สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
 
Back    14/08/2019, 14:57    10,507  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

       ศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ ปราชญ์ผู้บุกเบิกการศึกษางานด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นปราชญ์สามัญชนและนักวิชาการที่บุกเบิกงานศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านและคติชนวิทยาของภาคใต้ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในรูปของเอกสาร วัตถุสิ่งของ แถบบันทึกเสียง แถบภาพที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวใต้และขนบธรรมเนียมนิยมในท้องถิ่นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตลอดจนประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปหัตถกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของไทย จนเป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการและเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาคนแรก ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลของภาคใต้ )  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
      ศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ณ ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นบุตรนายเส้ง นางเพ็ง พงศ์ไพบูลย์ ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง  ๗  คน  บิดามารดามีอาชีพทำนา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้สมรสกับนางสาวประดับ สิทธิสาร มีบุตรชาย ๔ คน

การศึกษา
      ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมและมัธยมต้นจากโรงเรียนในพื้นที่บ้านเกิดคือโรงเรียนประชาบาล “เลื่อนประชาคาร” จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนระโนดวิทยามูลนิธิ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  แล้วสอบชิงทุนฝึกหัดครูประถม (ป.ป.) ของจังหวัดสงขลาซึ่งรับเพียง ๑ คนไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วสมัครสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. ๘) แผนกวิทยายาศาสตร์ได้ เมื่อจบชั้น ป.ป.ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จึงเลือกเรียนต่อระดับครูมัธยม (ป.ม.) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมวังจันทรเกษม (ได้รับทุนเล่าเรียน) แล้วสอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรในสาขามัธยมศึกษา วิชาเอกคณิตศาสตร์และภาษาไทย จนสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ต่อจากนั้นได้รับทุนของจังหวัดสงขลาไปเรียนต่อหลักสูตร ป.ป. ที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๓ ปี และศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมศึกษาได้วุฒิ ป.ม. แล้วสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ได้วุฒิ  กศ.บ. วิชาเอกคณิตศาสตร์และภาษาไทย หลังเข้ารับราชการแล้วได้ศึกษาเพิ่มเติมได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาเฉพาะภาษาและวรรณคดีไทย ระหว่างที่เรียนอยู่ในระดับ ป.ม.  และ กศ.บ. ได้ร่วมกับเพื่อน ๆ เปิดโรงเรียนกวดวิชาภาคฤดูร้อนให้แก่นักเรียนที่จะสอบเข้าเรียนในระดับต่าง ๆ มีรายได้พอที่จะใช้ในการศึกษาโดยไม่ต้องรบกวนบิดามารดาและขณะเดียวกันก็ได้ริเริ่มงานเขียนโดยได้รวบรวมเรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมมุขปาฐะของปักษ์ใต้ ชื่อหนังสือว่า "ของดีปักษ์ใต้" ศึกษาหลักสูตร ป.ป. ที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และได้วุฒิป.ม.จากโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมศึกษา สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร สำเร็จ กศ.บ. วิชาเอกคณิตศาสตร์และภาษาไทย ทั้งได้รับประกาศนียบัตรวิชาภาษาและวรรณคดีไทย

การทำงาน
       ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี  พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้สอบคัดเลือกมาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ตรีที่วิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)  โดยทำหน้าที่สอนวิชาภาษาไทยระดับ ป.กศ. ชั้นต้น และ ป.กศ. ชั้นสูง ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาไทยระดับ ป.กศ. ชั้นสูง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์โทวิทยาลัยครูสงขลา  (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์โทและอาจารย์เอก ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) ดังนี้คือในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ ๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ ๘ ตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ ๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ ๑๐ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑
          ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งหลังเกษียณอายุราชการดังนี้ คือ

๑. ศาสตราจารย์ระดับ ๑๑ (เกษียณอายุราชการ) 
๒. ศาสตราจารย์กิตติคุณ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
๓. ลูกจ้างรายปี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญของสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
๔. ผู้ทรงคุณวุฒิสภาประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 
         
ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ประกอบด้วย

๕ ธ.ค. ๒๕๒๙          ประถมาภรณ์มงกุฏไทย (สายที่ ๑) 
๕ ธ.ค. ๒๕๓๒          ประถมาภรณ์ช้างเผือก (สายที่ ๒)
๕ ธ.ค. ๒๕๓๕          มหาวชิรามงกุฏ (สายที่ ๓)
๕ ธ.ค. ๒๕๓๙          มหาประถมาภรณ์ช้างเผือก (สายที่ ๔)

รางวัลเกียรติยศ    

๑. รางวัลพระเกี้ยวทองคำ (๒๕๓๒) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น
๒. ได้รับการยกย่องเป็นศิษย์เก่าดีเด่น ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประจำปี ๒๕๓๒
๓. ได้รับยกย่องเป็นศิษย์เก่าดีเด่น ของวิทยาลัยครูจันทรเกษม (๒๕๓๓)
๔. รางวัลพระสิทธิธาดาทองคำ (๒๕๓๗) จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้บุกเบิกการศึกษาวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่นภาคใต้
๕. รางวัลสงขลานครินทร์อนุสรณ์ (๒๕๓๗) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้ทำประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นภาคใต้
๖. ได้รับเข็มยกย่องเชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๓๗) ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่กระทรวงศึกษาธิการ
๗. ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย (๒๕๒๗) ในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นด้านภาษาไทย
๘. ได้รับรางวัลอาเซียนอวอร์ด สาขาไทยคดีศึกษา ประจำปี ๒๕๔๐ รับรางวัลที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๐
๙. ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติจากสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นคนดีศรีปักษ์ใต้ สาขาศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๔๔
๑๐. ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ปี พ.ศ. ๒๕๔

ถึงแก่กรรม
      
  ปราชญ์สามัญชนศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษาและผู้จุดคบเพลิงแห่งงานวิชาการวัฒนธรรมให้รุ่งโรจน์ เสียชีวิตอย่างสงบณโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ท่ามกลางความอาลัยของภรรยา-ลูก-หลาน และญาติมิตร พระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ ณ วัดแหลมทราย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่  ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐


ผลงานสำคัญ

       ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ในปี พ.ศ ๒๕๒๓ ได้จัดตั้งโครงการ “ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้” ขึ้น ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “สถาบันทักษิณคดี” ซึ่งมีฐานะเป็น “คณะวิชา” หนึ่งในโครงสร้างของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ) ซึ่งแต่เดิมที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย) บทบาทของสถาบันทักษิณฯภายใต้การนำของผู้อำนวยการคนแรกคือศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ก็เริ่มระบือลือกระฉ่อนหอมฟุ้งด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรมด้านวิชาการแต่นั้นมา ตลอดชีวิตราชการในฐานะ “ครู” และผู้บริหารที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์แบบเห็นการณ์ไกล โดยเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทำให้ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ มีลูกศิษย์ลูกหาตลอดถึงผลงานทั้งด้านวิชาการและด้านสังคมเป็นจำนวนมาก งานหนังสือเล่มสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ปี พ.ศ ๒๕๐๐ ออกหนังสือของดีปักษ์ใต้ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ หลักภาษาไทย ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ วรรณคดีและวรรณกรรมปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ คติชาวบ้านภาคใต้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ การเขียน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้แต่งหนังสือหลายเรื่อง อาทิ บาลีสันสกฤตที่สัมพันธ์กับภาษาไทย, ๑๐๘อบายอันตรายชาติ, พุทธศาสตร์, พุทธศาสนาแถบลุ่มทะเลสาปสงขลาฝั่นตะวันออกสมัยกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ วรรณคดีวิเคราะห์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ หนังตะลุง และในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ออกผลงานสำคัญคือสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ (ชุด ๑๐ เล่ม) ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้, ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ วัฒนธรรมพื้นบ้าน และในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ คราบน้ำตาบนทางชีวิตและงาน
 
       ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ นอกจากงานสอนหนังสือทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ทั้งสาขาภาษาไทยและไทยคดีศึกษาแล้ว ยังมีงานบริหาร งานควบคุมปริญานิพนธ์ งานกรรมการวิทยากร (ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น) งานเขียนบทความ งานแต่งตำราวิชาการ แล้ว ภายหลังอาจารย์สุธิวงศ์ในฐานะเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับงานวิจัยอย่างสุดจิตสุดใจจนสามารถสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ทั้งระดับต้น-กลางและสูงได้เป็นจำนวนมาก มีผลงานวิจัยที่สามารถจับต้องได้ซึ่งส่งผลในทางปฏิบัติเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่ประจักษ์ชัดของสังคมภาคใต้โดยรวมในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาอนุรักษ์ฟื้นฟู ส่งเสริมพัฒนาเกี่ยวกับท้องถิ่นศึกษาทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ท่านได้บุกเบิกการจัดทําสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ จนได้รับการยกย่องจากนักวิชาการว่าเป็นคลังความรู้เกี่ยวกับภาคใต้ที่สมบูรณ์ที่สุด จนกลายเป็นต้นแบบความคิดของการจัดทําสารานุกรมวัฒนธรรมในภาคอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ ยังใช้ความรู้ความสามารถของท่านเขียนตํารา และงานวิจัยวัฒนธรรมเผยแพร่เป็นประโยชน์แก่สังคมไว้เป็นจํานวนมาก ซึ่งผลจากการทํางานที่มีผลงานทางด้านวัฒนธรรมเด่นชัดทําให้ท่านได้รับรางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทย ขณะที่ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ รับราชการอยู่ได้รับทุนไปศึกษาดูงานต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีเหนือ อังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส ผลงานอื่น ๆ ของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ประกอบด้วย

๑. เขียนตำราเกี่ยวกับภาษาไทย (หลักภาษา วรรณคดี การใช้ภาษา) ไม่น้อยกว่า ๓๐ เล่ม
๒. บทความทางภาษาและวัฒนธรรมประมาณ ๑๐๐ เรื่อง 
๓. เป็นบรรณาธิการหนังสืออ้างอิง สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้
๔. เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันทักษิณคดีศึกษา  (พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๗ 
๕. เป็นประธานอนุกรรมการวิจัยวัฒนธรรมภาคใต้ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
๖. เป็นอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
๗. เป็นผู้ริเริ่มจัดทำหลักสูตรวิชาโทภาษามลายู ของมหาวิทยาลัยทักษิณ 
๘. เป็นผู้ริเริ่มและกรรมการจัดทำหลักสูตรไทยคดีศึกษา ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๙. เป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้
๑๐. เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ 
๑๑. เป็นอนุกรรมการประสานงานสารนิเทศ  สาขามนุษย์ศาสตร์  ของคณะกรรมการอำนวยการและประสานงานระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติ

 


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

นภดล มณีวัต. (ม.ป.ป.). ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. สืบค้นวันที่ 14 ส.ค. 62, จาก www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=24666.0;wap2
ประสิทธิ์ ฤทธาภิรมย์, สนิท บุญฤทธิ์ และนิตยา ธัญญพาณิย์. 2560. หวนอาลัย : ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. สงขลา.พิมพการ.
สถาพร ศรีสัจจัง. 2560.  ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. สืบค้นวันที่ 14 ส.ค. 62, จาก https://siamrath.co.th/n/20289
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ณ วัดแหลมทราย อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา วันอังคารที่ 25 เดือนกรกฎาคม
             พุทธศักราช 2560. 2560.[ม.ป.ท. ม.ป.พ.].  


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024