พระราชพุทธิรังษี หรือหลวงพ่อดำ นนฺทิโย เป็นพระสงฆ์ที่ชาวไทยพุทธไทยอิสลามให้เลื่อมใส โดยในครั้งที่ท่านยังมีชีวิตจะมีชาวพุทธจากสถานที่ต่าง ๆ เดินทางมากราบไหว้ไม่ได้ขาด แม้กระทั่งท่านมรณภาพแล้วก็จะแวะมาเคารพสักการะรูปเหมือนของท่านอยู่เป็นประจำ ด้วยความรู้สึกที่เลื่อมใสศรัทธา เพราะท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อดำ นนฺทิโย มีนามเดิมว่าดำ นามสกุลจันทรักษ์ เกิดวันเสาร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บิดามีนามว่าหลวงจรานุรักษ์เขตร (พลับ จันทรักษ์) มารดามีนามว่าพ่วนเหนี่ยว จันทรักษ์ มีพี่น้องจำนวน ๖ คน ประกอบด้วย
๑. นางเนี่ยม จันทรักษ์ ๒. พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) ๓. ท่านหมื่นเลี่ยน จันทรักษ์ ๔. นายลาภ (ล่วน) จันทรักษ์ ๕. นายยก จันทรักษ์ ๖. นางนุ่ม อุทัยรัตน์ |
พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) ในวัยเด็กหลวงพ่อดำได้รับศึกษาที่บ้านโดยเรียนกับบิดาจนสามารถอ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนาทับ และได้ศึกษาหนังสือขอมทั้งขอมไทยและขอมบาลีจนเชี่ยวชาญ แต่ระหว่างที่ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้เกิดอาพาธจึงได้ลาสิกขาด้วยเหตุผลที่ว่ายาโบราณที่รักษานั้นต้องผสมสุราท่านเกรงว่าจะอาบัติ จนเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี และหายจากอาพาธแล้วจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้รับนามฉายา "นนฺทิยมาโน" ต่อมาหลวงพ่อดำท่านได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยโดยได้จำพรรณษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์) วัดราชบพิธ ได้ทรงเปลี่ยนนามฉายาให้ใหม่เป็น "นนฺทิโย" ซึ่งแปลว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความ เพลิดเพลิน” แล้วทรงฝากให้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกสามัญและแผนกบาลี ที่สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์แต่ท่านไม่ได้เข้าสอบสนามหลวงแต่อย่างใด หลวงพ่อดำ นนฺทิโย ท่านอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๓ ปี และกลับมาจำพรรษาที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้นมาและได้รับการแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมที่พระใบฎีกาของพระครูพิบูลย์สมณวัตร (ชุม จนทสุวณโณ) เจ้าคณะเมืองหนองจิก และได้เปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ขึ้นที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร ต่อมาท่านได้เข้าสอบนักธรรมชั้นตรีและสอบได้ ซึ่งข้อสอบทุกวิชาจะมีวิชาละ ๑๔ ข้อ ซึ่งยากมากใครสอบผ่านได้จะต้องใช้ความเพียรและใช้สติปัญญาอย่างมาก พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) เป็นพระสงฆ์ที่ชาวไทยพุทธเลื่อมใสศรัทธาว่าท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส แม้งานปกครองและการปฏิสังขรณ์เสนาสนะจะล้นมือ แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติสมณกิจอย่างสม่ำเสมอ โดยจะเดินจงกรมตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐-๒๒.๐๐ น. เป็นประจำทุกวัน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สัญญาบัตรเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชพุทธิรังษี" พระราชพุทธิรังษีหรือหลวงพ่อดำ นนฺทิโย ท่านยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ (เป็นพระคู่สวดของอาจารย์ทิม วัดช้างให้) อีกทั้งท่านยังเป็นประธานในพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลของวัดช้างให้มาโดยตลอด
พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) มรณภาพด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เวลา ๒๓.๑๐ น. สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี พรรษา ๖๘ ปัจจุบันทางวัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) ได้สร้างศาลาประดิษฐานรูปปั้นหลวงพ่อดำเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพสักการะ
ตำแหน่งและสมณศักดิ์
พระราชพุทธิรังษี หรือหลวงพ่อดำ นนฺทิโย เจ้าอาวาสวัดมุจลินทราปีวิหาร รูปที่ ๕ มีตำแหน่งและสมณศักดิ์ต่าง ๆ ดังนี้
- พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นฐานานุกรมที่พระปลัดของพระครูพิบูลย์สมณวัตร (ชุม จนทสุวณโณ)
- พ.ศ. ๒๔๗๖ พระเทพญาณเมธี เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงตุยง
- พ.ศ. ๒๔๗๗ พระญาณโมลี เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวดตุยง
- พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้รักษาการในตำแหน่งคณะแขวงหนองจิก
- พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงเมืองปัตตานี
- พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูมานิตสมณวัตร
- พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประเภทวิสามัญ
- พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสาธารณูปการ จังหวัดปัตตานี และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระมุจลินทโมลี
- พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี
- พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาชั้นสามัญ เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่ "พระพุทธิรังษี โมลีธรรมพินิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"
- พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
ผลงานของพระราชพุทธิรังษี หรือหลวงพ่อดำ นนฺทิโย ที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวดวัดช้างให้
๑. เป็นประธานพิธีปลุกหลวงพ่อทวดวัดช้างให้รุ่นแรก ๒. ปลุกเสกหลวงพ่อทวดวัดช้างให้ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ๓. ปลุกเสกหลวงพ่อทวดวัดช้างให้รุ่นปี ๒๕๒๔ |
วัตถุมงคล
พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีจิตใจโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ยากดีมีจน จะได้รับสิทธิเท่าเทียมกันหมด ท่านได้บริหารคณะสงฆ์และงานก่อสร้างสังฆเสนาสนะตลอดถึงงานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย โดยงานก่อสร้างแม้จะเต็มมือ แต่ก็ยังคงปฏิบัติสมณกิจอย่างสม่ำเสมอ และท่านยังได้เดินจงกรมตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๒.๐๐ น. เป็นประจำ อีกทั้งยังเข้าห้องนั่งสมาธิตลอดมาจนถึงวาระสุดท้าย
ชาวพุทธจากที่ต่าง ๆ เมื่อเดินทางมาจังหวัดปัตตานี มักแวะมาเคารพสักการะรูปเหมือนหลวงพ่อดำที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ด้วยความรู้สึกที่เลื่อมใสศรัทธาตลอดมา วัตถุมงคลของท่านสร้างไว้มากมายที่มีชื่อเสียงประกอบด้วย เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๖, เหรียญรุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙, เหรียญรุ่น ๓ พระบูชา ปี พ.ศ. ๒๕๒๐, พระรูปหล่อ เหรียญพระบรมราชชนกฯ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑, เหรียญรุ่น ๔ เหรียญพัดยศ เหรียญรูปยืนถือไม้เท้า เหรียญพระนาคปรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ และเหรียญ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้น
พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) เจ้าอาวาสวัดมุจลินทราปีวิหาร รูปที่ ๕ มีผลงานที่สำคัญ ๆ อาทิ
๑. บูรณะปฏิสังขรณ์วัดในอำเภอหนองจิก ๓ วัด คือ วัดสุวรรณากร วัดสุนันทาราม และวัดโคกตา |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย)
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาเยี่ยมวัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นการส่วนพระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาเยี่ยมวัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นการส่วนพระองค์
พระราชพุทธิรังษี (ดำ นนฺทิโย). (ม.ป.ป.) สืบค้นวันที่ 20 พ.ค. 63, จาก https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=14595
มัลลิกา คณานุรักษ์. (2545). บุคคลสำคัญของปัตตานี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
เหรียญ หลวงพ่อดำ นนทิโย วัดตุยง จังหวัดปัตตานี. (2560). สืบค้นวันที่ 20 พ.ค. 63, https://www.web-pra.com/shop/silalad/show/783363