สมเด็จพระราชมุนี (สมเด็จเจ้าพะโคะ)
 
Back    03/07/2023, 13:21    6,142  

หมวดหมู่

บุคคลสำคัญ


ประวัติ

            สมเด็จพระราชมุนี (สมเด็จเจ้าพะโคะ) หรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง พ. ศ. ๒๑๒๕ (ปลายสมัยพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา) ณ บ้านเลียบ หมู่ที่ ๑ ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ณ บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีชื่อว่าปู (เพราะคลานว่องไวเหมือนปู) บิดามีนามว่าหู มารดามีนามว่าจันทร์ มีฐานะยากจนปลูกบ้านอาศัยที่ดินเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ “ปาน” นายหูและนางจันทร์เป็นข้าทาสของเศรษฐีปาน แห่งเมืองสทิงพระ ระยะแรกที่หลวงพ่อทวดเกิดเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนา ในระหว่างที่พ่อแม่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่ได้ผูกเปลให้ลูกน้อยนอนทำงานไปก็คอยเหลียวดูลูกน้อยเป็นระยะ แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นคือนางจันทร์ได้เห็นงูตัวใหญ่มาพันที่เปลลูกน้อยแล้วชูคอแผ่แม่เบี้ย นายหู-นางจันทร์ได้พนมมือบอกเจ้าที่เจ้าทาง อย่าให้ลูกน้อยได้รับอันตรายใด ๆ เลย ด้วยอำนาจบารมีของเด็กน้อย งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกปากวางไว้ในเปล แล้วเลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้วบิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปู่ยังคงนอนหลับปุ๋ยสบายดีอยู่เป็นปกติแถมมีลูกแก้วกลมใสขนาดย่อมกว่าลูกหมากเล็กน้อยส่องเป็นประกายอยู่ข้างตัวเด็ก นายหู นางจันทร์ มีความเชื่อว่าเทวดาแปลงกายเป็นงูใหญ่นำดวงแก้ววิเศษมามอบให้กับลูกของตน เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องจึงไปพบนายหู นางจันทร์ แล้วเอ่ยปากขอดวงแก้วนั้น ซึ่งนายหูนางจันทร์ ก็มิอาจจะปฏิเสธได้เศรษฐีปานจึงได้ลูกแก้วไปครอบครอง แต่ไม่นานนักเกิดเหตุวิบัติต่าง ๆ กับครอบครัวของเศรษฐีบ่อย ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้แต่ก็นึกได้ว่าอาจจะเกิดจากดวงแก้วนี้ จึงนำไปคืนให้นายหู นางจันทร์ เจ้าของเดิม ส่วนนายหู นางจันทร์เมื่อได้ดวงแก้วกลับคืนมาจึงเก็บรักษาไว้อย่างดี นับแต่นั้นมาฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ดีขึ้นเป็นเรื่อยๆ ครั้นพอเด็กชายปูอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ (พ.ศ. ๒๑๓๒) บิดามารดาได้นำไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดพ่อท่านจวง (มีศักดิ์เป็นหลวงลุง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือที่วัดกุฏิหลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวงซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ท่านสมภารจวงได้บวชให้เป็นสามเณร ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่าน ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา ท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นที่เรียกว่ามูลบทบรรพกิจ (ปัจจุบันก็คือเรียนนักธรรมตรีโท-เอก) โดยนำไปฝากไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา และเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยัง หรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากนั้นหลวงปู่ทวดได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น โดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสีเป็นเจ้าอาวาส และเมื่อท่านมีอายุครบกาลอุปสมบทคืออายุครบ ๒๐ ปี พระครูกาเดิม วัดเสมาเมือง (นครศรีธรรมราช) ได้อุปสมบทให้ตามเจตนารมณ์ของท่าน เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายาว่า “สามีราโม” ในการอุปสมบทของหลวงพ่อทวดนั้น พระครูกาเดิมได้เอาเรือ ๔ ลำ มาเทียบขนานเข้าเป็นแพ ทำญัตติ ณ คลองเงียบแห่งหนึ่ง ต่อมาก็เรียกคลองนี้ว่า “คลองท่าแพ” มาจนทุกวันนี้  ต่อจากนั้นหลวงพ่อทวดหรือพระสามีรามได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดเสมาเมือง และวัดท่าแพ เมื่อเห็นเพียงพอแก่การศึกษาที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว จึงตั้งใจที่จะไปศึกษาต่อในชั้นที่สูงขึ้นที่เมืองหลวงหรือกรุงศรีอยุธยา พอดีทราบว่ามีเรือสำเภาของนายสำเภาอินทร์ พ่อค้าขายข้าวเมืองสทิงพระจะไปขายข้าวยังกรุงศรีอยุธยาและมาแวะที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีของชาวเรือเดินทางไกล ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางในทะเล ท่านก็ได้ขอโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์เพื่อไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อศึกษาเล่าเรียน นายอินทร์เจ้าของเรือได้ก็นิมนต์ท่านลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เมื่อเรือสำเภากางใบออกสู่ทะเลหลวงตลอดมาเป็นระยะทาง ๓ วัน ๓ คืน วันหนึ่งท้องทะเลเกิดวิปริตโดยเกิดพายุฝนตกหนักฝนตก มืดฟ้ามัวดินคลื่นคะนองเป็นบ้าคลั่ง เรือจะแล่นต่อไปไม่ได้จึงลดใบทอดสมอสู่คลื่นลมอยู่ ๓ วัน ๓ คืน จนพายุร้ายสงบเงียบลงเป็นปกติ แต่เหตุการณ์บนเรือสำเภาเกิดความเดือดร้อนมากเพราะนํ้าจืดที่ลำเลียงมาหมดลงคนเรือไม่มีนํ้าจืดดื่มและหุงต้มอาหาร นายอินทร์ผู้เป็นเจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้น กล่าวหาว่าเป็นเพราะพระสามีรามอาศัยมาจึงทำให้เกิดเหตุร้ายซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาแต่ก่อนเลย นายเรือคนนั้นจึงได้ไล่พระสามีรามลงเรือเล็กโดยให้ลูกเรือนำท่านไปขึ้นฝั่ง ขณะที่หลวงพ่อทวดหรือพระสามีรามลงนั่งอยู่ในเรือเล็ก ท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบนํ้าทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือคนนั้นตักนํ้าขึ้นดื่มกินดู ปรากฏว่านํ้าทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นนํ้าที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงบอกขึ้นไปบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบ พวกกลาสีบนเรือใหญ่จึงชวนกันตัก นํ้าทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหายพากันอัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มองค์นี้ยิ่งนัก ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือจึงได้ดื่มนํ้านั้นพิสูจน์ดู ปรากฏว่านํ้าทะเลที่จืดนั้นมีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียน นอกนั้นเป็นนํ้าเค็มตามธรรมชาติของนํ้าทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักนํ้าในบริเวณนั้น ขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม นายอินทร์ และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านเป็นที่อัศจรรย์เช่นนั้น ก็เกิดความหวาดวิตกภัยพิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่าน จึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่แล้วพากันกราบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำหยาบต่อท่านสามีราม แล้วก็ถอนสมอกางใบแล่นเรือต่อไปเป็นเวลาหลายวันหลายคืนโดยเรียบร้อย หลังจากนั้นเรือสำเภาก็แล่นเร็วเกินความคาดหมายมุ่งตรงสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อเรือสำเภามาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วนายสำเภา ก็ได้นิมนต์เจ้าสามีรามไปพำนักอยู่ที่วัดราชานุวาส หรือวัดแค สมภารวัดแคได้ให้ความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี นายสำเภาอินทร์ได้ปฏิบัติตนเป็นโยมอุปัฏฐาก อีกทั้งนั้นได้มอบหมายทาสคนหนึ่งชื่อว่านายจันได้คอยปรนนิบัติรับใช้อีกด้วย ต่อมาเจ้าสามีรามได้ไปศึกษาธรรมะที่วัดลุมพลีนาวาสเพื่อเรียนพระอภิธรรม จนเล่าเรียนแตกฉานในพระอภิธรรม เมื่อนายสำเภาอินกลับมาหนหลังได้นิมนต์เจ้าสามีรามไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราชและได้ศึกษาธรรมะและภาษาบาลี ณ สำนักนั้นจนมีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญ จึงขอลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชานุวาสหรือวัดแค ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองเขตพระราชวังและสงบดี เพื่อศึกษาทางวิปัสสนาตามเดิม ประมาณปี พ.ศ. ๒๑๔๙ พระเจ้าอัฐคามินีกษัตริย์ประเทศลังกา ได้ส่งพราหมณ์ราชทูต ๗ คน พร้อมทั้งเครื่องบรรณาการ ๗ สำเภาใหญ่มาท้าพนันตอบปริศนาธรรมแปลและเรียบเรียงอักขระภาษาบาลี โดยนำเอาพระอภิธรรมทั้ง  ๗  คัมภีร์ มาจารึกลงในแผ่นทองคำ ขนาดเท่าใบมะขาม อักขระแต่ละคำแยกเป็นแผ่น ๆ ๘๔,๐๐๐ แผ่น ได้ ๗ แม่ขันทองแล้วให้แปลให้ถูกต้อง ภายใน  ๗ วัน หากกรุงศรีอยุธยาสามารถแปลได้ก็จะถวายเครื่องบรรณาการทั้ง ๗ สำเภา หากแพ้ทำไม่ได้แพ้พนันก็จะถูกริบเมืองและจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้เมืองลังกาสมเด็จพระเอกทศรถ ทรงมีขัตติยมานะเพราะทรงเชื่อแน่ว่ากรุงศรีอยุธยาย่อมไม่สิ้นคนดี จึงยอมรับคำท้าพนันกับกษัตริย์กรุงลังกาจึงให้มีพระบรมราชโองการให้ป่าวร้องแก่ภิกษุทั้งหลาย มีหนังสือบอกไปยังวัดวาอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครหลวงและต่างเมือง เพื่อให้จัดหาภิกษุที่เป็นนักปราชญ์มากอบกู้บ้านเมือง ครั้งนั้นมีภิกษุสงฆ์แสดงความจำนงเข้ามาแปลคัมภีร์เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อถึงเวลาแปลจริง ๆ ก็ยังไม่มีภิกษุรูปใดทำการแปลอักษรได้สำเร็จ จนเวลาล่วงเลยไปถึง  ๖  วัน ยังเหลือเวลาอีก  ๑ วัน ก็จะครบตามสัญญาซึ่งเป็นวันชี้ชะตากรรมของประเทศสยามว่าจะต้องอยู่ในสภาพเช่นไร ในราตรีนั้นเองสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงสุบินนิมิตว่ามีพญาช้างเผือกเชือกหนึ่งวิ่งมาจากทิศใต้ เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ส่งเสียงร้องกึกก้องทั่วไปทั้ง ๑๐ ทิศ พระองค์ตกพระทัยเป็นอันมาก ทรงตื่นจากพระบรรทมและดำริว่าคราวนี้ประเทศสยามอาจจะตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศลังกาก็ได้เพื่อความกระจ่างพระองค์โปรดให้โหราธิบดี เข้ามาคำนวณดวงชะตาบ้านเมือง พระโหราธิบดีคำนวณฤกษ์ยามแล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่าชะตาราศีบ้านเมืองจะรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม พระเกียรติยศของพระองค์จะลือกระฉ่อนไปทั่วทุกสารทิศทั้งนี้เพราะมีบัณฑิตในเพศบรรพชิตมาจากทิศใต้เป็นผู้ช่วยเหลือในการแปลธรรมะครั้งนี้ เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถได้สดับดังนั้นก็โสมนัสเป็นอย่างยิ่งมีรับสั่งให้ค้นหาบัณฑิตผู้นั้นแต่โดยเร็วฝ่ายขุนศรีธนญชัยข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ประกาศและสืบหาพระภิกษุที่เป็นนักปราชญ์ทั้งที่เป็นชาวกรุงและชาวต่างเมือง ก็ได้พบกับเจ้าสามีรามที่วัดราชานุวาส ได้สนทนาปราศรัยไต่ถามแล้วเห็นว่าเจ้าสามีรามเป็นพระมาจากทิศใต้และมีลักษณะทุกอย่างเป็นนักปราชญ์ก็นิมนต์เข้าสู่พระราชฐาน ณ ท้องพระโรง นายจันได้ตักน้ำมาล้างเท้าให้เจ้าสามีรามเจ้าสามีรามจึงย่างเท้าขึ้นไปเหยียบบนแผ่นดิน ทำให้แผ่นศิลานั้นแยกออกด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นเป็นยิ่งนักเมื่อเข้าไปยังท้องพระโรง ก็ได้คลานไปกราบภิกษุสงฆ์ที่เป็นอาจารย์และผู้อาวุโสพราหมณ์ราชทูตทั้ง๗ เห็นดังนั้นก็กล่าวเย้ยหยันขึ้นท่ามกลางที่ประชุมว่า “กษัตริย์สยามพาเด็กสอนคลานเข้ามาแก้ปริศนา” ซึ่งเจ้าสามีรามได้ให้กรรมการจดบันทึกคำพูดนั้นไว้ พร้อมกับถามพราหมณ์ราชทูตว่า “กุมารที่ออกจากครรภ์มารดากี่วัน กี่เดือนจึงจะรู้คว่ำ กี่วัน กี่เดือนจึงจะรู้นั่ง กี่วัน กี่เดือน จึงจะคลาน ท่านทราบหรือไม่” พราหมณ์ทั้ง ๗ ต่างก็นั่งอึ้งตอบไม่ได้ เลยแกล้งทำเฉยเสีย หลังจากนั้นเจ้าสามีรามก็ตรงไปยังเตียงทองซึ่งจัดไว้เป็นที่รองรับอักขระธรรมนั้น เจ้าสามีรามทำวัตรปฏิวัติแก่พระอภิธรรมแล้วเอาอักขระแต่ละขันออกมาเรียงกันขันละแถว จึงทราบว่ายังขาดอักขระอยู่ขันละ ๑ ตัว อักขระที่ขาดนั้นก็คือ สัง วิ ทา ปุ กะ ญะ ปะ ซึ่งเรียนว่าพระคาถาบาลี ๗ ตำนานนั่นเอง พราหมณ์ทั้ง  ๗  จึงเอาอักขระที่เก็บซ่อนไว้ในมวยผมทั้งหมดส่งให้แก่เจ้าสามีราม เจ้าสามีรามจึงแปลคัมภีร์ได้ถูกต้องทุกประการ พราหมณ์ราชทูตทั้ง ๗ จึงยอมแพ้ก้มลงกราบเจ้าสามีรามด้วยความเคารพเลื่อมใสยิ่ง ฝ่ายคณะกรรมการของธรรมสภาเมื่อเห็นชัยชนะเช่นนั้นก็โห่ร้องแสดงความยินดี ดังกึกก้องไปทั่วท้องพระลานหลวง และได้มีการตีกลองสัญญาณประโคมสังคีตดนตรีกันอย่างครื้นเครงพราหมณ์ราชทูตทั้ง ๗ ได้นำเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นมาถวายแก่เจ้าสามีรามแต่เจ้าสามีรามไม่ยอมรับเครื่องราชบรรณาการ และได้ถวายคืนแก่สมเด็จพระเอกาทศรถ การแก้ปริศนาธรรมในครั้งนี้มิใช่เพื่อเป็นการลองภูมิอย่างธรรมดา แต่เป็นการพนันเมืองเมื่อพระสามีรามทำได้สำเร็จ จึงถือเป็นความชอบอันยิ่งใหญ่สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์” และโปรดให้สร้างกุฏิขึ้น ๑ หลัง ถวายแก่พระราชมุณีพร้อมเมืองอีกกึ่งหนึ่งให้ปกครอง พระราชมุนีพำนักอยู่ที่กุฏิหลังนั้น ๓ วัน ก็ถวายกุฏิและเมืองคืนแก่สมเด็จพระเอากาทศรถ พร้อมทั้งถวายพระพรลาไปพำนักอยู่ที่วัดราชานุวาสหรือวัดแค ซึ่งเป็นสถานที่สงบดังเดิม ต่อจากนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง พระราชมุนีฯได้ช่วยไว้อีกครั้งหนึ่ง โดยรำลึกถึงอำนาจของดวงแก้วแล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ให้กรรมการเมืองนำไปประพรมทั่วพระนครโรคห่าก็หายขาด ด้วยอำนาจอภินิหารคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระราชทินนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์”และเนื่องจากหลวงพ่อทวดโปรดการธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง อยู่มาไม่นานหลวงพ่อทวดก็ได้ทูลลาสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีเพื่อจาริกรุกขมูลธุดงค์กลับยังภาคใต้ซึ่งเป็นปิตุภูมิมาตุภูมิ สมเด็จพระสังฆราชาธิบดีก็อนุญาต ครั้นไปอำลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอาลัย แต่ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จเจ้าอย่าละทิ้งโยม” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาส่งหลวงปู่ทวดจนสิ้นเขตพระนครกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อทวดได้จาริกรุกขมูลลงไปทางภาคใต้ บางแห่งต้องข้ามน้ำลำคลอง บางแห่งต้องเดินป่ามีเรื่องเล่าว่าขณะเดินทางมาได้ ๓ เดือน จะข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งไม่มีเรือแพจะข้าม หลวงพ่อทวดจึงปาฏิหาริย์มาบนพื้นน้ำ ครั้งเดินป่าหลวงพ่อทวดก็ฉันผลไม้ในป่า ครั้นถึงบ้านคนหลวงพ่อทวดก็เข้าไปบิณฑบาตและเที่ยวเทศนาสั่งสอนผู้คน ที่ไหนมีผู้เจ็บไข้ได้ป่วยหลวงพ่อทวดก็ทำน้ำมนต์รักษาให้ และเสกด้ายมงคลผูกข้อมือให้เด็ก ๆ ตลอดทางในการเดินทางกลับ เมื่อหลวงพ่อทวดได้ผ่านบ้านใดเมืองใดที่เคยมีผู้มีบุญมีคุณแก่หลวงพ่อทวด ท่านก็จะแวะเยี่ยมเยียนทุกแห่งด้วยความกตัญญูจนเดินทางมาถึงสทิงพระ หลวงพ่อทวดได้แวะเข้าไปนมัสการสมเด็จพระชินเสนผู้เป็นอาจารย์ ซึงอยู่ที่วัดศรีกูญัง (วัดศรีหยัง) เมื่อพักอยู่หลายเพลาควรแก่การแล้ว จึงอำลาเดินทางมายังวัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) ได้เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์จวง อันเป็นปฐมครู ในกาลครั้งนั้นชาวบ้านที่เป็นญาติสนิทมิตรสหาย ต่างมีความปิติยินดีเป็นล้นพ้น เพราะหลวงพ่อทวดเป็นเสมือนประทีปดวงเด่นมาตั้งแต่เยาว์วัย ยิ่งมีบุญบารมีถึงขั้นสมเด็จเจ้าด้วยแล้วทุกคนทุกคนต่างก็มีความยินดีเมื่อทราบข่าวก็ชวนกันมาเฝ้าชมบารมีกันอย่างเนืองแน่นเรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการจัดงานสมโภชสมเด็จเจ้าขึ้นและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวัน (ตรงกับวันที่ ๒๗ เมษายนของทุกปี) หลวงพ่อทวดได้ปรึกษาตกลงกับพระอาจารย์จวง แล้วคิดอ่านพร้อมด้วยพระครูศัทธรรมรังสี พุทธบวรมาจารย์ จะบูรณะวัดพะโคะ ทั้งนี้เพราะวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระครูสัทธรรมรังษี พุทธบวรมาจารย์จะบูรณะวัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานทั้งนี้เพราะวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระมาลิกเจดีย์และรอยพระพุทธบาท ภายหลังรอยพระพุทธบาทนี้เชื่อกันว่าเป็นรอยบาทของสมเด็จเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของผู้คน แต่สภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากถูกข้าศึกทำลายและถูกโจรกรรมขุดหาสมบัติ อาศัยที่ท่านได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองไว้ก่อนหลวงพ่อทวด จึงจาริกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชาธิบดี และสมเด็จพระเอกาทศรถพระเจ้าอยู่หัวหลังจากทรงถามข่าวสารสุขทุกข์กันแล้วสมเด็จเจ้า จึงได้ปรึกษาการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ สมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงโสมมนัสยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดให้พระคลังจัดการเบิกสิ่งของต่าง ๆ และเงินตราศิลาแลง ตลอดจนหานายช่างผู้ชำนาญ รวมเบ็ดเสร็จจำนวน ๕๐๐ คน พร้อมทั้งเสบียงอาหารและสำเภาด้วย พอได้ฤกษ์ เรือสำเภาก็แล่นใบออกจากกรุงศรีอยุธยาลุ ๑๕ วัน ถึงนครศรีธรรมราช ต่อจากนั้นอีก ๓ วัน ก็ถึงบ้านชุมพล บรรดาชาวบ้านก็แตกตื่นชวนกันมารับสมเด็จเจ้าที่ริมทะเล เมื่อประชาชนช่วยกันขนอุปกรณ์การก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ก็ลงมือก่อสร้างใช้เวลาก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๕๑-๒๑๕๔ รวมเป็นเวลา ๓ ปี ก็สำเร็จเรียบร้อย สำหรับยอดพระมาลิกเจดีย์ หล่อด้วยเบญจโลหะ ยาว ๓ วา ๓ คืบ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเรียกกันว่า “สุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ” ในขณะที่หลวงพ่อทวดจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ ท่านได้วางรากฐานความเจริญให้แก่วัดจนวัดพะโคะกลายเป็นศูนย์กลางของวัดอื่น ๆ ในเขตเมืองพัทลุงฝ่ายตะวันออกในสมัยต่อมา (คือบริเวณแหลมสทิงพระในปัจจุบัน) ส่วนอภินิหารในช่วงนี้เล่าสืบต่อกันมาว่า “วันหนึ่งหลวงปู่ทวดถือไม้เท้าคดเดินเล่นที่ริมทะเล โจรสลัดจีนแล่นเรือเลียบฝั่งเข้ามาพอดี พวกโจรสลัดเห็นสมเด็จเจ้าเดินอยู่มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลายจึงใคร่คิดจะลองดีได้จับท่านใส่เรือแล่นไป ชั่วครู่ก็เกิดอัศจรรย์ทั่ง ๆ ที่คลื่นลมสงบ แต่เรือแล่นไปไม่ได้ ออกแล่นก็วนเวียนอยู่ที่เดิมหลายวันเข้าน้ำจืดที่มีอยู่ก็หมดลง ท่านนึกสงสารจึงแหย่เท้าซ้ายลงในน้ำทะเล แล้ววักน้ำขึ้นล้างหน้าและดื่มกิน พวกโจรเห็นจึงลองดูบ้างเห็นเป็นน้ำจืดจึงช่วยกันตักเอาไว้ แล้วกราบขอขมาโทษ นำท่านส่งขึ้นฝั่ง ขณะที่เดินทางมาท่านได้หยุดพักเหนื่อย เอาไม้เท้าพิงไว้กับค้นทางเล็ก ๆ ซึ่งขึ้นเคียงคู่กัน ๒ ต้น ต่อมาต้นยางนั้นเติบโตขึ้นก็คดเยี่ยงไม้เท้าของท่านสมเด็จชาวบ้านเลยพากันเรียกต้นยางนั้นว่า “ยางไม้เท้า” กันตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ (อยู่ทางทิศตะวันนออกของวัดพะโคะ ประมาณ ๑ ก.ม. ใกล้กับสี่แยกบ้านชุมพล ปากทางเข้าวัดพะโคะ มีลักษณะลำต้นเป็นปุ่ม ๆ ทั่วทั้งต้น ผิดกับต้นยางต้นอื่น ๆ โดยทั่วไป ปัจจุบันล้มลงเสียแล้ว คงเหลือแต่ตอขนาดใหญ่อยู่ใกล้ต้นโพธิ์) ครั้งสุดท้ายมีสามเณรรอดผู้เคร่งในธรรมออกสืบหาพระโพธิสัตว์ พระอินทร์เนรมิตเป็นคนแก่ นำดอกไม้มาถวายแก่สามเณร ๑ ดอก พร้อมกับบอกว่าภิกษุใดบอกชื่อดอกไม้ดอกนี้ได้ภิกษุนั้นคือพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งวันจันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ สามเณรได้เดินทางไปถึงวัดพะโคะ สามเณรก็เข้าไปกราบไหว้หลวงปู่ทวด ท่านได้ถามสามเณรว่า “สามเณรได้ดอกมณฑาสวรรค์มาจากไหน” สามเณรก็เกิดปิติยินดีเป็นยิ่งนัก ก้มลงกราบด้วยความศรัทธาเลื่อมใส และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ทราบ หลวงปู่ทวดจึงให้สามเณรคอยอยู่ในกุฏิ เมื่อท่านทำกิจเรียบร้อยแล้ว สมเด็จเจ้าได้ชวนสามเณรเข้าไปในห้อง และทำการเข้าฌานแล้ว โละหายไปพร้อมกับสามเณรในคืนนั้น เมื่อหลวงปู่ทวดโละไปมีผู้เห็นเป็นดวงไฟ ๒ ดวง ใหญ่ดวงหนึ่ง เล็กดวงหนึ่ง ลอยวนเป็นทักษิณานุวัติรอบวัดพะโคะ ๓ รอบ แล้วล่องลอยไปทางทิศใต้ รุ่งเช้าก็ไม่มีใครได้พบเห็นหลวงพ่อทวดอีกเลย ครั้งนั้นประมาณอายุของหลวงปู่ทวดได้ ๔๐ พรรษา การโละไปของสมเด็จเจ้า เข้าใจว่าจะไปอินเดียและลังกาเพราะผู้คนเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” อีกนามหนึ่ง ยิ่งทางเมืองไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย ก็เรียกว่า “ท่านลังกา” หรือไม่ก็ “ท่านเหยียบน้ำทะเลจืด”
              หลังจากนั้นก็มีประวัติเมืองไทรบุรีเล่าว่า หลวงปู่ทวดให้สร้างวัดไว้ในไทรบุรีวัดหนึ่งชื่อ “วัดโกระไหน” ในขณะเดียวกันท่านก็รับเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ (จังหวัดปัตตานี) อีกวัดหนึ่งตามที่เจ้าเมืองไทรบุรีได้นิมนต์ จากการที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสถึงสองวัดเช่นนี้ ทำให้ต้องเดินทางแบบธุดงค์ไปมาระหว่างวัดทั้งสองอยู่เสมอ ขณะที่ท่านเดินทางนั้นสถานที่ใดเหมาะ ก็พักแรมหาความวิเวกเพื่อทำสมาธิภาวนา  ใช้เวลาพักนาน ๆ เช่น ภูเขาถ้ำหลอด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ก็ปรากฏว่ามีสิ่งที่เชื่อถือได้ว่าท่านเป็นผู้ทำไว้  นอกนั้นก็ยังปรากฏอยู่บนเพิงหินบนภูเขาตังเกียบเทือกภูเขาน้ำตกทรายขาว ทางทิศตะวันออกของลำธารน้ำตก มีพระพุทธรูปแกะด้วยไม้ตำเสาแบบพระยืนสององค์ ชาวบ้านตำบลทรายขาวเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “หลวงพ่อตังเกียบเหยียบน้ำทะเลจืด” คาดคะเนกันว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์ ท่านลังกาหรือหลวงปู่ทวดเป็นผู้สร้างในสมัยที่เดินทางและพักอาศัยอยู่”
   
        สำหรับการมรณภาพของหลวงพ่อทวด ตามประวัติกล่าวว่าท่านมรณภาพที่วัดโกระไหน ศพถูกนำไปประชุมเพลิงที่วัดช้างให้ตามที่ท่านได้สั่งไว้ การนำศพกลับต้องหยุดพักตามรายทาง พัก ณ ที่ใด ก็ปักไม้แก่นหมายไว้ทุกแห่งแม้แต่น้ำเหลืองหยด ณ ที่ใด ก็ให้ปักหมายไว้เช่นเดียวกัน หรือไม่ก็ให้พูนดินให้สูงขึ้น ผู้คนจะได้กราบไหว้บูชาเพื่อระลึกถึงท่าน ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า “สถูปท่านลังกา”  เส้นทางที่หยุดพักนั้น ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่บอกแก่พระครูธรรมกิจโกศล (นอง ธมฺมภูโต)  และอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้  เมื่อคราวออกจาริกธุดงค์สืบประวัติหลวงปู่ทวดในประเทศมาเลเซีย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ บอกว่าเส้นทางที่หยุดพักศพมี ๑๐ แห่ง รวมต้นทางและปลายทางเป็น ๑๐ แห่ง ดังนี้ วัดโกระไหน บาลิง ดังไกว คลองช้าง ดังแปร ลำปรำ ปลักคล้า คลองสาย ไทรบูดอ ควนเจดีย์ (อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา) และวัดช้างให้ หลังจากสิ้นหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ได้ทรุดโทรมลงจนกลายมาเป็นวัดร้างร่วม ๓๐๐ ปี แต่ที่ประชุมเพลิงและบรรจุอัฐิของท่านยังปรากฏอยู่สืบมา ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” มีไม้แก่นปักเป็นหลักอยู่บนเนินสูงเป็นเครื่องหมาย ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาอาจารย์ทิม ธมฺมธโร ได้ขุดสถูปนั้นเพื่อสร้างขึ้นใหม่ ได้พบผ้าห่ออัฐิอยู่ในหม้อทองเหลือง สภาพหม้อและอัฐิผุเปื่อย ท่านจึงไม่กล้าจับต้องเพราะเกรงเกรงจะผิดไปจากสภาพเดิม จึงได้สร้างสถูปสวมครอบสถูปเดิมไว้จนถึงบัดนี้


ผลงานสำคัญ

         สมเด็จพระราชมุนี (สมเด็จเจ้าพะโคะ) หรือหลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด มีคุณูปการต่อประเทศชาติและประชาชานานับประการ แต่จะขอนำมากล่าวพอเป็นสังเขปดังนี้

๑. ใช้ปัญญารู้แจ้งในการรักษาบ้านเมือง ได้รับพระราชทานสมณศักดี้เป็นสมเด็จพระราชมุนี      ขณะเมื่อท่านยังเป็นเจ้าสามีราม จำพรรษาอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น อยู่มาวันหนึ่งมีเรือสำเภาราชทูตจากต่างประเทศ มาขอท้าทายปริศนาพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์กับนักปราชญ์ ราชบัณฑิตชองกรุงศรีอยุธยา ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาประหนึ่งการพนันเมือง พระภิกษุทั้งกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถทายได้ แต่เจ้าสามีรามทายได้ ราชทูตยอมแพ้ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของในสำเภาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกุฏิถวายเจ้าสามีราม และให้ครองเมืองส่วนหนึ่ง เจ้าสามีรามครองอยู่ได้สามวันก็ถวายคืน เจ้าสามีรามจึงเป็นที่รู้จักกันในนามของพระรามนักปราชญ์ และได้พระราชทานสมณคักดี้เจ้าสามีรามเป็นสมเด็จพระราชมุนีตั้งแต่นั้นมา
๒. ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ณ บ้านเกิดเมืองนอน ทำให้วัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐานเป็นวัดหลวง ศูนย์กลางแห่งการกัลปนาวัดลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออก เมื่อสมเด็จพระราชมุนีออกจากกรุงศรีอยุธยากลับมาบ้านเกิดที่สทิงพระนั้นท่านได้ร่วมกันคิดกับพระครูสัทธรรมรังศรืพุทธวรจารีย์ ว่าจะขอที่บนเขาพะโคะหรือเขาภีพัชสิง ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุ สืบทอดเจตนารมย์พระณไสมุยและพระจวงเจ้าที่ได้ตั้งวัดขึ้นบนเขา พร้อมทั้งเห็นว่าการพระศาสนาในลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออก (คาบสมุทรสทิงพระ) ยังไม่เรียบร้อยอันเนื่องมาจากการโจมดีของโจรสลัด จากปลายแหลมมลายูที่เรียกกันว่าอุชงคตนะ ที่เคยเข้ามาเผาบ้านเรือน วัดวาอารามในแถบนี้ ผู้คนแตกหนีไปถิ่นอื่นยังไม่กลับมาทำนุบำรุงภูมิลำเนา เพราะยังขาดหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต และศูนย์รวมการยึดเหนี่ยวจิตใจ ดังนี้ท่านจึงเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอให้พระมหากษัตริย์สนับสนุนแนวคิดในการพื่นฟูพระพุทธศาสนาในบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อความเป็นปึกแผ่นของราษฎรและการฟื้นฟูวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและขวัญกำลังใจในการร่วมกันพิทักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงมีพระราชโองการฯ ให้จัดหาช่างจำนวน ๕๐๐ คน มาก่อสร้างพระมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุขึ้นบนเขาพะโคะตามที่ท่านขอ โดยพระราชทานพระมาลึกเจดีย์พระมหาธาตุหล่อด้วยเบญจโลหะยาวสามวาสามคืบ (๖.๗๕ เมตร) พร้อมอิฐก่อพระเจดีย์ ให้สมเด็จพระราชมุนี นายจันผู้เป็นพี่ชาย และมหาเถรศรี ผู้เป็นน้องชายของท่านนำลงเรือมาประดิษฐานพระเจดีย์สูงหนึ่งเส้น ห้าวา (๕๐ เมตร) โดยสร้างตามแบบอย่างเจดีย์องค์ระฆังต่อปลียอดเป็นปล้องไฉน ตามที่พระอโนมหัสสีไปนำแบบมาจากลังกาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมจากการสร้างสถูปเจดีย์ ที่แพร่หลายในภาคใต้และกรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะจึงได้มีนามว่าวัดพระราชประดิษฐานด้วย นอกจากนี้สมเด็จพระราชมุนียังขอพระราชทานเบิกญาติโยมออกจากส่วยหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานที่นาและกัลปนา และต้นตาล ญาติโยมออกจากส่วยหลวงเก้าหัวงานเป็นข้าโปรดคนทานพระกัลปนาขึ้นวัดพะโคะ โปรดให้มีเลณฑุบาต (ชั่วระยะก้อนดินตก คนขนาดปานกลางขว้างก้อนดินไปเต็มแรง วัดจากคนขว้างจนถึงที่ก้อนดินตก ๑ เลณฑุบาต) ทิศเหนือถึงเขาพังไกรและควรนชลีก ทิศใต้จดเขาเชียวและเขาแดง ทิศตะวันออกจดทะเลเค็ม ทิศตะวันตกจดทะเลสาบ ซึ่งหมายความว่าวัดพะโคะกลายเป็นวัดศูนย์กลางของชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกอย่างแท้จริง และได้รับการยกเว้นภาษีอากรไม่ต้องส่งเข้าภาคหลวง แต่ใช้ประโยช'น์ในการบำรุงพระพุทธศาสนา ส่วนข้าพระคนทานหรือชาวบ้านติดที่ดินที่ขึ้นกับวัด (ที่กัลปนา) ก็ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานหรือนำตัวไปใช้จากทางการ แต่อยู่ในบังคับบัญชาของวัดในเขตกัลปนานั้น ๆ ตลอดจนมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองวัดจากภัยศึกสงครามด้วย การกัลปนาวัดของวัดพะโคะครั้งนี้ทำให้เกิดการฟื้นฟูพัฒนา วัดในเขตลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกอีกหลายสิบวัด และมีการจัดการปกครองสงฆ์คณะลังกาชาติในแถบนี้อย่างเข้มแข็ง
๓. ฟ้นฟูพระศาสนานอกภูมิลำเนา การสร้างถาวรวัตถุ ณ วัดคูหาสวรรค์ พัทลุง และการธุดงควัตรไปปัตตานีและไทรบุรี นอกจากพระราชมุนีจะสร้างพุทธสถานตามที่ได้รับพระราชทานขึ้นบนยอดเขาพะโคะ ณ ภูมิลำเนาของท่านแล้ว ท่านยังได้ร่วมกับพระครูธรรมรังศรีพระพุทธบวรจารีย์ พระมหาเถรพุทธรักขิตและหมื่นเทพบาล ในการสร้างพระพุทธรูป ๒๐ องค์ พระเจดีย์ ๗ องค์ ไวในวัดถาคูหาสวรรค์และขอพระราชทานให้วัดถํ้าดูหาสวรรค์ได้รับพระกัลปนาเช่นเดียวกับวัดพะโคะ นอกเหนือจากเนื้อหาในเอกสารประวัติศาสตร์คือพระตำราบรมราชูทิศ เพื่อกัลปนาสมัยอยุธยาข้างต้น ยังมีมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อท่านกลับมาครองพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะในฐานะเจ้าอาวาส ท่านได้ออกธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ และกระทำปาฏิหารย์ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คน และเมื่อท่านกลับมา ณ วัดพะโคะ ครั้งหนึ่งมีสามเณรมาเฝ้าต่อมาท่านพร้อมด้วยสามเณรก็โละหายไปพร้อมกัน โดยปรากฏเป็นดวงไฟดวงใหญ่กับดวงน้อยลอยวนไปมาจนหายลับไป เชื่อกันว่าท่านไม่ได้หายไปไหนแต่ไดไปสร้างวัดขึ้นที่เมืองไทรบุรี (ปัจจุบันคือรุ้ฐเคดะห์ ประเทศมาเลเชีย) เรียก “วัดโกระไหน” แล้วกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี และไป ๆ มา ๆ ระหว่าง ๒ วัดนี้ จนมรณภาพที่วัดโกระไหน ต่อมาได้อัญเชิญอัฐิของท่านได้นำมาบรรจุที่สถูปหน้าวัดช้างไห้ แม้มรณภาพไปแล้ว ยังมีผู้พบเห็นปาฏีหารย์ของท่านต่าง ๆ นานา ทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และคนทั่วไป 

ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อ/สถานที่/เรื่อง
สมเด็จพระราชมุนี (สมเด็จเจ้าพะโคะ)
ที่อยู่
จังหวัด
ภาคใต้


วีดิทัศน์

บรรณานุกรม

ปรุงศรี วัลลิโภดม...[และคณะ], บรรณาธิการ. (2545). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา.
             กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.


รูปภาพ
 
      Font Size  
Back to Top
Khunying Long Athakravisunthorn Learning Resources Center
Prince of Songkhla University ©2018-2025