พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
 
Back    28/08/2019, 16:49    10,007  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

ชาติภูมิ

       พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๖ ของประเทศไทย เกิดเมื่อ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓ ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ที่มาของชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ สำหรับนามสกุล "ติณสูลานนท์"  นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้บิดา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านเป็นบุตรชายคนรองสุดท้องจากจำนวน ๘ คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) มีพี่น้องทั้งหมด  ๘ คน ประกอบด้วย

       • นายชุบ ติณสูลานนท์ อัยการพิเศษประจำเขต
       • นายเลข ติณสูลานนท์
       • นางขยัน ติณสูลานนท์ สมรสกับ นายประดิษฐ์ โมนยะกุล
       • นายสมนึก ติณสูลานนท์ คหบดี
       • นายสมบุญ ติณสูลานนท์
       • พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์
       • ด.ญ. ปรี ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย)
       • นายวีรณรงค์ ติณสูลานนท์

ที่มาของนามสกุลติณสูลานนท์
       ตระกูลติณสลานนท์ไกลออกไปจากตัวเมืองนตรศรีธรรมราชทางทิศตะวันต กเฉียงเหนือราว ๒๐ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของอำเภอลานสกา ชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ใกล้พืดเขานครศรีธรรมราช ก่อนจะยกฐานะเป็นอำเภอ ชาวเมืองนครในสมัยก่อนเรียกที่นี่ว่า "กิ่งอำเภอเขาแก้ว" และเรียกขานผู้คนแถบถิ่นนี้ ว่า "ชาวเหนือ" กันติดปาก
ลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายล้วนมีดันกำเนิดจากพืดเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านป่าเขาและพื้นราบที่ยังคงรูปรอยไม่แตกต่างจากศตวรรษก่อน ๆ นัก ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้ใช้ลำน้ำ
เหล่านี้เป็นเส้นชีวิต สำหรับเพาะปลูกและอาบกินอยู่ชั่วนาตาปี และที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นเส้นทางที่ง่ายที่สุดสำหรับใช้ติตต่อกับตัวเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยพาหนะที่เรียกกันว่า "เรือเหนือ" แทนยวดยานทางบกซึ่งหาได้ยากยิ่งในเวลานั้นชาวบ้านลานสทายังชีพด้วยการทำสวนผลไม้ และหาของป่ไปด้าขายแลกเปลี่ยน ชีวิตแต่ละวันอยู่ท่ามกลางความสุขสงบ และเมื่อยางพาราแพร่เข้ามาในกาดใต้ ผู้คนส่วนหนึ่งจึงหันมาทำสวนยางพารา นอกเหนือไปจากอาชีพเดิมริมน้ำสายหนึ่งที่เรียกว่า "คลองท่าใหญ่" มีวัดเล็ก ๆ อยู่วัดหนึ่งชื่อวัดปะ และใกลักับวัดนี้ เป็นจุดกำเนิดของตันตระกูลที่ผู้คนทั้งประเทศรู้จัก นั่นก็คือ "ดระกูลคิณสูลานนท์"

        คําว่า “ติณสูลานนท์” นี้เป็นนามสกุลของหลวงวินิจทัณฑกรรม มีนามเดิมว่า “บึง” ผู้เป็นบุตรคนโตในจํานวนพี่น้องรวม ๔ คนของนายสุกและนางขลิบ ราษฎร ชาวสวนแห่งบ้านท่าใหญ่ ตําบลท่าดี อําเภอลานสกา ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นตําบลในเขตอําเภอเมือง นครศรีธรรมราช นายบึงเกิดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๒๔ นามสกุล “ติณสูลานนท์” ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่มีวัตถุประสงค์ให้ปวงชนชาวไทยได้มีนามสกุล เพื่อเป็นหลักของการสืบเชื้อสาย เป็นธงชัยแห่งครอบครัว และให้ผู้สืบสกุลได้ตั้งมั่นในคุณงามความดี โดย การรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของบรรพบุรุษผู้เป็นต้นตระกูล ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงสืบไป 


ตราตั้งนามสกุล


               ติณสูลานนท์ มีความหมาย ๒ ประการ คือ ความหมายที่ ๑ ติณ แปลว่า หญ้า สูลา แปลว่า คม ยอด นนท์ แปลว่า ความพอใจ ความยินดี เพราะฉะนั้นติณสูลานนท์ จึงแปลว่า ความพอใจหรือความยินดีในหญ้าที่มีคม ความหมายที่ ๒ พระมหาเวท ทยุยสุวณโณ วัดชนะสงคราม ได้อธิบายว่า ติณสูล แปลว่า ของมีคม เช่น หลาว หอก ดาบ นนท์ แปลว่า ความเบิกบาน ความยินดี ติณสูลานนท์ จึงแปลว่า ความเบิกบานหรือความยินดีในของมีคม อันเป็นเครื่องมือสําหรับพะทํามะรง (พัสดี) ในการป้องกันปราบปรามมิให้นักโทษก่อความวุ่นวาย เมื่อพิจารณาโดยสรุปความ "ติณสูลานนท์” อาจจะหมายถึง ความยินดีในการปฏิบัติหน้าที่พะทํามะรง (พัสดี) ที่มีเครื่องหมายเป็นของมีคม เช่น หลาว หอก ดาบ ที่รองอํามาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึง ติณสูลานนท์) ได้รับตําแหน่งในขณะที่ได้รับพระราชทานนามสกุล

 


ลวงวินิจทัณฑกรรม (บึง ติณสูลานนท์) ขณะที่มีอายุ ๒๙ ปีรับราชการในตําแหน่งแห่งเมืองนครศรีธรรมราช (บิดาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์)
ภาพจาก : พลเอกเปรม ติณสูลานน์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, ม.ป.ป.

 

นางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) (มารดา)
ภาพจาก : พลเอกเปรม ติณสูลานน์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, ม.ป.ป.


บ้านหลังแรก ของหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึง ติณสูลานนท์) ซึ่งเป็นบ้านที่ท่าน ได้ออกแบบก่อสร้างด้วยตัวเอง ซึ่งอยู่เยื้องกับกําแพงเมืองสงขลา
ภาพจาก : พลเอกเปรม ติณสูลานน์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, ม.ป.ป.


 ๗ พี่น้อง “ติณสูลานนท์” ณ บ้านพักในเรือนจําจังหวัดสงขลาประกอบด้วยซุบ เลข ขยัน สมนึก สมบุญ เปรม (ลูกศรชี้) และวีระณรงค์ หรือเพิ่มพูน พี่เลี้ยงกําลังอุ้ม)
ภาพจาก : พลเอกเปรม ติณสูลานน์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, ม.ป.ป.

 การศึกษา

       พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ได้หมายเลขประจำตัว ๑๖๗ ต่อมาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ท่านได้หมายเลขประจำตัว ส.ก. ๗๕๘๗ จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ ๕ สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) โดยเข้ารับการศึกษาเป็นรุ่นที่ ๕ และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยใช้เวลาศึกษาเพียง ๓ ปี ซึ่งไม่ครบตามหลักสูตร (หลักสูตร ๕ ปี) อันเนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสขึ้น จึงจำเป็นต้องให้นักเรียนนายร้อยออกรับราชการก่อนกำหนด 

      
นายหมู่ลูกเสือตรีเปรม ติณสูลานนท์ กับเพื่อนลูกเสือโรงเรียน มหาวชิราวุธ” สงขลา

ภาพจาก : พลเอกเปรม ติณสูลานน์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, ม.ป.ป.
 

ภาพจาก : http://www.finearts.go.th/premarchives/ความรู้ทั่วไป/item/ประวัติ-พลเอก-เปรม-ติณสูลานนท์.html

การทำงาน

      พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เริ่มทำงานหลังจากจบการศึกษาตามลำดับดังนี้

- พ.ศ. ๒๔๘๔ รับราชการเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกรมรถรบ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สมรภูมิรบปอยเปต ประเทศเขมร ในกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส และได้รับแต่งตั้งให้เป็นว่าที่ร้อยตรี (รับกระบี่ในสนามรบ) เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๘๔
 - พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘ เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับคำสั่งให้ไปประจำการเป็นกองหนุนของกองทัพพายัพ จังหวัดลำปาง  ต่อมากองทัพเคลื่อนย้ายไปอยู่เชียงราย และได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นอยู่กับกองพล. ๓ ที่เชียงตุง จนได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก และเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี 
- พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๒ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กองพันที่ ๑ กรมรถรบ ได้เข้าศึกษาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนนายทหารม้า เมื่อจบการศึกษาได้กลับมารับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยเดิม และรักษาราชการผู้บังคับกองพันที่ ๑ กรมรถรบ
- พ.ศ. ๒๔๙๒  ได้รับพระราชทานยศ "พันตรี" 
- พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๓ กองพันทหารม้าที่ ๔ จังหวัดอุตรดิตถ์  รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๔ และรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์อีกตำแหน่งหนึ่ง
- พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับทุนจากกองทัพบกโดยการสอบแข่งขันได้ไปศึกษาต่อที่ The United States Army Armor School รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๗ กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลน้อยทหารม้า (กรุงเทพฯ) 
- พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานยศ "พันโท" 
- พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๘ เป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๕ กรมทหารม้าที่ ๒ และเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ
- พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานยศ "พันเอก" 
- พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า
- พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า และเป็นรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบก สระบุรี
- พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๐ เข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ ๙ (ยศพันเอก) เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี
- พ.ศ ๒๕๑๑ ได้รับพระราชทานยศ "พลตรี" และให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า" และ "ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี"
- พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นองครักษ์เวร เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์
- พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒ จังหวัดสกลนคร
- พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานยศ "พลโท" และดำรงตำแหน่ง "แม่ทัพภาคที่ ๒
- พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นราชองครักษ์พิเศษ
- พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานยศ "พลเอก" และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร
- พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นผู้บัญชาการทหารบก จนเกษียณอายุราชการ
- พ.ศ. 2523  และคณะรัฐมนตรีได้มีมติต่ออายุราชการอีก ๑ ปี- พ.ศ. ๒๕๒๔ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้อำลาการรับราชการทหาร       

 


ภาพจาก : พลเอกเปรม ติณสูลานน์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ, ม.ป.ป.

       พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นอกจากยศ พลเอก แล้วท่านยังถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศพลเรือเอก ของกองทัพเรือ และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ในระหว่างที่ พลเอกเปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ (แต่โดยมากจะนิยมใช้พลเอกมากกว่า)

ตำแหน่งทางการเมือง

     ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๖ ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร พลเอกเปรมเข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย ๒ ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ล้มรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ ๒๐ ตุลคม พ.ศ.๒๕๒๐ ล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พลเอกเปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเลือกพลเอกเปรม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๖ ของไทย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจาก พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๓ ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภายในประเทศอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งนโยบายที่ ๖๖/๒๕๒๓ เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด

       ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ ๑๖ 

- สมัยที่ ๑ คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๒ :  ระหว่าง ๓ มีนาคม ๒๕๒๓-๒๙ เมษายน ๒๕๒๖ และสิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๖ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๒๑ และมีการเลือกตั้งในวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖
- สมัยที่ ๒ คณะรัฐมนตรีคณะที่ ๔๓ : ระหว่าง ๓๐ เมษายน ๒๕๒๖-๔ สิงหาคม ๒๕๒๙ และสิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภาในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก และมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
- สมัยที่ ๓ คณะรัฐมนตรีคณะที่ ๔๔ : ระหว่าง ๕ สิงหาคม ๒๕๒๙-๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ และสิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๑ เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ เกิดกลุ่ม ๑๐ มกรา ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศภายในพรรค กลุ่ม ๑๐ มกรา นี้ลงมติไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบโดยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกเปรมจึงประกาศยุบสภา และมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
 
   ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาว่า "เตมีย์ใบ้" จากบุคลิกความเป็นผู้ใหญ่ที่พูดน้อย ท่านได้รับการยกย่องในการผลักดันนโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ซึ่งนำไปสู่การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ เพื่อกำหนดนโยบายในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้แปรพักตร์ ทำให้นักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่าภายหลังเหตุการณ์ ๖ ต.ค. ๒๕๑๙  กลับออกจากป่า ในช่วงปลายรัฐบาลของท่าน ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ ๔ จากกลุ่มนักวิชาการภายหลังการเลือกตั้ง ในคืนวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เข้าพบพลเอกเปรมที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ ๔ แต่ท่านได้ปฏิเสธ ต่อมาในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๗ ของประเทศไทย
     หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรมเป็นองคมนตรี ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ จากนั้นในวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

อสัญกรรม

       พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๐๙:๐๙ น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า สิริอายุ  99 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานโกษกุดั่นน้อย ฉัตรเครื่องตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกษิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเชิญพวงมาลาหลวงวางที่หน้าโกศศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศล ๑๕ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน ตามลำดับ และให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก เป็นเวลา ๒๑ วัน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ถึงวันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ เว้นวันจันทร์ที่ ๓ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี


ผลงานสำคัญ

      

       หลังจากจบการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘ ที่เชียงตุง ภายหลังจากสงคราม ท่านย้ายมารับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี พร้อมกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกวิจิตร สุขมาก แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี พลเอกเปรมได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ในช่วงระยะเวลา ๕ ปี ที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ ท่านจะเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าท่านว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า "ลูก" ที่จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือป๋าเปรม และคนสนิทของท่านมักจะถูกเรียกว่าลูกป๋า และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒ ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคทึ่ ๒ ในเวลาต่อมา ในปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก  ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า รับยศพลเรือเอก ของกองทัพเรือ และพลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ (แต่โดยมากจะนิยมใช้พลเอกมากกว่า)

“ป๋า คือ นักการทหารที่เยี่ยมยุทธ
ป๋า คือ สุภาพบุรุษนักการเมืองน่าเลื่อมใส
ป๋า คือ นักพัฒนาคู่ฟ้าไทย
ป๋า คือ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน

     

    ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีภาพลักษณ์ที่เปี่ยมไปดด้วยความดีมีคุณธรรม ท่านเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ในรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก่อนได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523ตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศไทย ได้มีผลงานสำคัญมากมาย อาทิ

- การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม
- การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ
- การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ยุติความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของคนไทย เปลี่ยนผู้หลงผิดให้มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และทำให้นักศึกษาที่เข้าป่าหลายคนเพื่อเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ได้ออกมาจากป่า
- ประเทศไทยมีการพบก๊าซธรรมชาติในยุคของ พล.อ.เปรม เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเจริญต่อเนื่องหลายปี
- การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลได้มุ่งเน้นการผลิตและส่งออกของประเทศกับประเทศสังคมนิยมตะวันออก  มีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น
- ได้เข้าร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติ ณ สหรัฐอเมริกา  และได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม จนทำให้มุมมองทางด้านการลงทุนของนักลงทุนจากต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยดีขึ้น
-  ลดค่าเงินบาท ๓ ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตรของไทย การขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง มีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์ มาเป็นระบบตะกร้าเงินเพื่อสร้างความยืดหยุ่น
- สร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดและแหลมฉบัง พัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก

 


ภาพจากเรารัก "ป๋า" พลเอกเปรม ติณสูลานนท์


ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ที่อยู่
จังหวัด
สงขลา


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ชัยรัตน์ เสถียร, บรรณาธิการ. (2543). 80 ปี ป๋ากับการพัฒนาสงขลาบ้านเกิด. สงขลา : มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์.
นนทพันธ์ ภักดีผดุงแดน. (2535). ชีวิตและความภาคภูมิใจของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
ประวัติพลเอก เปรม ติณสูลานนท์. (2531).  ค้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 62. จาก www.finearts.go.th/premarchives/ความรู้ทั่วไป/item/ประวัติ-พลเอก-เปรม-ติณสูลานนท์.html
ประวัติพลเอก เปรม ติณสูลานนท์. (2559). ค้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 62. จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-38456402
ย้อนผลงาน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี 3 สมัย ผู้นำพาไทยเจริญรุ่งเรือง. (2562). ค้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 62. จาก hilight.kapook.com/view/188478


ข้อมูลเพิ่มเติม


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024