีที่ ๔  เพราะคิดว่านายหนังนั้นเป็นผู้มีเกียรติและสามารถฝึกเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ จึงพยายามที่จะหัดเล่นโดยไม่มีครู โดยการติดตามหนังตะลุงเมื่อรู้ว่าเล่นที่ไหนก็จะไปดู ดูแล้วมาฝึกหัดเล่น ประกอบกับบิดาของหนังฉิ้นอยู่ในแวดวงของหนังตะลุง จึงได้สอนเรื่องหนังให้ ครั้งแรกในการหัดเล่นกับจะเล่นกับฝาบ้าน จุดตะเกียงให้เกิดเงา ใช้ฝาแทนจอหนัง ต่อมาจึงมีโอกาสฝึกเล่นบนโรงหนังเล็ก ๆ และฝึกเล่นบนโรงหนังจริง ๆ ที่ วัดธรรมโฆษณ์ ซึ่งมีโรงหนังจริง ๆ ได้ฝึกเล่นอย่างจริงจัง โดยเล่นหนังตะลุงได้ตั้งแต่อายุ ๑๗-๑๘ ปี นอกจากฝึกเล่นหนังเองแล้ว ยังได้ติดตามดูนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น หนังอ่วม (บ้านเก้าบ่อ) หนังหนูอิน (บ้านดีหลวง) หนังเคียง (บ้านชิงโค) ต่อมได้เป็นศิษย์ของหนังขับ บ้านดีหลวง (ขุนลอยฟ้าโพยมหน) ทำให้หนังฉิ้นได้รับมรดกการเล่นหนังอีกหลายประการคือความรู้ไสยศาสตร์ ทั้งทางแก้และทางกั้น ได้รับเรื่องหนังที่ครบบริบูรณ์ คือพรายโพยม คำสอนเกี่ยวกับการเชิดรูปและข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องหนัง จึงทำให้มีชื่อเสียงและมีฐานะมั่นคง โดยคนทั่วไปรู้จักในนาม "หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์”   

  

ภาพจาก : https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal    

      ชีวิตครอบครัว    
       ฉิ้น อรมุต ได้แต่งงานกับนางเหี้ยว คงสุวรรณ มีบุตรธิดา ๘ คน ประกอบด้วย

  • สุคนธ์ อำภา
  • สมปราชญ์ อรมุต
  • ปรีชา อรมุต
  • บุญทัน อรมุต
  • บุญญา อรมุต
  • บุญเทอด อรมุต
  • บุญทิพย์ อรมุต
  • บุญมา อรมุต

      ต่อมาภรรยาได้เสียชีวิตลงท่านได้แต่งงานใหม่กับนางปราณี ไชยสอน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๒ คน

  • พลวัฒน์ อรมุต
  • ภัทราวดี อรมุต 
    ชีวิตครอบครัวของฉิ้น อรมุต ราบรื่นสงบสุข ท่านเป็นคนที่ขยัน และประหยัด ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขใด บุตรธิดาทุกคนได้รับการศึกษาและประกอบอาชีพที่สุจริต มีฐานะที่มั่นคง 

ภาพจาก : https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal

 

       เริ่มชีวิตหนังตะลุง 
       ตามที่กล่าวแล้วว่าฉิ้น อรมุต เริ่มสนใจหนังตะลุงมาตั้งแต่ยังไม่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ชอบดูหนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจ โดยเริ่มเล่นหนังด้วยเรื่องที่จดจำจากหนังอื่น ๆ พร้อมกันก็หัดแต่งเรื่องเองด้วยเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ฉิ้น อรมุต ได้มอบตัวเป็นศิษย์ของหนังขับ บ้านดีหลวง (ขุนลอยฟ้าโพยมหน) ซึ่งเป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ได้รับการครอบมือและถ่ายทอดศิลปะการเล่นหนังจากอาจารย์เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ขวนขวายใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา จนแตกฉานในศิลปะการแสดงหนังตะลุงอย่างลึกซึ้งและยึดเป็นอาชีพมาตลอด เมื่อเริ่มต้นอาชีพนายหนังตะลุง ฉิ้น อรมุต ได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุ ๒ รูปคือพระพุ่ม และพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) ซึ่งได้ช่วยจัดหาเครื่องดนตรีประกอบให้อย่างครบชุด ในระยะแรก ๆ เขาแสดงเรื่องที่จดจำลอกเลียนมาจากหนังตะลุงคณะอื่น ๆ ที่เคยดูมา ไม่นานก็สามารถเข้าใจวิธีผูกเรื่องได้ทะลุปรุโปร่ง จึงลองแต่งเรื่องขึ้นมาเอง และทำได้อย่างยอดเยี่ยม จากนั้นมาท่านก็เขียนบทเอง จนมีผลงานที่นำออกแสดงซึ่งแต่งขึ้นเองจำนวนมากมาย ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๔๗ ปี ได้ไปแสดงตนขอเป็นลูกศิษย์ของหนังกั้น บ้านน้ำกระจาย (หนังกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นนายหนังตะลุงชั้นยอดของภาคใต้ เนื่องจากหนังฉิ้น อรมุต เป็นหนังดีหนังเด่นกล่าวได้ว่าเล่นหนังเกือบทั่วประเทศทั้งภาคใต้ ภาคกลาง และประเทศมาเลเซีย มีประสบการณ์ในการเล่นหนังตะลุงมาไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ ครั้ง มีผลงานประพันธ์บทหนังตะลุงที่เลื่องชื่อ จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง นอกจากนี้ยังประดิษฐ์ตัวหนังตะลุงที่ใช้แสดงเองทั้งหมด หนังฉิ้น อรมุต เป็นหนังที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังที่เด่นที่สุดในด้านบทกลอนสด สามารถเปลี่ยนแปลงกลอนไปได้ตามสถานการณ์อย่างฉับไวทันลูกทันคน มีปฏิภาณไหวพริบยอดเยี่ยม มีทักษะในการใช้ภาษาไทยให้เกิดสุนทรียะในการแสดง การแสดงทุกครั้งจะมีข้อคิดคติสอนใจที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่ ผู้ชมด้วย จนเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างสูงของบุคคลที่อยู่ในวงการหนังตะลุงและบุคคลทั่วไป 
        หนังฉิ้น อรมุต ยึดถือแนวการเขียนบทหนังตะลุงตามแบบอย่างโบราณ คือเน้นการเปิดเรื่องและดำเนินเรื่อง (บรรยายเรื่อง) ด้วยการ "ว่าบท" (ร้องเป็นกลอนตะลุง) ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนบทรุ่นใหม่ที่นิยมดำเนินเรื่องด้วยการพูดบรรยาย นอกจากนี้ท่านยังฝึกร้องกลอนสดจนเชี่ยวชาญ จนสามารถว่าบทพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์หน้าโรง หรือสถานการณ์เฉพาะของสถานที่ที่ไปแสดงได้อย่างสด ๆ นับว่ามีไหวพริบปฏิภาณอันเป็นเลิศ ท่านได้รับการต้อนรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ ด้วยความสามารถในการแสดงที่จัดเจนรอบด้าน ตั้งแต่การวางโครงเรื่องที่สนุกน่าติดตาม บทกลอนที่ลื่นไหลงดงาม บทเจรจาที่น่าประทับใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอเรื่องราวที่ส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรมอันดีงาม ซึ่งสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียน แม้กระทั่งบทตลก ซึ่งเป็นบทสำคัญมากอย่างหนึ่งของหนังตะลุง สามารถสร้างความขบขันและสนุกสนานให้กับผู้ชมได้โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำสกปรกหรือหยาบคายเลย

ภาพจาก : https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal

 

        เริ่มชีวิตหนังตะลุงของฉิ้น อรมุต
       ฉิ้น อรมุต เริ่มสนใจหนังตะลุงมาตั้งแต่ยังไม่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ชอบดูหนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจ โดยเริ่มเล่นหนังด้วยเรื่องที่จดจำจากหนังอื่น ๆ พร้อมกันก็หัดแต่งเรื่องเองด้วยเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ฉิ้น อรมุต ได้มอบตัวเป็นศิษย์ของหนังขับ บ้านดีหลวง (ขุนลอยฟ้าโพยมหน) ซึ่งเป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ได้รับการครอบมือและถ่ายทอดศิลปะการเล่นหนังจากอาจารย์เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ขวนขวายใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา จนแตกฉานในศิลปะการแสดงหนังตะลุงอย่างลึกซึ้งและยึดเป็นอาชีพมาตลอด เมื่อเริ่มต้นอาชีพนายหนังตะลุง ฉิ้น อรมุต ได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุ ๒ รูปคือพระพุ่ม และพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตฺโต) ซึ่งได้ช่วยจัดหาเครื่องดนตรีประกอบให้อย่างครบชุด ในระยะแรก ๆ เขาแสดงเรื่องที่จดจำลอกเลียนมาจากหนังตะลุงคณะอื่น ๆ ที่เคยดูมา ไม่นานก็สามารถเข้าใจวิธีผูกเรื่องได้ทะลุปรุโปร่ง จึงลองแต่งเรื่องขึ้นมาเอง และทำได้อย่างยอดเยี่ยม จากนั้นมาท่านก็เขียนบทเอง จนมีผลงานที่นำออกแสดงซึ่งแต่งขึ้นเองจำนวนมากมาย ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๔๗ ปี ได้ไปแสดงตนขอเป็นลูกศิษย์ของหนังกั้น บ้านน้ำกระจาย (หนังกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นนายหนังตะลุงชั้นยอดของภาคใต้ เนื่องจากหนังฉิ้น อรมุต เป็นหนังดีหนังเด่นกล่าวได้ว่าเล่นหนังเกือบทั่วประเทศทั้งภาคใต้ ภาคกลาง และประเทศมาเลเซีย มีประสบการณ์ในการเล่นหนังตะลุงมาไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ ครั้ง มีผลงานประพันธ์บทหนังตะลุงที่เลื่องชื่อ จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง นอกจากนี้ยังประดิษฐ์ตัวหนังตะลุงที่ใช้แสดงเองทั้งหมด หนังฉิ้น อรมุต เป็นหนังที่ได้ชื่อว่าเป็นหนังที่เด่นที่สุดในด้านบทกลอนสด สามารถเปลี่ยนแปลงกลอนไปได้ตามสถานการณ์อย่างฉับไวทันลูกทันคน มีปฏิภาณไหวพริบยอดเยี่ยม มีทักษะในการใช้ภาษาไทยให้เกิดสุนทรียะในการแสดง การแสดงทุกครั้งจะมีข้อคิดคติสอนใจที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่ ผู้ชมด้วย จนเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างสูงของบุคคลที่อยู่ในวงการหนังตะลุงและบุคคลทั่วไป 
       หนังฉิ้น อรมุต ยึดถือแนวการเขียนบทหนังตะลุงตามแบบอย่างโบราณ คือเน้นการเปิดเรื่องและดำเนินเรื่อง (บรรยายเรื่อง) ด้วยการ "ว่าบท" (ร้องเป็น กลอนตะลุง) ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนบทรุ่นใหม่ที่นิยมดำเนินเรื่องด้วยการพูดบรรยาย นอกจากนี้ท่านยังฝึกร้องกลอนสดจนเชี่ยวชาญจนสามารถว่าบทพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์หน้าโรง หรือสถานการณ์เฉพาะของสถานที่ที่ไปแสดงได้อย่างสด ๆ นับว่ามีไหวพริบปฏิภาณอันเป็นเลิศ ท่านได้รับการต้อนรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ ด้วยความสามารถในการแสดงที่จัดเจนรอบด้าน ตั้งแต่การวางโครงเรื่องที่สนุกน่าติดตาม บทกลอนที่ลื่นไหลงดงาม บทเจรจาที่น่าประทับใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอเรื่องราวที่ส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรมอันดีงาม ซึ่งสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียน แม้กระทั่งบทตลก ซึ่งเป็นบทสำคัญมากอย่างหนึ่งของหนังตะลุง สามารถสร้างความขบขันและสนุกสนานให้กับผู้ชมได้โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำสกปรกหรือหยาบคายเลย

ภาพจาก : https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal

       ลักษณะเด่นของหนังฉิ้น อรมุต 
      หนังฉิ้น อรมุต มีคุณลักษณะเด่นดีหลายประการ เช่น มีความรักผูกพันกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รู้จักเข้าใจวิสัยโลก คือรู้จักเข้าใจความจริงของมนุษย์และความจริงของธรรมชาติ นอกจากนี้ด้านภาษามีลักษณะเด่นคือมีความสามารถเชิงภาษา สามารถใช้ภาษาไทยได้ไพเราะงดงามทั้งบทร้อยแก้ว บทร้อยกรอง ทั้งบทบรรยายและบทสนทนา สามารถประพันธ์บทหนังตะลุงได้ดีมากทั้งบทหนังตะลุงสั้น ๆ และบทหนังตะลุงที่เป็นเรื่องยาว ๆ เช่น บทเกี้ยวจอ บทปรายหน้าบท ฯลฯ ได้ไพเราะ งดงาม โดยเฉพาะการอุปมาเปรียบเทียบก่อให้เกิดจินตนาการ ขณะเดียวกันก็สะท้อนอัตลักษณ์ของตัวละคร สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี 

        คุณความดีที่ควรแก่การยกย่อง
       - ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ฉิ้ว ทิพย์วารี ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดสงขลา ผู้แต่งบทหนังตะลุงที่เด่นยิ่งของภาคใต้ บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม (ด้านวรรณศิลป์) ของจังหวัดสงขลา ได้กล่าวยกย่องบทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต ว่า "บทหนัง (ตะลุง) ของหนังฉิ้น อรมุต เป็นบทหนัง (ตะลุง) ที่ดี กลอนดี เรื่องดี มีเหตุผล สอนดีไม่สูงเกินไป ตลกดี ไม่ลามก ไม่นอกเรื่อง” 
       - ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ อ้วน เจียรบุตร ศึกษานิเทศก์เขตการศึกษา ๒ ยะลา ผู้สนใจหนังตะลุง ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดรายการ "สืบสานตะลุงศิลป์” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง ๑๑ หาดใหญ่สงขลา ได้กล่าวยกย่องบทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต ว่า "บทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต ดีเด่นหลายประการ เช่น กลอนลงตัว ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ได้ความดี เห็นภาพชัดเจน เช่นว่า "นายโกศักดิ์ถูกยิงล้มกลิ้งตาย” เนื้อเรื่องน่าสนใจให้แง่คิดคุณธรรม จริยธรรมแก่ผู้ฟัง ชื่อเสียงลงตัวสามารถบอกสารัตถะของเรื่องได้ทันที เช่น ฝนหลงฟ้า ดอกฟ้าละอองดิน มัจจุราชเจ้าเล่ห์ ฯลฯ การดำเนินเรื่องกระชับทันใจ เนื้อหาทันยุคทันสมัย แต่ไม่ทิ้งขนบธรรมเนียมหนังตะลุง ใช้ศัพท์ ถูกต้องงดงามมีบทตลก สมเหตุสมผลและมีลักษณะเฉพาะตน”
       - ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หนังนครินทร์ ชาทอง อาจารย์สอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนวัดเลียบ ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ประธานชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา และเป็นนายหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติว่า เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง ได้กล่าว ยกย่องบทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต ว่า "เรื่องของหนังฉิ้น อรมุต” ชวนติดตาม มีเอกภาพ มีสาระ มีคติธรรม ตลกได้เหมาะสม มีศิลปะในการตลกไม่ลามก 
       - ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หนังผวน สำนวนทอง (ผวน เส้งนนท์) หนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง กล่าวยกย่องบทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุตว่า " บทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต เป็นบทหนังตะลุงที่ดี คือมีความสมเหตุ สมผล พฤติกรรมของตัวละครของหนังฉิ้น อรมุต จะมีเหตุผลที่สามารถจะอธิบายได้ เนื้อหาสลับซับซ้อน ชวนติดตาม กระชับ บทตลกดีไม่ตลกนอกเรื่องเลย บทกลอนน่าสนใจ เนื้อเรื่องทันสมัย แต่ก็ไม่ทิ้งรูปแบบของหนังตะลุง” 
       - ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หนังสุภาพ ชุมยวง อาจารย์สอนภาษาไทย โรงเรียนวัดบ่อทรายเจริญธรรม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นายหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม (การแสดงหนังตะลุง) ของจังหวัดสงขลา กล่าวยกย่องบท หนังตะลุงของ หนังฉิ้น อรมุต ว่า "บทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต มีเรื่องดีน่าติดตามกลอนดีหาตัวจับยาก บทสอนง่าย ๆ ประทับใจ บทตลกพอดีไม่ลามกไม่ออกนอกเรื่อง”
      เกียรติคุณที่ได้รับ 
       หนังฉิ้น อรมุต ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีมีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมากเป็นที่ประจักษ์ ได้แสดงหนังตะลุงครั้งที่สำคัญ ๆ หลายครั้ง คือ
       - ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ แสดงหนังตะลุงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระราชทานนามหนังฉิ้น อรมุต ว่า "หนังอรรถโฆษิต” ซึ่งแปลว่า "คณะหนังตะลุงที่ประกาศความดี” 
 
      - ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ยกย่องหนังฉิ้น อรมุต ว่าเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) 
       - ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ยกย่องหนังฉิ้น อรมุต เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง)
       - ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ คณะกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏสงขลา พิจารณาว่านายฉิ้น อรมุต (หนังฉิ้น อรมุต) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ ตามหลักสูตรสภาสถาบันราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๓ หลายวิชาเป็นที่ประจักษ์ชัด จึงมีมติอนุมัติปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่นายฉิ้น อรมุต (หนังฉิ้น อรมุต) 
        ถึงแก่มรณกรรม
   
      เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙ เดือนพฤษภาคม พ.ค. ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. หนังฉิ้น อรมุต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้ถึงแก่กรรม ณ บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ที่ ๓ บ้านธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื่องจากโรคชรา สิริอายุถึงแก่กรรมด้วย โรคชรา สิริรวมอายุ ๘๕ ปี


ผลงานสำคัญ

 

       ผลงานของหนังฉิ้น อรมุต 
        หนังฉิ้น อรมุต เป็นนายหนังตะลุงที่แสดงหนังตะลุงไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ ครั้ง เขียนบทหนังตะลุงที่ดีไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง มีผลงานที่ดีเด่นมากมายหลายด้าน ดังนี้ 
 
       ๑. ด้านการเขียนบทความ
      หนังฉิ้น อรมุต ได้เขียนบทความหรือบทกลอนเกี่ยวกับหนังตะลุงที่สำคัญ เช่น เขียนบทความเรื่อง "ความรู้เรื่องหนังตะลุง” เผยแพร่แก่สมาชิกสมาพันธ์หนังตะลุงจังหวัดสงขลา นักวิชาการและผู้สนใจ เขียนบทกลอนเรื่อง "ถ้าหากน้องรักจะเล่นจนเป็นหนัง” เป็นเอกสารประกอบการสัมมนาหนังตะลุง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐–๑๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ สถาบันราชภัฏสงขลา ซึ่งต่อมาคณะวิจัยในโครงการภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม ได้คัดเลือกให้เป็นเรื่องหนึ่งในวรรณกรรมทักษิณ จำนวน ๓๐๐ เรื่อง และเขียนบทกลอน "ปกิณกะรามเกียรติ์” ให้แก่สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย เนื่องในวาระที่ประเทศอินเดียจัดแสดงรามายณะในแถบเอเซียอาคเนย์ บทกลอนนี้ได้ตีพิมพ์และจัดแสดง ณ หอศิลปินนานาชาติ เมืองอโยธยา รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย สำหรับรูปแบบของการใช้คำประพันธ์ในบทร้อง หนังฉิ้น อรมุต จะใช้รูปแบบแบบกลอนแปดหรือกลอนตลาดเป็นพื้น นอกจากนี้จะใช้กลอนสามห้า กลอนกลบท กลอนพิเศษ และมีการใช้กลอนทอยในจังหวะการเดินเรื่อง ด้านการใช้คำประพันธ์ หนังฉิ้น อรมุต มีศิลปะในการใช้คำประพันธ์ที่มีการเล่นคำซ้อน คำผวน และคำสัมผัส กับการใช้โวหารให้เกิดภาพพจน์ ประกอบด้วย อุปมา อุปลักษณ์ อธิพจน์ และปรพากย์ 

        ๒. ด้านการเขียนบทหนังตะลุง 
          หนังฉิ้น อรมุต ได้เขียนบทหนังตะลุงไว้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง เท่าที่สามารถจะรวบรวมต้นฉบับได้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ มี ๘๒ เรื่อง เช่น กรรมลิขิต ก่อนตะวันจะลับฟ้า ฯลฯ ในการเขียนบทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต ในแต่ละเรื่องจะมีเนื้อหาของบทหนังตะลุงมีองค์ประกอบ คือโครงเรื่อง ซึ่งหนังฉิ้น อรมุต จะสร้างประเด็นความขัดแย้งไว้ ๓ ลักษณะ คือความขัดแย้งภายในตัวละคร ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งนี้แนวคิดส่วนใหญ่ได้มาจากคำสอนในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้หนังฉิ้น อรมุต ยังได้สร้างตัวละครเป็นตัวตลกประจำคณะไว้ตัวหนึ่ง คือ "อ้ายโท่ง” โดยกำหนดให้เป็นน้องชายของ "เท่ง” ตัวตลกของหนังตะลุงที่มีมาแต่เดิม การสร้างตัว "อ้ายโท่ง” นั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่หนังฉิ้นกำหนดให้ คือให้เป็นน้องชายของอ้ายเท่ง ซึ่งลักษณะเด่นของ "อ้ายโท่ง” ก็คือจะเรียกพี่ชายคืออ้ายเท่ง ด้วยสรรพนามว่า "พี่เจ้า” อันเป็นคำเรียกที่คนใต้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลาใช้เรียกผู้ชายที่บวชแล้วเรียนแล้วและสึกออกมาเป็นชาวบ้านค่อนข้างจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้ทางโลกทางธรรมอยู่บ้าง และดำรงตนเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านทั่วไป แต่ในบางกรณีคำเรียก "พี่เจ้า” อาจถูกนำไปเรียกในเชิงล้อเลียนตามแต่กรณี ลักษณะการสร้างมุขตลกของ "อ้างโท่ง” ก็คือการพูดจาเข้าทำนองพูดเรื่องหนึ่งไปออกอีกเรื่องหนึ่ง โดยลากเข้าหาเรื่องที่พูดได้อย่างแยบยลชวนให้คนฟังคล้อยตามแล้วจบลงด้วยเหตุการณ์ หรือเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่ยกมาเป็นหัวเรื่องเลย "อ้ายโท่ง” จึงเป็นเสมือนเด็กที่ไม่มีใครถือสาหาความหรือเอาเรื่องเอาราวอะไรมากนัก แต่ก็ไม่มีใครรังเกียจด้วยว่าไม่ได้ให้ร้ายใครให้เสียหาย ส่วนบทสนทนา ในบทหนังตะลุงของหนังฉิ้น อรมุต ได้สะท้อนและแสดงลักษณะนิสัยของตัวละครอย่างแยบยล และสะท้อนสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้หลายด้าน ได้แก่ ด้านความเชื่อ ค่านิยม การเมืองการปกครอง อาชีพ ประเพณีและการละเล่นพื้นบ้าน บทหนังตะลุงของท่านที่ดีที่สามารรถรวบรวมต้นฉบับได้รวมทั้งหมด ๘๒ เรื่อง ประกอบด้วย

๑. กรรมลิขิต ๒. ก่อนตะวันจะลับฟ้า ๓. กามเทพผิดคิว (ความรัก ความลวง)
๔.กุกลาบดำ ๕. กำสรวลสวาท ๖. ขุนศึกนรสิงห์
๗. ขุนศึกพระพันวษา ๘. คมพิฆาต ๙. คัมภีร์ดำ
๑๐. คู่เกิด คู่กรรม ๑๑. ครูบ้านนอก ๑๒. คู่สร้าง คู่สม
๑๓. ฆาตกรเหนือเมฆ ๑๔. จำเลยรัก ๑๕. จำเลยลึกลับ
๑๖. เจ้าค่อมทอง ๑๗. เจ้าดำดง ๑๘. เจ้าแสงเพชร
๑๙. ดอกฟ้า ละอองดิน   ๒๐. ดัชนีนาง ๒๑. แดนอภินิหารย์
๒๒. ต้นรักดอกโศก ๒๓. ตุ๊กตาทอง ๒๔. ถล่มวิมานรัก
๒๕. ทวนทิพย์ทวนทอง ๒๖. แหวนประดับชีวิต ๒๗. ทุ่งร้างทางรัก
๒๘. เทพเจ้าหลงชาติ ๒๙. เทพธิดาดง ๓๐. เทพบัญชา
๓๑. เทพวงศ์ จงกลนี ๓๒. น้องแก้ว ๓๓. นางในฝัน
๓๔. น้ำใจแม่ ๓๕. ฝนหลงฟ้า ๓๖. พรสวรรค์
๓๗. พรหมลิขิต ๓๘. เพลิงพยาบาท ๓๙. เพื่อนแก้ว เมียขวัญ
๔๐. ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ๔๑. ภูตเหลือง ๔๒. มหาราชกำสรวล
๔๓. มัจจุราชเจ้าเล่ห์ ๔๔. มัจจุราชสายน้ำผึ้ง ๔๕. มัตติกา
๔๖. ม่านมลทิน ๔๗. มีดสั้น ๔๘. ยอดกตัญญู
๔๙. รอยหมึกนิลกาฬ ๕๐ รักไร้พรมแดน ๕๑. ราชินีบอด
๕๒. ราชินีมหากาฬ ๕๓. ราชินีวิปโยค ๕๔. แรงพิศวาส
๕๕. แรงรักรอยมลทิน ๕๖. แรงสายเลือด ๕๗. แรงอธิษฐาน
๕๘. ลูกหลงแม่ ๕๙. เลือดรักล้างมลทิน ๖๐. วงศ์ไพรวัลย์
๖๑. วงเวียนแห่งความรัก ๖๒. วงศ์อมรินทร์ ๖๓. เศวตฉัตรน่านเจ้า
๖๔. เศวตฉัตรล้านนา ๖๕. เศวตฉัตรเวียงชาน ๖๖. สวรรค์บันดาล
๖๗. สองฝั่งฟ้า ๖๘. สัจจะกับความรัก ๖๙. สาปฟ้า ลาดิน
๗๐. สายเลือดขัตติยา ๗๑. สามพี่น้องฝาแฝด ๗๒. สามมงกุฎ
๗๓. สายเลือดลึกลับ ๗๔. สิงหราชกษัตริย์ศึก ๗๕. สี่แผ่นดิน
๗๖. สุพรรณิการ์ ๗๗. แสงพยัคฆ์ ๗๘. แสงวารินทร์
๗๙. ห้วงรักเหวทำลาย ๘๐. อภินิหารย์สุริยเทพ ๘๑. อภินิหารย์ลึกลับ
๘๒. อาถรรพ์สวาท    

       ๓. ด้านการสงเคราะห์สังคม 
     
        หนังฉิ้น อรมุต เป็นบุคคลที่ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมหลายประการ เช่น 
             ๓.๑ เป็นสมาพันธ์หนังตะลุงจังหวัดสงขลา มาตั้งแต่เริ่มตั้งชมรมมาจนถึงปัจจุบัน 
             ๓.๒ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องหนังตะลุง แก่ที่ประชุมสัมมนาตลอดจนผู้ที่สนใจหลายครั้งที่เด่น ๆ เช่น เป็นวิทยากรบรรยายความรู้เรื่องหนังตะลุงแก่              นักศึกษาวิชาเอกภาษาไทย สถาบันราชภัฏสงขลา  เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องหนังตะลุงแก่นิสิตปริญญาโทวิชาเอกไทย คดีศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ เป็น             วิทยากรบรรยายเรื่องการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง การ            อนุรักษ์พัฒนาหนังตะลุงแก่สมาชิกสมาพันธ์หนังตะลุง จังหวัดสงขลา เป็นวิทยากรในการสัมมนาวัฒนธรรมพื้นบ้านในหัวข้อ "เท่งเสวนา” ที่สถาบันราชภัฏ              สงขลา 
             ๓.๓  เป็นประธานกรรมการคัดเลือกศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา สาขาศิลปะการแสดง 
             ๓.๔  เป็นประธานกรรมการโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ อำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลา 
             ๓.๕  เป็นกรรมการโรงเรียนสงขลาวิทยาคม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 
             ๓.๖  เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 
             ๓.๗ เป็นกรรมการสำนักวัฒนธรรม วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 
             ๓.๘ มอบต้นฉบับบทหนังตะลุงทุกเรื่อง ให้สำนักศิลปะวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา เพื่อเป็นวิทยาทานและการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน 

           

ภาพจาก : https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal

ภาพจาก : https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
ฉิ้น อรมุต
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ฐาพร. (2541). ศิลปินแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : บริษัท เอส. ที. พี. เวิลด์มีเดีย.
ประวัติชีวิตและผลงานนายฉิ้น อรมุต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี
2532. (2559). สืบค้นวันที่ 20 ธ.ค. 61, จาก https://www.m-                                                          culture.go..th/songkhla/ewt_news.php?nid=531&filename=index
เพจชมรม ฅนรักหนังฉิ้น. 2561. สืบค้นวันที่ 20 ธ.ค. 61, จาก https://www.facebook.com/pg/nangathacosit/photos/?ref=page_internal
สิ้น ‘ฉิ้น อรมุต’ ครูหนังตะลุงใต้ ศิลปินแห่งชาติ สิริอายุ 85 ปี. 2560. สืบค้นวันที่ 20 ธ.ค. 61, จาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_372134


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025