นครินทร์ ชาทอง
 
Back    08/10/2021, 16:39    5,104  

หมวดหมู่

ปราชญ์ชาวบ้าน


ประวัติ


ภาพจากเพจหนังนครินทร์ ชาทอง ; https://www.facebook.com/หนังนครินทร์-ชาทอง-122597047894214/?ref=page_internal

        นครินทร์ ชาทองหรือหนังนครินทร์ ชาทอง เป็นครูหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงของไทยในอดีต ตลอดถึงเป็นศิลปินแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ หนังนครินทร์ ชาทอง เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่ตําบลคลองหอยโข่ง อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บิดาชื่อนายแนม มารดาชื่อนางเคลื่อน มีพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากัน ๔ คน ร่วมมารดาแต่ต่างบิดากัน ๕ คน เนื่องจากเมื่อหนังนครินทร์ ชาทองอายุได้ขวบเศษ บิดามารดา แยกทางกัน บิดาไปแต่งงานใหม่ มารดาจึงพานครินทร์ไปอาศัยอยู่กับตาและยาย จนกระทั่งนครินทร์อายุได้ประมาณ ๓ ขวบ มารดาไปแต่งงานใหม่ จึงอาศัยอยู่กับตาตลอดมา ตามีอาชีพเป็นหมอกลางบ้านและเป็นนายหนังตะลุงชื่อหนัคงวอน รัตนศรี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หนังนครินทร์ ชาทอง ได้อุปสมบทที่วัดโคกสมานคุณ อําเภอหาดใหญ่ เป็นเวลา ๖  เดือน เมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้แต่งงานกับนางสาวศิริวรรณ จันทกาญจน์ ครูโรงเรียนบ้านสํานักขาม ตําบลสํานักแต้ว อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีบุตร ๑ คน ธิดา ๒ คน

      การศึกษา
          
หนังนครินทร์ ชาทอง เข้าโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดโพธิ์ ตําบลคลองหอยโข่ง อําเภอหาดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ จนกระทั่งจบชั้นประถมปีที่ ๔ 
เมื่อศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ คุณพ่อต้องการให้ศึกษาต่อจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนระแงะ อําเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยอาศัยอยู่กับคุณลุงคืออาจารย์ศิริศักดิ์ ชาทอง ซึ่งดํารงตําแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้การสนับสนุนจนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  เรียนชั้น ม.๑-๓ ที่โรงเรียนระแงะ แล้วย้ายกลับมาเรียนชั้น ม.ศ. ๑-๓ ที่โรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน ต่อจากนั้นเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยครูสงขลา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) จนสําเร็จชั้น ป.กศ.สูง 

     การทํางาน

- พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับการบรรจุแต่งตั้งในตําแหน่งครูตรี ณ โรงเรียนบ้านไร่ อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ (เมื่อจบแล้วยึดอาชีพแสดงหนังตะลุงอยู่ประมาณ ๓ ปี จึงได้สอบบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านไร่ อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตําแหน่งครูตรี เงินเดือน ๙๐๐ บาท (เท่ากับค่าราดหนังตะลุง ๑ คืน)
- พ.ศ. ๒๕๒๑ ดํารงตําแหน่งครูตรี ณ โรงเรียนบ้านต้นส้าน ตําบลคลองหอยโข่ง (อำเภอคลองหอยโข่งในปัจจุบัน) อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๒๓ ดํารงตําแหน่งครูโท ถึงอาจารย์ ๒ ระดับ ๗ ณ โรงเรียนวัดเลียบ ตําบลคลองหลา อําเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๔๗ ลาออกจากราชการ

 


ภาพจากเพจหนังนครินทร์ ชาทอง ; https://www.facebook.com/หนังนครินทร์-ชาทอง-122597047894214/?ref=page_internal

       เส้นทางนายหนังตะลุงอาชีพ
            หนังนครินทร์ ชาทอง ได้รับการปลูกฝังให้รักหนังตะลุงมาตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ ขณะกําลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ คุณตาชื่อหนังว่อน รัตนศรี เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยจะนําไปดูหนังตะลุงซึ่งเป็นหนังที่มีชื่อเสียงโด่งดังของภาคใต้ยุคนั้นได้แก่ หนังกั้น ทองหล่อ (ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๒๙) หนังยิ้มเส้ง หนังแสงโถ หนังเอี่ยม เสื้อเมือง หนังประทิน บัวทอง หนังช่วงดึก หนังอิ่มเท่ง หนังแซม แม่เตย หนังทิม อนุชาญ หนังคลิ้ง ย่านยาว หนังพร้อม อัศวิน หนังชม น้ำกระจาย หนังแคล้ว เสียงทอง หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ (ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๓๒) หนังจูลี้ หนังเชย เชี่ยวชาญ หนังเดี้ยม หนังนํา และหนังอื่น ๆ อีกมาก ทําให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเล่นหนังตะลุง คุณตาจึงส่งเสริมโดยแกะรูปหนังตะลุงด้วยใบไม้บ้าง กระดาษถุงปูนซีเมนต์บ้างให้เล่น และใช้ผ้าขาวม้าของคุณตาหรือผ้าห้อยคอของคุณยาย ทําเป็นจอใช้ตะเกียงคางคกใส่น้ำมันก๊าด เพื่อเป็นแสงไฟในการเล่นหนังตะลุง หนังนครินทร์ ชาทอง ท่านได้รับการปลูกฝังให้รักหนังตะลุงมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อมีหนังตะลุงแสดงที่ไหนที่พอไปได้ ตาก็จะพานครินทร์ไปด้วย ดังนั้นเมื่อถามหนังนครินทร์ว่าเริ่มหัดหนังตั้งแต่เมื่อไร ท่านจะตอบว่าเริ่มโดยไม่รู้ตัวเพราะเมื่อตาพาไปดูหนัง กลับมาก็จะถามทบทวนและเล่าเสริมเรื่องที่ไปดูมาทุกครั้ง พออยู่ชั้นประถมปีที่ ๒ ตาก็ให้อ่านออกเสียงกลอนพระอภัยมณี แบบทํานองหนัง ตะลุง และเริ่มแกะรูปให้เชิดประกอบ โดยใช้ปากทําเสียงดนตรีประกอบการเชิด และทุกครั้งที่ตาไปแสดงหนังตะลุงก็จะติดตามไปด้วย นอกจากนั้นมีนายหนังชื่อนํา ซึ่งฝึกหัดหนังกับตาตอนอายุมากแล้ว โดยมาปลูกโรงฝึกหัดที่บ้านตา เมื่อหนังนําเล่นหนังได้แล้วเวลาเดินโรงก็จะพาหนังนครินทร์ ชาทอง ไปเล่นดนตรี จนเล่นดนตรีหนังตะลุงได้แทบทุกชิ้นยกเว้นปีและซอ เมื่อมีนายหนังอื่น ๆ มาหาหนังวอน เห็นนครินทร์ก็ เกิดเอ็นดูสนับสนุน บางคนมอบรูปให้บางคนก็แนะนําเทคนิคต่าง ๆ ให้ เช่น หนังนํา หนังเอี่ยม เสื้อเมือง หนังแช่ม แม่เตย เป็นต้น ในที่นี้จะขอลำดับเหตุการณ์เส้นทางนายหนังตะลุงของท่านพอเป็นสังเขป ดังต่อไปนี้

- พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ออกโรงแสดงหนังตะลุงครั้งแรกในงานทําบุญบ้านนายวินิจ เลขะกุล ซึ่งเป็นคหบดีของเมืองหาดใหญ่ ได้รับค่าตอบแทน ๒๐ บาท และเมื่อทางวัดมีงานหรือมีกิจกรรมจะได้แสดงหนังตะลุงทุกครั้ง จนเป็นที่กล่าวขานทั่วทั้งอําเภอหาดใหญ่และทุกอําเภอในจังหวัดสงขลา ในนามของ “หนังนครินทร์ ชาทอง ขวัญใจนักเรียน” หรือ “หนังเด็กวัดโคกสมานคุณ”
- พ.ศ. ๒๕๐๕ได้รู้จักกับนายสุนันท์ นามรัตน์ ซึ่งเป็นนักสะสมเทปหนังตะลุงและชอบเล่นหนังตะลุง ได้ลงทุนซื้อเครื่องดนตรีและตัดจอหนัง ช่วงแรกได้ฝึกการเชิดรูปหนังตะลุงประกอบเทปของหนังตะลุงอาวุโส เช่น หนังกั้น ทองหล่อ หนังอิ่มเท่ง หนังเชย เชี่ยวชาญ เป็นต้น จนมีความชํานาญ ในการเชิดรูปหนังตะลุง ทําให้ได้จดจําเรื่องราวและมุขตลกต่าง ๆ ของหนังเหล่านั้นได้ และนํามาเป็น แนวทางในการแสดงหนังตะลุงของตนในเวลาต่อมา
- พ.ศ. ๒๕๐๖ นายเพียร มีสุข ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่รับไปแสดงที่วัดลุตง (วัดสาละวัน) ตําบลไม้แก่น จังหวัดปัตตานี จํานวน ๓ คืน ได้ค่าตอบแทนคืนละ ๗๐๐ บาท ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยใช้ชื่อคณะหนังว่า “หนังนครินทร์ ขวัญใจนักเรียน” เพราะนายหนังและลูกคู่เป็นนักเรียนทั้งหมด ยกเว้นคนเป่าปีคนเดียวที่เป็นผู้ใหญ่ จากการแสดงครั้งนี้ทําให้ได้รับความนิยมจากประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างกว้างขวางขึ้น
- พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มอบตัวเป็นศิษย์หนังกั้น ทองหล่อ หนังกั้นได้อบรมและสั่งสอนให้ความรู้ ในเรื่องคุณธรรมของผู้เป็นนายหนังตะลุง ความรู้ในการเชิดรูปหนังตะลุงในท่าทางต่าง ๆ โดยให้ดูท่าโขน ละครและท่ารํานาฏศิลป์เป็นแบบอย่าง ให้ความรู้ในการสร้างโครงเรื่อง การแต่งเรื่อง และการเขียนกลอนโดยให้ศึกษาแนวจากเรื่องของหนังเก่า ๆ ที่ดีมาเป็นแบบอย่าง ท่านกล่าวว่า “หนังตะลุงจะดีเพราะเค้าโครงเรื่องที่ดี เมื่อหมดเรื่องก็หมดดี”
- พ.ศ. ๒๕๑๗ เริ่มแสดงในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เช่น พังงา ภูเก็ต ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
- พ.ศ. ๒๕๒๖ เริ่มรู้ตัวว่าการเล่นหนังสมัครเล่นได้กลายเป็นอาชีพไปแล้ว เพราะมีรายได้จากการแสดงหนังตะลุงมากกว่าเงินเดือนจากงานประจํา
- พ.ศ. ๒๕๓๒ ในระยะนี้เจ้าภาพผู้ว่าจ้างมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับวัสดุปลูกสร้างโรงหนังตะลุง จึงได้จัดสร้างโรงหนังตะลุงสําเร็จรูปขึ้นใช้เป็นครั้งแรก เพื่อลดปัญหาของเจ้าภาพและยังได้รับประโยชน์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อมอีกด้วย

 


ภาพจากชมรมสืบสานงานศิลป์ครูนครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ 


      การแข่งหนังตะลุง
        
หนังตะลุงทุกคณะเมื่อมีชื่อเสียงก็จะถูกทาบทามให้แข่งขันกับหนังตะลุงคณะอื่น หนังนครินทร์ ชาทอง ก็มีการแข่งขันประชันโรงกับหนังหลายคณะหลายครั้ง ซึ่งการแข่งขันส่วนใหญ่ จะแข่งขันเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีต่อกัน เช่น หนังชวน เชี่ยวชาญ หนังชาตรี ศ.อัศวิน หนังรุ่งฟ้า จอมพูนพาน หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล หนังจูลี่ เสียงเสน่ห์ หนังครูเติม เสน่ห์ศิลป์ เป็นต้น

      การสร้างสรรค์ผลงาน
   
     หนังนครินทร์ ชาทอง สนใจการแสดงหนังตะลุงมาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบโดยการฝึกฝนจากคุณตา คือหนังวอน รัตนศรี ในขณะเรียนหนังสือก็ฝึกหนังตะลุงไปด้วย จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ อายุได้ ๑๖ ปี  จึงตั้งเป็นคณะขึ้น จนเป็นที่รู้จักในนามหนังนครินทร์ ชาทอง ขวัญใจนักเรียน ต่อมาหน่วยงานต่าง ๆ ก็จ้างแสดงประชาสัมพันธ์ รณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ต่อต้านยาเสพติด การวางแผนครอบครัว  ตลอดถึงการไปเผยแพร่ศิลปะการแสดงหนังตะลุงที่ต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศมาเลเซีย เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยอีกด้วย

       เรื่องที่ใช้แสดง
       
หนังนครินทร์ ชาทอง จะรักษาขนบนิยมการแสดงหนังตะลุงแบบโบราณ นักเล่นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ แต่ทุกเรื่องจะเต็มไปด้วยศิลปะการแสดงหนังตะลุง มีการสอดใส่อารมณ์ศิลปินกับสาระแง่คิดที่ดีมีคติโน้มน้าวผู้ชมมาโดยตลอด รวมถึงการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างราชการกับประชาชน โดยใช้การดําเนินเรื่องของหนังตะลุงเป็นสื่อ แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

๑. ประเภทที่คิดเค้าโครงเรื่องเอง มี ๖๐ เรื่อง คือเรื่องนาทีชีวิต อโศกมหาราช สิงห์คะนองไพร พิภพกลียุค รักพยาบาท รักอาถรรพ์ เพชรพระนารายณ์ อานุภาพสีชมพู อํานาจเงิน รักอลวน ขุนศึกเสน่หา ขุนพลใจเพชร เสือสํานึกบาป ช้างเพื่อนแก้ว ฟ้าชโลมดิน ลูกไม่มีพ่อ วิชากับทรัพย์ แสงสุริยัน ลูกกตัญญู ดาวสามดวง ฟ้าบันดาล แม่น้ำสามสาย แสงพระธรรม ยอดนารี ติณชาติแห่งยุค น้ำตากระยาจก แก้วฟ้ารามน้อย เจ้าสาวพับแขวทอง สังเวียนประเพณี แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง อัศวินสายฟ้า ผู้หญิงใจเด็ด ธรรมะชนะอธรรม พุทธธํามรงค์วงศ์สกุล คู่กันแล้วไม่แคล้วกันอีก เพลิงแค้น บัลลังก์ทมิฬ ฟ้ามิอาจกั้น กฎแห่งกรรม ดาบสองคม สายเลือดเดียวกัน นักบุญมือปราบ ยอดกตัญญ ทางรัก ความทรงจําแห่งภาระตะ ฟ้าประทานพร สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ยอดรักขวัญใจทมิฬ นรกในใจ ฟ้าเพียงดิน รักกันไว้เถิด สงครามกับสันติภาพ แผ่นดินวิปริต ทางสองแพรก แรงริษยา ฟ้าหลังฝน แก้วพิสดารตํานานเมือง เสือซ่อนเล็บ เข็บซ่อนเขี้ยว ฤทธิ์บาปแรงบุญ ตํานานหลวงพ่อทวด
๒. ประเภทได้เค้าโครงเรื่องจากที่อื่น มี ๑๘ เรื่อง คือเรื่องครุฑดํา แดนวิปโยค สายธารรัก สวรรค์บันดาล กุหลาบหลงก้าน สายเลือดทรยศ ลูกกําพร้า ฝนซาฟ้าสาง นางสาว ๓๐๐ ปี เดือนร้าวดาวร่วง ผมทองสามเส้น โลกอลวนคนอลเวง เขาว่าข้าคือโจร รามเกียรติ์ ใบบัวปิดช้างตาย สามดาว พลีชีพเพื่อชู บุญกรรมสร้าง
๓. ประเภทแต่งร่วมกับคนอื่น มี ๑๐ เรื่อง คือเรื่องแผ่นดินเดือด ดาบแสงฟ้า เทพตะเคียนทอง มงกุฎทอง บุปผาเนรมิต ปัญหาพรหม โนรา ร่มโพธิ์ทอง เงินเงินเงิน เทพบุตรเดินดิน
๔. ประเภทแต่งร่วมกับคนอื่นและได้เค้าโครงเรื่องจากที่อื่น มี ๑๐ เรื่อง คือเรื่องพระมหาชนก พรายโพยม อํามาตย์ทรยศ ผู้ชายไม่จริง น้ําใจแม่ ตามรอยพระพุทธบาท พรสวรรค์ ดาบล้างผลาญ วิญญาณอาฆาต ความจริงไม่หนีความจริง
๕. ประเภทคนอื่นแต่งให้ มี ๕๐ เรื่อง เช่น ขอมดํา น้ำใจแม่เลี้ยง แรงคําสาบาน ลูกไม่รู้จักพ่อ ทวิชาติ สังข์ศิลป์ชัย สามธนู แก้วกําบัง ปมปริศนา พระแสงสองสี งามศิลป์งามสวย ฟองสมุทร หลงชาติ บุญปราบดาบผลาญ จักรนรินทร์ ผิดตัวผิดฝา แสงพยัคฆ์ สามกําพร้า แก้วนพเก้า พลายประสิทธิ์ สิงหราช สวมวิญญาณ ห้วงรักเหวลึก นายขวัญ ดาบมรกต ราชาแห่งสัตว์ ค่าชีวิต จักรดารา วูบเดียวแห่งชีวิต ลูกไม่มีผัว อาวุธสวรรค์ เจ้าแม่พยายม เดชไอ้ดํา รักน้องต้องตามตื้อ มีปัญหา หยกสิงห์ เกลือจิ้มเกลือ บัวนอกบึง แรงสายเลือด กรรมลิขิต อาถรรพ์สวาท เลือดขัตติยา แรงกรรม รักทรมาน อมราปาลี นาที่วิปโยค ศึกสองฝั่งสาละวิน รักนิรันดร ก่อนตะวันลับฟ้า ราชินีบอด

 


ภาพจากชมรมสืบสานงานศิลป์ครูนครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ 

     รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

- พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับรางวัลขันน้ำพานรองในการแข่งขันกับหนังจเรน้อยหัวไทร และมโนราห์ปรีชา อํานวยศิลป์
- พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับรางวัลถ้วยเกียรติยศในงานฉลองพระอุโบสถวัดทรายขาว อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับรางวัลถ้วยเกียรติยศในงานฉลองพระอุโบสถวัดทรายขาว อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา
- พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพิจารณาให้เป็นข้าราชการดีเด่นในการผลิตสื่อหนังตะลุงต่อต้านยาเสพติดและได้รับโล่เกียรติคุณจากกระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยได้รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๒๔กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
- พ.ศ. ๒๕๔๒ เขียนบทและฝึกซ้อมนักเรียน โรงเรียนวัดเลียบ อําเภอคลองหอยโข่ง จนได้รับการคัดเลือกจากสํานักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เป็นตัวแทนของนักเรียนภาคใต้ เข้าร่วมมหกรรมการแสดงผลงานการเรียนรู้เรื่องพระมหาชนกกับชีวิตจริงของฉัน ในองค์ที่ ๒ “เพียรกล้า” ประกอบด้วยหนังตะลุง คนเพลงเรือแหลมโพธิ์ หนังตะลุงและโนรามาบูรณาการเป็นการแสดงชุด “ศิลปินทักษิณสมรม” แสดงถวายพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ทอดพระเนตร ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
-พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับพิจารณาเป็นศิษย์เก่าดีเด่นภาคสังคมทั่วไป ด้านศิลปะวรรณกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ
- พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๔ ด้านศิลปกรรม จากสํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับรางวัลราชมงคลสรรเสริญเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะ (การแสดง) จากสถาบันวัฒนธรรมราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ
- พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พุทธศักราช ๒๕๕๐

 

ภาพจากชมรมสืบสานงานศิลป์ครูนครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ 

           หนังนครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นนายหนังพื้นบ้านที่มีความชำนาญและความสามารถ ในการแสดงหนังตะลุงแบบโบราณที่มีการสอดแทรกเนื้อหาข้อคิดต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและสามารถดัดแปลงพัฒนาแก้ไขให้เข้ากับยุคสมัยและเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ท่านเป็นที่ยอมรับของนายหนังตะลุงทั่วภาคใต้ และเป็นนายหนังที่สวมวิญญาณให้กับนายหนังตะลุงอย่างเหมาะสม ให้เสียงรูปหนังตะลุงทั้งเสียงภาคกลางและภาษาถิ่นได้แบบไม่ผิดเพื้ยน และสามารถเชิดรูปหนังตะลุงได้ทุกลีลา ตลอดถึงการใส่จริตกิริยาต่าง ๆ นายหนังตะลุงนครินทร์ ชาทอง เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ โดยมุ่งมั่นสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานการแสดงหนังตะลุงจนเป็นเลิศ และเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนทั่วไปทุกจังหวัดภาคใต้ และได้เผยแพร่ความรู้เป็นที่ยกย่องนับถือพร้อมทั้งทำคุณประโยชน์ในการแสดงหนังตะลุงอย่างมาก ซึ่งเป็นสมบัติสืบทอดไปยังชนรุ่นหลังสืบไปหนังนครินทร์ ชาทองท่านถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สิริอายุได้ ๗๕ ปี     


ผลงานสำคัญ

        ผลงานด้านวรรณกรรมหนังตะลุง
         
จํานวนเรื่องหนังตะลุงที่หนังนครินทร์ ชาทอง ใช้แสดงตั้งแต่เริ่มฝึกฝนจนถึงปัจจุบันนี้มี ๑๔๘ เรื่อง ถึงแม้ว่าบางเรื่องจะเป็นเรื่องที่บุคคลอื่นแต่งให้ก็ตาม แต่ในส่วนเนื้อหาและการสอดแทรก ข้อคิดต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นของหนังนครินทร์ ชาทอง เพราะแต่ละเรื่องที่แสดงแต่ละคืนนั้นจะดัดแปลง พัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และปรับให้เข้ากับยุคสมัยและเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยใช้กลวิธีในการนําเสนอเพื่อให้ความบันเทิง สาระแง่คิด คติ ปรัชญาที่ดีและบทตลกที่มุ่งเน้น ในด้านการยกระดับผู้ชม ไม่ส่งเสริมให้ผู้ชมนิยมการแสดงหยาบโลนอันจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียศีลธรรมจรรยา ความสามารถพิเศษของหนังนครินทร์ ชาทอง คือสามารถสวมวิญญาณให้กับตัวหนังตะลุงได้ อย่างเหมาะสม สามารถให้เสียงรูปหนังตะลุงโดยไม่ซ้ำกัน ทั้งเสียงภาษากลางและภาษาถิ่นไม่ต่ำกว่า ๒๐ เสียง และมีความสามารถในการเชิดรูปหนังตะลุงได้ทุกลีลาไม่ว่าจะเดินนาดกราย เหาะเหิน รบราต่อสู้ ตลอดถึงการใส่จริตกิริยาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติสมจริง ให้อารมณ์เป็นการเชิดรูปที่เต็มไปด้วยศิลปะชั้นสูง จนเป็นที่ยอมรับของนายหนังตะลุงทั่วภาคใต้ ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินของหนังนครินทร์ ชาทอง จะปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถและเต็มใจ ไม่เคยเอาเปรียบเจ้าภาพและผู้ชมเลย ทุกครั้งที่รับงานแสดงจะแสดงอย่างเต็มที่ไม่ต่ำกว่าคืนละ ๗ ชั่วโมง คือ ตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ น. จนกระทั่งสว่าง นับได้ว่าไม่มีนายหนังตะลุงระดับแนวหน้าร่วมสมัยคณะไหนจะทําได้เช่นนี้ การชุบชีวิตสร้างจิตวิญญาณให้รูปตลกที่ชื่อโถ เป็นรูปตลกเก่าแก่ มีประวัติเป็นมาว่าเป็นคนจีนบ๋าบ่า บ้านพังบัว อําเภอสะทิงพระ เป็นคนชอบร้องรําทําเพลง มีคติประจําใจว่าเรื่องกินเรื่องใหญ่ ไม่ว่าใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม นายโถสามารถดึงไปโยงกับของกินได้เสมอ ซึ่งเป็นมุกตลกที่นับว่ามีเสน่ห์ไม่น้อย เพราะไม่ลามกหยาบคาย จึงเป็นตัวตลกที่ดึงความสนใจจากเด็ก ๆ ได้มาก ตัวตลกตัวนี้หนังตะลุงใช้แสดงบางคณะเท่านั้น เช่น หนังแสงโถ หนังนครินทร์ ชาทอง จึงนําเพลงลูกทุ่งแปลงเนื้อร้องเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน ให้รูปตลกนายโถเป็นผู้ร้องจนได้รับความนิยมจากผู้ชม นายโถจึงเป็นเสมือนตัวตลกที่เป็นเอกลักษณ์ประจําตัวของหนังนครินทร์ ชาทอง ก็คงไม่ผิด ทําให้หนังตะลุงยุคปัจจุบันได้นําเพลงมาใช้กับรูปตลกของตนเองสืบต่อ ๆ เกือบจะทุกคณะก็ว่าได้

       ผลงานที่เป็นความคิดริเริ่ม

๑. ฟื้นฟูการแสดงหนังตะลุงคนโดยนําเรื่องจากวรรณคดีไทยมาแสดง
๒. ฟื้นฟูหนังตะลุงรุ่นเก่าสร้างโอกาสให้แสดงในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ของสถาบันราชภัฏสงขลา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)
๓. เขียนบทหนังตะลุงสําหรับเด็กเพื่อนําสื่อหนังตะลุงเข้าสู่การเรียนการสอน โดยยึดผู้เรียนเป็นสําคัญ เช่น เรื่องพระมหาชนก
๔. สร้างรูปหนังตะลุงสําหรับเด็กขึ้นโดยเฉพาะ
๕. สอนและฝึกให้นักเรียนอ่านทํานองเสนาะเป็นทํานองหนังตะลุง
๖. จัดตั้งชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘
๗. จัดทําโครงการเทิดพระเกียรติ ๕ ธันวามหาราช แสดงหนังตะลุง ๔ มุมเมืองในจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน โดยกระจายสมาชิกในองค์กรออกแสดงตามชุมชนต่าง ๆ ในหลายอําเภอปีละ ๑๐ คณะ
๘. จัดประกวดการอ่านกลอนหนังตะลุงในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงอุดมศึกษา เมื่อวันที่ ๔-๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดสงขลา (มหาวิทยาลัยทักษิณ)
๙. จัดทําวารสารชาวตะลุงเผยแพร่ทั่วทุกภูมิภาค
๑๐. จัดสัมมนาดนตรีหนังตะลุงจังหวัดสงขลาและก่อตั้งชมรมลูกคู่หนังตะลุง เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ สถาบันราชภัฏสงขลา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) เพื่อฝึกดนตรีไทย (เครื่องหนังตะลุง) ในจังหวัดสงขลาให้มีมาตรฐานเดียวกัน
๑๑. ยกฐานะชมรมหนังตะลุงจังหวัดสงขลาเป็นสมาพันธ์หนังตะลุงจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
๑๒. จัดทําหนังสือข่าวหนังตะลุง
๑๓. เป็นผู้ริเริ่มใช้เกณฑ์การประเมินผลการแข่งขันหนังตะลุงโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์
๑๔. จัดทําโครงการหนังตะลุงขึ้นในโรงเรียนวัดเลียบ อําเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา เป็นโรงเรียนนําร่องในการฝึกหัดหนังตะลุงนักเรียน จนเกิดมีหนังตะลุงนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดสงขลาหลายคณะในหลายโรงเรียน
๑๕. ได้จัดการประกวดหนังตะลุงนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา
๑๖. นำวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับบทละครมาปรับในการเล่นแก้บนต่อเรื่อง จํานวน ๙ ตอน โดยมอบหมายให้ศิษย์จํานวน ๙ คน แสดงประกอบพิธีขึ้นครูเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๒ และได้ถือปฏิบัติสําหรับศิษย์ที่จะทําพิธีขึ้นครูจะต้องแสดงตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

      ผลงานเขียนอื่น ๆ

๑. เขียนปริญญานิพนธ์ เรื่องศิลปะการแสดงหนังตะลุงในจังหวัดสงขลา ๑ เล่ม จํานวน ๑๓๘ หน้า
๒. เขียนกลอนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๔๐ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๘ ในหนังสือกวีศรีประชา จํานวน (๑๒ คํากลอน ได้รับรางวัลเงิน ๒,๕๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘
๓. เขียนกลอนมุทิตาคารวะฉลองภาพในชาตก ๓ เรื่องของพระเทพมุนี เจ้าคณะจังหวัดสงขลา ณ วัดโคกสมานคุณ พระอารามหลวง
๔. แต่งเพลงตลกสําหรับตัวหนังตะลุง โดยแปลงทํานองจากเพลงลูกทุ่งประมาณ ๑๐๐ เพลง
๕. เขียนบทเกียวจอ จํานวน ๒๐๐ เรื่อง
๖. เขียนบทและแสดงเรื่องสั้น เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริจาคยางแผ่นขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
๗. ผลิตสื่อหนังตะลุงเรื่องเราต้องการป่า ในโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับศิลปินพื้นบ้านภาคอีสาน โครงการเผยแพร่แนวคิดการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ณ สถานีปฏิบัติการนาดูน สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
๘. ผลิตสื่อกลบทหนังตะลุงบันทึกเทปหลังจากเข้าสัมมนาทางวิชาการเรื่องสื่อเสียงทองภูมิปัญญาไทยในการบําบัดทางสุขภาพ ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ นอกจากนี้ยังใช้สื่อพื้นบ้านหนังตะลุงเผยแพร่งานประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐในโครงการต่าง ๆ เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สาธิตการแสดงหนังตะลุงให้กับหน่วยงานต่าง ๆ 

      การถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุง

๑. แสดงในประเทศไม่ต่ำกว่า ๔,๕๐๐ ครั้ง
๒. แสดงในประเทศมาเลเซีย ประมาณ ๒๐ ครั้ง
๓. แสดงสาธิตเผยแพร่ศิลปะการแสดงหนังตะลุงในประเทศออสเตรเลีย ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
๔. แสดงผ่านสื่อที่ใช้ถ่ายทอดในท้องถิ่น เช่น วิทยุกระจายเสียงและ โทรทัศน์ แถบบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงส่งเสริมวัฒนธรรม
๕. ถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงสู่ลูกศิษย์ 
     หนังนครินทร์ ชาทอง เป็นนายหนังตะลุงที่มีศิษย์มากมายทั้งศิษย์โดยตรงที่ประกอบอาชีพได้ ศิษย์ที่กําลังอยู่ในระดับกําลังฝึกหัดและคณะศิษย์ในสถาบันศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลารวมแล้วประมาณ ๑๖๐ คณะ

     การแสดงครั้งสําคัญ ๆ

- พ.ศ. ๒๕๑๖ แสดงที่เทศบาลเมืองขอนแก่น ประชาสัมพันธ์การวางแผนครอบครัว
- พ.ศ. ๒๕๒๑ แสดงงานวันศึกษาประชาบาล ณ ท่าวาสุกรีกรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. ๒๕๒๔ แสดงในมหาวิทยาลัยรามคําแหง
- พ.ศ. ๒๕๒๙ แสดงและเป็นผู้ฝึกซ้อมหนังตะลุงคนให้ข้าราชการจังหวัดปัตตานี
- พ.ศ. ๒๕๓๔ แสดงงานสังสรรค์สมาคมชาวใต้จังหวัดปราจีนบุรี
- พ.ศ. ๒๕๓๔ แสดงหนังตะลุงคนถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ หอประชุมสโมสรค่ายเสนาณรงค์ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
- พ.ศ. ๒๕๔๓ แสดงหนังตะลุงเรื่องพระมหาชนก โครงการผลิตสื่อพื้นบ้านเผยแพร่โครงการเสมาพัฒนาคุณธรรมตามพระราช
ดํารัส ในระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ จํานวน ๒๗ ครั้ง
- พ.ศ. ๒๕๕๔ แสดงหนังตะลุงเรื่องพระมหาชนก ประชาสัมพันธ์โครงการเสมาพัฒนาคุณธรรม ตามพระราชดํารัสบันทึกเทปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ ระหว่างวันที่ ๒-๕ เมษายน ๒๕๔๔

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
นครินทร์ ชาทอง
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เพจหนังนครินทร์ ชาทอง. (2559). https://www.facebook.com/หนังนครินทร์-ชาทอง-122597047894214/?ref=page_internal


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024