พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง)
 
Back    02/03/2021, 15:32    199  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

        
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง)

              พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) นับเป็นต้นตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ของคนจีนในจังหวัดภาคใต้ คือตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดระนองนั้นมีอยู่จำนวนมาก ตระกูล ณ ระนอง นั้นได้สืบเชื้อสายลูกหลานเหลนมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสมัยที่ประเทศสยามเพิ่งพ้นจากการทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน และกำลังฟื้นพัฒนาการทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่ โดยได้กำลังจากคนจีนในตระกูลแซ่โค้วซึ่งเป็นต้นตระกูล ณ ระนอง ได้เข้ามาช่วยพัฒนาเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับทรัพยากรประเภทสินแร่ซึ่งมีอุดมสมบูรณ์มากในจังหวัดภาคใต้ คือภูเก็ต พังงา กระบี่ และระนอง คนจีนในสกุล ณ ระนองเป็นตระกูลที่ริเริ่มการหาแร่ในประเทศไทย เฉพาะอย่างยิ่งแร่ดีบุกโดยขุดขึ้นมาและนำไปใช้ประโยชน์ในการอุตสาหกรรม และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดและส่งแร่ดีบุกส่วนหนึ่งให้กับรัฐบาลสยามด้วย คนจีนตระกูล ณ ระนอง จึงเป็นคนจีนที่บุกเบิกการอุตสาหกรรมแร่ดีบุก โดยใช้วิธีทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นตระกูลแรกในเมืองไทยนอกจากการอุตสาหกรรมแร่ดีบุกแล้ว คนจีนในตระกูล ณ ระนอง ที่สืบเชื้อสายกันต่อมายังได้นำเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งเข้ามาปลูกในพื้นดินทางจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยคือยางพารา ซึ่งถือกันว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ผลิตผลที่มีคุณค่าในการอุตสาหกรรมและเป็นทรัพยากรอันมีค่ายิ่งของประเทศไทยรองมาจากข้าว 
               
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ชื่อเดิมชื่อซู้เจียง แซ่คอ และได้เรียกกันต่อมาว่าคอซู้เจียง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ในตำแหน่งจางวางเมืองระนองซึ่งเทียบเท่าเจ้าเมืองไทยสมัยนั้น คอซู้เจียงท่านเป็นจีนฮกเกี้ยน เกิดในบ้านจิวหู เขตแขวงเมืองเจียงซิวฮู ในประเทศจีน ได้เดินทางจากประเทศจีนเข้ามาประเทศไทย ซึ่งท่านไม่ได้เดินทางตรงเข้ามาในกรุงเทพมหานครเหมือนคนจีนในแซ่อื่นตระกูลอื่น ๆ เพราะท่านไม่ได้เป็นพ่อค้า โดยท่านได้ศึกษาภูมิประเทศและประวัติศาสตร์ของไทยมาก่อนแล้วเป็นอย่างดี จึงได้รู้ว่าทางภาคใต้ของประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่ ป่าไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตในทางการค้าและการอุตสาหกรรมอยู่เป็นอันมาก และมีมากกว่าภาคใด ๆ ในประเทศไทย ประกอบดับดินฟ้าอากาศในจังหวัดแถบภาคใต้ ก็อบอุ่นเหมือนอากาศในประเทศจีน คอซู้เจียงท่านอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศสยามขณะนั้นมีอายุครบ ๒๕ ปี ซึ่งกำลังเป็นหนุ่มใหญ่ฉกรรจ์และโสด แต่ต่อมาได้แต่งงานกับสาวไทยในจังหวัดพังงา จนมีบุตรด้วยกันหลายคน โดยมีบุตรชาย ๕ คน ได้สืบสกุลต่อมาและได้รับราชการมีตำแหน่งสูงในระดับผู้ว่าราชการจังหวัด สมุหเทศาภิบาล หลวง และพระยา ซึ่งทุกคนรับราชการในจังหวัดภาคใต้ มีคนหนึ่งได้เป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)  จากประวัติของท่านนั้นสนใจในเรื่องดีบุก ครั้นเมื่อเหยียบย่างมาถึงจังหวัดภูเก็ต ท่านเห็นว่าที่ภูเก็ตนั้นแม้จะเป็นตลาดใหญ่โตของแร่ดีบุกก็จริงแต่สภาพของจังหวัดนั้นเป็นเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งซึ่งมีคนไทยและคนต่างชาติแย่งกันทำมาหากินมากมาย ตนเองยังมีทุนและกำลังน้อยเห็นจะสู้คนที่อยู่ก่อนไม่ไหว ท่านจึงต้องหาที่พึ่งและผู้อุปการะซึ่งผู้ที่จะพึ่งได้ต้องเป็นผู้มีอิทธิพลและมีทรัพย์สมควร โดยเห็นว่าบรรดาผู้มีอิทธิพลในทางราชการในจังหวัดภูเก็ตก็คือเจ้าเมืองนั้นเอง ต่อมาท่านได้ทำการค้าในเมืองและออกสำรวจไปตามเมืองต่าง ๆ ใกล้เคียง ได้เห็นว่าเมืองพังงาเป็นทำเลดีกว่าเมืองตะกั่วป่า เพราะเป็นเมืองที่มีสินค้าต่าง ๆ มากเฉพาะอย่างยิ่งแร่ดีบุก และทั้งเป็นเมืองที่ติดทะเลไปมาหาสู่เมืองภูเก็ตและเกาะอื่น ๆ ได้สะดวก ท่านจึงอพยพมาอยู่ที่เมืองพังงาโดยทำการค้าขายในช่วงแรก ต่อมากิจการก็เจริญรุ่งเรืองพอจะมีเงินในการสร้างบ้าน จึงได้สร้างบ้านขึ้นที่ตลาดเมืองพังงาและทำการค้าโดยขยายกิจการ ซื้อเรือกำปั่นสำหรับบรรทุกสินค้าไปขายยังต่างเมืองที่ใกล้เคียงและเกาะหมาก จนมีฐานะร่ำรวยขั้นเศรษฐี เพราะความที่เป็นเถ้าแก่ใหญ่และเป็นพ่อค้าที่ไม่ค้าเฉพาะภายในประเทศไทย แต่เป็นพ่อค้าส่งออกคนเเรกในเมืองพังงา และนี่เองเป็นเหตุให้ท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ณ ระนอง 
                พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) มีบุตรทั้งหมด ๑๑ คน เป็นหญิง ๕ คน และเป็นชาย ๖ คน ประกอบด้วย

. หลวงศรีโลหะภูมิพิทักษ์ (คอซิมเจ่ง ณ ระนอง) บุตรชายคนแรกได้รับพระราชทานนามสัญญาบัตรในรัชกาลที่  ๔ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
๒. พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรในรัชกาลที่ ๔ เป็นหลวงศรีโลหะภูมิพิทักษ์แล้วจึงเลื่อนเป็นพระยารัตนเศรษฐี รับราชการผู้ว่าราชการเมืองระนองแทนบิดา
๓. หลวงศรีสมบัติ (คอซิมจั๊ว ณ ระนอง) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
๔. พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมขิม ณ ระนอง) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรในรัชกาลที่ ๕ เป็นหลวงแล้วเลื่อนเป็นพระ รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
๕. พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต๊ก ณ ระนอง) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรในรัชกาลที่ ๕ เป็นพระแล้วเลื่อนเป็นพระยา รับราชการตำแหน่งจางวางกำกับราชการเมืองหลังสวน
๖. พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภัดดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่หลวงบริรักษ์โลหวิสัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง แล้วเลื่อนเป็นที่พระอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองจัตวาคือกระบุรี ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้ว่าราชการเมืองตรัง แล้วเลื่อนขึ้นเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต

           นับได้ว่าพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เป็นบุคลากรตัวอย่างคนหนึ่งเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนเกิดที่เมืองเจียงจิวหู ประเทศจีน เริ่มต้นจากอาชีพกรรมกรรับจ้างมาก่อนเป็นเจ้าภาษีนายอากรและเจ้าเมืองระนองคนแรก ที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาเมืองระนองให้เจริญก้าวหน้า กลายเป็นเมืองชั้นเอกของประเทศจากการ ที่สามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากการทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกได้เป็นอันดับหนึ่งแต่ละปีสามารถส่งเงินให้ภาครัฐได้เป็นจำนวนหลาย ล้านบาท และยังมีบุตรหลานเป็นใหญ่เป็นโตในภูมิภาคนี้อีกหลายคน ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากบุคลิกส่วนตัว จังหวะของเวลา ผลงานที่รับผิดชอบ เป็นต้น คุณสมบัติเฉพาะตัวที่พิเศษไปจากคนทั่วไปคือเป็นคนฉลาด รอบรู้ มองการณ์ไกล มัธยัสถ์ ถี่ถ้วน อดทน และข้อสำคัญ คือรู้จักจัดการ รู้จักแก้ปัญหา สามารถปกครองเมืองระนองได้อย่างเรียบร้อยและเป็นรากฐานมั่นคง พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำคุณประโยชน์ให้กับชาวจังหวัดระนองและประเทศชาติเป็นอย่างมากเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับข้าราชการและประชาชน และได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๒๕ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) จังหวัดระนอง จึงได้กำหนดให้วันที่ ๒๕ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) 
              
จวนของเจ้าเมืองระนอง      
              จวนของเจ้าเมืองระนองเป็นจวนของเจ้าเมืองระนองคนแรก เป็นแหล่งโบราณสถานแห่งหนึ่งที่สำคัญของระนอง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือเส้นถนนเรืองราษฏร์ ตัดเข้าถนนกิจผดุง ใกล้กับตลาดเช้าหรือชาวบ้านเรียกว่าตลาดสะพานยูง เป็นจวนสมัยเก่าทำจากดินทำให้ไม่ทนทานต่อลมฝน ล้อมรอบด้วยกำแพงหนาใหญ่เจาะเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ มองจากภายในสามารถเห็นภายนอกได้เดิมชาวระนองรู้จัก "บ้านค่ายเจ้าเมืองระนอง" หรือจวนเจ้าเมืองระนอง สร้างในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง) 
               
สุสานเจ้าเมืองระนอง 
       สุสานเจ้าเมืองระนอง สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นสุสานของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) อดีตเจ้าเมืองระนองโดยบริเวณ สุสานเป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้แก่ตระกูล ณ ระนอง ที่คอซู้เจียงเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง  ชาวบ้านเรียกท่านว่า เจ้าคุณเฒ่า ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่น เป็นตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้ง ๆ ที่อพยพมาจากประเทศจีนเข้ามาเป็นกรรมกรรับจ้าง จนได้ตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง ก็เพราะเป็นคนที่มีความกตัญญูกตเวที ซื่อตรง อดทน มัธยัสถ์ รอบรู้ และมอง การณ์ไกล รู้จักการจัดการและการแก้ปัญหาทำประโยชน์ให้แผ่นดินอย่างมาก เป็นแบบฉบับสำหรับข้าราชการทั้งหลาย อีกทั้งยังมีลูกหลานอยู่ในโอวาทของบิดามารดาจนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจนได้เป็นใหญ่ในภาคใต้อีกหลายคน จึงเป็นบุคคลที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง สุสานเจ้าเมืองระนองจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดระนองต้องมาเยือน ระหว่างทางจากทางเข้าถึงสุสาน จะประดับด้วยบริวารตามหลักฮวงจุ้ยศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย รูปปั้นขุนนางฝ่ายบู้ หมายถึงนักรบ ทหาร ความมั่นคงเข็มแข็งของตระกูลและเมือง รูปปั้นขุนนางฝ่านบุ๋น หมายถึงบัณฑิต นักปราชญ์ สติปัญญา รูปปั้นแพะ หมายถึงโภคทรัพย์ ความโอบอ้อมอารี รูปปั้นเสือ หมายถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ รูปปั้นม้า หมายถึงความรวดเร็ว ปราดเปรียว การค้าขายที่คล่องแคล่ว เสาศิลา ๒ ต้น หมายถึงสรรเสริญความงดงามของเมืองระนอง ความเป็นเมืองสงบ ความร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นเมืองของอัจฉริยบุคคล


ผลงานสำคัญ

              พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีผลงานสำคัญดังนี้

๑. เป็นผู้นำท้องถิ่นที่เป็นนักพัฒนามุ่งส่งเสริมให้ราษฎรมีงานทำไม่เบียดเบียนราษฎร ในขณะที่เป็นเจ้าเมืองระนองได้สร้างถนนจากชุมพรไปยังเมืองกระบุรี โดยวิธีการจ้างไม่เกณฑ์แรงงานเพราะจะทำให้ราษฎรเดือดร้อน
๒. สร้างเรือนตะเกียงที่ปากน้ำเมืองระนอง
๓. เป็นผู้บุกเบิกในการทำงบประมาณใช้จ่ายประจำปีของเมืองระนอง
๔. ขณะที่ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรได้จัดการด้านการปกครองการสร้างความสงบเรียบร้อย การโยธาและการก่อสร้างสถานที่ราชการ การศึกษา และศาสนา การภาษีอากร การศาล และส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรโดยที่ท่านต้องดำเนินการเองทั้งหมด

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง)
ที่อยู่
จังหวัด
ระนอง


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้. ( ม.ป.ป.). สถานที่ท่องเที่ยว ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง.
             สืบค้นวันที่ 2. มี.ค. 64, จาก http://www.me-fi.com/tourismdb/tourism-5sbp/data_list.php?cateLv=1&cateID=21&subid=431

ประวัติเจ้าเมืองระนอง พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง). (2555). สืบค้นวันที่ 2 มี.ค. 64,
           จาก https://www.sator4u.com/paper/140 
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง. (2560). เจ้าเมืองระนอง.
สืบค้นวันที่ 2 มี.ค. 64, จาก https://www.m-culture.go.th/ranong/
             ewt_news.php?nid=498&filename=index


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2024