กั้น ทองหล่อ
 
Back    31/08/2021, 14:34    3,742  

หมวดหมู่

ปราชญ์ชาวบ้าน


ประวัติ

          กั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๙ หนังกั้น ทองหล่อ เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ที่บ้านน้ำกระจาย เลขที่ ๒๓๔ หมู่ ๒ ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา บิดาชื่อคง เป็นชาวบ้านน้ำกระจาย มารดาชื่อชุม เป็นชาวบ้านควนฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง หนังกั้น ทองหล่อ เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้อง ๕ คน คือ นางคลี่ กำเนิดผล นายกั้น ทองหล่อ นายฤกษ์ ทองหล่อ นายคริ้ว ทองหล่อ และนายเริ่ม ทองหล่อ สาเหตุที่ท่านได้ชื่อว่ากั้น เนื่องจากนายคง ผู้เป็นบิดาทำงานรับจ้างให้กับวิศวกร ชาวฝรั่งเศส ที่สร้างทางรถไฟในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมาตั้งที่พักสร้างทางอยู่ที่บ้านนาม่วงกิ่งอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ขณะนั้นนางชุมภรรยากำลังท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที จึงขออนุญาตกลับไปเยี่ยมบ้าน เมื่อมาถึงบ้านน้ำกระจายปรากฏว่านางชุมยังไม่คลอดก็เตรียมตัวจะกลับไปบ้านนาม่วง ขณะจะเดินทางกลับก็เกิดอัศจรรย์ฟ้าร้องและฟ้าผ่าลงมา จึงขึ้นเรือนรอให้ฝนหยุดก่อนแล้วค่อยไป ในขณะนั้นนางชุมก็ปวดท้องใกล้จะคลอดแต่เนื่องจากนายคงได้ขออนุญาตเจ้านายมาเพียงวันเดียว เมื่อฝนหยุดตกแล้วจึงลงจากเรือนกลับไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ก็เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าและฝนตกลงมาอีกครั้งจึงกลับขึ้นเรือนไปอีก เหตุการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง นางชุมก็คลอดบุตรชาย นายคงจึงตั้งชื่อบุตรชายของตนว่า "กั้น” สาเหตุจากฝนฟ้าที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการเดินทาง

     
การศึกษา
    
หนังกั้น ทองหล่อ เริ่มเรียนนอ โม กอ ขอ กับพระในวัดน้ำกระจาย จนสามารถอ่านเขียนอักษรขอมไทยได้ ต่อมาทางการได้เปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่บ้านน้ำกระจาย จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดน้ำกระจาย (เนื่องจากโรงเรียนนี้อยู่ในวัด) เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ เมื่ออายุ ๑๒ ปี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำหรับการหัดหนังตะลุงของท่านนั้นเริ่มจากการหัดหนังตะลุง เนื่องจากชาวบ้านยุให้หนังกั้นขึ้นไปแสดงแทนผู้หัดหนังที่ไม่กล้าแสดง ในตอนแรกหนังกั้นไม่ค่อยกล้าแสดง แต่ทนเสียงเรียกร้องชาวบ้านไม่ได้จึงขึ้นไปแสดงหนังตะลุง ในที่สุดก็ได้สร้างความประทับใจให้กับคนดูเป็นอย่างมาก ทั้งลีลาการแสดงเนื่องจากไม่เคยหัดหนังมาก่อนเลย ต่อมาก็ถูกขอร้องให้ไปแสดงในงานต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน ชื่อเสียงในการแสดงหนังตะลุงเป็นที่เล่าลือไปเรื่อย มีผู้รับไปแสดงจนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ ในที่สุดก็ต้องออกจากโรงเรียน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงตัดสินใจบวชสามเณรอยู่ที่วัดน้ำกระจาย ตั้งใจศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมโท จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ลาสิกขาบทมารับราชการครู ขณะที่สอนหนังสืออยู่ก็รับแสดงหนังตะลุง ประจวบกับขณะนั้นหนังเอียด ปากพน ซึ่งเป็นอาของหนังกั้นเป็นนายหนังที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคณะหนึ่งในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ได้มาขอร้องให้หนังกั้นลาออกจากครูมาเล่นหนัง ในที่สุดหนังกั้นก็ตัดสินใจลาออกจากครู เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นอายุได้ ๒๑ ปี หนังกั้น ทองหล่อ เล่นหนังตะลุงติดต่อกันเรื่อยมาจนอายุได้ ๒๒ ปี ก็ได้อุปสมบทอีกครั้งที่วัดน้ำกระจาย ในระหว่างที่อุปสมบทก็ได้ศึกษาธรรมะตลอดจนสามารถเทศน์มหาชาติทำนองต่าง ๆ ได้ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ โดยวิธีอ่านเรื่องราวให้เข้าใจและจำเรื่องได้ประกอบกับพรสวรรค์และความสามารถในเชิงกาพย์กลอนที่แสดงหนังตะลุงมาก่อน ทำให้สามารถเรียนรู้เข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว หนังกั้นบวชอยู่ได้เพียงพรรษาเดียวก็ลาสิกขาบทออกมาเล่นหนังตะลุง เนื่องจากทนเสียงเรียกร้องของชาวบ้านและเสียงเร้าใจของดนตรีหนังตะลุงไม่ไหว

     ชีวิตครอบครัว
     
หนังกั้น ทองหล่อ สมรสกับนางสาวฉิ้น ทองกำปัน บุตรของผู้ใหญ่บ้านเอียดชาวบ้าน น้ำกระจาย เมื่ออายุ ๒๔ ปี มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือประเทือง ทองหล่อ ต่อมานางฉิ้นได้ ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุ ต่อมาหนังกั้นได้สมรสใหม่กับนางกิ้มเลี่ยน เป็นชาวบ้านน้ำกระจายมีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือทวี ทองหล่อ และต่อมาได้แต่งงานใหม่อีกครั้งกับนางขุ้ยเหี้ยง เป็นชาวบ้านบางดาน มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือประทุม ทองหล่อ ประถม ทองหล่อ และประกอบ ทองหล่อ หลังจากหนังกั้นมีภรรยาใหม่แล้วก็ให้ภรรยาประกอบอาชีพทำนา ทำสวนอยู่ที่บ้าน ส่วนตนเองเที่ยวแสดงหนังตะลุงและยึดอาชีพการแสดงหนังตะลุงมาโดยตลอด

     เส้นทางการเล่นหนังตะลุง
     ขณะที่มีอายุ ๑๘ ปี  ท่านได้หัดเล่นและแสดงหนังตะลุงปรากฏว่าคนดูชอบและชมกันว่าเล่นดี ข่าวนี้ได้เล่าลือไปไกลทำให้ประชาชนมาติดต่อรับไปเล่นหนังอยู่มิได้ขาด จนชาวบ้านขานนามหนังกั้นในขณะนั้นว่า "หนังเด็ก” และได้เริ่มเล่นหนังตะลุงเป็นอาชีพมาตั้งแต่บัดนั้น เนื่องจากหนังกั้น ทองหล่อ เป็นหนังดีหนังเด่น จึงมีคนรับไปเล่นในที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งทั้งภาคใต้และภาคกลางบางส่วน ตลอดจนถึงประเทศมาเลเซีย ท่านเล่นหนังตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๕๒๖) เป็นระยะเวลา ๕๖ ปี รวมจำนวนครั้งในการแสดงประมาณ ๕,๖๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ช่วงหลังเมื่ออายุมากขึ้นหนังกั้น ล่นหนังน้อยลง ส่วนใหญ่จะเล่นแก้เหมฺย (แก้บน) เท่านั้น จากการที่หนังกั้น ทองหล่อ เป็นหนังดีเป็นที่นิยมของชาวบ้านทั่วภาคใต้ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการเล่นหนังตะลุงมาแล้วกว่า ๕๐ ปี การที่หนังกั้นไปเล่นที่ใดไม่ว่าเจ้างานรับไปเล่นเป็นการส่วนตัวหรืองานกุศลต่าง ๆ เจ้างานผู้รับงานถือว่าได้รับเกียรติอย่างยิ่งและมีความภาคภูมิใจที่หนังกั้นมาแสดงให้ แต่การเล่นหนังตะลุงที่สำคัญและได้รับเกียรติคือการแสดงถวายให้พระบรมราชชนนีทอดพระเนตร ในเรือพระที่นั่ง (รล. จันทบุรี) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ณ บริเวณเกาะหนูเกาะแมว และในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล (รัชกาลที่ ๙) และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จเยี่ยมราษฏรจังหวัดภาคใต้ ได้เสด็จมาเมืองสงขลาและทรงรับสั่งให้หนังกั้น ทองหล่อ มาแสดงหน้าพระที่นั่ง ณ ตำหนักเข้าน้อย โดยหนังกั้น ทองหล่อ แสดงเรื่องพระอภัยมณีถวาย นับว่าหนังกั้น ทองหล่อ ได้รับเกียรติอันสูงสุดที่ได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์

      ชื่อเสียงและบรมครูแห่งหนังตะลุง
    
หนังกั้น ทองหล่อ แสดงหนังตะลุงมีชื่อเสียงไปทั่วภาคใต้ ก็มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์มากมายจากจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ท่านสอนลูกศิษย์ โดยใช้วิธีให้ลูกศิษย์ติดตามเวลาไปแสดงที่ไหนก็ให้ตามไปคราวละ ๔- ๕ คน หมุนเวียนสลับกันไป เมื่อมีเวลาว่างจากการแสดง หนังกั้น ทองหล่อ ก็จะเรียกบรรดาลูกศิษย์มาอบรม ในเรื่องความประพฤติมีอะไรก็ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมีความรักใคร่ต่อกัน หนังกั้นมีศิษย์ที่เด่น ๆ มีชื่อเสียงหลายคน คณะหนังต่าง ๆ ที่เป็นศิษย์ในรุ่นแรก ๆ ก็มีหนังเชย เชี่ยวชาญ หนังชม เชี่ยวชาญ หนังแคล้ว เสียงทอง หนังกิ้มเนี่ยว (นายหนังผู้หญิง) หนังพร้อมน้อย อัศวิน สำหรับหนังพร้อมอัศวิน เป็นนายหนัง คนเดียวที่นำเอาเรื่องของหนังกั้นไปเล่นได้ดีจนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ส่วนหนังคนอื่น ๆ ไม่เด่นดังเหมือนหนังพร้อม นอกจากนั้นก็มีหนัง "อรรถโฆษิต” หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม หนังฉิ้น ธรรมโฆษ (หนังฉิ้นอรมุต ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุง ปี ๒๕๓๒) หนังฉิ้น ไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงของหนังกั้น แต่วิธีการแสดงหนังตะลุงก็เอาแบบอย่างของหนังกั้นเกือบทั้งหมด ประกอบกับหนังฉิ้นก็นับถือหนังกั้นว่าเป็นอาจาย์ ส่วนศิษย์รุ่นต่อมาคือหนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล หนังปัญญา ปากพนัง หนังวิเชษฐ์ หนังประเดียง ระฆังทอง หนังเคล้าน้อย หนังชัยเจริญ บันเทิงศิลป์ ฯลฯ ส่วนศิษย์เกือบจะเป็นรุ่นสุดท้ายได้แก่ หนังจวน ทุ่งงาย หรือหนังจวน แม่นาง หนังดวงประทีป แก้วทอง หนังนครินทร์ ชาทอง ซึ่งเป็นหนังทีได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้หนังกั้น ทองหล่อ ยังเป็นวิทยากรให้กับทางศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา ในการสัมมนานายหนังตะลุงจากทุกจังหวัดในภาคใต้และมีการตั้งชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลาขึ้น เพื่อรวมหนังตะลุงทุกคณะมาร่วมเสนอความคิดเห็นและพัฒนา โดยประธานชมรม คือหนังนครินทร์ ชาทอง ซึ่งมีหนังกั้นทองหล่อ หนังอิ่มเท่ง หนังอรรถฆิตและหนังอาวุโสหลายท่าน เป็นที่ปรึกษา โดยหนังกั้น ทองหล่อ ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำแนะนำและสาธิตให้ดูแทบทุกครั้งที่มีการชุมนุมกัน

      คุณความดีที่ควรแก่การยกย่อง
     
จาการที่มีลูกศิษย์หนังตะลุงนับจำนวนร้อย จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเป็นบรมครูหนังตะลุงแห่งภาคใต้และบรรดาคณะนายหนังทั่วไปจะได้ประกาศเกียรติคุณยกย่องหนังกั้น ทองหล่อ ว่าเป็นหนังตะลุงชั้นยอดชั้นปรมาจารย์ เนื่องจาก

๑. หนังกั้นยึดเอาผลงานการแสดงเป็นหลัก โดยจะทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการแสดงหนังตะลุงอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลงานที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐาน คือก่อนที่จะแสดงทุกครั้งต้องมีความมั่นใจและตั้งใจที่จะแสดงให้ได้ดีที่สุด
๒. มีการศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำราต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยพยายามเน้นในเรื่องศีลธรรมสอน ให้คนมีคุณธรรมสอดแทรกคติเตือนใจ ให้แนวคิดใน แง่ต่าง ๆ แก่บรรดาผู้ชมหนัง รู้จักใช้เทคนิคหรือกลวิธีถ่ายทอดเรื่องหนังตะลุงให้ผู้ชมติดตามอยู่ตลอด ทำให้ผู้ชมไม่เกิดความเบื่อหน่าย
๓. มีความเมตตาต่อศิษย์และผู้แสวงหาความรู้ทั่วไป โดยเฉพาะกับลูกศิษย์จะสอนให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง
๔. มีความซื่อสัตย์กับประชาชน โดยเมื่อรับหนังไปแสดงแล้วก็จะต้องไปไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรจะต้องรักษาสัจจะ
๕. เล่นหนังอย่างเต็มความสามารถทุกครั้ง เมื่อรับงานหรือว่าจ้างให้ไปแสดงก็ต้องแสดงให้เต็มที่ ให้สมกับเงินที่เขาว่าจ้างตลอดชีวิตการแสดงหนังตะลุง
๖. ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ร่วมงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกลูกคู่หนัง ที่เป็นผู้บรรเลงดนตรีการแบ่งส่วนคนร่วมงานก็ให้เป็นธรรมและยุติธรรม
๗. ใช้จิตวิทยาในการแสดงโดยคำนึงถึงผู้ดูเป็นสำคัญ โดยพิจารณาดูว่าในท้องที่ที่เล่นหนัง คนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่อย่างไรหรือวัฒนธรรมเช่นไร ควรสอดแทรกบทสอนในช่วงจังหวะใด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่หนังกั้นคำนึงมากในชีวิตการเล่นหนังตะลุง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังกั้นได้รับความนิยมมาก
๘. หนังกั้นเล่นหนังอย่างสุภาพ มีมารยาทในการเล่นไม่สร้างความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้น มีแนวคิดใหม่ในเชิงปรับปรุงวงการศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้ดีขึ้น
๙. มีการสอดแทรกคติความรู้ในการเล่นหนัง เมื่อแสดงหนังตะลุงทุกครั้งจะต้องฝากข้อคิดที่เป็นประโยชน์ไว้ในทุกเรื่อง ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือหลักการปฏิบัติทางศาสนาให้ปฏิบัติตามศีลธรรม เน้นให้คนมีคุณธรรม จริยธรรม โดยถ่ายทอดทางตัวละครสั่งสอนคนโดยใช้นิยายพื้นบ้าน โดยใช้สุภาษิต คำคมและคำพังเพย

       เทคนิคในการเล่นหนัง
           
ในการเล่นหนังตะลุงของหนังกั้น ทองหล่อ อาศัยเทคนิคหรือกลวิธี ในการที่จะนำเนื้อเรื่องหนังตะลุงเสนอต่อผู้ชมให้เกิดความประทับใจ ซึ่งมีเทคนิคหลายประการ คือ

๑. มีสมาธิในการแสดง โดยการแสดงหนังตะลุงจะต้องมีจิตใจเป็นสมาธิไม่คิดถึงเรื่องอื่น จะต้องมีสมาธิอย่างสูงจิตใจอยู่ที่รูปหนังเท่านั้น
๒. ต้องสวมวิญญาณเข้าไปในตัวหนังหรือรูปหนัง เพื่อให้การแสดงมีรสชาติมีชีวิตชีวาเหมือนกับคนจริง ๆ รูปหนังทุกตัวจะต้องใช้น้ำเสียงไม่เหมือนกัน และต้องใส่ความรู้สึกเข้าไปเพื่อให้ดูสมจริง
๓. มีความสามารถพากย์เสียงรูปหนังโดยไม่ซ้ำเสียงกัน ซึ่งมีทั้งเสียงของรูปชั้นเจ้านาย ซึ่งต้องใช้ภาษากลางและรูปตัวตลกหรือรูปกากที่มีเสียงเฉพาะตัวตามถิ่นกำเนิด หรือลักษณะเฉพาะตัวรูปตลกนั้น ๆ ประมาณว่าหนังกั้นทองหล่อ สามารถพากย์เสียงต่างอๆ ได้ไม่ต่ำกว่า ๑๔ เสียง
๔. ในการแสดงหนังตะลุง จะไม่ยึดเอาเรื่องที่ใช้แสดงมาเป็นหลักมากเกินไป โดยจะปรับตามสภาพสังคม วัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่นที่ไปแสดง การแสดงจะไม่ค่อยซ้ำเรื่องกันเลยในที่เดียวกัน เว้นแต่ในสถานที่นั้นมีผู้รับไปแสดงติดต่อกันหลาย ๆ คืน เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่เบื่อหนังกั้น
๕. ในบทตลกหนังกั้นจะเล่นตลกไม่หยาบ มีศิลปะในการใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ได้อารมณ์ ขำขัน ตัวตลกที่สำคัญซึ่งทำให้คนดูให้การยอมรับมากที่สุด คือสะหม้อ นับเป็นตัวตลกเอกของหนังกั้น

      ความคิดริเริ่มในการปรับปรุงและอนุรักษ์เผยแพร่หนังตะลุง
     
หนังกั้น ทองหล่อ เริ่มเล่นหนังตะลุงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ คือการเล่นหนังแบบเก่า โดยใช้แสงสว่างจากไต้ ตะเกียงน้ำมันวัว ตะเกียงเจ้าพายุ จนมาถึงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ในระหว่างการเล่นหนังตะลุงได้มีความคิดริเริ่มในการปรับปรุงหนังตะลุงหลายอย่าง เช่น 

๑. ปรับปรุงเครื่องดนตรี ทำนองการเล่นดนตรี เช่น เล่นย้อนทับ คือเล่นดนตรีประเภทเครื่องตีให้เข้ากับเพลงปี่แล้วเชิด ตามด้วยลงเครื่อง (จบ)
๒. นำเครื่องขยายเสียงเข้ามาใช้ในวงการหนังตะลุง เดิมหนังตะลุงใช้ปากเปล่า ๆ ในการแสดง ต่อมามีเสียงรบกวนมากขึ้นหนังไม่สามารถจะเล่นขับบทให้คนดูจำนวนมากได้ยินไม่ทั่วถึง หนังกั้นจึงได้ปรับปรุงนำเครื่องขยายเสียงมาใช้ในการแสดงเป็นคนแรก โดยนำไมโครโฟนแขวนผูกติดไว้กับดวงแผงไฟ ทำให้เสียงดังได้ยินกันทั่วไปและมีการปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย
๓. เป็นผู้นำด้านการใช้ภาษากลางในระดับชาวบ้าน โดยพูดภาษากลางได้อย่างถูกต้องชัดเจนไม่เพี้ยนเสียงในการเล่นหนังตะลุง
๔. การใช้เครื่องดนตรีหนังตะลุงใช้เสียงดังระดับพอดี ไม่ครึกโครมจนเกินไปจนเป็นที่รำคาญของผู้ฟัง
๕. ออกรูปปรายหน้าบท หนังกั้น ทองหล่อ เป็นต้นแบบที่ได้นำบทหน้าบท บทไหว้ครู หรือบทกาศมาใช้เป็นอย่างระบบ
๖. มีการปรับปรุงรูปหนังเลิกใช้รูปหนังบางรูป เช่น นางสองแขน (นางเบียน) เพราะมีลักษณะแบบผู้หญิงไม่ดี นอกจากนี้ยังมีรูปฤาษีนกเค็ต ฤาษีเส้ง เพราะเห็นว่าเป็นการทำลายศาสนา เป็นต้น
๗. เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการตัดสินการแข่งชันหนังแนวใหม่ โดยใช้เกณฑ์ตัดสิน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับ แทนที่จะใช้จำนวนคนดูแบบประเพณีเดิมตัดสินแพ้ชนะกัน
๘. มีความคิดริเริ่มในการขออนุญาตต่อเจ้าของให้นำรูปสะหม้อมาเล่น สะหม้อเป็นชาวบ้านสะกอม ตำบทสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นคนรูปร่างเล็ก เตี้ยหลังค่อม มีนิสัยทะลึ่ง ดื้อ ดุดัน ชอบทำให้คนอื่นหัวเราะและมีอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากสะหม้อได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว จึงได้ขออนุญาตต่อญาติพี่น้องของสะหม้อนำรูปสะหม้อไปเล่นหนังตะลุง ซึ่งได้รับความนิยมมากและเป็นที่กล่าวขวัญและรู้จักกันดีในบรรดานักดูหนังตะลุงทั้งหลาย ไม่แพ้เท่ง หนูนุ้ย สีแก้ว ยอดทอง หรือตัวตลกที่มีชื่อตัวอื่น ๆ

       ลักษณะเด่นการเล่นหนังตะลุง
    
นอกจากนี้หนังกั้น ทองหล่อ เป็นนายหนังตะลุงที่ยังคงรักษาศิลประเบียบแบบแผน ในการแสดงหนังตะลุงแบบดังเดิมมาตลอดไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เครื่องดนตรีและทำนองเพลง ยังคงใช้เครื่องดนตรีและเพลงแบบดั้งเดิม กล่าวคือเครื่องดนตรีใช้เครื่อง ๕ ที่ประกอบด้วย โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ เพลงใช้เพลงไทยเดิมที่หนังตะลุงเคยใช้ตามธรรมเนียมนิยม ทำให้รักษาเอกลักษณ์ด้านดนตรีเอาไว้ได้ เพียงแต่ได้ยินเสียงก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นเครื่องดนตรีของหนังตะลุง 

      ขั้นตอนการเล่น
       หนังกั้น ทองหล่อ ยังคงรักษาขั้นตอนการแสดงตามขนบนิยมดั้งเดิมเป็นสำคัญ มีการดำเนินขั้นตอนตามลำดับประกอบด้วย

๑. เริ่มจากทำพิธีตั้งเครื่องและเบิกโรง
๒.  เล่นเพลงโหมโรง
๓. ออกฤาษี
๔. ออกโค
๕. ออกรูปปรายหน้าบท
๖. ออกรูปบอกเครื่อง
๗. ขับบทเกี้ยวจอ
๘. ออกรูปเจ้าเมือง แล้วจึงเดินเรื่องต่อไปตามเนื้อเรื่อง

      ปฏิภาณ
     หนังกั้นแสดงหนังใช้เป็นปฏิภาณเป็นหลัก เล่นด้วยวิญญาณศิลปินจริง ๆ ไม่ใช่กางบทดูแบบหนังสมัยใหม่ ทำให้การแสดงของหนังกั้นเป็นแบบธรรมชาติมีชีวิตชีวาและปรับเข้าเหตุการณ์ได้ รูปและการเชิดหนัง หนังกั้นยังคงเคร่งครัดมากโดยเฉพาะในเรื่องของรูปหนัง ยังคงเป็นแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีน้ำหนักเบา คล่องตัว ไม่ว่าจะใช้ในลีลาใดซึ่งเหมาะสำหรับเชิดรูปมาก การเชิดรูปหนังของหนังกั้นเป็นที่ยอมรับของนายหนังและนักดูหนังตะลุงทั่วไปว่า ลีลาการเชิดเป็นธรรมชาติมาก การขับกลอน หนังกั้นจะเน้นการขับกลอนโดยเฉพาะกลอนจากวรรณคดีต่าง ๆ ที่ไพเราะกินใจสอดแทรกเข้าไปในเรื่องได้อย่างมีจังหวะ บางครั้งยังเล่นกลอนสดอีกด้วย

      เกียรติคุณที่ได้รับ

พ.ศ.๒๕๐๓ คณะศิษย์ได้จัดพิธีไหว้ครูเชิดชูเกียรติให้หนังกั้น ทองหล่อ เป็นครั้งแรก ณ บ้านน้ำกระจาย ครั้งนั้นมีศิษย์มาร่วมกว่า ๑๐๐ คน
- พ.ศ.๒๕๒๔ รับโล่เกียรติคุณจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๔ โดยสถาบัณทักษิณคดีศึกษา เป็นผู้เสนอชื่อในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านการผลิตงานสื่อมวลชนประเภทชาวบ้าน
พ.ศ.๒๕๒๗ รับเชิญเป็นวิทยากรหลักคนสำคัญในการบรรยายความรู้ ประสบการณ์การแสดงและสาธิตการแสดงหนังตะลุง ในการสัมมนาหนังตะลุง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒-๔ สิงหาคม ณ วิทยาลัยครูสงขลา และในคราวเดียวกัน ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลาร่วมกับคณะศิษย์ได้จัดพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้เป็นครั้งที่ ๒ ณ วิทยาลัยครูสงขลา
พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นประธานที่ปรึกษาชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา ได้ให้คำปรึกษา ความรู้ ความคิด ประสบการณ์แก่สมาชิกชมรม ซึ่งผลงานเหล่านี้บางส่วนได้รับการบันทึกทั้งที่เป็นภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา
พ.ศ.๒๕๒๙ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๘ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๑ คน ใน ๑๖ คน เข้ารับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ ณ หอประชุม หอวชิราวุธานุสรณ์ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. และในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙ ได้เดินทางกลับมาถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะลูกศิษย์ได้คอยต้อนรับโดยการแต่งตัวเลียนแบบรูปหนังตะลุงและแห่แหนไปในตลาดหาดใหญ่ ซึ่งนายหนังทั่วไปได้ประกาศเกียรติคุณยกย่องว่าหนังกั้น ทองหล่อ เป็นเลิศและเป็นหนังตะลุงขั้นปรมาจารย์
พ.ศ.๒๕๓๐ รับโล่พระราชทานและเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี ๒๕๒๙ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากศิลปินพื้นบ้านดีเด่นที่ รศ.ภิญโญ จิตต์ธรรม นำเสนอไว้ นับเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) คนแรกของวงการหนังตะลุงและของภาคใต้ ในปีเดียวกันหลังจากได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว หนังกั้น ทองหล่อ ก็ได้รับการบันทึกเรื่องราวชีวิตและผลงานออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗ สี ในรายการ "คนไทยวันนี้” เมื่อเดือนเมษายน
- พ.ศ.๒๕๓๐ ปีเดียวกัน ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีและศิลปะการแสดงของวิทยาลัยครูสงขลา จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ณ พระที่นั่งสวนอัมพร กรุงเทพฯ จากการนำเสนอของอาจารย์สนิท บุญฤทธิ์ หัวหน้าฝ่ายหอวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา

       หนังกั้น ทองหล่อ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๑ ณ บ้านน้ำกระจาย ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ท่ามกลางลูกศิษย์หนังหลายคนที่นั่งเฝ้าปรนนิบัติ ท่านจากไปด้วยอาการสงบรวมอายุได้ ๗๙ ปี งานพระราชทานเพลิงศพ จัดขึ้นอย่างสมเกียรติศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๒ ณ เมรุลอย วัดน้ำกระจาย ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ต่อมาได้มีการได้สร้างพิพิธภัณฑ์หนังกั้น ทองหล่อ โดยศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา ขณะนั้นได้เก็บรวบรวมวัตถุอนุสรณ์หนังกั้นทั้งหมดเท่าที่จะเก็บรวบรวมได้ นำเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้และได้สร้างรูปหล่อสำริด ท่านั่งเท่าตัวจริง โดยความเห็นชอบของชมรมหนังตะลุง ปัจจุบันอนุสรณ์หนังกั้น ทองหล่อ เก็บรักษาอยู่ที่สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปเคารพกราบไหว้ และศึกษา นอกจากนี้ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ก็ได้หล่อรูปเหมือนเท่าตัวจริงในอิริยาบถศิลปินแห่งชาติบรมครูหนังตะลุง 


ผลงานสำคัญ

            หนังกั้น ทองหล่อ ท่านสนใจหนังตะลุงเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ได้ฝึกเล่นหนังด้วยตนเองจนสามารถเล่นหนังได้ ต่อมาไดใปฟิกเล่นหนังกับหนังเอียด ปากพล ซึงเป็นอาและเป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงยิ่งในสมัยนั้น หนังกั้น ทองหล่อ เล่นหนังตะลุงมาตลอดชีวิต จึงมีประสบการณ์การเล่นหนังสูงมาก ประมาณกันว่าไม่น้อยกว่า ๕,๖๐๐ ครั้ง การแสดงทุกครั้งจะใช้กลอนมุดโตและกลอนผูกผสมกัน นอกจากนี้ท่านยังเชียนบทหนังตะลุงไวิไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง เท่าที่สามารถจะรวบรวมได้ ดังเช่น กฤษณะ กลิ่นสวรรค์ กวีวรรณพรรณราย กาแก้วปริศนา กาแก้วสวรรค์ กายนคร แก้วกำบัง แก้วอาถรรพณ์ โกมีนทรํโกมาศ ขอมดำ
       
เกียรติคุณ
       
หนังกั้น ทองหล่อ เคยเล่นหนังตะลุงถวายเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดิพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องให้หนังกั้น ทองหล่อ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม (การแสดงหนังตะลุง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ และยกย่อง ให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ หนังกั้น ทองหล่อ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (กิตติมศักดิ,) สาขาดนตรีและ ศิลปะการแสดง จากวิทยาลัยครูสงขลา (พ.ศ. ๒๕๓๐) นับเป็นนายหนังตะลุงคนแรกที่ได้รับปริญญานี้

รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีและศิลปะการแสดงจาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงเป็นนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๐

 


หนังกัน ทองหล่อ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
กั้น ทองหล่อ
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลาและสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2532). ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายหนังกั้น ทองหล่อ
          ศิลปปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี พุทธศักราช 2529 25 สิงหาคม 2532 ณ วัดน้ำกระจาย ต. พะวง อ. เมือง จ. สงขลา.
          กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
นายกั้น ทองหล่อ. (2556). สืบค้น 31 ส.ค. 64, จาก https://www.m-culture.go.th/songkhla/ewt_news.php?nid=241&filename=index


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025