พระเสน่หามนตรี (ชื่น)
 
Back    16/05/2019, 11:20    14,460  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

ภาพจาก : เพจ Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้  ที่นี้ หาดใหญ่

     พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในจังหวัดสงขลาและภาคใต้ เป็นนักปกครองที่ได้ปกครองหลายท้องที่ในประเทศ แต่ชื่อเสียงของท่านปรากฎเด่นชัดเมื่อครั้งรับราชการเป็นนายอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สมัยเมื่อครั้งที่อำเภอหาดใหญ่เป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งซึ่งมีชื่อในครั้งนันว่าอำเภอเหนือ จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอหาดใหญ่และพัฒนามาตามลำดับ จึงกล่าวได้ว่าท่านเป็นนายอำเภอคนสุดท้ายของอำเภอเหนือและเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอหาดใหญ่ และเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้กลายมาเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการพาณิชย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ นอกจากบทบาททางด้านการปกครองแล้ว ท่านยังเป็นผู้ประกอบคุณความดีช่วยเหลือกิจสาธารณประโยชน์ด้านต่าง ๆ อีกมากมายพระเสน่หามนตรี (ชื่น) ซึ่งเป็นนายอำเภอคนสุดท้ายของอำเภอเหนือก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหาดใหญ่ ท่านเป็นบุคคลสำคัญต่อการพัฒนาของอำเภอหาดใหญ่

ชาติภูมิ

        พระเสน่หามนตรีชื่อเดิมว่าชื่น สุคนธหงส์ เกิดเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นบุตรของพระรณกิจปรีชา (รื่น สุคนธหงส์) และนางเนย สุคนธหงส์      บิดารับราชการอยู่ที่อำเภอหล่มสัก (จังหวัดเพชรบูรณ์) แต่พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนแรกในจำนวนพี่น้องร่วมบิดาทั้งหมด ๕ คน ซึ่งเป็นชาย ๒ คน หญิง ๓ คน

การศึกษา

        พระเสน่หามนตรี (ชื่น) ไม่ปรากฎหลักฐานศักราชแน่ชัด จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่านกล่าวว่าท่านเรียนภาษาไทยบาลีกับพระมหาชาล (ที่วัดเชตุพนฯ) และได้บรรพชากับท่านเจ้าคุณพระธรรมวิหารี ส่วนการศึกษาในระบบโรงเรียนกล่าวไว้ว่าเข้าเรียนในโรงเรียนกล่อมพิทยาคม (วัดเชตุพนฯ) ต่อมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พอจบแล้วได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสถานศึกษาข้าราชการพลเรือนต่อด้วยโรงเรียนมหาดเล็ก จบการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาประโยคสถานศึกษาข้าราชการพลเรือน และการปกครองโรงเรียนมหาดเล็กตามลำดับ

การรับราชการ

       พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เริ่มรับราชการครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ โดยรับราชการเป็นเสมียนในกรมรองสารรับสั่ง กระทรวงวังที่จังหวัดเพชรบูรณ์ หลังจากนั้นได้มีการโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้

๑. พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นเสมียนมหาดไทย เป็นมหาดเล็กรายงานมณฑลนครสวรรค์

๒. พ.ศ. ๒๔๕๒ รักษาการนายอำเภอกลาย (ปัจจุบันคืออำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช)

๓. พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นนายอำเภอกลาย ต่อมาย้ายไปเป็นปลัดเมืองพัทลุงในปีเดียวกัน

๔. พ.ศ. ๒๔๕๗ ไปเป็นนายอำเภอเหนือ (คืออำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน)   

๕. พ.ศ. ๒๔๖๔ ย้ายไปเป็นนายอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

๖. พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช

๗. พ.ศ. ๒๔๖๗ รักษาการนายอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

๘. พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นนายอำเภอทุ่งสง

๙. พ.ศ. ๒๔๖๙ ย้ายไปรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

๑๐. พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

๑๑. พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหล่มสัก (ปัจจุบันคือจังหวัดเพชรบูรณ์)      

๑๒. พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๕๐ ปี) จึงลาออกจากราชการที่อาศัยอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่

 

ถึงแก่อนิจกรรม

       พระเสน่หามนตรี (ชื่น) ถึงแก่อนิจกรรม  เมื่อวันที่ ๓ พฤศ๗ิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕   ได้รับการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดโคกสมานคุณ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖

 


ผลงานสำคัญ

 

 

 

          ตลอดชีวิตรับราชการของท่าน แม้จะได้โยกย้ายไปรับราชการตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งก็จริง แต่ท่านก็ใช้ชีวิตรับราชการในภาคใต้มากที่สุด โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยดีมาตลอด และเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยไมตรีต่อทุกคน จึงเป็นที่รักใคร่และไว้วางใจแก่คนทั่วไป
        นอกจากนั้นแล้วในชีวิตราชการของท่านได้มีโอกาสจัดการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวและเจ้าหลายชันสูงหลายครั้ง เช่น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ขณะดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นระยะที่พระเสน่หามนตรี (ชื่น) รับราชการอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในตำแหน่งผู้รักษาการนายอำเภอกลาย (อำเภอท่าศาลา) ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ดังปรากฏความในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานงานศพของท่านว่าทางราชการคงมีแผนการให้เสด็จไปอำเภอกลายถึงสิชลก็ได้ พระเสน่หามนตรีมีหน้าที่ควบคุมคนและพาหนะตลอดถึงสิ่งของบางอย่าง ได้มีการตัดถนนขยายใหม่และขยายถนนเก่าหน้าที่ว่าการอำเภอกลาย และกรุนทางพูนดินต่อจากถนนหน้าอำเภอไปถึงตำบลนบพิตำ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานทำเหมืองแร่ ๑ สายยาวประมาณ ๗๐๐ เส้นและทำถนนแยกจากหน้าที่ว่าการอำเภอไปสู่คลองท่าสูงอีกหนึ่งสาย ประมาณ ๑๐๐ เส้น กับได้สำรวจตัดทางที่จะเชิญเสด็จพระบรมวงศ์ซึ่งเสด็จตรวจวัง ที่อำเภอตามคำสั่งของจังหวัด ตัดถนนตั้งแต่อำเภอเมืองไปติดต่อกับเขตอำเภอสิชล ในระยะทางสร้างพลับพลาประทับร้อนถึง ๒ แห่ง กับที่ประทับแรมอีก ๒ แห่ง เป็น ๔ แห่ง เป็นอันจับเค้าได้ว่าถนนจากนครศรีธรรมราช ผ่านอำเภอท่าศาลาถึงสิชลซึ่งมีอยู่บัดนี้ ได้เริ่มสร้างขยายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ นอกจากได้ทำถนนหนทางมีการขุดคลอง จากคลองท่าสูงไปทะลุคลองหัวตะพาน จนเป็นการแล้วเสร็จให้ราษฎรใช้เป็นทางสัญจรทางเรือได้ ทั้งเป็นประโยชน์แก่ราษฎรชักน้ำขึ้นทำนาได้อีกด้วย ครั้งถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๕๔ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเสน่หามนตรี (ชื่น) ไปรับราชการอยู่ที่พัทลุงก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลับพลา รับเสด็จสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี พระพันปีหลวง ซึ่งเสด็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ นอกจากสร้างพลับพลาแล้วยังได้จัดซ่อมถนนจากจังหวัดตรังไปจังหวัดพัทลุงอีกด้วย 
        ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านได้ย้ายจากจังหวัดพัทลุงไปเป็นนายอำเภอเหนือ (อำเภอหาดใหญ่) จังหวัดสงขลา เมื่อมาอยู่ที่จังหวัดนี้ก็ได้จัดการรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จที่เกาะสี่เกาะห้าในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ อีกเช่นกัน จะเห็นได้ว่าในชีวิตรับราชการของพระเสน่หามนตรี (ชื่น) ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรับเสด็จพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ ประกอบกับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่และความจงรักภักดี ท่านจึงเป็นที่โปรนปรานและไว้วางพระทัยของบรรดาเจ้านายชั้นสูง แม้ในคราวที่ท่านออกจากราชการแล้วและพักอยู่ที่บ้านสุคนธหงส์ ที่อำเภอหาดใหญ่ บ้านของท่านก็ยังเป็นที่ประทับรับรองพระบรมวงศ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยิ่งไปกว่านั้นพระบาทสมเด็จฯพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชินีเคยเสด็จมาเสวยอาหารที่บ้านท่าน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เมื่อประบาทสมเด็จฯพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสภาคใต้ ก็ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เข้าเฝ้า
     และเมื่อท่านป่วยในต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสด็จประทับที่โรงแรมสุคนธา (ของคุณหญิงชื่นจิตต์ สุขุม ธิดาของพระเสน่หามนตรี) ก็ได้เสด็จเยี่ยมท่านด้วย นอกจากนั้นแล้วในหมู่ราชการ ประชาชนทั่วไปแม้แต่พระสงฆ์ก็ยอมรับกันว่าท่านเป็นคนดีที่น่านับถือมากคนหนึ่ง คุณความดีที่ท่านได้ปฏิบัติทั้งในขณะรับราชการและหลังออกจากราชการแล้วมีอยู่มาก แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านที่เป็นที่ประจักษ์และกล่าวขานกันทั่วไปคือบทบาท ในการพัฒนาเมืองหาดใหญ่และการสร้างสาธารณประโยชน์แก่เมืองนี้
      เมื่อครั้งที่พระเสน่หามนตรี (ชื่น) มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงทิพย์กำแหงสงคราม ดำรงตำแหน่งนายอำเภอหาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ อำเภอหาดใหญ่สมัยนั้นเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่ง ตัวอำเภอมีสภาพคล้ายหมู่บ้านเล็ก ๆ มีบ้านเรือนมุงจากอยู่ไม่กี่หลังคาเรือนตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภาและอยู่ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๒ กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งอำเภอก็ยังเป็นที่ราบลุ่ม มีต้นเสม็ดขึ้นอยู่ทั่วไป ส่วนบริเวณที่ดินที่เป็นตัวเมืองในปัจจุบันเป็นที่ดินและป่ารกร้างปราศจากผู้คนอาศัย พระเสน่หามนตรี (ชื่น) รู้สึกพึงพอใจบริเวณที่ดอนแห่งนี้ จึงได้ตกลงซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง จำนวน ๕๐ ไร่ ในราคา ๒๐๐ บาท โดยตั้งใจว่าหลังจากออกจากราชการแล้วก็จะมาใช้ชีวิตในบั้นปลาย ทำไร่และปลูกสวนยางที่นี้ และเมื่อออกจากราชการแล้วท่านก็ได้กลับมาอยู่ที่หาดใหญ่จริง ๆ แต่หาได้ใช้ที่ดินที่ท่านซื้อไว้ดำเนินการตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้ไม่ ด้วยช่วงนั้นการรถไฟแห่ประเทศไทยได้ไปตั้งสถานีขึ้นที่บนดอนซื้อติดกับที่ดิน ๕๐ ไร่ของท่าน เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไปเช่นนั้น พระเสน่หามนตรี (ชื่น) นักปกครองที่ผ่านการปกครอง มาหลายท้องที่และมีประสบการณ์มามาก จึงมองการณ์ไกลว่าต่อไปภายหน้าหาดใหญ่ จะเป็นเมืองเจริญและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ท่านจึงได้เริ่มถางป่าบริเวณนั้นและคิดวางผังเมือง ร่วมกับพระยาอรรถกวีสุนทร ขุนนิพัทธ์จีนนคร และนายซีกิมหยง ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ ในบริเวณนั้นเช่นกัน ได้ทำการตัดถนนสายแรกจากหน้าสถานีรถไฟตัดตรงผ่านที่ดินของท่าน และพระยาอรรถกวีสุนทร จากนั้นก็ตัดถนนสายอื่น ๆ ให้ตั้งฉากและขนานกับถนนสายแรก เป็นตารางหมากรุกตามที่ท่านได้เห็นจากผังเมืองเกาะปีนัง จากนั้นพระเสน่หามนตรี (ชื่น) ก็เริ่มลงมือสร้างตลาดสดและห้องแถวตามริมถนนสายแรก ทั้งในที่ดินของท่านและพระยาอรรถกวีสุนทร ลักษณะร้านค้าในสมัยนั้นเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียว ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นที่ค้าขายและที่อยู่อาศัยไปด้วยในตัว เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นชุมทางรถไฟ เมืองจึงเริ่มเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นลำดับและกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายด้วย ต่อมาพระเสน่หามนตรี (ชื่น)ได้พยายามสร้างห้องแถวอาคารร้านค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรับการขยายของเมืองพร้อมกับได้สร้างโรงภาพยนต์ และในที่สุดบริเวณที่ดินจำนวน ๕๐ ไร่ของท่านก็ได้สร้างโรงแรมใหญ่น้อยขึ้นหลายโรง ทั้งที่เป็นของท่านเองและให้ผู้อื่นเช่าก่อสร้าง เช่น โรงแรมสุคนธา โรงแรมแหลมทอง โรงแรมแสงฟ้า โรงแรมหอฟ้า เป็นต้น ทำให้ที่ดินซึ่งท่านซื้อมาเพียง ๒๐๐ บาท กลับมีราคาหลายล้านบาท เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น และท่านเป็นผู้มีฐานะดีขึ้นจึงได้ซื้อที่ดินไว้อีกหลายแห่ง จนยอมรับกันว่าท่านเป็นคหบดีคนสำคัญคนหนึ่งในเมืองหาดใหญ่และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในการวางผังเมืองหาดใหญ่ จนกลายมาเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ในปัจจุบัน

    แต่แม้จะเป็นคหบดีร่ำรวยอย่างไร พระเสน่หามนตรี (ชื่น )ก็ยังเป็นผู้ที่เห็นแก่คุณประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญมากที่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ท่านได้อาศัยความร่ำรวยบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ ทั้งในเขตอำเภอหาดใหญ่และที่อื่น ๆ มากมายนับเป็นเงินหลายล้านบาท ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ได้แสดงรายการการบริจาคทรัพย์ส่วนตัวของท่านเพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ เฉพาะเท่าที่พอจะสืบได้มีมากมาย เช่น การบริจาคเพื่อการศาสนา ได้แก่ บริจาคเงินสร้างอุโบสถ หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ฯลฯ ในวัดโคกสมานคุณเป็นเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท สร้างกุฏิถวายวัดพุทธิการาม ๕๘,๐๐๐ บาท บริจาคเงินถวายวัดคงคาเลียบ ๔๐,๐๐๐ บาท บริจาคเงินถวายวัดโคกม่วง ๔๐,๐๐๐ บาท บริจาคเงินถวายวัดหงษ์ประดิษฐาราม ๒๐๐,๐๐๐ บาท บริจาคเงินถวายวัดหูแร่ ๑๐,๐๐๐ บาท บริจาคเงินถวายวัดพระเชตุพนฯ ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น ด้านการบริจาคให้โรงพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ๒๐,๐๐๐ บาท โรงพยาบาลหาดใหญ่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โรงพยาบาลประสาทสงขลา ๑๐,๐๐๐ บาท โรงพยาบาลสงขลา ๑๐,๐๐๐ บาท บำรุงกาชาดไทย ๓๐,๐๐๐ บาท ด้านการบริจาคเพื่อการศึกษา ได้แก่โรงเรียนสมานคุณวิทยา ๒๒๐,๐๐๐ บาท โรงเรียนบ้านคลองนกกะทา ๑๕,๐๐๐ บาท โรงเรียนวัดหงษ์ประดิษฐาราม ๑๐,๐๐๐ บาท ก่อตั้งมูลนิธิทุนพระเสน่หามนตรี ๑๐๐,๐๐๐ บาท เหล่านี้เป็นต้น นอกจากการบริจาคดังกล่าวแล้ว ยังมีการบริจาคเพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ทั้งรายใหญ่รายน้อยอีกมากมาย


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พระเสน่หามนตรี (ชื่น)
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

เพจ Hat Yai City/หาดใหญ่ซิตี้  ที่นี้หาดใหญ่. 2562. สืบค้นวันที่ 15 พ.ค. 62, จาก https://www.facebook.com//pg/Thansorn/photos/?tab=                                                                       album&album_id=454303954590169
สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, บรรณาธิการ. 2529. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025