อํามาตย์ตรี พระจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย ตันธนาวัฒน์)
 
Back    07/06/2021, 16:45    2,705  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ


ภาพจาก : บ้านขุนพิทักษ์รายา, [,ม.ป.ป.]

       อํามาตย์ตรี พระจีนคณานุรักษ์ หรือจูล่าย ตันธนวัฒน์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ปีมะแม ปี พ.ศ. ๒๓๙๐ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของหลวงสำเร็จกิจกรจางวางเมืองปัตตานีและเป็นต้นตระกูลคณานุรักษ์ ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งของเมืองปัตตานี อํามาตย์ตรี พระจีนคณานุรักษ์ เป็นผู้มีความวิริยะในการประกอบอาชีพสร้างตนเองและครอบครัว จนประสบความสําเร็จและเป็นหัวหน้าชาวจีนปัตตานี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัย ท่านมีภรรยาบุตรและธิดา ดังต่อไปนี้
         - ภรรยาคนแรกชื่อเบ้งซ่วน แซ่จุง มีบุตรและธิดา คือ

๑. บั่นฮก ตันธนาวัฒน์ (ขุนจําเริญภักดี)
๒. บั่นล็อก ตันธนาวัฒน์ (ขุนพจนสาบาล)
๓. บั่นซิว ตันธนาวัฒน์ (ขุนพิทักษ์รายา)

        - ภรรยาคนที่  ๒ ชื่อนางยาง น้องสาวคุณหญิงระนอง มีบุตรและธิดา คือ

๑. นางกุ้ยฮวด ภรรยาเจ้าคุณพิทักษ์ฯ (นนท์ โกไศยกานนท์)
๒. นางกุ้ยกี ภรรยาเจ้าคุณประวัติวราฤทธิ์ สมุหเทศามณฑลสุราษฎร์ธานี

       - ภรรยาคนที่ ๓ ชื่อนางเนียว มีธิดาคนเดียวคือฉุ้นเลี้ยง
       - ภรรยาคนที่ ๔ ไม่ปรากฏชื่อ
      จากบันทึกที่กล่าวว่า
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสจังหวัดปัตตานี พี่น้องของพระจีนคณานุรักษ์ คือนางเม่งจูและนายจูเม้ง ช่วยกันสร้างปะรําที่ท่าน้ำเมืองปัตตานี ที่เพดานปะรำใช้ผ้าขาวคาดและใช้แพรสีเหลืองและผ้าแดงติดรอบทั้ง ๔ ด้าน ส่วนที่พื้นใช้เสื่อปลาดและมีพรมปูทับอีกชั้น พี่น้องตระกูลตันธนาวัฒน์ดังกล่าวไปรอรับเสด็จที่ท่าน้ำ ดังจดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และ เมืองปัตตาเวีย ได้เสด็จจังหวัดปัตตานี และทรงบันทึกไว้ว่า... “เสด็จขึ้นประพาสตามตลาดจีน ถนนนี้มีปะรำผ้าขาวคาดเหมือนกับถนนที่ไปบ้านพระยาตานี”  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงโปรดฯ อํามาตย์ตรี พระจีนคณานุรักษ์มากทรงพระราชทานเหมืองให้ ๕ แห่ง คือ

๑. เหมืองที่ถ้ำทะลุ
๒. เหมืองมายอบน
๓. เหมืองบูล้วน
๔. เหมืองหวนหน้าซัวบน
๕. เหมืองหวนหน้าซัวล่าง

       เหมืองดังกล่าวอยู่ที่อําเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา การเดินทางไปเหมืองขณะนั้นใช้เรือถ่อล่องไปตามลําน้ำจากปัตตานีขึ้นไปสู่บริเวณต้นน้ำ ผ่านท่าสาบจนกระทั่งถึงบันนังสตา บางครั้งการเดินทางต้องอาศัยช้างบุกป่าฝ่าดงไปยังเหมืองแร่ดังกล่าว ณ ที่เหมืองแร่มีบ้านพักของพระจีนคณารักษ์และกงสีของคนงาน คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวจีน กรรมวิธีขุดแร่สมัยนั้นใช้ไม้กระดานปูเป็นรางที่ริมลําธารเพื่อให้น้ำพัดพาเอาดินผ่านเข้ามา พวกคนงานจะใช้จอบเกลี่ยดินเมื่อได้ดีบุกแล้วก็นําไปหลอม ถ้าดีบุกเป็นสีเหลืองจะมีคุณภาพและราคาดีกว่าดีบุกสีขาว พระจีนคณารักษ์เอาใจใส่ดูแลคนงานเป็นอย่างดี คนงานจึงรักและนับถือท่านทุกคนบางครั้งท่านจะให้คนงานสนุกสนานด้วยการชมหุ่นจีน ซึ่งมหรสพประเภทนี้คนจีนนิยมดูกันมาก แต่ตามปกติพระจีนคณารักษ์ท่านไม่นิยมการบันเทิงมากนัก สุราท่านไม่แตะต้องถ้าจะมีบ้างก็เพียงสูบใบจากเท่านั้น ทุกคืนท่านจะนั่งภาวนาสวดมนต์เป็นประจํา

เกิดนิมิตมงคลที่เหมือง
       
วันหนึ่งเกิดพายุใหญ่ที่เหมืองเมื่อพายุสงบแล้วก็ปรากฏ เป็ดขาวตัวหนึ่งร้องเสียงดังอยู่บนหลังคาบ้านของพระจีนคณารักษ์ จีนแก่ที่เป็นลูกจ้างทํานายว่า “เถ้าแก่จะรวยใหญ่เป็ดขาวนั้นนานครั้งที่จะปรากฏให้เห็นบนหลังคาบ้าน โบราณเขาเชื่อว่าเป็นนกการเวกที่เมืองจีนเคยเห็นมาครั้งเดียวเท่านั้นมา จากนั้นจีนแก่จึงให้คุณพระจุดธูปเทียนกราบไหว้และให้คนเอาลงมาจากนั้นจับเป็ดเชือดคอปรากฏว่าเป็ดมีเลือดสีขาว พระจีนคณารักษ์และบุตรชายคือบั่นฮก (ขุนจําเริญภักดี) และนายบั่นล็อก (ขุนพจน์สาบาล) ดื่มเลือดดังกล่าว ซึ่งถือว่าจะมีโชคลาภและมงคลอันประเสริฐ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ไว้วางพระราชหฤทัยและทรงโปรดปรานพระจีนคณารักษ์เป็นอันมาก ดังหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๓
       
“เวลา ๔ โมงเช้าแต่งตัวเต็มยศ เพราะจะมีงานเป็นการฉลองวัดขึ้นไปชั่วโมงหนึ่งถึงฉนวนหน้าวัดตานีบางน้ำจืด ขึ้นไปเลี้ยงพระบนตึกการเปรียญที่ทําขึ้นใหม่ พระสงฆ์ฉัน ๗ รูป หลวงจีนคณารักษ์จัดสํารับและมีของตักบาตรขึ้นไปจากในเรือด้วย พระสงฆ์ฉันแล้วถวายไตรองค์ละไตร พระยาตานีจัดของไทยทานมาช่วยในการทําบุญ แล้วได้ติดศิลาจารึกเรื่องที่ปรารถสร้างศาลาและเพิ่มชื่อวัดว่าวัดตานีนรสโมสร หลวงจีนคณารักษ์ลงทุนเลี้ยงข้าราชการและทหารทั่วไปให้ได้ตราว.ม. ดวงหนึ่งกับสิ่งของอื่น ๆ ตามสมควร”
       สำหรับวัดวัดบางน้ำจืดซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า "วัดตานีนรสโมสร" นั้นพระจีนคณารักษ์มีส่วนช่วยเหลือในการก่อสร้างศาลาการเปรียญพร้อมกับได้รับเงินพระราชทานเพื่อใช้ในการก่อสร้าง  วัดตานีนรสโมสรแห่งนี้ยังใช้เป็นที่สําหรับเจ้าเมืองและกรมการเมือง ปัตตานีได้มาประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่สําหรับเด็กในเมืองปัตตานีเรียนหนังสืออีกด้วย ในพระราชหัตถเลขาเรื่องเดียวกันนี้ ตอนเสด็จถึงเมืองหนองจิกพระองค์ทรงเล่าถึงผู้มาเฝ้ารวมถึงพระจีนคณารักษ์ ด้วยดังต่อไปนี้
         
“เสด็จลงเรือพระที่นั่งไปประทับที่พลับพลา ซึ่งปลูกไว้ที่ปากน้ำ พระยาหนองจิกและกรรมการมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน พระยาวิชิตภักดี เจ้าเมืองตานีกับพระศรีรัฐพินิจพระพิพิธภักดี พระจีนคณารักษ์ เมืองตานีมาเฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาทด้วย”

คุณงามความดี
       
พระจีนคณารักษ์ได้ประกอบคุณงามความดีไว้กับบ้านเมือง ทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นอเนกประการ อาทิ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สร้างศาลาการเปรียญวัดตานีนรสโมสร ดังกล่าวข้างต้นจนได้รับผลสําเร็จอันเป็นประจักษ์พยานตราบเท่าปัจจุบัน นอกจากนี้ทรงรับสั่งให้เป็นหัวหน้า จัดสร้างโบสถ์ ณ วัดมุจลินทวาปีวิหาร อําเภอหนองจิก จังหวัด ปัตตานีอีกด้วย ตลอดจนถึงยังได้รับใช้ประเทศชาติตามพระราช ประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ในการจัดสร้างวัดต่าง ๆ เป็นผลให้ปรากฏจนทุกวันนี้ อํามาตย์ตรี พระจีนคณานุรักษ์ หรือจูล่าย ตันธนวัฒน์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๙ มกราม พ.ศ. ๒๔๖๒ รวมสิริอยุ ๗๓ ปี


ภาพจาก : ปักษ์ใต้ชายแดน, 2529, 203


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
อํามาตย์ตรี พระจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย ตันธนาวัฒน์)
ที่อยู่
จังหวัด
ปัตตานี


บรรณานุกรม

บ้านขุนพิทักษ์รายา. (2564). สืบค้นวันที่ 7 ม.ิย. 64, จาก https://www.thaibookfair.com/product/riverbooks-
                 หนังสือประวัติศาสตร์-บ้านขุนพิทักษ์รายา/11000819315000106
ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2529). ปักษ์ใต้ชายแดน. ปัตตานี : ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024