ภาพจาก : ปักษ์ใต้ชายแดน, 2526, 226
ขุนจรรยาวิธาน (ยูโซะ มะโรหบุตร) เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ณ บ้านวัดสุวรรณ ฝั่งบางกอกน้อย กรุงเทพฯ บิดาชื่อนหวัน อับดุลลาห์ มารดาชื่อฟ้อ อับดุลลาห์ บิดาเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าเมืองปัตตานี (ตนกูบอซู) ขุนจรรยาวิธานเป็นไทยมุสลิมรุ่นแรกที่เข้าศึกษาในโรงเรียนไทยพุทธ สมัยนั้นโรงเรียนสอนภาษาไทยมีอยู่ ๒ โรงคือโรงเรียนวัดตานีนรสโมสร และโรงเรียนอําเภอหนองจิก ไม่มี เด็กไทยมุสลิมเข้าเรียนเลย ต่อมามีเด็กไทยมุสลิมรุ่นแรกจํานวน ๓ คน มาสมัครเรียนได้แก่ เด็กชายยูโซะ เด็กชายเจ๊ะมุ ซึ่งต่อมาได้เป็นขุนจารุวิเศษศึกษากรและเด็กชายนิมา (ต่อมารับราชการครู) จากการที่ท่านสมัครใจเรียนภาษาไทยครั้งนั้นปรากฎว่าถูกชาวไทยมุสลิมด้วยกันตําหนิว่าไปเรียนภาษาไทยและเรียนในวัดเสียด้วย และกําลังจะไปเป็นไทยพุทธคือเปลี่ยนศาสนา ท่านได้เรียนหนังสือจนอายุ ๑๘ ปี คือเรียนจบครูมูล โรงเรียนประจํามณฑลปัตตานีหรือโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จากนั้นทางมณฑลได้ส่งท่านขุนไปเรียนฝึกหัดครูประถมที่กรุงเทพฯ ท่านสอบวิชาฝึกหัดครูมูลได้ที่ ๒ อรุณ เหมินทร์ ได้ที่ ๑ ทางมณฑลปัตตานีจึงส่งผู้สอบได้ทั้ง ๒ ไปศึกษาต่อวิชาฝึกหัดครูประถมที่กรุงเทพฯ ท่านเรียนวิชาครูที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศน์และได้ไปเป็นลูกศิษย์วัดด้วย ท่านเล่าว่าในวันพระทุกคนต้องไปฟังเทศน์ท่านก็ไปนั่งกับเขาด้วยทางวัดก็รู้ว่าผมเป็นไทยมุสลิมเขาจึงให้ผมนั่งที่ไหนก็ได้ผมชอบอยู่หลังพระประธาน แอบมองดูพวกอุบาสกอุบาสิกาโดยเฉพาะพวกสาว ๆ ตอนผมกินอาหารเขาก็จัดให้ผมอยู่หัวโต๊ะ มีอาหารพิเศษต่างหากคือปลาช่อนต้มกะทิกับไข่เค็มเป็นประจํา ต่อมาได้แต่งงานกับคุณขนิษฐ์ ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอาชีวศึกษาปัตตานี มีบุตรธิดา ๘ คน คือ
๑. ดีเยาะ เอี่ยมอิทธิพล |
๒. วชิระ มะโรหบุตร |
๓. แอเซาะ อาลีอิสหาด |
๔. ปรีชา มะโรหบุตร |
๕. ณัฐา มะโรหบุตร |
๖. เจษฎา มะโรหบุตร |
๗. ทันตแพทย์หญิงนัยนา แพร่ศรีสกุล |
๘. เกษม มะโรหบุตร |
การรับราชการ
ท่านเริ่มเป็นครูประจํามณฑลและครูใหญ่ประจําจังหวัด เมื่อสําเร็จการศึกษาแล้วท่านเดินทางกลับมาบัตตานี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เริ่มรับราชการเป็นครูประจําชั้น ม. ๓ โรงเรียนประจํามณฑลปัตตานี ท่านมีความสามารถในการสอนและเสียสละความสุขส่วนตัว เช่น ช่วยสอนพิเศษนอกเวลาโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด พอสิ้นปีปรากฏว่านักเรียนสอบไล่ได้หมดทั้งชั้น แม้จะตัดสิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ก็ได้หมดทุกคน ศึกษาธิการมณฑลชอบใจมาก จึงส่งท่านไปเป็นครูใหญ่ โรงเรียนประจําจังหวัดสายบุรี ต่อมามณฑลดําริจะจัดตั้งแผนกศึกษาธิการอําเภอเบตง พยายามหาบุคคลที่เหมาะสมจากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อไปเป็นศึกษาธิการอําเภอเบตง ได้ถามไปยังท่าน พร้อมกับจะให้เงินเดือน ๘๐ บาท แต่เบตงเวลานั้นไข้มาเลเรียชุกชุม ท่านจึงไม่ยอมไปแต่ภายหลังทราบว่าสมุหเทศามณฑลปัตตานีเจาะจงตัวท่าน จึงจึงตัดสินใจยอมรับพร้อมกับได้ เบี้ยกันดารอีก ๒๐ บาท เมื่อท่านไปถึงเบตงแล้วก็ได้เห็นสภาพโรงเรียนที่สร้างกันแบบชั่วคราว คือหลังคามุงจากเสาไม้ไผ่ โต๊ะและม้านั่ง ๓-๔ แถว แต่นักเรียนยังไม่มี ท่านจึงออกติดต่อชาวบ้านให้ส่งลูกเข้าเรียน ท่านต้องทํางานหลายหน้าที่ด้วยกัน คือสอนนักเรียนและไปที่ว่าการอําเภอรับเงินศึกษาพลี แล้วกลับไปสอน นักเรียนอีก ตอนบ่ายก็กลับไปอําเภอทําบัญชีเงินฝาก ท่านได้กล่าวถึงการเดินทางไปเบตงสมัยนั้นถนนจากจังหวัดยะลาไปเบตงยังไม่มีฉะนั้นต้องเดินอ้อมจากบัตตานีไปทางเมืองอลอสตาร์ รัฐเคดาห์ คือจากปัตตานีไปทางรถไฟจากสถานีโคกโพธิ์ไปสถานีรถไฟหาดใหญ่ จากหาดใหญ่ไปสถานีอลอสตาร์ พักหนึ่งคืนที่อลอสตาร์ รุ่งเช้าเดินทางรถยนตร์ไปอําเภอกะโระ จากอําเภอกะโระถึงอําเภอเบตงเวลานั้นอําเภอเบตงยังไม่มีวัด ก็มีผู้มาตั้งสํานักสงฆ์มีพระมาประจํา จึงจําเป็นต้องชักชวนข้าราชการช่วยกันถวายของขบฉัน และช่วยกันสละเงินสร้างวัด ท่านบริจาคเป็นประจําเดือนละ ๕ บาท ส่วนฝ่ายศาสนาอิสลามก็มีมัสยิด ชาวไทยมุสลิมมีความพร้อมเพรียงอยู่แล้ว ภาระทางนี้จึงไม่ต้องห่วง ในช่วงที่รับราชการที่อําเภอเบตง ท่านได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนจรรยาวิธาน นับเป็นเกียรติประวัติที่ได้อุทิศกําลังความคิดเพื่ออนุชนของชาติได้เจริญก้าวหน้า ท่านปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ที่อําเภอเบตงได้ ๓ ปี ต่อมาตําแหน่งศึกษาธิการจังหวัดสตูลว่างลงทางมณฑลภูเก็ต ขอตัวคนพื้นเมืองไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดสตูล ท่านตัดสินใจไปรับตําแหน่งดังกล่าว เวลานั้นจังหวัดสตูลมีโรงเรียน ๕ โรง คือโรงเรียนประจําจังหวัด โรงเรียนทุ่งหว้า โรงเรียนประชาบาลบ้านจีน (ฉลุง) โรงเรียนประชาบาลบ้านควนโดน และโรงเรียนประจําอําเภอละงู ท่านได้ขอร้องให้ครูตั้งใจ สอนตั้งใจทํางาน ทำให้โรงเรียนเหล่านั้นมีความเจริญและทันสมัย ต่อมาท่านได้รับคําสั่งให้ไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดหลังสวน ท่านเล่าไว้ว่า “ศึกษาธิการจังหวัดนี้ลําบากกับผมผู้เป็นมุสลิม เพราะหลังสวนไม่มีชาวมุสลิมเลย ทางวัดตั้งข้อรังเกียจว่าผมจะไม่เอาใจใส่กิจการทางพุทธศาสนา ทำให้รู้สึกหนักใจอยู่บ้าง แต่โชคดียังมีผู้สนับสนุน พอดีมีวัด ๆ หนึ่งมีการทําบุญฝังลูกนิมิต ผมจึงถือโอกาสนี้ชักชวนครูและนักเรียนให้ไปทําบุญ โดยให้นักเรียนนําข้าวสารคนละกระป๋องนมไปทําบุญพร้อมกัน นักเรียนที่ไปในวันนั้นไม่น้อยกว่า ๓๐๐ คน ปรากฎ ว่าข้าวสารกองสูงมาก ทางวัดจึงพอใจนิยมชมชอบตัวศึกษาธิการจังหวัดมากขึ้น ท่านได้ประกาศให้ทางวัดทราบถึงหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดที่ยินดีบริการแก่วัดหรือพระสงฆ์ ทางวัดและชาวหลังสวนก็พอใจในตัวท่านมากขึ้นและเป็นกันเองงานทางการศึกษา ก็ได้รับการสนับสนุนและเจริญขึ้นตามลําดับ
เมื่อพระยาเมธาธิบดี อธิบดีกรมวิชาการ มาตรวจราชการที่ภาคใต้ผู้ว่าราชการมณฑลปรึกษากับพระยาเมธาธิบดี ได้ย้ายท่านไปอยู่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้แต่งตําราสนทนาภาษามลายู ผลงานของท่านที่เกี่ยวกับตําราเรียน เช่น คู่มือภาษามลายู ๑ ซึ่งได้ใช้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาภาษามลายท้องถิ่นภาคใต้เป็นอย่างดี ต่อมาตําแหน่งศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสว่างลง ทางการก็ส่งท่านไปดํารงตําแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่นั้นนานถึง ๘ ปี จนกระทั่งปลดเกษียณระหว่างอยู่ที่นราธิวาสท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัด และได้เสนอความคิดเห็นให้แต่งตั้งดาโต๊ะยุติธรรม หะยีวัน อับดุลรอห์มาน เป็นวาลีหรือผู้นําศาสนาอิสลามจังหวัด ตลอดจนเสนอวิธีปฏิบัติของคณะกรรมการ คืออิหม่ามใดที่ทําการแต่งงานชาวมุสลิมจะเรียกค่าธรรมเนียมคู่ละ ๒ บาท คือหญิง ๑ บาท ชาย ๑ บาท การหย่าร้าง (จไร) ก็เรียกค่าธรรมเนียมคู่ละ ๒ บาท เงินค่าธรรมเนียมนี้อิหม่ามจะได้ ๑ บาท และนําส่งกองกลาง ๑ บาท เงินกองกลางนี้ต้องรวบรวมฝากธนาคารออมสิน มีหลักฐานการรับจ่ายและการจ่ายนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น สมทบทุนสร้างมัสยิด ข้อเสนอนี้ช่วยทําให้ ชาวบ้านหายระแวงเรื่องหลักฐานการใช้จ่ายและช่วยทําให้สร้าง มัสยิดได้สําเร็จ นอกจากนี้ท่านได้ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด เรี่ยไรเงินสร้างอาวุธให้แก่รัฐบาลเงินที่ได้เป็นจํานวนมากสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ
ช่วงสุดท้ายของชีวิตราชการ
ก่อนจะปลดเกษียณอายุราชการท่านขอลาออกจากตําแหน่งหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส เพราะสุขภาพไม่อํานวย ต่อมาทางราชการมีนโยบายให้โรงเรียนประชาบาลสอนภาษาพื้นเมืองคือภาษามลายูปัตตานี ทางการหาผู้แต่งตําราไม่ได้ จึงได้ให้ท่านแต่งตำราให้ ขุนจรรยาวิธาน (ยูโซะ มะโรหบุตร) นับเป็นบุคคลสําคัญในวงการศึกษาของไทย โดยเฉพาะภาคใต้เพราะมีส่วนสําคัญอย่างมากในการเป็นแรงจูงใจให้เด็กไทยมุสลิมนิยมมาเรียนหนังสือไทยมากขึ้น
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2529). ปักษ์ใต้ชายแดนค์. ปัตตานี : ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.